FASHION

คนไทยที่ออกแบบลายผ้าพันคอ Hermès เปิดใจ 'โอ-ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์' กว่าจะมาเป็นผลงาน ม้าสาน แอนด์ ม้าสาน กับแอร์เมส

คุยเจาะลึกกับ 'โอ-ธีรวัฒน์' ผู้ออกแบบลาย Masan & Masan โดยใช้หัตถศิลป์ไทยเป็นแรงบันดาลใจบนผ้าพันคอ Hermès

หัตถศิลป์ไทยคือแรงบันดาลใจล่าสุดบนผ้าพันคอไหมผืนโก้ของ Hermès ที่บัดนี้ กลายเป็นชิ้นเด็ดซึ่งนักสะสมวิ่งหามาเติมเต็มคอลเล็กชั่นกันให้ควั่ก สธน ตันตราภรณ์ จับเข่านั่งคุยกับ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ ถึงจุดเริ่มต้นและประสบการณ์แห่งความทรงจำ

 

“นึกถึงม้าสานตั้งแต่ต้นเลย” ศิลปินไทยว่าที่เจ้าบ่าวเท้าความถึงไอเดียตั้งต้นเมื่อเขาได้ยินชื่อ Le Grand Prix du Carré Hermès การประกวดออกแบบผ้าพันคอไหมระดับสัญลักษณ์ขนาด 90 x 90 เซนติเมตร แฟนคลับแอร์เมส คนแฟชั่น รวมถึงผู้พิสมัยผลิตภัณฑ์คุณภาพทั่วโลกล้วนคุ้นเคยกับชิ้นเก่งขายดีที่เป็นความภูมิใจของแบรนด์ฝรั่งเศสชื่อเดียวกับเทพเจ้าแห่งการค้าและการเดินทางมาช้านาน หากแต่คราวนี้มันพิเศษสำหรับคนไทยด้วย เนื่องจากลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้านั้นบรรจงสร้างขึ้นโดยฝีมือของคนชาติเดียวกัน 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าลวดลายที่ธีรวัฒน์สร้างสรรค์ขึ้นคงความเป็นแอร์เมสทุกกระเบียดนิ้ว ม้าคู่ 2 โทนสีใน 1 ผืนสลับกลับหัวกลับหางคล้ายจะคลอเคลียกันอยู่อย่างรักใคร่ กลางผืนผ้าเว้นจังหวะที่ว่างอย่างพอดิบพอดีสำหรับตัว H อักษรย่อของแบรนด์ รอบนอกคู่ม้าต่อโยงเส้นสายนำสายตาสไตล์ Perspective ซึ่งถ้าถอยหลังไกลๆ ออกมาจะเห็นลายสานเป็นเทคนิคผ้าทอคล้ายมองโครงกี่ทอผ้าจากมุมสูง จากจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่กระทบใจศิลปินเข้าอย่างจังในวันนั้น มาสู่ความวิจิตรของตู้กระจกหน้าบูติกแอร์เมสในวันนี้ ผืนผ้าลาย Masan & Masan (ม้าสาน แอนด์ ม้าสาน) เป็นมากกว่าลายใหม่ประจำฤดูกาล เพราะผูกพ่วงความสำคัญของการเป็นภาพสะท้อนความสำเร็จของคนไทยบนแพลตฟอร์มตลาดลักชัวรีระดับโลก หลังเจ้าของผลงานคว้ารางวัลที่ 2 มาครองจากผู้ส่งผลงานเข้าประกวดรอบโลก

ผ้าพันคอลาย Masan & Masan ของ Hermès ที่ออกแบบโดยโอ-ธีรวัฒน์

 

ย้อนกลับไปช่วงเดือนมีนาคม ปี 2019 เว็บไซต์ Designboom ซึ่งถือเป็นดุมกลางแห่งโลกออกแบบของบุคลากรในอุตสาหกรรมการออกแบบ เป็นสื่อหนึ่งที่ประกาศข่าวการประกวดข้างต้นซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ถัดมาหลังจากนั้นราว 1 ปีแวดวงแฟชั่นในประเทศไทยต่างตื่นเต้นกันยกใหญ่เมื่อชื่อของธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ปรากฏอยู่ในรายชื่อผู้เข้ารอบ 11 คนสุดท้าย “จริงๆ แล้วเป็นคนไม่ค่อยประกวดอะไรนะ” ธีรวัฒน์ออกตัวเมื่อเราถามถึงเหตุผลของการประกวด “ลึกๆ แล้วเคยอยากลองท้าทายตัวเองกับโลก แต่ก่อนนี้มันไม่มีการประกวดไหนที่ทำให้เรารู้สึกว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งของมันเลย...จนมาเจองานนี้” 

 

และแม้จะยอมรับว่าเป็นคนไม่ใช้ผ้าพันคอในชีวิตประจำวัน แต่ “สิ่งที่พาให้เรามารู้จักแอร์เมสตั้งแต่สมัยไปยืนดูหน้าต่างโชว์สินค้าคือลายผ้าพันคอ ดังนั้น ถ้าไม่ได้ลองประกวดรอบนี้ดูเราคงเสียใจมาก” ขั้นตอนการประกวดที่เพิ่มกระบวนการให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับนับจากวันแรกของการยื่นพอร์ตโฟลิโอจนถึงการนำเสนอภาพร่างลงสีตามจินตนาการ ช่วยทอนจำนวนผู้สมัครให้น้อยลงๆ แต่ธีรวัฒน์ก็ยังสามารถรักษาชื่อของตัวเองไว้ได้ด้วยคอนเซปต์ยืนหนึ่ง ซึ่งเจ้าตัวสารภาพว่า “ก็รู้แหละว่าการออกแบบลายม้าให้ถูกใจแอร์เมสนั้นเป็นเรื่องยากมาก” ทั้งนี้เพราะม้าเป็นลูกค้ารายแรกของแบรนด์ในปี 1837 ทุกวันนี้แบรนด์ยังคงผูกพันกับสัตว์ชนิดนี้พอๆ กับการพยายามรักษาความสัมพันธ์กับเจ้าของของมันมายาวนานถึง 184 ปี แม้ว่าปัจจุบันผลิตภัณฑ์ในบูติกจะพัฒนาไปถึงกระเป๋าหนังคุณภาพเยี่ยม แจ็กเกตผ้าทอสวมใส่สบาย รวมถึงแก้วชากระเบื้อง แต่จิตวิญญาณแห่ง “อาชา” ในฐานะพาหนะซึ่งควบขี่พาทายาทของแบรนด์และทีมงานผู้ร่วมอุดมการณ์หลายพันคนมาค้นพบความยิ่งใหญ่ของโลกยุค 2021 ยังอยู่ครบ

 

“เราชอบทำงานแบบมีลูกค้า” ศิลปินตั้งข้อสังเกตกับนิสัยส่วนตัวของตนเอง “กับงานในครั้งนี้เราตั้งใจทำงานที่เราจะชอบ...และแอร์เมสต้องชอบด้วย” เขาใช้สัญชาตญาณนำทางไปสู่วิถีแห่งแบรนด์ที่เคยสัมผัสและจดจำโดยปักหมุดที่หัตถศิลป์ม้าสานซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเก่าแก่ของไทยที่นับวันจะหาชมและเป็นเจ้าของได้ยากทุกที สำหรับธีรวัฒน์ ม้าสานของเขาซ่อนนัยแฝงเอาไว้ นั่นคือการเป็นมรดกของแบรนด์ (ม้า) และแนวคิดงานฝีมืออย่างเทคนิคการสาน ถัก ทอ อันเปรียบได้กับภาษาหลักของแบรนด์ ซึ่งธีรวัฒน์ได้แต้มเติมบรรยากาศสไตล์ท้องถิ่นแบบไทยๆ เข้าไปด้วย โดยไม่ลืมเหยาะประเด็นแห่งยุคเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการใช้ผักตบชวาแห้งมาสานงานเพื่อตัดเลี่ยนความหรู

ดิสเพลย์จัดแสดงผ้าพันคอลาย Masan & Masan ของ Hermès ที่ออกแบบโดยโอ-ธีรวัฒน์

 

อันที่จริงม้าสานซึ่งเป็นศูนย์กลางของชิ้นงานนี้ศิลปินวาดเอาจากจินตนาการก็ได้ แต่ธีรวัฒน์เลือกที่จะออกเดินทางเสาะแสวงหาตุ๊กตาม้าสานต้นแบบในความทรงจำชนิดที่เรียกว่าพลิกแผ่นดินร่วมกับว่าที่เจ้าสาวของเขา เพื่อนำมาต่อยอดเป็นลวดลายเสมือนจริง “ตอนเด็กๆ เราเห็นขายกันแถวมหาวิทยาลัย แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เหลือแล้ว” โชคยังดีที่พวกเขาบังเอิญไปเจอคุณป้าชาวอุดรธานีวางขายงานสานอยู่บนทางเท้าที่ตลาดนัดแห่งหนึ่ง ผู้เฒ่ายังสามารถสานม้าได้แม้จะหันมาสานช้างกับยีราฟเป็นงานหลักเลี้ยงชีพเพราะความต้องการของตลาดในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป “คุณป้าสานม้าอยู่หลายตัวกว่าจะได้รายละเอียดที่ตรงใจเราทุกจุด...เป็นม้าที่แอร์เมสไม่เคยเห็นแน่ๆ เป็นม้าที่แอร์เมสไม่เคยชูขึ้นมา” ธีรวัฒน์เลือกตุ๊กตาม้าสานแนวทดลองมาตัวหนึ่งเพื่อเป็นของกำนัลโดยนำไปส่งมอบด้วยตัวเองที่สำนักงานใหญ่ในปารีส พร้อมกับแนบภาพถ่ายคุณป้ากับครอบครัวและผักตบชวาแห้งไปด้วย...แน่นอนว่าเมื่อศิลปินตีโจทย์แตก แอร์เมสเองก็ต้องทึ่งและชื่นชม

 

ผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 11 คนรวมถึงธีรวัฒน์ต่างก็ได้สัมผัสประสบการณ์พิเศษสุดๆ ที่แอร์เมสเตรียมไว้ต้อนรับในทริปเยือนสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีส แบรนด์พาทัวร์ทุกซอกทุกมุมตั้งแต่ผนังวาดมือประวัติศาสตร์ของแบรนด์ สวนสวยบนยอดอาคาร โถงพิพิธภัณฑ์ของสะสมของเหล่าทายาท ต่อด้วยโร้ดทริปสู่เมืองลียง ฐานการผลิตผ้าพันคอไหมเลื่องชื่อของแบรนด์ที่ห่างจากเมืองหลวงไปราว 2 ชั่วโมง “เวิร์กช็อปที่ลียงทำให้เราเข้าใจมูลค่าของผลิตภัณฑ์แอร์เมสจริงๆ เพราะขั้นตอนสร้างงานทั้งหมดคือมาตรฐานระดับเวิลด์คลาส บางจุดจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์เพื่อความแม่นยำ แต่ส่วนใหญ่ซึ่งมีอยู่หลายแผนกยังคงใช้ทักษะมนุษย์เพราะหุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ยอดเยี่ยมเท่า” ธีรวัฒน์เล่าให้เราฟังอย่างชื่นชม ความละเอียดพิถีพิถันที่ได้เรียนรู้จากโรงงานแห่งนี้กระตุกใจเขาไม่น้อย ถึงขนาดที่เจ้าตัวพยายามปรับแก้ลายเส้นกราฟิกดั้งเดิมของตนให้มีกลิ่นอาย 3 มิติอยู่ช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายผู้เชี่ยวชาญจากแบรนด์ก็เลือกงานออริจินัล ทำให้ธีรวัฒน์มั่นใจว่า “ความเพียวร์แรกสุดนั้นมาถูกทางแล้ว” 

 

การหารือกับทีมงานของแอร์เมสเกี่ยวกับทิศทางในการพัฒนาผลงานให้สมบูรณ์แบบช่วงปิดท้ายทริปก็สร้างความประทับใจให้ศิลปินไม่น้อย นอกจากจะได้ชื่อผลงานอย่างเป็นทางการที่เขาบอกว่า “ได้มาเพราะความซื่อ” แล้ว ธีรวัฒน์ยังได้ความมั่นใจจากเจ้าของโปรเจกต์กลับมาอีกด้วยว่า “ถึงคุณไม่ชนะ เราก็ยังอยากร่วมงานด้วย” อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งความท้าทายรอเขาอยู่ นั่นก็คือเจ้าของโปรเจกต์ต้องการให้ศิลปินก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนเดิมๆ ด้วยการวาดงานลายเส้นเขียนมือทั้งหมด แทนแผนเดิมที่ให้ใช้ลูกผสมลายเส้นกับเทคนิคคอมพิวเตอร์ที่เขาถนัด “เขาพูดมาแล้ว เราต้องทำให้ได้!...แม้ว่าจุดเริ่มต้นที่จะต้องหากระดาษเนื้อดีให้ได้ขนาด 90 x 90 เซนติเมตรเท่าผ้าพันคอจริงในประเทศไทยจะยากเต็มที” เจ้าตัวทำท่าหนักใจ



WATCH




ผ้าพันคอลาย Masan & Masan ของ Hermès ที่ออกแบบโดยโอ-ธีรวัฒน์

 

ออกแบบผ้าพันคอให้แอร์เมสก็ว่าเป็นงานช้างแล้ว ธีรวัฒน์ยังได้รับการทาบทามให้ออกแบบหน้าต่างตู้โชว์สินค้าของแบรนด์เพิ่มเติมจากภารกิจของผู้ชนะด้วย เหตุเพราะทีมปารีสสัมผัสได้ว่าเจ้าของผลงานรายนี้ท่าจะมีหัวทางด้านงานจัดวาง 3 มิติ เพียงแต่เขา “ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเลยครับ” คนที่บอกว่าตัวเองเป็นพวกถนัดการตั้งโจทย์แบบมีลูกค้า จึงยึดแนวคิดของการขายเป็นจุดตั้งต้น “ผมอยากขายผ้าพันคอ! ทีนี้เราก็ควรเอาประเด็นงานสานซึ่งเป็นหัวใจของคอนเซปต์มาเล่น เรามองว่าธีม Hermès, An Odyssey ซึ่งเป็นธีมประจำปีนี้ของแบรนด์สามารถแตกประเด็นออกไปได้มากมาย และงานฝีมือก็ถือเป็น ‘การผจญภัยอันยาวนาน’ อย่างหนึ่งของมนุษย์ ดังนั้น ตุ๊กตาม้าสานก็ย่อมเข้าข่ายด้วย” ด้วยเหตุนี้ ผลลัพธ์ท้ายสุดจึงเกิดเป็นวินโดว์ดิสเพลย์อลังการที่เสกสานขึ้นจากผักตบชวาแห้ง วัสดุตั้งต้นของตุ๊กตาม้าสานของไทย นับเป็นความชาญฉลาดในการกำจัดวัชพืชซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ แกนแห้งๆ เกี่ยวกระหวัด รัด พัน ผูก เชื่อมจนเกิดเป็นชิ้นงานศิลปะขนาดเกือบเท่าความสูงของผู้ชม เพื่อบอกเล่าที่มาของม้าสานที่กว่าจะมาปรากฏบนผืนผ้าไหมทวิลเนียนนุ่ม และสื่อสารถึงเส้นทางบนบก บนน้ำ บนท้องฟ้า โดยลากเส้นผักตบชวาออกมาจากผ้าพันคอ หน้าต่างทุกบานมีความสอดคล้องกันอยู่อีกอย่างคือมิตินูนสูง-นูนต่ำ ที่เชื่อว่าผู้ชมต้องใช้เวลาพินิจไม่น้อยไปกว่างานปั้นในพิพิธภัณฑ์ทั่วกรุง

 

เราพูดคุยกันอยู่นานเป็นชั่วโมง อดสงสัยไม่ได้ว่าชายหนุ่มคนนี้รู้สึกอย่างไรกับคำว่า “ลักชัวรี” “มันก็ไม่ต่างจากการจัดบ้านนะ” ธีรวัฒน์ตอบ “เวลาเราอยากหยิบของสักชิ้นมาวางบนชั้น บางครั้งเราไม่ได้ต้องการข้าวของที่มีดีเทลหรูหราอะไรหรอก แค่สมุดสีขาวเรียบๆ สักเล่มก็พอ ความเข้ากันแบบพอดีนี่แหละ...คือลักชัวรีของเรา” แล้วกระซิบทิ้งท้ายก่อนจากกันว่า “ผ้าแอร์เมสผืนนี้เราจะใส่กรอบแขวนผนังบ้านนะ”

1 / 7

ผ้าพันคอลาย Masan & Masan ของ Hermès ที่ออกแบบโดยโอ-ธีรวัฒน์


2 / 7

ผ้าพันคอลาย Masan & Masan ของ Hermès ที่ออกแบบโดยโอ-ธีรวัฒน์


3 / 7

ผ้าพันคอลาย Masan & Masan ของ Hermès ที่ออกแบบโดยโอ-ธีรวัฒน์


4 / 7

ผ้าพันคอลาย Masan & Masan ของ Hermès ที่ออกแบบโดยโอ-ธีรวัฒน์


5 / 7

ผ้าพันคอลาย Masan & Masan ของ Hermès ที่ออกแบบโดยโอ-ธีรวัฒน์


6 / 7

ผ้าพันคอลาย Masan & Masan ของ Hermès ที่ออกแบบโดยโอ-ธีรวัฒน์


7 / 7

ผ้าพันคอลาย Masan & Masan ของ Hermès ที่ออกแบบโดยโอ-ธีรวัฒน์


WATCH