FASHION

เจาะชีวิต Liz Claiborne ผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่พาธุรกิจตัวเองติดทำเนียบระดับโลก

Liz Claiborne กับฐานะดีไซเนอร์และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด

     ช่วงเดือนมิถุนายนมีคนสำคัญในโลกแฟชั่นจากไปไล่เลี่ยกันหลายต่อหลายคน ก่อนหน้านี้เรานำเสนอเรื่องราวของ Bill Cunningham ไปก่อนหน้านี้ วันนี้เราจะหยิบยกเรื่องราวของสุดยอดหญิงแกร่งแห่งวงการที่ผลักดันธุรกิจตนเองจนเอาชนะกรอบอคติเรื่องได้สำเร็จแบบไร้ที่ติอย่าง Liz Claiborne เธอคือผู้เอาชนะขีดจำกัดของตัวเองและสังคม แต่ชีวิตกว่าจะมาถึงจุดนี้มันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ชีวิตเป็นเหมือนกุหลาบทั้งก้าน อะไรทำให้เรานิยามชีวิตเธอแบบนั้น ติดตามต่อได้ที่บทความด้านล่างนี้เลย

รอยยิ้มอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทุกคนจำ Liz Claiborne ได้ / ภาพ: Bloomberg News

     เล่าประวัติลิซกับแบบสั้นๆ เธอเกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1929 เธอเป็นลูกสาวของคู่รักชนชั้นกลางชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่เมืองบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม แต่ช่วงสงครามโลกครอบครัวก็ย้ายกลับมารัฐลุยเซียนา เบื้องหลังของเธอก็น่าสนใจแล้วเพราะต้นตั้งตระกูลดั้งเดิมเธอเป็นถึงผู้ว่าการรัฐคนแรกแต่เธอกลับไม่ได้สนใจด้านบริหารงานรัฐหรือการปกครองตามบรรพบุรุษ เด็กสาวกลับมุ่งหน้าสู่ยุโรปเพื่อศึกษาด้านศิลปะอย่างจริงจังตามความชอบ โชคดีพ่อของเธอสนับสนุนพร้อมกล่าวไว้ว่า “ผมไม่เชื่อหรอกว่าลิซต้องได้รับการศึกษา(แบบทั่วไป)” ดังนั้นลิซจึงตั้งใจเรียนด้านศิลปะชนิดใส่เต็มกำลังในฝรั่งเศสและเบลเยียม ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะคาดหวังให้เด็กสาวคนนี้เป็นศิลปิน แต่ด้วยความชื่นชอบในการเย็บผ้าที่แม่พร่ำสอนมาตั้งแต่เด็กทำให้เธอบิดแง่มุมการเรียนศิลปะและต้องการเดินหน้าต่อในเส้นทางสายแฟชั่นดีไซเนอร์

เสื้อผ้าของ Jonathan Logan ที่แนวทางโดยรวมไม่ค่อยตรงจริต Liz Claiborne / ภาพ: Dressific

     “หงุดหงิดกับการเป็นลูกจ้างคนอื่นก็ทำเองมันเสียเลย!” หลังจากจบการศึกษาและมีความมุ่งมั่นด้านแฟชั่น บันทึกหน้าชีวิตลิซช่วงนั้นคือการทำงานในบริษัทเสื้อผ้าผู้หญิง แต่เธอค่อนข้างหัวเสียเรื่องแนวทางการทำงานและสไตล์เสื้อผ้าจึงเปลี่ยนงานมาเรื่อยๆ เป็นเวลากว่า 25 ปี (1950-1975) ด้วยประสบการณ์อันโชกโชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 15 ปีสุดท้ายที่ทำงานให้ Jonathan Logan บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเสื้อผ้าผู้หญิงในอเมริกาอย่างแข็งขัน ความอดทนพยายามมานานขนาดนี้หล่อหลอมตัวตนให้ลิซแข็งแกร่งพร้อมยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง เธอไม่ต้องทนกับระบบงานและผลลัพธ์ตามวิสัยทัศน์คนอื่นอีกต่อไป เพราะต่อจากนี้หญิงสาวมากประสบการณ์จะเปิดบริษัทพร้อมแบรนด์เสื้อผ้าขึ้นเอง



WATCH




Art Ortenberg สามีและหุ้นส่วนลงทุนสำคัญของ Liz Claiborne / ภาพ: Bill Cunningham - The New York Times

     “ความล้มเหลวแบบเดิมๆ จะไม่เกิดขึ้น” ลิซและหุ้นอีก 2 คน (Leonard Boxer และ Art Ortenberg ภายหลังมี Jerome Chasen เป็นคนสำคัญในแบรนด์อีกหนึ่งคน) ก่อตั้งบริษัท “Liz Claiborne, Inc.” ด้วยเงินทุนรวมประมาณ 300,000 เหรียญสหรัฐฯ ความตั้งใจหลักเลยคือการเข้าอกเข้าใจผู้หญิงเพื่อธุรกิจ มุมมองด้านแฟชั่นอันยอดเยี่ยมจะเสริมสร้างธุรกิจให้เดินหน้าไปได้เอง แนวความคิดนี้สะท้อนออกมาจากตัวตนของลิซเสมอ เธอใช้เวลาเกิน 20 ปีในการสั่งสมประสบการณ์ให้ครบทุกด้าน ครบจนแข็งแกร่งพอจะลงทุนท้าทายแวดวงแฟชั่นในยุคนั้นซึ่งถือว่าเป็นแวดวงที่แข็งแกร่งไม่น้อยในยุคนั้น แต่เธอไม่หวั่นเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างสวยงาม

บรรยากาศการทำงานของ Liz Claiborne ที่ใส่ใจทุกรายละเอียดเสื้อผ้าตามสไตล์ของตนเอง / ภาพ: Alchetron

     ถ้าถามว่าคนชอบอะไรในตัวแบรนด์ลิซ เคลบอร์น คำตอบคงไม่ยากเกินกว่าจะอธิบาย เพราะลิซใส่ใจความต้องการของลูกค้าอย่างดีก่อนจะรังสรรค์ผลงานออกมาให้คนเลือกช็อป เสื้อผ้าสำหรับทำงานที่ดูดีแต่ใส่สบายในเวลาเดียวกันตอบโจทย์ยุคพลังหญิงเติบโต เหล่าหญิงสาวออกมาทำงานและแสดงให้เห็นว่าเพศหญิงมิได้ด้อยกว่าชายอย่างในสมัยก่อนเชื่อกันแต่อย่างใด เสื้อสูท กระโปรง สปอร์ตแวร์ และชุดกลิ่นอายแมสคิวลีนถูกปรับให้มีความเหมาะกับซิลูเอตหญิงสาวมากขึ้น ความทะมัดทะแมงที่คงความสง่าสงาม รวมถึงการมิกซ์แอนด์แมตช์คือสิ่งที่ลิซต้องการนำเสนอสู่สังคม ทว่าบริษัทที่เธอทำงานมาตลอดก่อนหน้านี้แทบทุกบริษัทไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับมุมมองหัวก้าวหน้าของเธอ ด้วยเหตุผลนี้เองพวกเขาจึงเสียเพชรเม็ดงามอย่างลิซ หญิงสาวผู้กลายเป็นคู่แข่งขององค์กรเหล่านั้นเสียเอง

Nina McLemore อีกหนึ่งเบื้องหลังสำคัญของ Liz Claiborne, Inc. / ภาพ: Fab Over Fifty

     ลิซเริ่มพัฒนาบริษัทให้กลายเป็นมหาอำนาจแฟชั่น...ปี 1980 Nina McLemore เข้ามามีส่วนร่วมกับองค์กรในฐานะผู้ก่อตั้งไลน์แอ็กเซสเซอรี่ ด้วยชื่อเสียงของผู้ก่อตั้งองค์กรประกอบกับการเจาะตลาดแบบลงลึกทำให้ลิซ เคลบอร์นประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยปีแรกทำเงินได้กว่า 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 2 ปีถัดมากวาดรายได้ไปกว่า 23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ สำหรับบริษัทตั้งใหม่ไม่ถึง 5 ปี ปัจจัยสำคัญของแบรนด์ลิซ เคลบอร์นภายใต้เครือในชื่อเดียวกันนี้คือราคา เพราะราคาสินค้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40 – 120 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งด้วยราคาที่ถูกบวกกับคุณภาพสินค้าที่ได้รับการใส่ใจทุกรายละเอียดแบบนี้ หญิงสาวก็แห่ซื้อกันจนแทบหมดห้าง มาจนถึงปี 1981 บริษัททำรายได้รวมไปกว่า 117 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอันปิดท้ายช่วง 5 ปีแรกมหาหินได้อย่างสวยงามพ่วงความพิเศษด้วยการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดมหาชนในปีเดียวกัน

ความใส่ใจเรื่องผู้หญิงถึงผู้หญิงทำให้ Liz Claiborne รังสรรค์ผลงานได้ตรงใจ / ภาพ: The Wall Street Journal

     อีก 5 ปีต่อมาลิซสร้างประวัติศาสตร์! ในปี 1986 ถือเป็นปีทองของบริษัทเลยก็ว่าได้เพราะนอกจากยอดขายของแบรนด์เสื้อผ้าและไลน์ต่างๆ แล้ว การจัดการภายในยังถืออยู่ในเกณฑ์สมบูรณ์แบบ การเจาะตลาดที่เรียกว่า “Exploding Market” หรือตลาดเหล่าบูมเมอร์ผู้จบการศึกษาและกำลังเปลี่ยนถ่ายช่วงอายุคนทำงาน ผู้หญิงวัยจบใหม่เริ่มมองหาเสื้อผ้าสำหรับใส่ทำงานซึ่งแน่นอนว่าลิซมีไลน์นี้ตอบสนองตามห้างสรรพสินค้าอย่างทั่วถึง วิสัยทัศน์การทำธุรกิจเพื่อชูโรงเอกลักษณ์ตัวแบรนด์ของลิซส่งผลให้ บริษัทกวาดรายได้รวมกว่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดอันดับ Fortune 500 ลิสต์จัดอันดับทางธุรกิจที่สำคัญของโลก ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญในแวดวงธุรกิจและแฟชั่น เพราะนี่คือบริษัทที่ก่อตั้งโดยผู้หญิงคนแรกที่ติดอยู่ในทำเนียบธุรกิจของหัวหนังสือยักษ์ใหญ่ ความสำเร็จขนาดนี้กลับไม่ได้ทำให้ลิซขยันน้อยลง แต่เธอยังคงมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอน Pre-Input หรือกระบวนการออกแบบก่อนผลิตเสียอีก

ลุคนำสมัย (ในยุคนั้น) ที่ใครเห็นก็พอเดาออกว่าเป็นเสื้อผ้าจาก Liz Claiborne / ภาพ: The Wall Street Journal

     ถึงเวลาลงจากตำแหน่ง...ลิซอำลาตำแหน่งตัวเองในปี 1989 แต่ยังคงให้คำปรึกษาและช่วยเหลือองค์กรอยู่เสมอ ยอดขายยังคงถล่มทลายเช่นเดิม แม้ 2-3 ปีให้หลังจะมียอดขายตกลงจากปัจจัยหลายอย่าง หลักๆ คือกลไกลตลาดและเทรนด์ที่เปลี่ยน แต่ความแข็งแกร่งที่ผู้ก่อตั้งฝังรากลึกไว้ให้ก็พยุงจนฟื้นทำกำไรมหาศาลได้อย่างไม่หยุดหย่อน มีรายงานว่าปี 1997 บริษัทของลิซทำเงินได้กว่า 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังคงขายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แบรนด์ลิซเท่านั้น แบรนด์ในเครือก็ทำรายได้หนุนตัวเลขให้อยู่ในระดับท็อปของประเทศเลยทีเดียว

Liz Claiborne ยุคใหม่ภายใต้การดูแลของ J.C. Penney / ภาพ: JCPenneyTV

     วันหนึ่งลิซเคยสัมผัสกลีบกุหลาบอย่างนุ่มนวล แต่บั้นปลายชีวิตของเธอกลับต้องสัมผัสกับหนามกุหลาบอันแหลมคมแทน มันคงเจ็บปวดไม่น้อยที่เห็นผู้บริหารยุคใหม่ทำองค์กรเราพังไม่เป็นท่า ปี 2006 กลุ่มผู้บริหารตัดสินใจเซ็นสัญญาทำเสื้อผ้าขายเฉพาะใน J.C. Penney เท่านั้น นี่คือหายนะครั้งใหญ่เพราะคู่แข่งในวงการห้างอย่าง Macy’s ที่เคยญาติดีกับแบรนด์เสมอมาประกาศลดการสั่งซื้ออย่างน่าใจหาย และส่งผลให้ลิซ เคลบอร์นประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักทันที ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาเดียวกับปลายอายุขัยของผู้ก่อตั้ง ลิซกำลังประสบปัญหากับโรคมะเร็งร้าย แทนที่เธอจะได้ยิ้มรับความสำเร็จของแบรนด์หลังจากวางมือ แต่เสี้ยวสุดท้ายของชีวิตกลับต้องทนดูลิซ เคลบอร์นล้มเหลวไม่เป็นท่า...

Liz Claiborne หญิงแกร่งมากความสามารถที่จะอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ธุรกิจแฟชั่นและความทรงจำของเราตลอดไป / ภาพ: Lucky Eliza's

     แม้จะล้มเหลวแต่รากฐานอันมั่นคงที่ลิซสร้างไว้ทำให้แบรนด์ยังคงแข็งแกร่ง แบรนด์ล้มเหลวระยะเวลาสั้นๆ และฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากการดึงคนเข้ามากู้สถานการณ์ตามเนื้อผ้า ถึงแม้จะต้องขายกิจการไปเรื่อยๆ เป็นส่วนๆ ตามผลกระทบจากความล้มเหลวในการบริหารธุรกิจ ทว่าชื่อของลิซ เคลบอร์นยังคงอยู่ในสารบบไม่หายไปไหนไกลนัก แม้ว่าแบรนด์หลักตามชื่อผู้ก่อตั้งจะต้องปิดตัวไปตามภาวะคับขัน แต่สุดท้ายองค์กรยังคงดำเนินไปได้ด้วยระบบโครงข่ายของแบรนด์ในเครือที่กลุ่มผู้บริหารยุคเก่าปูทางไว้ และแล้วการรีแบรนด์ให้กับบริษัทแม่ก็เกิดขึ้น จนตอนนี้บริษัทอยู่ภายใต้การครอบครองของเจ.ซี.เพนนีย์ไม่ล้มหายไปไหน ทุกคนที่เคยหยิบจับ เลือกซื้อ หรือแม้แต่คนภายในองค์กรเองคงต้องขอบคุณและคิดถึงเธอไม่น้อย ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตอาจไม่สวยงามและพบเจอแต่ข่าวร้าย แต่โลกธุรกิจแฟชั่นจะจดจำว่าเธอคือผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่พาบริษัทของตนเองพุ่งทะยานเข้าสู่ทำเนียบธุรกิจระดับท็อปของโลก เธอคือ “ลิซ เคลบอร์น”

 

ข้อมูล: The New York Times, J.C. Penney, Business Insider, Your Dictionary (Biography), OnThisDay, Encyclopedia of Fashion และ The Guardian

WATCH