FASHION
ชำแหละด้านมืดวงการบันเทิงเกาหลี สังคมที่ทำให้ศิลปินกลายเป็นวัตถุจนไม่อยากมีชีวิตอยู่
|
ช่วงหลังๆ มานี้เราได้ยิน ได้อ่านข่าวสลดเกี่ยวกับการเสียชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง Lee Eun Joo, Jeong Da Bin, Kim Jong-hyun วง SHINEE, Sulli วง f(x) และล่าสุดคือ Koohara อดีตสมาชิกวง KARA นี่ไม่ใช่รายชื่อทั้งหมดของศิลปินเกาหลีที่ต้องเผชิญชะตาชีวิตอันน่าเศร้าแบบนี้ ใครว่าเป็นดารา นักแสดง หรือผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจะดีเสมอไป เพราะบางครั้งแผลบาดลึกข้างในมันยากที่ใครหลายคนจะเข้าใจ และนั่นก็ยิ่งกัดเซาะเกิดเป็นแผลที่ใหญ่ขึ้นๆ จนวันหนึ่งมันอาจลุกลามพรากชีวิตอันมีค่าไปจากศิลปินที่แฟนคลับชื่นชอบก็เป็นได้ วันนี้เราจึงจะมาไขรหัสสังคมบันเทิงเกาหลีว่าบางครั้งสังคมทำให้ศิลปินเหมือนตกนรกอย่างไร...
Shindong วง Super Junior (คนซ้าย) กับการกลับมาปรากฎตัวในปี 2019 ด้วยลุคสูทสีแดง / ภาพ: Twitter
เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับการบูลลี่ทั้งทางโลกความเป็นจริงและโลกออนไลน์เกี่ยวกับศิลปินเกาหลีอยู่เสมอล่าสุด Shindong สมาชิกวง Super Junior ก็กลายเป็นเหยื่อของประโยคแรงบาดใจเรื่องรูปร่างของคนบางกลุ่ม สิ่งเหล่านี้เรารู้จักกันในชื่อของ “Cyberbullying” อยู่แล้ว แต่มีอีกคำหนึ่งที่หนักหนารุนแรงกว่านั้น นั่นคือคำว่า “การทำให้กลายเป็นสิ่งของ” (Objectification) สิ่งนี้คือความย่ำแย่ทางจิตใจที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะต้องแบกรับไว้ เราเองมีจิตใจเหมือนกับคนอื่นๆ แต่ถ้าถูกแปรสถานะเป็นวัตถุใครล่ะจะรับได้....
เหล่าสังคมแฟนคลับชั้นดีที่คอยสนับสนุนศิลปินอย่างสร้างสรรค์ / ภาพ: TLCthai
“ศิลปินเกาหลีคือวัตถุของเหล่าแฟนๆ บางกลุ่ม” เราไม่ได้เหมารวมว่าแฟนเพลงทุกคนจะคิดแบบนี้ แต่ก็มีกลุ่มคนส่วนน้อยเพียงบางกลุ่มที่พยายามสร้างตัวตนเป็นเจ้าข้าวเจ้าของศิลปินที่ชื่นชอบจนเกินพอดี ทำเหมือนกับว่าเขาเป็นวัตถุ พูดจา หยิบจับเหมือนกับตุ๊กตาตัวหนึ่ง ตุ๊กตาตัวนั้นไม่มีสิทธิ์โกรธหรือรู้สึกอะไรทำได้เพียงรับฟัง แต่นั่นคือตุ๊กตา! มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิดที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้านลบที่เรียกว่าการบูลลี่มากกว่านั้น แต่การตอบสนองก็ยังถูกจำกัดอยู่เพียงคำว่า “รู้สึก” แต่ไม่ถึงขั้น “ปลดปล่อยความรู้สึก” เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่พวกเขาและเธอจะมีอารมณ์สีดำขมุกขมัวอยู่ในหัวตลอดเวลา สถานะตุ๊กตาที่มีความรู้สึกเปรียบเสมือนการตกนรกทั้งเป็น! ไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว...
WATCH
ภาพแอบถ่ายอันลือลั่นของ Jennie วง Blackpink และ Kai วง EXO งานนี้ถือเป็นตัวอย่างของการละเลยความเป็นส่วนตัวซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ / ภาพ: Dispatch
“เจ้าชีวิต” มีแฟนคลับกลุ่มน้อยบางกลุ่มมีความคิดเช่นนี้จริงๆ ไม่ว่าศิลปินจะทำอะไรดูเหมือนต้องได้รับการยินยอมจากแฟนคลับกลุ่มนี้ (แม้จะทำได้หรือทำไปแล้วแต่ก็ถูกวิจารณ์สาดเสียเทเสียอยู่ดี) ลองคิดดูว่าวัตถุใต้การครอบครองไม่มีสิทธิ์ขยับเขยื้อนอะไรอยู่แล้ว เขาหรือเธอจะคบกับใครคู่นั้นก็จะกลายสภาพเป็นดั่งปาท่องโก๋ ผูกติดกันก็จริงแต่ก็แค่เป็นวัตถุในสายตาผู้อคติ วันหนึ่งแฟนคลับอยากจะฉีกพวกเขาออกจากกันก็แค่ผลิตคำพูดลงบนช่องทางต่างๆ พอรวมกันสร้างพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ก็สามารถฉีกพวกเขาเหมือนกับการฉีกวัตถุชิ้นหนึ่งให้ขาดออกจากกันอย่างไรอย่างนั้น
Sulli วง f(x) ในบทบาทผู้หญิงเร่าร้อนในภาพยนตร์เรื่อง Real ที่โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเลยขอบเขตคาแรกเตอร์ราวกับเธอไร้ความรู้สึก / ภาพ: koreaportal
แฟนคลับมีความนิยมชมชอบศิลปินเพราะความสามารถหรือเพราะต้องการเป็นเจ้าของเขากันแน่ เราคงต้องเริ่มตั้งคำถามกันแล้ว ถ้าเราชื่นชมในความสามารถ วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล และเปิดรับมุมมองอิสระในตัวตนของเขาจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีและพึงกระทำ แต่ในทางกลับกันบางครั้งเรามีความรู้สึกลึกๆ ว่าอยากเป็นเจ้าของ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกันทุกคนเพียงแต่จะเยอะน้อยต่างกันและแสดงออกมากแค่ไหนเท่านั้น การกักเก็บอาการและมองเขาเป็นเพื่อนมนุษย์คือแสงสว่างในจิตใจที่มนุษย์ทุกคนควรจะมองเห็น ใช่เขาขายคาแรกเตอร์แต่เขาไม่ได้ขายชีวิตจริงเป็นสินค้าอยู่บนชั้นวางให้ทุกคนช็อปปิ้ง สุดท้ายเบื้องหลังการเป็นศิลปินก็คือปุถุชนคนธรรมดาแบบเราๆ ไม่ต่างกัน
บทบาทความเซ็กซี่่ในคาแรกเตอร์ตัวละครของ Lee Eun Joo ที่โดนสังคมตีตราลดทอนความเป็นมนุษย์ของเธอลง / ภาพ: Crunchyroll
“การนำมาซึ่งความโศกเศร้า” การวิจารณ์รูปร่างโดยใช้บรรทัดฐานความพอใจของตนเองคือหายนะในการสานสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ศิลปินเกาหลีหลายคนกลายเป็นเหยื่อของเรื่องนี้แบบเต็มๆ พวกเขาโดนมองและหยันเหยียดในเรื่องรูปลักษณ์ราวกับเป็นเครื่องประดับบนโต๊ะอาหารที่โดนตราหน้าว่า “สวย” หรือ “ไม่สวย” คำตอบไม่ใช่สิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่ที่สุด เพราะถึงแม้คำตอบจะออกมาว่า “สวย” แต่พวกเขาและเธอก็รู้สึกว่าเป็นเหมือนสิ่งของที่โดนคนเดินผ่านไปมามองและชี้ถึงความสมบูรณ์แบบอยู่ดี ถ้าเราเป็นมนุษย์จริงก็ไม่ควรต้องนั่งรอให้คนใช้เกณฑ์อันเป็นนามธรรมมาตัดสินไม่ใช่เหรอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองจะพาเหล่าวัตถุในร่างมนุษย์ดำดิ่งสู่ความอ้างว้างและโศกเศร้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดั่งเช่นเรื่องรูปร่างที่ใหญ่กว่าไอดอลคนอื่นๆ ของซัลลี่ หรือจะเป็น ลี อึน-จู ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายจากการโดนสาดคำวิจารณ์ใส่เรื่องคาแรกเตอร์ในภาพยนตร์อันหวือหวา
ภาพสุดท้ายในอินสตาแกรมของ Koohara ซึ่งเธอใช้แคปชั่นว่า “Good night.” / ภาพ: @koohara__
พูดถึงการถูกมองว่าไร้ซึ่งจิตใจดุจสิ่งของไม่ได้ทำร้ายแค่เหยื่อเท่านั้น เพราะคนรอบข้างผู้ถูกกระทำก็รู้สึกแย่ไม่ต่างกัน ลองนึกภาพวันหนึ่งเรากลายเป็นวัตถุให้ผู้คนขว้างสิ่งของใส่แบบไม่ยั้งมือ โดนจับโยกย้าย ปล่อยทิ้งร้าง หรือแม้แต่หวงจนเกินพอดี ทำให้สิ่งของ(จิตใจของเหล่าศิลปิน) นั้นบิดเบี้ยว พ่อแม่เอย เพื่อนเอย จะรู้สึกอย่างไร...ถ้ายังไม่เห็นภาพลองนึกถึงเหตุการณ์ของซัลลี่ที่เธอปลิดชีพตัวเองเพราะเป็นกระดานลูกดอกให้คนปาลูกดอกใส่แบบไม่มียั้ง เพื่อนของเธออย่างคูฮาร่าก็คงเจ็บปวดไม่ต่างกัน เมื่อวันหนึ่งกระดานลูกดอกแตกสลายคนส่วนใหญ่เสียดายและหวนนึกถึงคุณค่าของกระดานนั้น แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่ามีคนบางกลุ่มสะใจกับการพังทลายหายไปของกระดานลูกดอกเช่นกัน เมื่อสิ่ง(คน) ที่คุณรักจากไปเพราะการโดนตีค่าเป็นวัตถุ ถึงเวลานั้นคนรอบข้างจะอยู่อย่างไร...
Jeong Da Bin อีกหนึ่งศิลปินที่กลายเป็นกระดานลูกดอกให้คนระบายความเกลียดชัง / ภาพ: IMDb
เมื่อนำข้อมูลเชิงสังคมชุดนี้มาจับเข้ากับอัตราทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมอย่างอัตราการฆ่าตัวตายจะเห็นได้ชัดว่าเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตาเกิดได้แทบทุกวันในสังคมเกาหลี ไม่ใช่แค่ในวงการบันเทิง ปี 2018 อัตราการฆ่าตัวตายในประเทศเกาหลีใต้อยู่ในอันดับ 4 ของโลกโดยมีอัตราการฆ่าตัวตาย 26.9 ต่อประชากร 100,000 คน เมื่อนำมาโยงกับรากฐานวัฒนธรรมความคาดหวังอันหนักหน่วงตั้งแต่เรื่องการเรียนไปจนถึงรูปร่างหน้าตา จะเห็นได้ชัดว่าบางครั้งคนคาดหวังกับศิลปินเหมือนคาดหวังกับหุ่นยนต์ ความสมบูรณ์แบบของรูปลักษณ์ ฟังก์ชั่นการใช้งาน และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นความคาดหวังเหมือนเชือกที่ต้องคว้าก่อนตกเหว น่าเศร้าใจที่หลายคนโดนกีดกันไม่ให้คว้าและร่วงลงเหวไปเพียงเพราะกลุ่มคนบางกลุ่มให้ค่าศิลปินเป็นเพียงสิ่งของ ถ้าไม่อยู่ในกรอบบรรทัดฐานที่พวกเขาต้องการก็ไม่ควรได้รับการยอมรับในสายตาพวกเขา...
โมเมนต์ความน่ารักของ Koohara ที่เราจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว / ภาพ: @koohara__
ในวันที่สิ่งของและสัตว์ต่างๆ ถูกทำให้กลายเป็นมนุษย์และให้คุณค่าทัดเทียม (Humanize) หรือสร้างอารมณ์ความโรแมนติก (Romanticize) ให้แก่มัน กลุ่มสังคมย่อยบางกลุ่มกลับมีความคิดตรงข้ามสิ่งนี้ เราต้องทนดูศิลปินหรือใครก็แล้วแต่โดนปฏิบัติเหมือนเป็นสิ่งของไปถึงเมื่อไหร่ ไม่ใช่แค่ในสังคมเกาหลีแต่ในสังคมทั่วโลกไม่ควรมีสิ่งนี้เกิดขึ้น เราเห็นตัวอย่างของขุมนรกในความรู้สึกมนุษย์ที่ร้ายแรงจนพวกเขาอยากหนีด้วยวิธีการที่โหดร้ายที่สุด(ฆ่าตัวตาย) ถึงวันนั้นเราจะมองว่าพวกเขาเป็นหนึ่งชีวิตที่สูญเสียหรือมองว่าเป็นแค่สิ่งของที่สลายหายไป ทุกสิ่งอยู่ที่มุมมองและการปฏิบัติ แต่ขอร้องต่อฟ้าว่าอย่ามีอีกเลย เราก้มหน้าไว้อาลัยให้แก่จุดจบของชีวิตอันน่าเศร้ากันมามากพอแล้ว ขอให้เรื่องร้ายๆ จงอย่าเกิดขึ้น ไม่ว่ากับใครอีกเลย...
WATCH