FASHION

รำลึก Kenzo Takada ดีไซเนอร์ญี่ปุ่นที่สร้างแบรนด์ พัฒนา และเกษียณตัวเองดั่งตำนาน

เมื่อ Kenzo Takada จากไป สิ่งที่เขาทิ้งไว้ไม่ใช่แค่แบรนด์ Kenzo อันโด่งดัง แต่เรื่องราวสุดบันดาลใจที่พาทุกคนไปรู้จักกับความมานะพยายาม

     หลังข่าวเศร้าเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2020 Kenzo Takada ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวญี่ปุ่นผู้ก่อตั้งแบรนด์ Kenzo เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ทั่วโลกต่างพากันแสดงความอาลัยถึงการจากไปครั้งนี้อย่างสุดซึ้ง โว้กประเทศไทยเองก็มีการโพสต์แสดงความเสียใจไปเป็นที่เรียบร้อย แต่วันนี้เรื่องราวชีวิตการทำงานของเขาจะถูกเล่าขานเพื่อสดุดีถึงเกียรติยศ ความสามารถ และ เส้นเรื่องชีวิตที่น่าสนใจอีกครั้ง เราจะพาผู้อ่านทุกท่านย้อนกลับไปถึงการก่อตั้ง พัฒนา และตัดสินใจจากแบรนด์ของตัวเองออกมาในช่วงบั้นปลายชีวิต ทำไมเขาถึงต้องออกจากบ้านธุรกิจแฟชั่นหลังใหญ่ของตัวเอง ติดตามได้ในบทความนี้เลย

Kenzo Takada ในช่วงวัยรุ่นที่่แสดงความจัดจ้านในเรื่องศิลปะ / ภาพ: Fashion Industry Broadcast

     เด็กที่เกิดมาในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 (27 กุมภาพันธ์ 1939) เติบโตมากับพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นและมีพี่สาวที่อ่านนิตยสารแฟชั่นตามแบบฉบับเด็กสาวทั่วไป ความฝันริเริ่มมาด้วยความน่าสนใจ หนุ่มญี่ปุ่นปฏิเสธการเรียนในเส้นทางพื้นฐานทั่วไปตามความคาดหวังของครอบครัวและลงเรียนแฟชั่น ณ โรงเรียนแฟชั่นบุนกะ ระหว่างเรียนก็ได้เริ่มลงสนามทำงานกับห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งซึ่งเคนโซ่ได้เริ่มออกแบบแฟชั่นอย่างจริงจังกว่า 40 ชุดในช่วงนี้นี่เอง ถือเป็นจุดเริ่มของเด็กหนุ่มผู้สนใจแฟชั่น ในวันที่ดินแดนอาทิตย์อุทัยกำลังฟื้นตัวพัฒนาหลังเผชิญความพ่ายแพ้ในสงครามโลก

บรรยากาศปารีสปี 1965 ช่วงที่ Kenzo Takada ไปถึง ซึ่งจากภาพจะเห็นความวุ่นวายในเมืองใหญ่อันมีเสน่ห์ / ภาพ: arthurbagby - flickr

     เด็กนักเรียนแฟชั่นผู้ชายคนแรกในบุนกะซึมซับความงดงามจากเมืองหลวงแฟชั่นอย่างปารีสมาตลอด ทั้งจากหนังสือ เรื่องเล่า ตำราเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย นั่นทำให้เคนโซ่หลงรักแม้ยังไม่เคยไปเยือนเองแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยสถานการณ์บีบบังคับที่รัฐจะทำลายอาคารที่พักอาศัยของเขาพอดี ประจวบเหมาะกับความอยากไปเยือนปารีสสุดขีดเคนโซ่จึงตัดสินใจเริ่มทริปทางเรือในปี 1964 ก่อนจะถึงเมืองในฝันในวันปีใหม่ของปี 1965 พอดิบพอดี เขาไปโดยไม่รู้ภาษา ไม่รู้จักใคร แพชชั่นของการเป็นคนแฟชั่นผลักดันเขาไปอย่างแท้จริง



WATCH




Kenzo Takada กับทักษะวาดภาพอันยอดเยี่ยม / ภาพ: LVMH

     ปี 1970 ตำนานบทสำคัญในโลกแฟชั่นก็เกิดขึ้น เคนโซ่เริ่มตั้งแบรนด์ของตัวเองอย่างจริงจังในปารีสหลังจากใช้เวลาเรียนรู้เมืองใหญ่ให้รอบด้านกว่า 5 ปีเต็ม วาดรูป สร้างชื่อ และสะสมทุนจนสามารถออกแบบงานของตัวเองได้เป็นคอลเล็กชั่น สีสันและลายพิมพ์จัดจ้านที่คล้ายกับงานศิลปะบนผืนผ้าใบกลายเป็นเอกลักษณ์ของเคนโซ่จวบจนทุกวันนี้ เขาสร้างและพัฒนาแบรนด์รวดเร็วมาก เพียงไม่กี่เดือนเคนโซ่ถูกจับตามองจากสำนักแฟชั่นชื่อดังในฝรั่งเศส ชื่อเสียงเองก็ดังไกลถึงอเมริกา ปีเดียวหลังจากก่อตั้งแบรนด์ เคนโซ่ได้บินลัดฟ้าไปโชว์ถึงนิวยอร์กและกลับโตเกียว แถมยังได้รางวัลในบ้านเกิด ถือเป็นการสร้างความสำเร็จด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองอย่างถึงที่สุดดั่งวลีที่ว่า “ตำนานสร้างได้ด้วยมือเรา”

บรรยากาศหน้าร้าน Kenzo ที่ Place de Victoires ซึ่งเป็นร้านสาขาแรกของแบรนด์ / ภาพ: moshaver21

     การพัฒนาแบรนด์ของเคนโซ่มีวิถีที่ทำให้แบรนด์ของชาวญี่ปุ่นในฝรั่งเศสแบรนด์นี้มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มแรกเขาใช้จุดเด่นชูโรงงานเขาให้เหมือนศิลปะที่ดูจัดจ้าน ล้ำค่า แต่จับต้องได้ และแน่นอนว่าการต่อยอดธุรกิจก็มีความสำคัญ เคนโซ่เปิดร้านของตัวเองครั้งแรกในปี 1976 แบรนด์ก็ดังเปรี้ยงปร้างอย่างต่อเนื่อง มิหนำซ้ำดีไซเนอร์ยังรักษาความสดใหม่ของตัวเองและแบรนด์อยู่เสมอ มีการจัดอีเวนต์และเข้าถึงสาวกแฟชั่นในรูปแบบใหม่ให้คนได้ตื่นเต้นกันอยู่ตลอด เคนโซ่จึงกลายเป็นผู้นำแฟชั่นในปารีสแม้จะไม่ใช่หนุ่มสาวปาริเซียงก็ตาม

ขวดน้ำหอมสุดคลาสสิกช่วงปลายยุค ‘80s ของ Kenzo / ภาพ: Etsy

     นอกจากเสื้อผ้าสตรีที่เคนโซ่เริ่มทำและเป็นตัวชูโรงเสมอมา เขาไม่หยุดพัฒนาด้วยการสรรสร้างไลน์เสื้อผ้าบุรุษ แบรนด์ไลน์ย่อย รวมถึงทำยีนส์เคนโซ่สุดโด่งดัง มากไปกว่านั้นเขายังเริ่มแตะวงการน้ำหอมด้วย ในเวลา 15 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ ชายคนนี้พัฒนาจนเรียกว่าเคนโซ่แทบจะครบวงจร และอีกหนึ่งเครื่องหมายการันตีความยิ่งใหญ่คือ LVMH เครือแฟชั่นและสินค้าลักชัวรี่ชั้นนำของโลกซื้อกิจการของแบรนด์ในปี 1993 เท่ากับว่าเคนโซ่ใช้เวลาไม่ถึง 25 ปีในการสร้างตัวไต่เต้าจากหนุ่มญี่ปุ่นพลัดถิ่นสู่เจ้าของแบรนด์ในอ้อมกอดของเครือยักษ์ใหญ่ระดับนี้

Roy Krejberg (ภาพซ้าย) และ Gilles Rosie (บริเวณซ้ายของภาพขวา)r ผู้ช่วยของ Kenzo Takada ที่เขาไว้ใจ / ภาพ: Fashion Model Directory และ Zimbio

     “Henri Rousseau คงเรียกหาแล้ว” เราขอเปรียบเปรยช่วงปลายชีวิตการเป็นดีไซเนอร์ของเคนโซ่ไว้แบบนี้ เพราะเขาเป็นคนที่ได้รับแรงบันดาลใจหลักจากงานศิลปะของอองรี และเขาไม่ได้แค่รับมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเสื้อผ้า แต่เคนโซ่ชื่นชมงานศิลปะจนถือว่าเป็นความชื่นชอบอีกแขนงที่เขาใฝ่ฝันไม่ต่างจากเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ปี 1999 ในวันที่ Roy Krejberg และ Gilles Rosier 2 ผู้ช่วยที่เคนโซ่มองเห็นว่าพวกเขามีศักยภาพพอจะดูแลแบรนด์ในชื่อเดียวกับเขาต่ออย่างมีมาตรฐาน การตัดสินใจครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น ด้วยวัย 60 ปี เคนโซ่ตัดสินใจเกษียณตัวเองจากวงการแฟชั่นและเตรียมตัวเข้าสู่โลกศิลปะแขนงอื่นเต็มตัว...

ภาพสเกตช์สุดอลังการที่ Kenzo Takada รังสรรค์ขึ้นเพื่อ K-3 / ภาพ: Courtesy of Brand

      การเดินตามเส้นทางศิลปะคือความฝันอีกหนึ่งฝันที่เคนโซ่มุ่งหมายมาตลอดช่วงชีวิตการทำงานแฟชั่น โดยเฉพาะศิลปะที่นำมาประยุกต์ใช้กับของตกแต่งบ้าน ด้วยเอกลักษณ์ลายเส้นและการออกแบบของเคนโซ่การันตีความโดดเด่นให้กับของแต่งบ้านทุกเซตอย่างปฏิเสธไม่ได้ นอกจากนี้เขายังไม่ปิดกั้นตัวเองเมื่อโอกาสต่างๆ มาถึง เขาใช้ฝีมือการรังสรรค์ผลงานต่างๆ ผสมผสานเลียนล้อไปกับคอนเซปต์สดใหม่ของการร่วมมือแต่ละแขนง ตั้งแต่การทำเฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงออกแบบการจัดแสดงงานคริสต์มาสในโรงแรม และล่าสุดก็คือแบรนด์ K-3 แบรนด์ไลฟ์สไตล์ไลน์ใหม่ล่าสุดที่หนุ่มใหญ่วัยคุณตาเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ถือเป็นหน้าประวัติหน้าสุดท้ายในชีวิตของเคนโซ่

คงไม่มีอีกแล้ว สีหน้าแววตาที่สะท้อนถึงแพชชั่นที่รักและมีความสุขกับศิลปะขนาดนี้ / ภาพ: Nikkei

     วันนี้เคนโซ่ ทากาดะได้จากเราไปแล้วด้วยโรคโควิด-19 แต่ตำนานบทสำคัญที่เขาสร้างสรรค์ประวัติชีวิตและแบรนด์ได้โดยเริ่มต้นราวกับนิยาย ความพยายามสรรสร้าง การรักษามาตรฐาน การพัฒนาจนสมบูรณ์แบบ เขาทำทั้งหมดและถ่ายทอดต่อให้ผู้ช่วยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาอย่างยาวนานแบบหมดเปลือก และเขาก็ได้ตัดสินใจเกษียณตัวเองเพื่อยืนหยัดเรียนรู้พัฒนาตัวเองต่อไปโดยไม่ให้อุปสรรคเรื่องอายุมาขวางกั้น ถึงวันนี้เขาจะไม่ได้อยู่เหมือนเป็นเด็กเรียนรู้ตลอดเวลาอีกต่อไปแล้ว แต่เรื่องราวของเขาจะกลายเป็นต้นแบบให้คนยึดมั่นนับถือเขาอย่างแน่นอน ตำนานดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นผู้โด่งดัง “เคนโซ่ ทากาดะ”

 

ข้อมูล: The Independent, K-3, Kenzo, LVMH, World News Today, Fashion Model Directory, THE LIVES OF 50 FASHION LEGENDS และ 100 CONTEMPORARY FASHION DESIGNERS

WATCH