FASHION

Hanne Gaby Odiele นางแบบแถวหน้าผู้กล้าออกมาประกาศถึงสภาวะเพศอันกำกวมของเธอ

นางแบบสาว Hanne Gaby Odiele เปิดใจเรื่องการเติบโตมากับ ภาวะเพศกำกวม และสาเหตุที่เธอตัดสินใจบอกความจริงและรับหน้าที่เป็นปากเสียงสนับสนุนผู้ตกที่นั่งเดียวกัน

     ฮานน่า กาบี้ โอดีลลืมตาดูโลกได้เพียง 2 สัปดาห์ก็มีอาการติดเชื้อ Franke กับ Annie Termote พ่อแม่ของเธอพาลูกไปโรงพยาบาลใกล้บ้านเกิดที่เมืองคอร์ทไรค์ ประเทศเบลเยียม หมอตรวจเลือดหนูน้อยแล้วบอกฟรังกับอานนี่ว่าลูกชายไม่เป็นไรหรอก ลูกชายหรือ? สองสามีภรรยาถึงกับตะลึงเมื่อทราบจากผลเลือดว่าลูกมีภาวะไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชาย (Androgen Insensitivity Syndrome-AIS) แม้ทางพันธุกรรมจะเป็นเพศชาย มีโครโมโซมเอกซ์และวาย มีลูกอัณฑะอยู่ในช่องท้อง แต่ไม่มีมดลูกและรังไข่ หมอของครอบครัวทราโมตไม่เคยเจอกรณีอย่างนี้มาก่อน จึงแนะนำให้พ่อแม่พาฮานน่าไปหาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็ให้ข้อมูลตรงกับที่ทั้งสองจะได้ยินซ้ำแล้วซ้ำอีกตั้งแต่วันนั้นจนลูกโต นั่นคือลูกมีภาวะเพศกำกวม ต้องเข้ารับการผ่าตัดแก้ไข และที่สำคัญที่สุด ต้องเก็บเป็นความลับ แม้แต่ตัวเด็กเองก็ให้รู้ไม่ได้ วันนี้ฮานน่าอายุ 28 ปี เป็นนางแบบที่เคยเดินแบบตั้งแต่ Chanel ถึง Givenchy กับ Prada เคยถ่ายโฆษณาให้ลูกค้าหลายต่อหลายราย รวมทั้ง Mulberry และ Balenciaga เธอเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้เราฟังในบ่ายวันหนึ่งที่ร้านอาหาร Nolita ภายในร้านแต่งด้วยสีชมพูแปร๊ดเข้ากับสีเสื้อสเวตเตอร์ Acne Studios ขนฟูที่เธอสวม ฮานน่าซึ่งสั่งแชมเปญมาดื่มตั้งแต่หัววันบอกแกมหัวเราะว่าฉากหลัง “สีชมพูเหมาะกับเด็กผู้หญิง” อย่างนี้ตลกดีเมื่อนึกถึงหัวข้อที่เราคุยกัน

     ท่ามกลางภูมิทัศน์ทางเพศและเพศภาวะที่เปลี่ยนไป และในวันที่สิทธิของบุคคลข้ามเพศและชาวเกย์ก้าวมาไกลจากเดิมขนาดนี้ ภาวะเพศกำกวมน่าจะเป็นเรื่องต้องห้ามอย่างสุดท้ายที่เหลืออยู่ จึงนับว่าฮานน่ากล้าหาญอย่างยิ่งที่ตัดสินใจเปิดตัวและบอกเล่าว่าร่างกายที่อยู่กับเธอมาตั้งแต่เกิดเป็นอย่างไร รวมทั้งเป็นปากเป็นเสียงแทนและให้การสนับสนุนประชาคมผู้มีภาวะเพศกำกวม แม้เธอจะบอกว่าได้แรงบันดาลใจจาก Hari Nef และ Andreja Pejic นางแบบข้ามเพศที่เคยเดินแบบให้แบรนด์ใหญ่ แต่สิ่งที่เธอทำอยู่เป็นการสำรวจดินแดนใหม่โดยไร้แผนที่นำทาง เพราะไม่เคยมีคนดังในสาขาอาชีพใดเปิดเผยว่าตนมีภาวะเพศกำกวม

     ภาวะเพศกำกวม (Intersex) มีมากกว่า 30 แบบ ผู้ที่เข้าข่ายนี้ล้วนเกิดมาพร้อมกับความผิดแผกเชิงกายวิภาคด้านเพศ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อวินิจฉัยได้ว่าเด็กทารกมีภาวะเพศกำกวม แพทย์ส่วนใหญ่ก็จะรีบทำการผ่าตัด แพทย์หญิง Ilene Wong แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินปัสสาวะซึ่งเคยรักษาผู้ใหญ่ที่มีภาวะเพศกำกวมกล่าวว่าหลายปีมานี้ “ภูมิทัศน์โดยรวมเริ่มเปลี่ยนไป เพราะคนเริ่มตระหนักถึงผลที่ตามมามากขึ้น ของบางอย่างนั้นไม่จำเป็นต้องไปแก้ไข แม้บางครั้งการผ่าตัดจะมีขึ้นด้วยความจำเป็นทางการแพทย์ แต่การผ่าตัดส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นไปเพื่อการตกแต่ง และหลังการผ่าตัดผู้ป่วยก็อาจจะมีแผลเป็น ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ทั้งยังอาจเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนเร็วอีกด้วย”

     Kimberly Zieselman ผู้อำนวยการบริหารขององค์กร InterACT ที่ฮานน่าเข้าไปช่วยงานอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นปากเป็นเสียงเรื่องสิทธิเยาวชนที่มีภาวะเพศกำกวม เผยสถิติที่น่าตกใจว่า “เกือบ 2 เปอร์เซ็นต์ของทารกเกิดมาพร้อมภาวะเพศกำกวม ซึ่งเป็นสัดส่วนพอๆ กับเด็กที่เกิดมามีผมแดงโดยธรรมชาติ” ไม่มีใครรู้ว่าในจำนวนนี้
มีกี่คนที่ต้องทนอยู่อย่างอับอายและปกปิดความจริงตลอดมา

     ในวัยเรียนฮานน่าต้องไปหาหมอในวันหยุดบ่อยๆ และมีหลายครั้งที่นักศึกษาแพทย์มาดูเธอโดยที่เธอไม่ได้ยินยอม เธอนึกสงสัยว่า “ทำไมคนพวกนี้ถึงมาดูตอนฉันเปลือยหมดทั้งตัวแบบนี้” หมอบอกพ่อแม่ของเธอว่าถ้าไม่ผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออกตั้งแต่ฮานน่าอายุ 10-11 ขวบ เธอจะเป็นมะเร็ง (ฮานน่าบอกว่านี่เป็นวิธีปฏิบัติที่พบมาก และเป็นวิธีที่สังคมตอบสนองต่อความกลัวร่างกายที่ไม่ใช่หญิงไม่ใช่ชาย ทั้งที่เด็กภาวะเพศกำกวมไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมากกว่าคนอื่นแต่อย่างใด) แทนที่จะได้อธิบายให้ลูกฟังว่าการผ่าตัดมีจุดประสงค์อย่างไรแน่ พ่อแม่กลับถูกสอนให้บอกแค่ว่ากระเพาะปัสสาวะของเธอมีปัญหา “เขาบอกว่าภาวะที่ฮานน่าเป็นนั้นพบได้ยากมาก” พ่อของเธอเล่า “เดี๋ยวนี้เรารู้มากขึ้นเยอะ เมื่อก่อนเรานึกว่าไม่สามารถเล่าให้เพื่อนหรือญาติฟังด้วยซ้ำ” ในสมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต คนที่อยู่เมืองเล็กในเบลเยียมอย่างครอบครัวทราโมตไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่คนสมัยนี้เข้าถึงได้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก “เรารู้สึกโดดเดี่ยวจริงๆ” คุณแม่กล่าวเสริม "ที่พ่อแม่ของเธอไม่ได้บอกเรื่องทั้งหมดให้ลูกรู้เป็นเพราะตัวเองก็ไม่รู้ความจริงทั้งหมด และคนที่ติดตามเรื่องราวจนรู้ความจริงก็คือฮานน่า เธอเล่าว่าตอนนั้นอายุ 17 และรู้สึก “แย่ไปหมด เพราะฮอร์โมนที่หมอให้ทำให้ร่างกายปั่นป่วน ฉันรู้ว่าต้องมีอะไรผิดปกติ” 

     ก่อนที่ตัวแทนบริษัทนางแบบจะไปสะดุดตากับฮานน่าในงานเทศกาลเพลงร็อกที่บ้านเกิดของเธอไม่กี่เดือน ฮานน่าได้อ่านบทความในนิตยสารวัยรุ่นภาษาดัตช์เกี่ยวกับเด็กสาวที่มีลูกไม่ได้และผ่านการผ่าตัดมาแล้วหลายครั้ง นี่มันฉันนี่! เธอนึกในใจ “ฉันสอบถามไปทางนิตยสาร แล้วก็ติดต่อไปหาเด็กสาวเพศกำกวมในบทความ หลังจากนั้นก็ได้เจอกลุ่มช่วยเหลือที่ฮอลแลนด์ มันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์จริงๆ จากที่เคยคิดว่ามีตัวเองคนเดียว ไม่มีใครเป็นเหมือนเรา แล้วมาได้คุยกับคนอื่นที่มีภาวะเพศกำกวมเหมือนกัน!” ทุกวันนี้พ่อแม่ของฮานน่าสนับสนุนพ่อแม่ของเด็ก เพศกำกวมให้เปิดเผยและโปร่งใส “ได้โปรดคุยกันเรื่องนี้เถอะ” อานนี่บอก “จงคุยกับลูกสาวของคุณ พี่น้องของเธอ รวมทั้งญาติๆ เพื่อนๆ และหาทีมแพทย์ที่ให้ข้อมูลกับคุณโดยตลอด ช่วยคุณทั้งด้านการแพทย์และด้านจิตใจตลอดกระบวนการ และพูดคุยกับคนในประชาคมภาวะเพศกำกวมเสียนะคะ”

     “หมอคิดว่าต้องทำให้เด็กทารก ‘ปกติ’” ฮานน่าบอก ตัวเธอเองตั้งใจมั่นว่าต้องหยุดสิ่งที่เธอเรียกว่า “การผ่าตัดบ้าๆ ที่แก้ไขไม่ได้และไม่ได้รับความยินยอม เพราะทำกันตั้งแต่เรายังเด็กมาก” องค์การสหประชาชาติก็เห็นพ้องกับเธอ โดยในเดือนมีนาคม 2016 องค์การสหประชาชาติได้ประณามการผ่าตัดอวัยวะเพศของเด็กที่มีภาวะเพศกำกวม และขอให้ถือว่าการทำเช่นนั้นเข้าข่ายการทรมาน

     แพทย์ของตัวเองหลังได้รับประวัติการรักษาในวัยเด็กจากเบลเยียม และกำลังทำความเข้าใจขอบเขตของการผ่าตัดเหล่านั้นอยู่ เธอเข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ โดยต้องกินยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนต่ำ “มันเหมือนเข้าวัยทองตั้งแต่อายุยังน้อยนั่นแหละ” เธอเล่า “สำหรับคนที่มีลูกไม่ได้มันก็ขัดแย้งในตัวเหมือนกันนะ ฉันมีหน้าอกเหมือนกันแต่มีช้า ทุกอย่างเกิดช้านิดหน่อยหมดเลยสำหรับฉัน”

     ตอนแรกฮานน่าบอกคนรอบตัวแค่ไม่กี่คน Alexander Wang ซึ่งเลือกเธอเป็นนางแบบในโชว์ครั้งแรกเล่าว่า ฮานน่าบอกเขาระหว่างเดินทางไปงานปาร์ตี้เมื่อ 5 ปีมาแล้ว “เธอไม่ยอมให้เรื่องแบบนี้มาทำให้ท้อหรือกระทบความคิดหรือคอยถ่วงเธอหรอกครับ” นอกจากนี้เธอยังไม่มีปัญหากับการตอบคำถามที่ถ้าเปลี่ยนบริบทเป็นอย่างอื่นต้องถือว่าละลาบละล้วงเอามากๆ John Swiatek นายแบบและดีเจหนุ่มสามีของเธอบอกว่า “ฮานน่าไม่เขินกับอะไรง่ายๆ หรอกครับ” (งานแต่งของทั้งคู่จัดสไตล์ฮิปสเตอร์ในบรรยากาศชนบทแถวแคตสกิลส์เมื่อฤดูร้อนปีกลาย ฮานน่าสวมชุดขาวคล้ายหนูน้อยหมวกแดงผสมสาวกอท ฝีมือออกแบบของอเล็กซานเดอร์ แวง)

ครั้งแรกที่เธอบอกจอห์นเมื่อ 7-8 ปีมาแล้ว เขาตอบว่า “เจ๋งอะ ผมเป็นเด็กที่พ่อแม่ขอมาเลี้ยง” ฮานน่า ผู้มีความเปิดเผยเป็นเครื่องหมายการค้าเอ่ยปากบอกโดยไม่ต้องให้ใครสะกิดว่า “เรื่องเซ็กซ์ของเราปกติมาก ปกติแบบคนรักต่างเพศนะ” แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ไม่เคยกลบเกลื่อนสิ่งที่ทำให้เธอต่างจากคนอื่น ซึ่งเธอใช้คำว่า “พิเศษ” “ฉันจะไม่มีวันรู้ว่าการมีประจำเดือน มีลูกเป็นอย่างไร แต่ฉันไม่ได้ยืนฉี่และไม่ได้มีองคชาติ ฉันเป็นคนเพศกำกวมก็จริง แต่ค่อนมาทางผู้หญิงเสียเยอะ ฉันไม่ต้องลุ้นเรื่องนาฬิการ่างกาย เพราะร่างกายฉันไม่มีนาฬิกา!” ถึงจะประหม่ากับการเปิดตัวอยู่บ้าง แต่ดูเธอรอคอยสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างยินดีปรีดา “ฉันต้องประกาศตัวตอนนี้ ตามสถานภาพในชีวิตตอนนี้ ฉันอยากจะอยู่อย่างซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และช่วยทำลายตราบาปที่คนเพศกำกวมต้องเผชิญ แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ชื่อเสียงที่ได้สั่งสมในอาชีพนางแบบมาให้ตอบแทนผู้ที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในสังคม ฉันอยากเป็นที่พึ่งของคนที่กำลังดิ้นรนอยู่ตอนนี้ อยากบอกเขาว่าไม่เป็นไรนะ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเรา ไม่ใช่ทั้งหมดที่เราเป็น”

หลังดื่มแชมเปญด้วยกันไม่กี่วัน ฉันพบฮานน่ากับสามีที่งานปาร์ตี้เต้นรำวันอาทิตย์ย่านเชลซี ชื่องาน Battle Hymn ซึ่งจัดโดย Ladyfag เราเจอกันเมื่อหลังเที่ยงคืนแล้ว คนในงานซึ่งมีหลายกลุ่มปะปนกันกำลังแดนซ์กระจายใต้แสงไฟหลากสี เด็กขาเที่ยวแต่งตัวแรงแบบที่ไม่ได้เห็นกันมาตั้งแต่ยุค 1990 แทรกอยู่ในหมู่ชาวเกย์ที่แต่งตัวเรียบร้อยกว่า และมีคนดังวงการแฟชั่นอยู่บ้างประปราย ช่างภาพดูโอ Mert Alas กับ Marcus Piggott กำลังคุยกับฮานน่าบนเวทียกพื้นที่เป็นทั้งบูทดีเจและห้องวีไอพีดี้แฟ็กเป็นนักจัดปาร์ตี้ที่โด่งดังในวงการนักเที่ยวกลางคืนของนิวยอร์ก แค่ชื่อของเธอก็สื่อถึงความลื่นไหลทางเพศสภาพในยุคโพสต์โมเดิร์นได้อย่างชัดเจน เลดี้แฟ็กรู้ความลับของฮานน่ามาตั้งแต่คืนที่ทั้งคู่บังเอิญนั่งม้ายาวตัวเดียวกันที่ชั้นใต้ดินของคลับ Chez Castel ในกรุงปารีสช่วงแฟชั่นวีก “อยู่ๆ เธอก็โพล่งออกมา” นักจัดปาร์ตี้คนดังเล่า “ฉันรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่เธอบอกแบบไม่มีพิธีรีตองเลย”

ณ ที่นี้ในค่ำคืนนั้น คงจะหาใครที่ช็อกกับความลับของฮานน่าคงยากเต็มที เพราะการวาดลวดลายบนฟลอร์แห่งนี้คือการฉลองชัยชนะแห่งเสรีภาพส่วนบุคคล การต่อสู้เพื่อจะมีชีวิตอยู่ และการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นอย่างแท้จริง "เมื่อ 10 ปีที่แล้วชีวิตของหลายคนในที่นี้ถูกมองว่า วิปริตน่าอดสู ฉันยืนดูพลางนึกถึงสิ่งที่เธอบอกในร้านบิสโตรสีชมพูหวานแหววเมื่อวันก่อน “การเป็นนางแบบก็เหมือนคำชมคำโต แต่บางทีมันก็มีแค่ด้านเดียว ฉันรู้ว่าตัวเองอยากใช้ความเป็นนางแบบเป็นเวทีสำหรับการให้ตอบแทน และทำอะไรบางอย่างเพื่อบอกให้คนรู้ว่าเขามีสิทธิ์ได้รับการยอมรับ ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็ตาม สิ่งที่เรียกว่า ‘บรรทัดฐาน’ ไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิดเลย”

 

เรื่อง: Lynn Yaeger

แปลและเรียบเรียง: วิริยา สังขนิยม

WATCH