FASHION

Jean Muir ดีไซเนอร์หญิงผู้สร้างแฟชั่นที่ยังโมเดิร์นอยู่ถึงปัจจุบันแม้จะผ่านมากว่า 60 ปี

เมื่อความสร้างสรรค์และพรสวรรค์ประกอบกันทำให้โลกแฟชั่นไม่เคยหยุดนิ่ง Jean Muir คือดีไซเนอร์ผู้จารึกตำนานของตัวเองด้วยผลงานที่เป็นอมตะ

     ความโมเดิร์นหรือทันสมัยในโลกแฟชั่นนั้นผันเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งไอเท็มบางชิ้นอาจจะดูล้ำหน้าและนำเทรนด์เป็นเวลานับสิบปี ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไปความโมเดิร์นของไอเท็มชิ้นนั้นๆ กลับกลายเป็นแค่ความทรงจำของโลกแฟชั่นในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น สำหรับ Jean Muir ดีไซเนอร์หญิงฝีมือชั้นยอดนั้นกลับต่างออกไป เพราะเธอเหมือนผู้มาจากอนาคตอ่านเกมแฟชั่นได้ก่อนกาล เพราะผลงานที่เธอรังสรรค์เมื่อหลายทศวรรษก่อนยังคงเป็นรากฐานของไอเท็มที่ฮิตจนถึงทุกวันนี้ วันนี้เราจะพาไปย้อนดูว่าเธอคือใครและทำไมชื่อจีน มิวเออร์ถึงไม่ค่อยปรากฏในสารบบแฟชั่นมากเท่าที่ควร

Jean Muir ดีไซเนอร์หญิง บุคคลต้นเรื่องของเราในบทความนี้ / ภาพ: Fashion Tours London

     วันที่ 17 กรกฎาคม 1928 เด็กน้อยชื่อจีน มิวเออร์ลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก เธอเกิดในครอบครัวเชื้อสายสกอตแลนด์ที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน แต่หลังจากเกิดได้ไม่นานพ่อแม่ของเธอก็แยกทางกันทำให้เด็กสาววัยกระเตาะและพี่ชายต้องย้ายไปอยู่กับแม่ที่ย่านเบดฟอร์ดเชอร์ แน่นอนว่าครอบครัวฐานะปานกลางทั่วไปในอังกฤษเด็กสาวไม่ได้มีชีวิตเลิศหรูหรือต้องลำบากลำบนมากนัก จีนเข้ารับการศึกษาตามปกติทั่วไปแต่นอกเหนือจากชีวิตการเรียนเด็กคนนี้แสดงให้เห็นว่ามีพรสวรรค์ด้านการตัดเย็บมาตั้งแต่ 6 ขวบ ผลงานถักทอต่างๆ เริ่มจุดประกายไฟในตัวและค่อยๆ พัฒนาเรื่อยมา

ร้าน Liberto & Co. ณ ถนนรีเจนต์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปัจจุบัน / ภาพ: Liberty & Co.

     เมื่อออกจากระบบการศึกษามัธยมปลายจีนไม่ได้ต่อมหาวิทยาลัยแต่เลือกทำงานเลย ซึ่งว่าค่อนข้างปกติมากในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอเริ่มงานด้วยการเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไปไม่มีอะไรโดดเด่นมากนัก แต่เหมือนพรสวรรค์ต้องหาช่องทางเติบโต ดังนั้นวัยรุ่นสาวคนนี้จึงตัดสินใจเปลี่ยนงานมุ่งสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นโดยเริ่มจากการทำงานในห้องสต็อกของ Liberty & Co. ในปี 1950 หลังจากเริ่มงานได้ไม่นานเธอก็ถูกโยกย้ายไปแผนกชุดชั้นในและเสื้อผ้าเด็กขององค์กรอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่นี่ทำให้พรสวรรค์ของเธอได้ส่องแสง เพราะรูปแบบการทำงานเน้นไปที่การวาดภาพสเกตช์ ในช่วงเวลาเดียวเธอก็เริ่มทำพัฒนาฝีมือจนเริ่มเป็นช่างทำชุดและศึกษาการวาดภาพแฟชั่นอย่างต่อเนื่อง



WATCH




ความเนี้ยบกริบของเสื้อผ้าแบรนด์ Jaeger ในสมัยก่อน / ภาพ: Evening Standard

     เมื่อฝีมือเริ่มพัฒนาแสงของดวงดาวอันเจิดจรัสภายในตัวเธอก็เปล่งปลั่งขึ้นทันที ปี 1956 จีน มิวเออร์รับตำแหน่งดีไซเนอร์ครั้งแรกในชีวิตกับแบรนด์ Jaeger และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์สรรสร้างไลน์ “Youth” ขึ้นมาได้สำเร็จ ต่อมาในปี 1962 เธอได้รับคำเชิญชวนจาก David Barnes ผู้คร่ำวอดในธุรกิจเสื้อผ้าตลาดให้มาร่วมงานด้วย แน่นอนว่าดีไซเนอร์ผู้เต็มไปด้วยความตั้งใจและไฟในตัวกับวัย 34 ปีอยากจะสร้างสรรค์แฟชั่นเน้นศิลปะการออกแบบมากกว่าเสื้อผ้าตลาดทั่วๆ ไป เธอเกือบปฏิเสธเดวิดไปแล้วแต่นักธุรกิจผู้นี้เสนอให้จีนสร้างแบรนด์โดยยึดแนวทางของตัวเอง แบรนด์ Jane & Jane จึงเกิดขึ้นในปีเดียวกัน

ชุดเดรสที่ได้รับการขนานนามว่า Modern Day Dress ของแบรนด์ Jane & Jane / ภาพ: National Museum of Scotland

     ภาพลักษณ์ของ Jane & Jane เต็มไปด้วยความเฟมินีน หญิงสาวผู้พกพรสวรรค์มาเต็มกระเป๋าเริ่มรังสรรค์คอลเล็กชั่นช่วงแรกด้วยด้วยชุดเดรสที่ได้รับการพูดถึงว่าเป็น “Modern Mood Dress” ความเรียบง่ายของซิลูเอต ประกอบกับวิธีการลงรายละเอียดด้วยการอัดพลีตหรือจับระบายแบบพอเหมาะพอดีทำให้ชุดเดรสของเจน แอนด์ เจนโดดเด่นมากในยุคนั้น และถ้าสังเกตจะเห็นชุดเดรสสั้นลักษณะเบาสบาย เคลื่อนไหวคล่องตัวแบบนี้ยังคงเป็นไอเท็มฮิตที่ใส่เมื่อไหร่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกเชยมาจนถึงปัจจุบัน จะเรียกว่าการทำชุดเดรสแบบนี้คือลายเซ็นประจำตัวของจีนก็ไม่ผิดนัก เพราะระดับความยาวนี้กลายเป็นระดับความยาวที่หลายคนยึดถือเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานในการสวมเดรสสั้นจวบจนทุกวันนี้

Little Black Dress และ ชุดเดรสแห่งปี 1964 ของแบรนด์ Jane & Jane โดยฝีมือการออกแบบของ Jean Muir / ภาพ: National Museum of Scotland - Fashion Museum Bath

     เจน แอนด์ เจนประสบความสำเร็จในการสร้างชื่อขึ้นทำเนียบแบรนด์ร้อนแรงในช่วงนั้นได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะในกรุงลอนดอนบ้านเกิดของเธอเอง ขยับมาในปี 1964 หรือจะเรียกว่าปีทองของเจนก็ว่าได้ เพราะปีนี้เป็นครั้งแรกที่เธอปล่อยเซต Little  Black Dress ในรูปแบบเฉพาะตัวให้สาวกแฟชั่นได้ตื่นเต้นกัน และความโมเดิร์นในยุคนั้นก็ยังหลงเหลืออยู่เห็นในปัจจุบัน เราสามารถเห็นชุดเดรสแบบนี้อยู่เสมอเพียงแต่อาจจะมีการเปลี่ยนสีหรือแยกองค์ประกอบออกมาเป็นกระโปรงและเสื้อที่มีซิลูเอตคล้ายคลึงกับชุดเดรสตัวนี้ และอีกหนึ่งเหตุผลที่ปี 1964 เป็นปีทองของจีนก็คือชุดเดรสอันพลิ้วไหวนั้นได้รับรางวัลชุดเดรสแห่งปี เคียงคู่กับรองเท้าแห่งปีจาก Dior ฝีมือการออกแบบของ Charles Jourdon ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่เพราะทำเนียบผู้ชนะต่อจากเธอนั้นมีทั้ง Alexander McQueen, Calvin Klein, Donnatella Versace, Giorgio Armani, John Galliano, Maria Grazia Chiuri (Dior) และดีไซเนอร์ระดับตำนานอีกหลายต่อหลายคน รวมถึงตัวเธอเองด้วยที่ได้รับรางวัลนี้อีกถึง 2 ครั้งคือปี 1968 และ 1979 ตามลำดับ

ลักษณะความโดดเด่นของชุดเดรสจากฝีมือ Jean Muir ที่เป็นรากฐานของชุดสไตล์นี้ในปัจจุบัน / ภาพ: National Museum of Scotland

     เธอคือมาตรฐานใหม่ของเสื้อผ้าในท้องตลาด ต้องบอกว่าในสมัยก่อนคุณภาพของการทำเสื้อผ้าแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างเสื้อผ้าธรรมดาทั่วไปกับเสื้อผ้าของห้องเสื้อยักษ์ใหญ่ที่มีการสอดแทรกชั้นเชิงระดับกูตูร์ แต่จีนพัฒนาวิธีการทำเสื้อผ้าทั่วไปให้มีคุณภาพสูงขึ้นผ่านเทคนิคที่ประณีตมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะเห็นอิทธิพลของเรื่องนี้อย่างชัดเจนในแฟชั่นยุคปัจจุบันที่เริ่มขยับมาตรฐานขึ้นมาจากเสื้อผ้าธรรมดาๆ สู่เสื้อผ้าที่ใส่ใจทั้งการออกแบบและแมตทีเรียล แน่นอนว่าความแตกต่างนั้นยังคงเว้นระยะห่างไว้พอสมควรแต่แนวคิดของจีนที่ส่งผลจนถึงปัจจุบันนี้ทำให้เราได้สวมใส่เสื้อผ้าราคาเข้าถึงได้ในคุณภาพที่ดีมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นเทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาจุดนี้เช่นกัน

ชุดเดรสอันเรียบง่ายแต่ยากจะรังสรรค์ขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบของ Jean Muir / ภาพ: National Museum of Scotland

     ต่อมาในปี 1966 การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กว่าเกิดขึ้น จีนตัดสินใจออกจากแบรนด์เจน แอนด์ เจนที่ปลุกปั้นมากับมือและตัวแบรนด์ก็ถูกขายต่อให้กับ Susan Small ก่อนที่ไม่กี่ปีหลังจากนั้นเจน แอนด์ เจนก็ไม่ปรากฏในสารบบแฟชั่นอีกเลย แม้จะออกจากแบรนด์แต่เธอก็ไม่ได้หายไปจากอุตสาหกรรมแฟชั่นแต่อย่างใด เพราะในปีเดียวกันเธอก่อตั้งแบรนด์ในชื่อตัวเองขึ้นมาโดยมี Harry Leuckert สามีเป็นหุ้นส่วนและช่วยบริหารจัดการ คอลเล็กชั่นแรกก็เผยสู่สายสายตาสาธารณชนอย่างรวดเร็วในเดือนตุลาคม กลิ่นอายความเป็นจีนจากเจน แอนด์ เจนยังอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์ เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่น่าจดจำถูกเพิ่มเข้ามาในยุคนี้คือการสร้างเสื้อผ้าคงรูปทรงราวกับงานเชิงสถาปัตยกรรมได้โดยไม่ต้องเย็บตะเข็บเกินจำเป็น และการรังสรรค์ชิ้นงานแบบนี้ก็ยังคงดูทันสมัยตลอดทุกยุค แบรนด์แฟชั่นเน้นงานฝีมือและสไตล์ธรรมชาติสบายๆ ก็ยังคงทำเสื้อผ้ารูปแบบนี้ให้เราเห็นกัน ถ้าจะยกตัวอย่างเห็นภาพชัดที่สุดก็ต้องเป็น Loewe ภายใต้การกำกับดูแลของ Jonathan Anderson

ชุดเดรสสีสั้นจัดจ้านของ Jean Muir / ภาพ: Kerry Auctions

     คำวิจารณ์เรื่องสีถูกทำลายในยุค ‘70s...จีนเคยถูกมองว่าทำเสื้อผ้าได้ดีแค่สีน้ำเงินหรือดำเท่านั้น แต่ด้วยเทรนด์ในยุค ‘70s ที่เต็มไปด้วยสีสันเธอก็ไม่พลาดแสดงศักยภาพในตัวเองออกมาด้วยการเลือกทำชุดเดรสสลับคู่สีที่ดูเหมือนชิ้นงานศิลปะ อีกทั้งยังเพิ่มความโดดเด่นด้านความเฟมินีนด้วยเพิ่มลูกเล่นในชุดเดรสแบบดั้งเดิมของเธอให้มีรายละเอียดที่พลิ้วไหวขึ้น มีการประดับด้วยวัสดุต่างๆ รวมถึงการใช้ลายพิมพ์เข้ามาสร้างสรรค์ให้เสื้อผ้าไม่ได้จำกัดแค่สีน้ำเงินหรือดำอย่างที่ใครพูดกันอีกต่อไป

ชุดที่สายมินิมอลชื่นชอบแบบนี้ก็มีรากฐานมาจากชุดของ Jean Muir เช่นกัน / ภาพ: National Museum of Scotland

     นอกจากนี้แฟชั่นไอเท็มหลายชิ้นที่ทำให้เรานึกถึงจีนก็คือสไตล์แบบ “Simple Chic” หรือมองให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับชุดเดรสกึ่งสูทแบบมินิมอล ชิ้นงานในยุค ‘80s ของเธอโดดเด่นในการใช้ความเรียบง่ายมาเป็นแกนหลักของการออกแบบ ลักษณะปกโค้งแบบ “Shawl Collar” กระดุมเบี่ยงแบบเบลเซอร์กระดุม 2 แถวของผู้ชาย และความเบาสบายกลิ่นอายเฟมินีน ทั้งหมดผสมผสานกันอย่างลงตัวจนเป็นอีกชิ้นงานที่เราสามารถเห็นไอเท็มแบบนี้ได้ในยุค 2021 และคิดว่าจะเป็นไอเท็มอมตะที่นำมามิกซ์แอนด์แมตช์ให้โมเดิร์นได้เสมอ

รายละเอียดของเสื้อหนังกลับสีม่วงของ Jean Muir ที่ดูเบาสบายไม่เหมือนเสื้อหนังในยุคก่อนหน้า / ภาพ: National Museum of Scotland

     สุดท้ายคือเสื้อหนัง หากย้อนกลับไปไอเท็มหนังยุคเก่าคนมักติดภาพว่าเสื้อหนังต้องถูกออกแบบมาหนาเตอะเพื่อสร้างความอบอุ่น ในมุมมองของจีนหนังทำได้มากกว่านั้นเพราะเธอเลือกใช้หนังมาสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Soft Skin” เสื้อหนังของดีไซเนอร์จากลอนดอนจึงไม่ใช่แค่เสื้อหนังแข็งเป็นโครง แต่มันมีรายละเอียดเสริมมิติให้ไอเท็มชิ้นนั้นๆ ไม่เรียบแบนจนเกินไป อีกทั้งเสื้อบางตัวยังมีลักษณะแบบเสื้อครอป ซึ่งแน่นอนว่าความยาวของเสื้อครอปไม่ได้ถูกออกแบบสำหรับการสวมเป็นเสื้อตัวนอกหรือเลเยอร์เพิ่มความอบอุ่นแต่อย่างใด นอกจากหนังแล้วเธอก็ยังสร้างชิ้นงานที่เราสามารถเห็นว่ามันอินเทรนด์เสียเหลือเกินในยุคนี้ก็คืองานคราฟต์หรืองานฝีมือ รวมถึงการเพนต์ลวดลายต่างๆ บนงานถักแคชเมียร์อีกด้วย นับว่าไอเท็มที่เราเห็นในปัจจุบันหลายต่อหลายชิ้นจีนล้วนเคยสร้างสรรค์มันขึ้นมาแล้วทั้งนั้น

ใบประกาศขององค์กรอนุรักษ์อังกฤษที่ให้เกียรติจารึกชื่อ Jean Muir ลงบน Blue Plaque / ภาพ: English Heritage

     สุดท้ายจีน มิวเออร์อาจไม่ใช่ดีไซเนอร์ชื่อดังระดับตำนาน แต่เธอควรถูกพูดถึงในประวัติศาสตร์แฟชั่นมากกว่านี้ กุญแจความสำเร็จคือการพัฒนาใฝ่หาสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอด กล้าจะเริ่มต้นใหม่ เปิดไลน์ใหม่ และสร้างเส้นทางชีวิตของตัวเอง ถือเป็นตัวอย่างของดีไซเนอร์หัวก้าวหน้าอย่างแท้จริง น่าเสียดายที่แบรนด์ต้องปิดตัวลงไปในปี 2007 สิ้นสุดตำนานจีน มิวเออร์อย่างเป็นทางการ ทว่าอย่างน้อยเธอก็เคยได้รับเครื่องราชฯ ชั้น CBE ในปี 1984 ถือว่าเป็นเกียรติประวัติครั้งสำคัญในชีวิต ก่อนเธอจะเสียชีวิตลงในวันที่ 28 พฤษภาคม 1995 ด้วยวัย 66 ปี ตอนนี้ผลงานของเธอถูกเก็บและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติประเทศสกอตแลนด์ และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์การอนุรักษ์แห่งอังกฤษประกาศว่าเธอคือ 1 ใน 6 ผู้หญิงที่ได้รับการประทับตราในแผ่นจารึกสีน้ำเงินหรือ “Blue Plaque” ณ โชว์รูมและออฟฟิศของแบรนด์กลางกรุงลอนดอน ซึ่งรางวัลนี้แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถานที่ บุคคลและประวัติศาสตร์สำคัญของอังกฤษในด้านต่างๆ เนื่องในโอกาสนี้โว้กขอรำลึกถึงการจากไปครบรอบ 26 ของตำนานดีไซเนอร์หญิงผู้เป็นส่วนหนึ่งในการวางรากฐานสำคัญให้วงการแฟชั่น “จีน มิวเออร์”

 

ข้อมูล:

https://artsandculture.google.com

https://www.nms.ac.uk

https://www.fashionmuseum.co.uk

https://en.wikipedia.org

http://www.vam.ac.uk

WATCH

TAGS : jeanmuir