FASHION

เจาะลึกคอสตูมดีไซเนอร์สายเลือดไทย ผู้อยู่เบื้องหลังแฟชั่น James Bond ใน No Time To Die

แฟชั่นของ James Bond ในภาพยนตร์เรื่องนี้คือผลผลิตของการทำการบ้านอย่างหนักเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุด

     เมื่อพูดถึงชื่อ James Bond เชื่อว่าเกือบทุกคนจะต้องนึกถึงแฟชั่นของสายลับรหัส 007 และเหล่าตัวละครที่ปรากฏตัวขึ้นในภาพยนตร์ภาคต่างๆ อย่างแน่นอน และในปี 2021 กับเรื่อง No Time To Die ภาพยนตร์ลำดับที่ 25 ของแฟรนไชส์นี้ก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง เพราะตลอดทั้งเรื่องเราได้เห็นแฟชั่นเนี้ยบกริบที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายความมีเสน่ห์ในแบบเฉพาะตัวของเจมส์ บอนด์ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะการนำเสื้อผ้าชั้นยอดมาประโคมเข้าฉากเท่านั้น แต่หมายถึงการออกแบบเซตแฟชั่นให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง ตัวละคร และเอกลักษณ์ต่างๆ ของภาพยนตร์ ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังจุดนี้คือกุญแจสำคัญที่ทำให้ทุกคนประทับใจกับแฟชั่นของเจมส์ บอนด์อยู่เสมอ

สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ ผู้อยู่เบื้องหลังสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของสายลับ 007 ในภาค No Time To Die / ภาพ: National Portrait Gallery

     ผู้อยู่เบื้องหลังของการรังสรรค์สุดยอดแฟชั่นในภาพยนตร์นี้เป็นหญิงสาวสายเลือดไทย 100 เปอร์เซ็นต์ เธอมีชื่อว่า สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ (Suttirat Anne Larlarb) พ่อแม่ของเธอเป็นคนไทยแท้ แต่พวกเขาได้ทุนฟูลไบร์ทและเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยพ่อของเขาก้าวขึ้นมาเป็นแพทย์ผ่าตัดหัวใจในเวลาต่อมา ซึ่งแน่นอนว่าความมั่นคงตรงนี้ทำให้ทั้งคู่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และแอนน์ก็เกิดที่รัฐนอร์ธแคโรไลนา ก่อนจะไปเติบโตที่แถบตอนใต้ติดชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่เหมือนกับว่าแอนน์จะไม่ได้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์เหมือนคุณพ่อ เพราะเธอสนใจการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก และความถนัดตรงนี้ก็ส่งเธอมุ่งตรงสู่การศึกษาด้านศิลปะในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สุดยอดมหาวิทยาลัยระดับโลกที่การันตีเรื่องคุณภาพบัณฑิตมาหลายทศวรรษ

Ming Cho Lee ตำนานผู้ออกแบบเซตให้กับละครเวทีชื่อดังระดับโลกมากมาย / ภาพ: The New York Times

     เหมือนชีวิตของแอนน์จะผูกโยงกับด้านศิลปะจนถึงแก่นลึก เพราะเธอเลือกศึกษาต่อด้านการละครอย่างจริงจังในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเยล อีกหนึ่งมหาวิทยาคุณภาพระดับท็อปของโลก หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและคว้ารางวัล Jacob K. Javits Fellowship ซึ่งการเรียนช่วงนี้เธออยู่ภายใต้การดูแลของ Ming Cho Lee ปรมาจารย์ด้านการออกแบบเซตละครเวที และนี่เป็นทั้งจุดเริ่มต้นและการสั่งสมประสบการณ์สำคัญที่ทำให้แอนน์คลุกคลีอยู่ในเส้นทางนักออกแบบภายใต้ร่มอุตสาหกรรมบันเทิงนับตั้งแต่นั้นมา



WATCH




แฟชั่นในภาพยนตร์เรื่อง Steve Jobs ฝีมือการสร้างสรรค์ของ สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ / ภาพ: Financial Times

     พอจบการศึกษาระดับปริญญาโทแอนน์ย้ายมาที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเพื่อแสวงหาโอกาสในการทำงานให้ตรงสายตามที่ร่ำเรียนมา เธอคือผู้ขวนขวายที่จะคว้าโอกาสทุกรูปแบบ สังเกตได้จากประวัติการทำงานที่เธอรับหน้าที่ตั้งแต่ผู้ช่วยดีไซเนอร์เรื่อยไปจนถึงงานโปรดักชั่นฝ่ายศิลป์เกือบทุกแขนง และมีโอกาสร่วมงานกับ Richard Hudson บุคคลสำคัญแห่งวงการละครเวทีของเกาะอังกฤษ และต่อมาได้ร่วมงานกับ Danny Boyle โปรดิวเซอร์คู่บุญที่เปิดโอกาสให้เธอรังสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญทั้ง The Beach ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาถ่ายทอดเรื่องราวของประเทศไทย ต่อมาก็มีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่เธอขึ้นแท่นทำงานด้านงานศิลป์และออกแบบเครื่องแต่งกาย โดยผลงานสร้างชื่อเด่นๆ ก็มีทั้ง Sunshine, Slumdog Millionaire, 127 Hours และ Steve Jobs นอกจากนี้แอนน์ยังเคยเป็นส่วนหนึ่งของทีมออกแบบงานศิลป์ของพิธีเปิดโอลิมปิกประจำปี 2012 ที่กรุงลอนดอนอีกด้วย

สไตล์การแต่งตัวของ James Bond ฉบับ Sean Connery ที่ สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ ต้องย้อนทำการบ้านอย่างหนัก / ภาพ: British GQ

     ก้าวกระโดดมาถึงปี 2021 กับภาพยนตร์เรื่อง No Time To Die หลายคนเฝ้ารอว่า James Bond เวอร์ชั่นสุดท้ายของ Daniel Craig นั้นจะแต่งกายอย่างไรในฉากต่างๆ ซึ่งบุคคลสำคัญที่จะสร้างสรรค์ลุคทั้งหมดในเรื่องนี้ก็คือแอนน์นั่นเอง เธอไม่ใช่นักออกแบบชายผู้คลุกคลีกับวงการซาร์ทอเรียลหรือการแต่งกายตามแบบธรรมเนียมนิยมของสุภาพบุรุษมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังต้องทำการบ้านเกี่ยวกับตัวละครเจมส์ บอนด์อย่างหนักเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นการรังสรรค์ของแอนน์ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนความท้าทายครั้งใหญ่ที่จะพิสูจน์ฝีมือการทำงานให้ทุกคนได้รับรู้ไปทั่วโลกว่าเธอคือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์ระดับโลกสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง

ทักซิโด้ของ James Bond ฉบับ Pierce Brosnan ที่ยังตราตรึงแฟนภาพยนตร์ทั่วโลก / ภาพ: 007 Threads

     การบ้านแรกที่แอนน์ต้องศึกษาอย่างจริงจังคือการสวมชุดทางการของเจมส์ บอนด์ เธอต้องย้อนกลับไปศึกษาทักซิโด้ทุกชุดที่นักแสดงทุกคนเคยสวมใส่ในภาพยนตร์สายลับรหัส 007 แต่ละภาคอย่างละเอียด ทั้งรายละเอียดของชุด เทรนด์แฟชั่นตามยุคสมัย หรือแม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่มีความแตกต่างกันตามคาแรกเตอร์ สถานที่ รวมถึงรูปแบบของฉาก มากไปกว่านั้นแอนน์ให้ความสนใจเกี่ยวกับร่างกายของแดเนียลเป็นพิเศษ เพราะเธอมองว่าการจะสร้างความสมบูรณ์แบบนั้นต้องคำนึงถึงผู้สวมใส่เป็นหลัก เมื่อทุกองค์ประกอบผสมรวมกันก็เป็นหน้าที่ของแอนน์ที่จะออกแบบและเสาะหาเสื้อผ้าตามความเหมาะสม

Daniel Craig ในชุดสูทตามแบบฉบับของ James Bond ในภาพยนตร์เรื่อง No Time To Die / ภาพ: Insider

     ซิลูเอตคือกุญแจสำคัญที่ทำให้เจมส์ บอนด์เนี้ยบดูดีตามแบบฉบับสายลับผู้ดีอังกฤษ เธอมองว่าการเลือกเครื่องแต่งกายให้เจมส์ บอนด์จะคิดแค่เรื่องความโดดเด่นเตะตาไม่ได้ แต่ต้องมาพร้อมกับความประณีตและค่อยๆ ให้ความเนี้ยบกริบของเสื้อผ้าเปล่งประกายไปพร้อมกับการแสดงของแดเนียล ดังนั้นเธอจึงมองว่าซิลูเอตคือเรื่องสำคัญที่สุด เธอไม่ต้องการให้ลวดลาย หรือแม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ดึงความสนใจผู้ชมไปจากภาพรวมตั้งแต่หัวจรดเท้าของเจมส์ บอนด์

งานถักชิ้นสำคัญของ James Bond จากแบรนด์ N.Peal ที่ สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ เลือกสรรมาเป็นอย่างดี / ภาพ: Wall Street Journal

     อะไรคือสิ่งตอบโจทย์สำหรับแอนน์...เมื่อมีโจทย์ปัญหาสำคัญอย่างการใช้ซิลูเอตเป็นหลัก เน้นความเรียบหรูและใช้เสน่ห์จากความประณีตของเสื้อผ้า แน่นอนเธอยังคงเลือกสูทและทักซิโด้จากแบรนด์ Tom Ford ที่ให้ความเนี้ยบซ่อนเสน่ห์ การออกแบบซิลูเอตและปกเสื้อนั้นทำได้อย่างลงตัว และรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของเสื้อผ้าทอม ฟอร์ดเข้ากันได้ดีกับรูปร่างของแดเนียล ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องหาอะไรมาทดแทนสิ่งที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ดั่งวลีที่ว่า “if it ain't broke, don't fix it” ในส่วนงานเสื้อถักเธอก็เลือกแบรนด์ N.Peal ที่สร้างสรรค์งานนิตแวร์ระดับพรีเมียม และสิ่งสำคัญคือแบรนด์ผลิตชิ้นงานที่โดดเด่นด้วยซิลูเอตและการตัดเย็บมากกว่าการใช้ลวดลาย ทำให้แอนน์ไม่พลาดที่จะเลือก เอ็น.พีล เป็นแบรนด์หลักในการจัดสรรเสื้อผ้าอีกหนึ่งแบรนด์

เบื้องหลังการรังสรรค์รองเท้ารุ่น James ของแบรนด์ Crockett & Jones / ภาพ: Crockett & Jones

     งานยากอีกหนึ่งชิ้นคือการเลือกสรรรองเท้าหนังคุณภาพเยี่ยมที่สะท้อนตัวตนของเจมส์ บอนด์ แอนน์ตัดสินใจเลือกแบรนด์ Crockett & Jones ที่สามารถรังสรรค์รองเท้าหนังแบบ Goodyear-welted คุณภาพระดับท็อปของโลก อีกทั้งยังเป็นแบรนด์คลาสสิกของอังกฤษที่สะท้อนตัวตนความอมตะเหนือกาลเวลาของตัวละครนี้ได้เป็นอย่างดี เธอมองว่า Last หรือโครงของทรงรองเท้าจากแบรนด์ C&J นั้นอยู่ในขั้นสมบูรณ์แบบ ดังนั้นทั้ง 2 ฝ่ายจึงตัดสินใจจับมือร่วมกันรังสรรค์รองเท้าอ็อกซ์ฟอร์ดรุ่น “James” ขึ้นเพื่อฉลองให้ภาพยนตร์ลำดับที่ 25 ของแฟรนไชส์อีกด้วย นับเป็นโอกาสพิเศษที่แอนน์และทีมงานฝากความทรงจำไว้ให้กับแฟนสายลับทุกคนได้ติดตามสไตล์ของเจมส์ บอนด์ด้วยการช็อปปิ้งรองเท้าคู่เด่นจากเรื่องได้ในชีวิตจริง

ลุคทักซิโด้สุดเนี้ยบของ Daniel Craig กับบท James Bond ในภาพยนตร์เรื่อง No Time To Die / ภาพ Indian Express

     เมื่อทุกองค์ประกอบผสมผสานกันภายในลุคของเจมส์ บอนด์และถ่ายทอดออกมาผ่านจอเงิน ทุกคนก็ไม่ผิดหวังเพราะเจมส์ บอนด์เวอร์ชั่นของแดเนียลเรื่องนี้ยังคงเปี่ยมด้วยสไตล์เช่นเดิม อีกทั้งยังผสมผสานกลิ่นอายความคลาสสิกแบบดั้งเดิมเข้ากับความทันสมัยตามโลกยุคโมเดิร์นอีกด้วย จุดเด่นตรงนี้เราก็ต้องไม่พลาดปรบมือให้กับการทำการบ้านอย่างหนัก และศึกษาเข้าถึงแก่นลึกของตัวละครของแอนน์ เพราะการมองภาพแฟชั่นของตัวละครตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรื่อยไปจนถึงการเลือกสรรแบรนด์อังกฤษดั้งเดิมมาเติมเต็มชุดสูทจากแบรนด์อย่างทอม ฟอร์ด แอนน์พิสูจน์แล้วว่าเธอทำได้ดีแบบไม่มีที่ติ

สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จด้านแฟชั่นของภาพยนตร์เรื่อง No Time To Die / ภาพ: Moviefit

     กรณีของแอนน์ไม่ได้โดดเด่นแค่เรื่องงานที่เธอทำเท่านั้น แต่ยังสะท้อนมุมมองของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้อย่างชัดเจน ในโลกที่เต็มไปด้วยโอกาสและการพัฒนาความรู้ในด้านต่างๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุด ประเทศโลกที่ 1 อย่างสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษมักมีสถาบันสอนและมีช่องทางสำหรับการก้าวเดินไปต่อในแทบทุกสายอาชีพ ดังนั้นการเป็นประชากรของประเทศดังกล่าวสามารถผลักดันด้านโอกาสให้แอนน์สามารถไล่ล่าความฝัน จนวันนี้เธอกลายเป็นบุคคลสำคัญของวงการภาพยนตร์ระดับโลกไปเป็นที่เรียบร้อย

สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ ในโรงงานผลิตรองเท้าของแบรนด์ Crockett & Jones / ภาพ: Crockett & Jones

     อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ “ภาวะสมองไหล” จากประวัติที่พ่อแม่ของเธอย้ายถิ่นฐานจากประเทศไทยสู่สหรัฐอเมริกานั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะเราเชื่อว่าการได้ทุนสำคัญเพื่อไปเรียนต่อและสามารถลงหลักปักฐานได้นั้นเป็นรางวัลของผู้เป็นเลิศในด้านต่างๆ การที่ประเทศไทยอาจไม่สามารถพัฒนาองค์ประกอบทางสังคมหรือการันตีอนาคตอันสดใสให้ผู้มีความสามารถได้ คนเหล่านี้ที่เปรียบเหมือนมันสมองด้านต่างๆ ของประเทศ (ในเรื่องนี้พ่อของแอนน์เป็นถึงนายแพทย์ผ่าตัดหัวใจ) จึงตัดสินใจคว้าโอกาสไปอยู่ต่างแดน ถ้ายังเป็นเช่นนี้อยู่โอกาสที่เราจะได้เห็นครอบครัวที่อุดมไปด้วยความสามารถและความหลากหลายแบบแอนน์ในประเทศนั้นมีไม่มากนัก นี่คือสิ่งที่เราต้องเริ่มตระหนัก เพราะความลื่นไหลในโลกปัจจุบันทำให้คนสามารถโยกย้ายได้สะดวกสบายมากขึ้น การรักษาทรัพยากรบุคคลเพื่อผลประโยชน์ของประเทศก็อาจยากขึ้นตามไป สิ่งสำคัญไม่ใช่การเหนี่ยวรั้งบุคคลผู้เป็นมันสมองของชาติ แต่หมายถึงการพัฒนาประเทศให้ตอบโจทย์กับโลกยุคใหม่ และมั่นคงพอที่พวกเขาจะมองว่าอนาคตสดใสก็สร้างที่นี่ได้ ถ้าทำได้ต่อไปเราอาจเห็นสุดยอดฝีมือในด้านต่างๆ พร้อมเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศเราต่อไป...

 

ข้อมูล:

imdb.com

crockettandjones.com

emmys.com

npg.org.uk

WATCH

TAGS : NoTimeToDie