FASHION

เจาะเส้นทางปี 2017-2021 ของโว้กประเทศไทย กว่าจะมาถึงเล่ม 100 มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

เส้นทาง 4 ปีหลังก่อนจะถึงเล่ม 100 โว้กประเทศไทยมีการพัฒนาและเปิดมุมมองความคิดในหลายด้านมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

     เมื่อสกู๊ป In Vogue ตอนที่แล้วนำเสนอเส้นทาง 4 ปีของโว้กประเทศไทยที่เดินทางผ่านการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมามากมาย ทั้งเรื่องแพลตฟอร์มดิจิทัล ความตระหนักต่อเรื่องละเอียดอ่อนต่างๆ การพัฒนาความเป็นไทยสู่เวทีสากล รวมถึงต้องเผชิญเหตุการณ์สำคัญระดับประเทศและระดับโลกมาโดยตลอด (อ่านบทความตอนแรก ที่นี่) ในบทความนี้เป็นเส้นทางใน 4 ปีหลังก่อนจะมาถึงโว้กฉบับที่ 100 เราพร้อมนำเสนอแง่มุมต่างๆ ในช่วงเวลาปี 2017-2021 ให้แฟนโว้กทุกคนติดตามว่าที่ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นมีอะไรเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอะไรในโว้กประเทศไทยบ้าง

 

2017

โว้กประเทศไทยฉบับเดือนกรกฎาคม 2017 ที่เฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายในธีม Celebrate Diversity

     สืบเนื่องจากความหลากหลายที่ทั่วโลกเริ่มสนใจและให้ความสำคัญแบบทวีคูณ กุลวิทย์กล่าวว่า “ประเด็นเรื่องความหลากหลายเข้ามาในจังหวะที่ดีมากเพราะตอนนั้นคนรู้แล้วว่าโว้กกว้างกว่าแฟชั่น” ก่อนส่งต่อให้สธน “เล่ม Diversity ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ LGBTQ แต่รวมถึงรูปร่าง เพศรสนิยมทางเพศ และอื่นๆ อีกมากมาย จึงมาตอกย้ำประเด็นนี้เรามีผู้หญิงข้ามเพศในแฟชั่นเซตเป็นครั้งแรกทั้งที่ก่อนหน้านี้แม้แต่ในข่าวสังคมก็ไม่มีรูปผู้หญิงข้ามเพศลงเลย” โว้กจึงไม่ใช่แค่นิตยสารแฟชั่นแต่พร้อมเปลี่ยนแปลงเพื่อสอดรับกับโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความเป็นปัจเจกบุคคลอันหลากหลายโดยไม่มีกรอบอะไรมาขวางกั้นอีกต่อไป

ภาพแฟชั่นเซตในโว้กประเทศไทยฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2017 The Bangkok issue ที่นำเสนอความเป็นไทยผสมผสานเข้ากับแฟชั่นอย่างลงตัว

     เมื่อความหลากหลายในสังคมมุมกว้างได้รับการตอบสนอง สังคมเชิงลึกก็ต้องถูกให้ความสำคัญเช่นกัน การเติบโตขึ้นของวัฒนธรรมย่อยภายใต้สังคมใหญ่นั้นมีอิทธิพลสูงขึ้นเรื่อยๆ โว้กก็เริ่มชัดเจนว่าไม่ได้เป็นเพียงนิตยสารแฟชั่น แต่ยังทำหน้าที่สื่อ นำเสนอการเคลื่อนไหวภายในประเทศและทั่วโลกอย่างจริงจัง เช่นในฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2017 The Bangkok issue ที่ส่องสปอตไลต์ไปยังสังคมย่อยในสังคมใหญ่ของกรุงเทพฯ โดยรองบรรณาธิการมองเห็นว่าภูมิทัศน์ของวงการแฟชั่นและการออกแบบในประเทศไทยกำลังมีกลุ่มคนที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น การมองโลกในมิติที่ลึกกว่าเดิมทำให้เห็นถึงปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังก่อตัวได้อย่างชัดเจน อีกทั้งสามารถบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นเอาไว้ในเวลาเดียวกัน



WATCH




โว้กประเทศไทยฉบับเดือนมิถุนายน 2017 ที่นำเสนอเรื่องราวของเทรนด์ 1990s Fever แบบจัดเต็ม

     ในปี 2017 นี้เองก็เป็นปีที่กระแสยุคเก้าศูนย์กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งทั้งในแวดวงแฟชั่นและบันเทิงต่างๆ เดือนมิถุนายน 2017 สีสันกลับมาบนปกโว้กอีกครั้งพร้อมกับความสดใสของทาทา ยัง ศิลปินดาวรุ่งยุค 1990 ที่กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งพร้อมกับ 1990s Fever การกลับมาฮิตของทุกสิ่งจากยุคเก้าศูนย์ทำให้โว้กประเทศไทย “ไปสุด” ถึงขั้นเปลี่ยนเลย์เอาต์นิตยสารให้กลับไปเป็นแบบเก้าศูนย์ทั้งเล่ม! สิ่งต่างๆ จากยุคเก้าศูนย์ไม่ว่าจะเป็น แฟชั่น ภาพยนตร์ สไตล์นิตยสารเธอกับฉัน ทีนทอล์ก หรือ MTV ล้วนเป็นสิ่งที่หลายคนจดจำได้และเหมือนการหวนความหลังให้นึกถึงยุคแห่งความสนุกนั้น “เรากลับไปสำรวจเส้นทางชีวิตของคนดังดาวรุ่งยุคเก้าศูนย์ เป็นเล่มที่ทำงานกันสนุกมากทั้งตัวเราเองที่เป็นเด็กยุคเก้าศูนย์จริงๆ และกองบรรณาธิการรุ่นเล็กที่เขาก็มาอินกับเก้าศูนย์ด้วยเหมือนกัน” เนื้อหาฉบับนั้นพีกทั้งตัวนิตยสารและดิจิทัล เป็นครั้งแรกที่วิดีโอทางช่องทางของโว้กดิจิทัลมียอดวิวเกิน 1 ล้านจากบทสัมภาษณ์ Revisit Their Life เป็นอันเข้าใจว่าโว้กประเทศไทยไม่ได้นำเสนอแค่แฟชั่นบนโลกดิจิทัลอย่างเดียวอีกต่อไป ยังนำเสนอ Vogue Culture ที่มากกว่าเสื้อผ้าหน้าผมและการแต่งกาย

 

2018

Dior คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2018 ที่เปล่งเสียงของเฟมินิสต์ให้ดังอย่างกึกก้อง

     เมื่อโลกใส่ใจผู้หญิงมากขึ้นและกระแสเฟมินิสม์คือแรงกะเพื่อมสำคัญที่สามารถหล่อหลอมสังคมได้ทั่วโลก โว้กประเทศที่เป็นนิตยสารแฟชั่นสำหรับผู้หญิงมาตลอดกลับไม่เคยมีฉบับ “ผู้หญิง” มาก่อน อาจเพราะวางตัวเองว่าเป็นนิตยสารสำหรับผู้หญิง หรือความเป็นหญิงอยู่ใกล้ตัวมากจนมองข้ามไป แต่พฤษภาคม 2018 เป็นครั้งแรกที่โว้กประเทศไทยจับเอาหลากหลายเรื่องราวของผู้หญิงมานำเสนออย่างจริงจัง ซึ่งจุดนี้โว้กประเทศต้องการบอกเล่าเรื่องราวพลังหญิงผ่านบริบทต่างๆ รวมถึงการหาคำนิยามใหม่ให้สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบัน มีการทำสำรวจเกี่ยวกับขบวนการ Suffragette การเรียกร้องสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงตั้งแต่ยุค 1910 การประท้วงเผาบราในยุค 1970 มาจนถึงปี 2018 ว่าทุกวันนี้ผู้หญิงเราในยุคโพสต์เฟมินิสม์เป็นผู้หญิงแบบไหน บทบาทของสตรีในวรรณกรรมอภัยมณี ขุนแผน ละครวันทอง ฯลฯ ยาวไปจนถึงว่า แล้วผู้ชายในโลกของผู้หญิงยุคนี้เขาอยู่อย่างไร ถือเป็นการย้อนดีตเพื่อล้วงลึกแก่นแท้ของเนื้อหาความเป็นหญิงอย่างลึกซึ้ง

ส่วนหนึ่งในสกู๊ป #VogueSpecial ในโว้กประเทศไทยฉบับเดือนพฤษภาคม 2018 ที่พูดถึงผู้หญิงอย่างจริงจัง

     แฟชั่นในขณะนั้นก็พุ่งประเด็นเรื่องหญิงๆ กันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Gucci โดย Alessandro Michele และ Dior ภายใต้การนำทัพของ Maria Grazia Chiuri ที่เขย่าให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องบทบาท สิทธิ รวมถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศในวงกว้าง พวกเขาฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ ของตัวเองทิ้งไปอย่างไม่แยแส ใครเล่าจะอยู่เฉยได้อีก หลังจากนั้นขบวนการ #MeToo ก็เกิดขึ้นโดยเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ Ambra Gutierrez นางแบบสาวชาวอิตาลีออกมาเปิดโปงคลิปเสียงเหตุการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดย Harvey Weinstein ในปี 2017ดำเนินมาถึงจุดที่ฮาร์วีถูกตั้งข้อหาล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนผู้หญิงมากกว่า 80 ราย เหตุการณ์นี้ส่งคลื่นสึนามิเข้าถาโถมจนโลกทั้งใบต้องกลับมาทบทวนหรืออาจจะเรียกได้ว่าเริ่มต้นใหม่โดยมีความเคารพซึ่งกันและกันเป็นที่ตั้ง เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมปัจจุบันให้ก้าวเดินอย่างเปิดกว้าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่โว้กประเทศไทยใส่ใจมาโดยตลอด

โว้กประเทศไทยฉบับเดือนมิถุนายน 2018 กับปก เบลล่า-ราณี แคมเปน ที่สะท้อนพลังอันทรงอิทธิพลของแฟนคลับ

     อีกประเด็นที่เรียกว่าเปลี่ยนโลกปี 2018 เลยก็ว่าได้คือ “แฟนคลับ” แต่เดิมแฟนคลับถูกมองว่าเป็นกลุ่มเป้าที่เสพสิ่งที่สื่อเสนออยู่เสมอ ทว่าตอนนี้มันไม่ใช่เช่นนั้น พวกเขากลายเป็นกลุ่มมวลชนก้อนใหญ่ที่ทรงพลังจนสามารถเรียกร้องให้สื่อใหญ่อย่างโว้กประเทศไทยต้องเชิญเบลล่า-ราณี แคมเปนซึ่งกำลังโด่งดังสุดๆ จากละคร บุพเพสันนิวาส มาขึ้นปกฉบับเดือนมิถุนายนในฐานะผู้สร้างปรากฏการณ์ความฮิตระดับชาติซึ่งโว้กประเทศไทยก็เห็นด้วยกับเหล่าออเจ้า 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเป็นเหตุการณ์ที่พลาดไม่ได้เช่นกัน และเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับทิศทางของโลกที่คอนเทนต์เริ่มมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์แฟนคลับมากขึ้น รายการดังๆ ทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกามีการปรับรูปแบบการทำรายการโดยเฉพาะกับดาราและเซเลบริตี้เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ที่ดีและถูกใจที่สุดสำหรับเหล่าแฟนคลับ นอกจากนี้ยังรวมถึงการเน้นช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อเข้าถึงแฟนคลับมากขึ้นอีกทางหนึ่ง

บรรยากาศโชว์ Chanel Chanel Cruise Collection 2018-2019 Replica ที่กรุงเทพฯ

     และเรื่องสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในปี 2018 ก็คือกรุงเทพฯ ปักหมุดชื่อลงบนแผนที่แฟชั่นโลก โดย Chanel จัดโชว์ Chanel Cruise Collection 2018-2019 Replica ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทยอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนตุลาคม ชาเนลพาดารา เซเลบริตี้ระดับโลก รวมถึงขนโชว์มาเทียบท่าเองทั้งหมด โว้กประเทศไทยก็มีส่วนสำคัญตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการโดยบินไปคุยกับผู้บริหารถึงกรุงปารีสและเป็นสื่อแรกที่รายงานข่าวการจัดโชว์ใหญ่อย่างครึกโครม หลังจากนั้นมีแบรนด์ระดับโลกมากมายตามมาจัดโชว์ที่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง กรุงเทพฯ จึงขยับเข้าใกล้การเป็นจุดหมายแฟชั่นขึ้นอีกก้าวรวมทั้งคนทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยก็จะมีโอกาสได้ทำงานในสเกลเวทีระดับโลกมากขึ้นด้วย เช่นนางแบบที่โว้กประเทศไทยพาไปสู่สายตาวงการแฟชั่นโลกอย่างแจน-ใบบุญ อรุณปรีชาชัย ผ่านหน้านิตยสารและการรายงานผ่านสื่อดิจิทัลของโว้กเอง ซึ่งกำลังเป็นอีกหนึ่งช่องทางทรงพลังของสื่อนิตยสารบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

 

2019

สกู๊ป The Skin We Live In ในโว้กประเทศไทยฉบับเดือนพฤศจิกายน 2019

     2019 เป็นปีที่ความหลากหลายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ความหลากหลายในประเด็นเรื่องเพศ สีผิว เชื้อชาติ และประเด็นรายละเอียดอ่อนที่เคยกล่าวไปก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่หมายถึงความหลากหลายของคอนเทนต์ รูปแบบการนำเสนอ รวมถึงการเคลื่อนไหวของโลกที่มีเรื่องราวให้ติดตามไม่เว้นแต่ละวัน ข่าวใหญ่ต่างๆ จากแต่ละประเทศไม่ได้มีผลต่อพื้นที่นั้นๆ เพียงอย่างเดียวแต่มันส่งผลต่อโลกในภาพรวม ตอกย้ำคำนิยามในโลกยุคโลกาภิวัตน์เต็มตัวอย่างชัดเจนเกี่ยวกับคำว่า “Global Citizen” หรือ “พลเมืองโลก” เป็นอย่างดี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานพระวโรกาสให้นิตยสารโว้กประเทศไทยเข้าเฝ้าเพื่อฉายพระรูปสำหรับเป็นหน้าปกและแฟชั่นเซตเดือนมิถุนายน 2019

      ROYALTY & THAI FASHION ฉบับเดือนมิถุนายน 2019 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานพระวโรกาสให้นิตยสารโว้กประเทศไทยเข้าเฝ้าเพื่อฉายพระรูปสำหรับเป็นหน้าปก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงสนับสนุนวงการแฟชั่นไทยมายาวนานตั้งแต่การสืบสานและรักษาผ้าทอไทยตามรอยสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งโว้กประเทศไทยก็เคยนำเสนอพระราชกรณียกิจมาอย่างต่อเนื่อง โว้กจึงย้อนกลับไปสำรวจฉลองพระองค์ชุดไทยที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯทรงช่วยนำพาประวัติศาสตร์ไปสู่อนาคต สงวนรักษาและพัฒนาภูมิปัญญาของชาติบนแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาแฟชั่นและภูมิปัญญาของชาติยังคงเป็นเส้นทางหลักที่โว้กยึดถือเพื่อนำเสนออยู่ตลอดเวลา

โว้กประเทศไทยฉบับเดือนตุลาคม 2019 กับปก โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล

     มุมมองใหม่ต่อความหลากหลายที่เจาะลึกไปถึงรากลึกของคนไทย ก่อนที่ความขัดแย้งเรื่องสีผิวจะบานปลายกลายเป็น #BlackLivesMatter ในปี 2020 โว้กประเทศไทยฉบับเดือนตุลาคม 2019 ไปสำรวจความหลากหลายเกี่ยวกับชาติกำเนิดของคนไทย ความยิ่งใหญ่และเข้มข้นเรื่องการเหยียดสีผิวทั้งที่โจ่งแจ้งและแอบซ่อนโดยได้โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล มาเป็นตัวแทนสาวผิวสีน้ำผึ้งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในวงการบันเทิงไทยซึ่งโอปอล์ให้สัมภาษณ์แบบเปลือยใจและเปลือยอกขึ้นปก นับเป็นปกที่ได้รับกระแสตอบรับล้นหลามมากที่สุดปกหนึ่ง

ภาพแฟชั่นของ Adesuwa Thongpond Pariyasapat Aighewi ในโว้กประเทศไทยฉบับเดือนพฤศจิกายน 2019

     หลังจากปกของโอปอล์โว้กประเทศไทยเลือกนำเสนอเรื่องสีผิวต่อเนื่องในฉบับเดือนพฤศจิกายน 2019 กับการสำรวจมุมมองเรื่องสีผิวแบบเจาะลึก โดยกุลวิทย์เลือกนางแบบลูกครึ่งไทย-ไนจีเรีย Adesuwa Thongpond Pariyasapat Aighewi มาขึ้นปก เจ้าตัวถึงกับร้องไห้ด้วยความดีใจที่ในที่สุดคนไทยก็ให้การยอมรับทั้งสีผิวและตัวตนที่แตกต่างของเธอ และการปรากฏตัวบนปกโว้กประเทศไทยอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งให้อาเดซูวาได้รับการเสนอชื่อให้เป็น Model of the Year ในปีเดียวกันด้วย ฉบับนี้ยังมีชื่อเล่นที่เรียกกันในกองบรรณาธิการว่า Honey Skin Issue เพราะเน้นสำรวจผิวสีน้ำผึ้งของชาวไทยซึ่งเป็นเฉดที่ไม่ได้เป็นเมนสตรีมเท่าผิวขาวหรือผิวอมชมพู แต่เรากลับพบสีผิวนี้ได้ทั่วไปในสังคมและอุตสาหกรรมความงามและแฟชั่น “จำเป็น” ต้องมีผลิตภัณฑ์ออกมารองรับผู้บริโภคกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งการนำเสนอแบบเจาะลึกนี้ก็สอดประสานไปได้อย่างดีกับกระแสโลกที่ผู้คนไม่ได้เน้นความงามตามอุดมคติเดิมอีกต่อไป ผู้คนใส่ใจในความปกติธรรมดาของคนในสังคมมากขึ้น เนื้อหาต่างๆ ของแต่ละประเทศไม่ใช่แค่ในแวดวงแฟชั่นแต่หมายถึงทุกๆ วงการนั้นกำลังตอบสนองคนทั่วไปในสังคมจริงๆ

Greta Thunberg เด็กสาวผู้สร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้คนทั้งโลก

     เดือนสุดท้ายของปี 2019 คือช่วงเวลาที่คนในอุตสาหกรรมแฟชั่นกลับมาทบทวนอีกครั้งในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม “How Do We Live?” คำถามนี้จึงเกิดขึ้นนับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของ Greta Thunberg ที่ชี้ให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และนำมาสู่พลังอันยิ่งใหญ่บนโลกออนไลน์ จุดนี้ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เซเลบริตี้นอกพรมแดง ”อย่างอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ วล็อกเกอร์ และยูทูเบอร์ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว คนเสพสื่อหลากหลายขึ้นจนแทบจะไร้ขีดจำกัด โว้กประเทศไทยในฐานะสื่อกระแสหลักและสื่ออื่นๆ ทั่วโลกก็ต้องพยายามสร้างคอนเทนต์รูปแบบใหม่ๆ มารองรับผู้ชมกลุ่มนี้ด้วย นับเป็นภาพสะท้อนพลังของโลกออนไลน์ที่ส่งผลต่อกันและกัน รวมถึงสังคมภาคใหญ่อย่างปฏิเสธไม่ได้

 

2020

โว้กประเทศไทยฉบับเดือนมกราคม 2020 กับปก ปกญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์, แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล และมาร์ก ต้วน แห่งวง GOT7ที่มาพร้อมแฮชแท็ก #VOGUExYYMTBB

     ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าปี 2020 กระแสเคป๊อปนั้นฟีเวอร์ไปทั่วโลก วงชื่อดังไม่ว่าจะเป็น GOT7, BTS, BLACKPINK, RED VELVET และวงอื่นๆ อีกมากมายสร้างปรากฏการณ์ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง โว้กประเทศไทยก็เล็งเห็นถึงจุดนี้ เป็นครั้งแรกที่โว้กประเทศไทยพิสูจน์ตัวเองว่า โว้กกลายเป็นแบรนด์ที่ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับนางแบบอีกต่อไป แต่เป็นสื่อที่พร้อมจะเปิดรับทุกความเป็นไปได้ของทั้งวงการแฟชั่นและประเทศไทย และปกญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์, แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล และมาร์ก ต้วน แห่งวง GOT7 ก็กำเนิดขึ้นในเดือนมกราคม มากไปกว่านั้นยังมีแถมยังมีปกมาร์กกับแบมแบมโดยไม่มีนางแบบประกบอีกด้วย

โว้กประเทศไทยฉบับเดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่โว้กประเทศไทยไม่ได้ถ่ายปกเอง

     Vogue Values หรือ “สิ่งที่โว้กเชื่อ” อีกประเด็นสำคัญที่กองเดนาสต์วางแผนใช้กับโว้กทั่วโลก เพื่อสื่อให้เห็นว่าวงการแฟชั่นไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และไม่ได้เมินเฉยต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลก แต่พร้อมที่จะปรับตัวเพื่อพาโลกไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น แต่ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั้งการปิดพรมแดน การตรวจคัดกรองผู้ที่อาจติดเชื้อ ทำให้บรรยากาศโลกโดยรวมตึงเครียด แผนการต่างๆ ของกองเดนาสต์เริ่มขยับเลื่อน และในที่สุดก็ต้องยกเลิกไปเมื่อ WHO ประกาศให้ COVID-19 เป็น Global Health Emergency ภาวะฉุกเฉินระดับโลกที่ทุกประเทศต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือในวันที่ 30 มกราคม 2020 และด้วยสถานการณ์หลังจากที่ไทยประกาศล็อกดาวน์แบบฉุกเฉินนี้ทำให้โว้กฉบับเดือนพฤษภาคม เป็นปกโว้กประเทศไทยฉบับที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ถ่ายเอง แต่ใช้ภาพของช่างภาพโว้กอินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งมาถ่ายแฟชั่นที่กาญจนบุรีพอดีแทน หลังจากนั้นนก็เกิดการทำนิตยสารจากการ Work From Home ของโว้กอิดิชั่นต่างๆ จากทั่วโลกขึ้น กลายเป็นสีสันเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างความรื่นรมย์ให้โลกได้บ้างในโมงยามที่ยากลำบาก

โว้กประเทศไทยฉบับเดือนมิถุนายน 2020 ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “ฉบับแพทย์และพยาบาล”

     เมื่อสถานการณ์โลกยังคงน่าเป็นห่วงและบุคลากรด่านหน้าก็ทำงานอย่างหนักเพื่อประคองสถานการณ์ให้ดีขึ้นอยู่ตลอด โว้กประเทศไทยตัดสินใจตีความคำว่า“ความสง่างาม” ใหม่ในฉบับมิถุนายน 2020 ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “ฉบับแพทย์และพยาบาล” ตั้งคำถามเรื่องความเป็นโว้กขึ้นใหม่ตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงและฉับพลัน รวมถึงข้อจำกัดในการสร้างงานและการนำเสนอที่ต้องเปลี่ยนตาม...เมื่อโว้กประเทศไทยต้องไปต่อ สธนเล่าว่า “เราจะพูดเรื่องความสง่างามอย่างไรในวันที่จะพูดคำว่าแฟชั่นยังกระดากปาก” ความงดงามที่ไม่ได้นำเสนอแค่ภายนอกแต่เป็นความสง่างามของการอุทิศตนเพื่อคนอื่น ถือเป็นวิธีการนำเสนอที่ไม่ปิดกั้นตัวเองด้วยการเป็นนิตยสารแฟชั่น ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงจนเกิด “New Normal” ทั่วโลกล้วนปรับตัว นอกจากการปรับตัวแล้วยังมีการนำเสนอทิศทางใหม่ ไม่ใช่แค่กับโว้กแต่กับทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกก็เริ่มหันมองรอบด้านและลึกซึ้งมากขึ้น

โว้กประเทศไทยฉบับเดือนกันยายน 2020 กับปกธีม Hope ที่โว้กทุกประเทศสร้างสรรค์ร่วมกันและนำเสนอในแนวทางของตัวเอง

     #VogueHope โว้กทั่วโลกก็เช่นเดียวกับไทย คือครุ่นคิดและค้นหาหนทางที่จะนำเสนอความเป็นโว้กในห้วงเวลาที่การระบาดของโควิด-19 รุนแรงที่สุด โว้กประเทศไทยจึงมีบทความ Fashion in Crisis ไม่ใช่การรายงานจุดสิ้นสุดของวงการแฟชั่นจากผลกระทบของโรคร้ายแต่รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นและวิถีทางที่จะเดินต่อไปในอนาคตอย่างตรงไปตรงมาดังที่กองบรรณาธิการตั้งคำถามว่า “จะมีสื่อสักกี่เล่มในโลกนี้ที่กล้ารายงานถึงวิกฤติที่กระทบต่อธุรกิจของตัวเองโดยตรง” และยังจับมือกับโว้กทั่วโลกร่วมกันสร้างสรรค์ธีม Hope หรือ“ความหวัง” ในเดือนกันยายน 2020 เป็นอีกครั้งที่โว้กทั่วโลกทำงานอยู่บนคอนเซปต์เดียวกัน แต่แตกต่างที่รสนิยม วิธีคิด และที่มา โว้กประเทศไทยก็ต้องทิ้งรูปแบบคอลัมน์เดิมๆ ไปก่อน หันมาใช้แมตทีเรียลที่เมื่อหลอมรวมกันแล้วจะกลายเป็นเล่มสะสมที่สะท้อนความเป็นไปในประเทศไทย เพื่อส่งต่อความหวังไปให้คนไทยและคนทั่วโลกว่า “อย่าสิ้นหวัง!”

 

2021

โว้กประเทศไทยฉบับเดือนพฤษภาคม 2021 กับปก Chrissy Teigen ซึ่งเป็นโว้กประเทศไทยฉบับที่ 100

     ครบ 1 ปีหลัง Global Pandemic เปลี่ยนชีวิตของเราทุกคนจากหน้ามือเป็นหลังมือ โลกยังคงเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง เรื่องร้าย เหตุการณ์สะเทือนขวัญเกิดขึ้นเป็นระลอกเหมือนจะไม่ให้พักหายใจ แต่ขอปรบมือให้ทุกคนที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ เพราะเรายังอยู่! ท่ามกลางเรื่องร้ายยังมีเรื่องราวที่รื่นรมย์ให้ชุ่มชื่นหัวใจเรายังได้เห็นความงดงามจากจิตใจของเพื่อนร่วมโลกที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายในอนาคตเช่นเดียวกัน โว้กประเทศไทยที่เดินทางมาถึงเล่มที่ 100 ก็พร้อมทำหน้าที่ส่องสะท้อนความเป็นไปของโลกสู่ผู้อ่าน โดยตระหนักดีว่าเราต่างเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน สำคัญต่อกัน และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะผ่านวันนี้และก้าวสู่วันใหม่ไปด้วยกัน

 

ผู้เขียน: วรรณวนัช สิริ

เรียบเรียง: นาทนาม ไวยหงษ์

ภาพ: Tada Varich, Nat Prakobsantisuk, Sootket Jiwpanit, Natth Jaturapahu, Angelo Pennetta, Aekarat Ubonsri, Joseph Degbadjo, Morelli Brothers, Greg Swales, Rui Faria, Boo George และ Yu Tsai

WATCH