FASHION

เจาะลึกเส้นทาง 4 ปีแรกของโว้กประเทศไทย พร้อมเบื้องหลังบางส่วนที่ผู้อ่านไม่เคยรู้

#VogueSpecial คอลัมน์ 'In Vogue' พร้อมพาทุกคนย้อนเวลากลับไปดูเส้นทางกว่าจะมาถึงเล่ม 100 ของโว้กประเทศไทย

     ตลอดระยะเวลา 8 ปีกับจำนวนฉบับแตะเลข 100 คือเรื่องราวการเดินทางของชีวิตนิตยสารที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขีดจำกัดด้านความสร้างสรรค์ถูกขยายออกไปพร้อมกับการเปิดกว้างตามสังคมโลกแบบไม่เคยหยุดนิ่ง คำว่า “โว้ก” อาจเคยเป็นนิยามของนิตยสารแฟชั่น แต่ปัจจุบันได้แตกแขนงออกไปมากมาย เป็นทั้งคำคุณศัพท์ที่หมายถึงสไตล์และความหรูหรา เป็นคัมภีร์แฟชั่นเป็นแขนงหนึ่งของท่าเต้นที่แสดงออกถึงตัวตนข้างใน รวมถึงเป็นสถาบันที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นและงานออกแบบหลากหลายแขนงแต่ในขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่แรกสุดอย่างแข็งขัน คือเป็นสื่อรายงานความเคลื่อนไหวในแวดวงแฟชั่นที่ส่องสะท้อนความเคลื่อนไหวของโลกทั้งใบ!

 

     ในสกู๊ป "In Vogue" เราจึงขอทบทวนบทบาทที่ผ่านมาและนำเสนอพร้อมกับเบื้องหลังการทำงานบางส่วนที่ผู้อ่านไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อให้เห็นว่า 8 ปีที่ผ่านมา โว้กเปลี่ยนแปลงโลกและโลกเปลี่ยนแปลงโว้กไปอย่างไรบ้าง โดยในตอนแรกนี้จะเป็นการนำเสนอเรื่องราว 4 ปีแรก (2013-2016) ของโว้กประเทศไทย

 

2013

โว้กประเทศไทยฉบับแรกกับปก สิ-พิชญ์สินี ตันวิบูลย์ สวมหมวกลูกไม้สีทองทรงคล้ายชฎาฝีมือการออกแบบของ Philip Treacy

     จุดเริ่มต้นของโว้กในปี 2013 ซึ่งนับว่าเป็นปีที่มีนิตยสารชั้นนำมากมายประชันโฉมกับแทบทุกเดือน นอกจากนี้สถานการณ์โลกยังเต็มไปด้วยเรื่องสำคัญมากมายไล่ตั้งแต่ความปลื้มปริ่มของราชวงศ์อังกฤษกับข่าวการมีพระประสูติกาลพระโอรสของดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ และข่าวพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ “พระสันตะปาปาฟรานซิสที่ 1” ไปจนถึงข่าวความโศกเศร้าของอุบัติเหตุทั่วโลก ความวุ่นวายด้านการเมืองในหลายประเทศ และสภาพความมั่นคงของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อคนทั้งโลก ทว่าโว้กยึดเส้นทางความตั้งใจที่จะนำเสนอ “นิตยสารแฟชั่นที่ทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งของโลก” ในรูปแบบความเป็นไทย แต่เรื่องราวเบื้องหลังไม่ได้เรียบง่ายไร้อุปสรรคนัก เพราะความคาดหวังของคนอ่านที่มีต่อนิตยสารโว้กนั้นสูงมากในทุกๆ ประเทศ ซึ่งทีมโว้กยุคแรกก็ต้องบริหารจัดการให้ได้

โว้กประเทศไทยปกพิเศษครั้งแรก มอบสำหรับแขกผู้มาร่วมงานเปิดตัวกับปก บี-น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ สวมชฎา

     การค้นหาเอกลักษณ์ความเป็น “โว้กไทย” โจทย์สำคัญที่ทาง Condé Nast Publications โยนคำถามกับม็อกอัปแรกว่า “Where are the local pages?” พร้อมเน้นย้ำเสมอว่าต้องสื่อสารกับตลาดในประเทศ เพราะฉะนั้นความเป็นไทยต้องมี ก็กลายเป็นโจทย์ที่ต้องมาคิด ว่าจะทำอย่างไรให้ปกแรกมีความเป็นไทยที่อินเตอร์เนชั่นแนล เราเลยปรึกษากับ Nancy Pilcher (Editorial Director Asia Pacific) เขาก็ต่อตรงให้ได้ไปเจอกับ Kathy Phillips (InternationalBeauty Director of Condé Nast Asia Pacific) ซึ่งทำงานที่กองเดนาสต์ลอนดอน แคที่เป็นเพื่อนกับ Philip Treacy ช่างทำหมวกที่เคยทำพระมาลาถวายพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เราก็ถือรูปวาดของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งจิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล แฟชั่นไดเร็กเตอร์ในตอนนั้น เก็บสะสมและใช้เป็นแรงบันดาลใจไปให้เขาดู มีทั้งรูปวาด การ์ดรูปที่ลงในนิตยสาร แล้วก็อธิบายสิ่งที่เราวาดภาพและอยากได้ ไอเดียของ ‘ชฎา’ โดยฟิลิป เทรซี่ก็มาจากตรงนั้น จากนั้นโว้กประเทศไทยวางแผนเล่มแรกในเดือนกุมภาพันธ์กับปก สิ-พิชญ์สินี ตันวิบูลย์ สวมหมวกลูกไม้สีทองทรงคล้ายชฎาฝีมือการออกแบบของฟิลิป เทรซี่ อีกทั้งยังมีปกพิเศษครั้งแรก มอบสำหรับแขกผู้มาร่วมงานเปิดตัวกับปก บี-น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ สวมชฎาเช่นเดียวกัน



WATCH




ภาพของ Naomi Campbell ที่ถูกตั้งคำถามว่า “ทำไมไปปรับสีผิวเขาให้ขาว โว้กไทยเหยียดผิวหรือเปล่า” จน CNN Asia ติดต่อสัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้

     2013 เป็นช่วงปีที่โลกระหว่างยุคเก่าและใหม่แปรสภาพสู่โลกยุคใหม่เต็มตัว รูปแบบการมองโลกด้านความหลากหลายเพิ่มมิติมากขึ้น จึงเกิดประเด็นระดับโลกครั้งแรกกับความเข้าใจผิดเรื่องสีผิวบนปกโว้กประเทศไทยเดือนพฤศจิกายนกับหน้าปก Naomi Campbell ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์โดยที่หนังสือยังออกไม่วางจำหน่าย เพราะช่างภาพมีการปรับสีภาพนาโอมิในโพสต์ส่วนตัวให้ขาวไม่สอดคล้องกับผิวจริง จึงเกิดคำถามว่า “ทำไมไปปรับสีผิวเขาให้ขาว โว้กไทยเหยียดผิวหรือเปล่า” สำนักข่าวใหญ่อย่าง CNN Asia ติดต่อสัมภาษณ์ในวันหนังสือออก แต่สุดท้ายเรื่องราวก็กลับตาลปัตร ปกนั้นปกติดีไม่เหมือนรูปในโซเชียลมีเดียที่แชร์กัน เหตุก็เพราะเล่มจริงยังไม่ออกและมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปก่อนเสียแล้ว

 

     บทสรุปของปีนี้จึงเหมือนการเริ่มต้นอย่างทรงพลัง ปกแรกได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย บ้างก็ชื่นชม บ้างก็ตำหนิ เปรียบได้กับจุดเริ่มต้นการเดินทางในเส้นทางอันสวยงามหรือ “The Beginning of Beautiful Journey” ที่เริ่มเดินทางไปพร้อมกับการพัฒนา ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงเลียนล้อกับกระแสโลกโดยไม่ลืมความเป็นไทยไว้เบื้องหลัง

 

2014

โว้กฉบับเดือนเมษายน 2014 กับปก Iris Strubegger นางแบบชาวออสเตรเลีย

     การเดินทางของโว้กประเทศไทยที่ใส่ใจเรื่องราวรอบข้าง...เมื่อโลกเต็มไปด้วยเหตุการณ์มากมายทั้งเรื่องสงคราม เชื้อไวรัสอีโบลา การหายไปของเที่ยวบิน MH370 การอับปางของเรือเฟอร์รีเซวอล การประท้วง Umbrella Revolution รวมถึงรัฐประหารในประเทศไทย นิตยสารโว้กที่กำลังจะครบรอบ 1 ปีจึงมีหน้าที่ใหม่คือหาวิธีนำเสนอเรื่องราวของโลกแฟชั่นโดยไม่ปิด ปิดตาต่อเหตุการณ์รอบโลก

โว้กประเทศไทยฉบับเดือนพฤษภาคม 2014 กับปก Kendra Spears นางแบบชาวอเมริกัน

     WORLD CLASS ON A BUDGET รูปแบบการสร้างสรรค์ที่หลากหลายภายใต้การควบคุมงบประมาณอย่างเหมาะสม ปีแรกผ่านไป เสียงบ่นเสียงวิจารณ์ว่า “หนังสือยังไม่สวย” “หนังสือยังไม่ดี” “ผิดหวังมาก” ก็ยังมาถึงหูกองบรรณาธิการอยู่เรื่อยๆ วัชรินทร์ ผ่องใสรองบรรณาธิการ ยอมรับว่า “หลายเล่มเหมือนกันกว่าเราจะเข้าที่เข้าทาง ปีที่ 2 เป็นปีที่เราผ่อนคลายขึ้นเยอะ ถ้าให้พูดตรงๆ คือเล่มแรกทำอะไรแทบไม่ได้เลยเพราะข้างหนึ่งคือกองเดนาสต์ อีกข้างคือซีอีโอ แค่หาตรงกลางให้เจอก็เหนื่อย ภาพที่เราอยากจะได้ก็ไม่ได้ แต่พอปีต่อมาเราเป็นอิสระมากขึ้น เราสามารถดึงความเยินที่เราไม่ชอบในเล่มแรกออกได้มากขึ้น” หนังสือค่อยๆ ได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวกมากขึ้น ทางกองเดนาสต์เองก็ไม่ได้เข้ามาตีกรอบ เรื่องงบประมาณก็เป็นปัจจัยหลักที่เราสามารถบริหารจัดการความสร้างสรรค์ของแฟชั่นภายในเล่มได้อย่างดี ในความเป็นจริงแฟชั่นเซตต่างประเทศอาจใช้งบถึง 7 หลักแต่เมื่อการบริหารจัดการต้องจำกัดในส่วนนี้โว้กไทยจึงทำแฟชั่นเซตออกมาได้ถึง 3-4 เซตในตัวเลขเดียวกัน

ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ ทักทายกับ Karl Lagerfeld ที่โชว์ Chanel คอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ 2014 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

     มาตรฐานความเอ็กซ์คลูซีฟคือสิ่งพิเศษของโว้กประเทศไทยมาตลอด 8 ปี แอคเคาต์อินสตาแกรมของหัวแฟชั่นเล่มแรกๆ มีการเติบโตตามมาต่อจากนั้นอย่างรวดเร็ว โว้กจึงต้องพัฒนาหาแง่มุมความพิเศษให้ไม่ซ้ำกับคนอื่น คอนเทนต์ที่เดียว ทริปเล่มเดียว ชุดสำหรับโว้กเล่มเดียว ฯลฯ ความแตกต่างตรงนี้ทำให้เกิดรูปแบบในการทำงานใหม่ แบรนด์ไม่เน้นแค่ปริมาณแต่เน้นคุณภาพในการคัดสรรชิ้นงานไปพร้อมกับโว้ก ซึ่งรวมถึงการพาดาราไปต่างประเทศ ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ไปดูโชว์ Chanel โอตกูตูร์ที่ปารีสและทักทาย Karl Lagerfeld ด้วยการยกมือไหว้มือตามธรรมเนียมของคนไทย นับเป็นดาราคนแรกที่โว้กประเทศไทยพาไปทริปแฟชั่นระดับโลกที่ต่างประเทศ ด้วยคุณสมบัติอันครบถ้วน ปัจจัยด้านต่างๆ ของแบรนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณทางการตลาดที่มากขึ้นเราจึงพาดาราไปได้ ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีใครทำและคิดว่าการที่เราทำสิ่งนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แวดวงนิตยสารและสิ่งพิมพ์ไทยเปลี่ยนความคิด สร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการแฟชั่นและวงการนิตยสารไทย

 

2015

โมเมนต์ไฮไลต์ประจำปีนี้ของโว้กประเทศไทยกับการพา ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ บินลัดฟ้าไปดูโชว์ Chanel คอลเล็กชั่น ฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2015 

     ขยับมาปี 2015 ปีทองของการพัฒนาโลกดิจิทัลทั่วโลก แพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ก อินสตาแกรม และแพลตฟอร์มทางเลือกอื่นๆ เริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผู้คนสนใจเสพสื่อและความบันเทิงผ่านทางออนไลน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในต่างประเทศ ในประเทศไทยเองเหล่าดาราก็เริ่มเพิ่มบทบาทการเป็นเซเลบริตี้มากขึ้น แต่ก็ยังต้องอาศัยแพลตฟอร์มของนิตยสารและสื่อหลักในการโปรโมตตัวเองก่อน เมื่อโลกพัฒนาเช่นนี้โว้กประเทศไทยกับแนวคิด “A DIGITAL TOUCH” จึงกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

หน้าโปรไฟล์อินสตาแกรมของโว้กประเทศไทยที่ตอนนี้มีผู้ติดตามมากกว่า 371,000 คน

     อย่างที่กล่าวไปในเรื่องราวของปี 2014 ว่าโว้กเริ่มสร้างแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์ล้อไปกับการพัฒนาของโลกยุคใหม่ แต่ก็ใช่ว่าจะนิ่งเฉยได้เมื่อมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปี 2015 จุดนี้ทำให้โว้กหันมาถ่ายปกในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถขยายคอนเทนต์ออกนอกเล่มสู่โลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บภาพเบื้องหลังซึ่งเป็นจุดเด่นในการนำเสนอบนโลกออนไลน์ของโว้ก การวางรูปแบบคอนเทนต์เช่นนี้เป็นสิ่งที่กองเดนาสต์เจาะจงให้วางแผนระยะยาวตั้งแต่แรก และโว้กก็ก้าวก่อนกาลเนื่องจากตลาดสื่อดิจิทัลในประเทศไทยขณะนั้นยังไม่เติบโตมากนัก

แฟชั่นเซตในปี 2015 ที่แสดงให้เห็นถึงความงามทุกรูปแบบ

     การผลักดัน THAI BEAUTY อย่างจริงจัง ในขณะที่โลกแฟชั่นกำลังขับเคลื่อนผ่านความนิยมอิงกับนิยามความงามฟากตะวันตก แต่เอกลักษณ์ความเป็นไทยที่โว้กเดินหน้าทำงานมาตลอดก็สะท้อนความงามในรูปแบบไทยๆ มากขึ้น โว้กประเทศไทยพยายามนำเสนอความงามที่คนไทยไม่ได้มองว่างาม ด้วยนางแบบที่เห็นกรามชัด จมูกไม่โด่ง ผิวคล้ำ แต่ตอนนั้นคนไทยยังชอบผู้หญิงที่สวยแบบนางงาม สวยแบบตุ๊กตา เทรนด์เกาหลีก็เพิ่งเริ่ม ยังไม่เข้ามาชัดเจนเท่าไร การทำให้คนยอมรับความงามที่ไม่ใช่สวยจิ้มลิ้มจึงยากมาก จิรัฏฐ์ผู้ทำงานร่วมกับนางแบบแถวหน้ามาหลายเจเนอเรชั่นอธิบาย “เราก็กรูมเขาขึ้นมา นี่ไม่ได้ยอตัวเองนะ ไปดูได้ว่าพอโว้กประเทศไทยใช้นางแบบรุ่นเด็กเหล่านี้ สักพักก็จะมีงานถ่ายลงเล่มอื่นๆ ตามมา อย่างที่บอกว่านางแบบไทยไม่ได้เป็นตัวเลือกแรก ทุกวันนี้ต่อให้เหลือแมกกาซีนหัวนอกอยู่แค่ 3-4 เล่ม ลองไปเปิดดูสินางแบบฝรั่งแทบทั้งนั้นนะเพราะเรามีทัศนคติอยู่ว่านางแบบฝรั่งใส่เสื้อแย่ก็ยังสวย ซึ่งมันก็มีความจริงส่วนหนึ่งเพราะด้วยรูปร่าง สีผิว สีตา สีผมมันคนละแบบ เราก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรถึงจะดันนางแบบไทยให้ดูอินเตอร์ได้ และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังยืนยันนะว่า ไม่มีเล่มไหนสนับสนุนดีไซเนอร์ไทยเท่าโว้ก”

ภาพแฟชั่นของ ใหม่-ดาวิก โฮร์เน่ ในโว้กประเทศไทยฉบับเดือนตุลาคม 2015

     อีกหนึ่งความน่าสนใจในปีนี้ที่โว้กขับเคลื่อนไปพร้อมกับโลกคือนิยามความงามอันหลากหลายมากยิ่งขึ้น ในเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนั้น Pia Wurtzbach นางงามตัวแทนจากฟิลิปปินส์คว้ามงกุฎไปครองได้สำเร็จ เปิดโลกความงามแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ทะยานสู่เวทีโลก ขณะเดียวกันโว้กประเทศไทยก็นำเสนอปรากฏการณ์ความลื่นไหลด้านความงามไปพร้อมกัน เช่นการหากิมมิกใหม่เพื่อส่งเสริมความงามไร้กรอบจำกัดรวมถึงปฏิเสธ Body Shaming มีการถ่ายนางแบบหลากรูปร่าง หลายเพศ รวมถึงนำเสนอความงามผ่านนางแบบชาติพันธุ์ต่างๆ เพราะฉะนั้นโว้กเริ่มต้นการรับผิดชอบต่อสังคมก่อนคำว่า “Diversity” จะก้าวเข้ามามีบทบาทกับโลกแบบเต็มตัว นอกจากนี้ยังส่งเสริมดาราไทยสู่เวทีสากลอีกครั้งกับครั้งแรกของ ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ ในการเดินทางไปปารีสแฟชั่นวีกเพื่อชมโชว์ Chanel คอลเล็กชั่น ฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2015 และถ่ายปกโว้กครั้งแรกของเธอ

 

2016

โว้กประเทศไทยฉบับเดือนมกราคม 2016 กับปก Chrissy Teigen

     เปิดปี 2016 กับทริปสหรัฐอเมริกาของ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทยเดินทางไปพบกับ Chrissy Teigen เพื่อนำความเป็นไทยจากบ้านเกิดมาให้กับเธออีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนทั้งตัวนิตยสารและความเป็นไทยผ่านตัวแทนความเป็นไทยในระดับสากล แต่เหตุการณ์ระเบิดที่พระพรหมในตอนนี้ทำให้บรรยากาศรื่นเริงกลายเป็นเศร้าไป แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราสามารถดึงความสอดคล้องระหว่างความเป็นเอเชียในต่างแดนมานำเสนอได้มากขึ้น ประกอบกับความสนใจของแบรนด์ระดับโลกต่อตลาดเอเชียที่พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ภายหลังอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของโว้กประเทศไทยก็เกิดขึ้นเมื่อ เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ เป็นผู้ชายคนแรกบนปกโว้กประเทศไทย (คู่กับนางแบบชาวจีน Luping Wang) ตอกย้ำความสนใจในตลาดเอเชียของแบรนด์ยักษ์ใหญ่อีกระดับหนึ่ง

เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ และ Luping Wang บนปกโว้กประเทศไทยฉบับเดือนพฤษภาคม 2016

     กระแสของโลกดิจิทัลและวงการแฟชั่นพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว โว้กจึงให้กำเนิด Vogue On Application เพื่อตอบรับกับเทรนด์ See-Now/Buy-Now ที่ ณ ตอนนั้นกำลังเป็นกระแสอย่างมากโดย Christopher Bailey แห่ง Burberry ได้ริเริ่มไอเดียนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินไม่ได้หล่อเลี้ยงด้วยน้ำมันเหมือนเครื่องจักร กระแส See-Now/Buy-Now ที่เร่งให้กระบวนการทุกอย่างเร็วจี๋จึงค่อยๆ แผ่วลงและเงียบหายไปในที่สุด เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เมืองไทยเกิดเหตุการณ์สะเทือนหัวใจคนทั้งประเทศ นั่นก็คือพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคต

แฟชั่นเซตของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโว้กประเทศไทยฉบับเดือนมิถุนายน 2016

     ก่อนหน้าเหตุการณ์เดือนตุลาคมไม่กี่เดือน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงขึ้นปกโว้กประเทศไทยครั้งแรกในฉบับเดือนมิถุนายน 2016 “โว้กประเทศไทยของเราต้องการนำเสนอ Sense of style” สธนชี้ให้เห็นแนวคิดที่แตกต่าง “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงผูกพันกับโว้กเพราะเรานำเสนอผลงานทรงออกแบบของพระองค์มาโดยตลอด และพระองค์ท่านก็ทรงสนับสนุนโว้กประเทศไทยมาตลอด เราจึงคิดว่าพระองค์ท่านทรงเหมาะที่สุดที่จะทรงนำเสนอสิ่งที่พระราชวงศ์ไทยสร้างขึ้นในกระแสแฟชั่นโลกเราเลยทำแฟชั่นเซตใหญ่ที่ต้องมีการขนส่งเสื้อผ้าโอตกูตูร์มาที่ประเทศไทย ซึ่งทางแบรนด์ก็ถวายพระเกียรติแด่พระองค์ท่านด้วย เพราะกระบวนการขนส่งเสื้อผ้าชิ้นพิเศษเหล่านี้มีความซับซ้อนยุ่งยากเทียบเท่ากับการขนส่งงานศิลปะชิ้นสำคัญ ดังนั้นนางแบบจึงต้องเป็นผู้ที่แบรนด์เล็งเห็นแล้วว่าสามารถสร้างมูลค่าทางความรู้สึกให้แก่ผลงานของเขาได้จริงๆ”

นุ่น วรนุช บนปกโว้กประเทศไทยฉบับเดือนพฤศจิกายน 2016 ซึ่งเป็นเล่มแรกที่มีการติดสัญลักษณ์ริบบิ้นดำเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาบพิตร

     สุดท้ายปลายปีจบลงด้วยความโศกเศร้า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคต “ตอนนั้นหนังสือเล่มพฤศจิกายนซึ่งเป็นปกนุ่น วรนุชในธีมสีแดงอยู่บนแท่นพิมพ์แล้วทำอะไรไม่ทันแล้วทั้งนั้น” กุลวิทย์เล่า “ปรึกษากับโรงพิมพ์แล้วได้ข้อสรุปว่า สิ่งเดียวที่พอจะทำได้คือดึงปกกลับมาติดสัญลักษณ์ริบบิ้นดำและจะติดเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่พระองค์ท่านทุกปกเป็นเวลา 1 ปี” วงการสื่อสารทั้งหมดเริ่มกำหนดแนวทางการเสนอข่าว ทั้งการเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยและสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์เมื่อเริ่มรัชกาลใหม่ตลอดจนแนวทางการนำเสนอเนื้อหาเพื่อแสดงความอาลัย อย่างไรก็ดี นิตยสารแฟชั่นซึ่งเป็นสื่อแต่ไม่ได้อยู่ในหมวดเดียวกับหนังสือพิมพ์หรือสถานีข่าวกลับไม่มีแนวทางการนำเสนออย่างชัดเจน กุลวิทย์ซึ่งถือเป็นพี่ใหญ่คนหนึ่งในวงการนิตยสารจึงตัดสินใจส่งสารเป็นเล่มแรกๆ ว่าธุรกิจแฟชั่นควรปรับตัวอย่างไรและนำเสนอสิ่งที่เหมาะสมที่สุดในช่วงเวลานั้นอย่างไร โว้กประเทศไทยจึงตัดสินใจคงความเป็นโว้กเหมือนเดิมเพิ่มเติมด้วยฉบับสะสม โดยรวบรวมพระบรมสาทิสลักษณ์ซึ่งเป็นผลงานของ 50 ศิลปินไทยมาไว้ในเล่มเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

The Birth of the King หนึ่งในเรื่องราวของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาบพิตร ที่โว้กนำเสนอในช่วงเดือนธันวาคมปี 2016

     นอกจากนี้ในเดือนธันวาคมยังมีการนำเสนอเรื่องราวของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ The Birth of the King, Home Away from Home, My Tutor and I, I Shall Reign with Righteousness, Romance of a King, International Affairs to Remember จนถึง The Talented Mr. Monarch โดยติดต่อค้นหารูปและเรื่องราวจากแหล่งข่าวที่คนไทยไม่เคยรู้และไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น พระอาจารย์ที่เคยถวายการสอนพระองค์ท่าน หมอและพยาบาลจากโรงพยาบาลที่พระองค์ท่านมีพระประสูติกาล เพื่อให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในความทรงจำของคนไทยเป็นภาพสมบูรณ์ครบถ้วน 360 องศา แม้การทำงานจะยากลำบากเนื่องจากความอ่อนไหวทางความรู้สึกของผู้ให้ข้อมูลและความผูกพันของผู้เกี่ยวข้อง และกลัวว่าสื่อจะเอาภาพพระองค์ท่านไปนำเสนออย่างไม่เหมาะสมแต่พอคุยกันลงตัว ก็กลายเป็นความทรงจำของการทำงานร่วมกันที่ต้องจดจำ ปิดท้ายปีด้วยการน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านอย่างสุดซึ้ง

 

บทความนี้เป็นเวลาช่วงเวลา 4 ปีแรกของโว้กประเทศไทยเท่านั้น สามารถติดตามเรื่องราวอีก 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2017-2021) ได้ในบทความต่อไป และหากใครต้องการอ่านสกู๊ป "In Vogue" แบบเต็มๆ สามารถหาซื้อนิตยสารโว้กประเทศไทยฉบับเดือนพฤษภาคม 2021 ได้แล้ววันนี้ที่แผงหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

 

ผู้เขียน: วรรณวนัช สิริ

เรียบเรียง: นาทนาม ไวยหงษ์

ภาพ: David Bellemere, Marcin Tyszka, Hans Feurer, Marcin Tyszka, Nat Prakobsantisuk, Tada Varich, Natth Jaturapahu, Simon Cave, Yu Tsai, Tada Varich, Nat Prakobsantisuk, Wasan Puengprasert, Sootket Jiwpanit

WATCH