สำรวจแฟชั่นสุดคลาสสิกใน 'In The Mood For Love' ภาพยนตร์ชู้รักโดย หว่อง กาไว
นอกจากฉากหลังของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ถ่ายทำในประเทศไทยทั้งหมด ก็เห็นจะมี 'ชุดกี่เพ้า' ของตัวละครนางเอกนี่แหละ ที่ทำให้สายแฟ(ชั่น)อย่างเราละสายตาไม่ได้จริงๆ...
เพียงแค่ได้ยินเสียเพลงซาวด์แทร็ก Shigeru Umebayashi: Yumaji’s theme ดังขึ้นมาในเสี้ยววินาทีหนึ่งของภาพยนตร์สุดคลาสสิกเรื่อง “In The Mood For Love” บรรยากาศรอบตัวก็เหมือนจะหมุนกลับไปในอดีต จนอยากจะหากี่เพ้า และส้นสูงมาใส่เริงระบำกลางถนน ที่ประดับประดาไปด้วยแสงไฟสลัวให้รู้แล้วรู้รอด...
นั่นไม่ใช่ความรู้สึกที่มากเกินไปสำหรับแฟนภาพยนตร์ของผู้กำกับชื่อดัง Wong Kar-Wai เพราะหากว่า “สถาบันความหว่อง” หมายถึงความเหงา อารมณ์เปลี่ยวดาย หรือแม้แต่ความแปลกแยกจากสังคมกระแสหลัก ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นรวบรวมอย่างสมบูรณ์อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วเรียบร้อย เรื่องราวของคุณนายชาน (รับบทโดย จางม่านอวี๊) และคุณเชา (รับบทโดย เหลียงเฉาเหว่ย) ที่ได้ย้ายมาอยู่ที่ห้องเช่าติดกันในวันเดียวกันพอดิบพอดี และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ที่ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะมีคู่ชีวิตและครอบครัวของตัวเองอยู่แล้วทั้งสองฝ่าย แต่ด้วยความจืดจางของชีวิตรักของทั้งคู่ ก็ได้ก่อเกิดความรักต้องห้ามขึ้นท่ามกลางห้องเช่าที่ห่างเพียงผนังกั้น หลังจากนั้นเรื่องราวแสนคลาสสิกก็เข้าอีหรอบภาพยนตร์ชู้รักสุดโรแมนติกแบบ Titanic ทุกอย่าง ที่แม้ว่าคนดูอย่างเราจะรู้ว่าสิ่งที่เขาทั้งคู่ทำมันผิด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เรายังลุ้นและเอาใจช่วยทั้งคู่จนจบเรื่องอยู่ดี
ไฮไลต์สำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกเสียจากสไตล์การกำกับเฉพาะตัวแบบไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ หรือฉากหลังของภาพยนตร์ที่ถูกถ่ายทำในประเทศไทยทั้งหมดในย่านบางรัก และเจริญกรุง เนรมิตจนกลายเป็นบรรยากาศฮ่องกงในปี 1962 ที่เป็นช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์แล้วนั้น อีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากก็เห็นจะหนีไม่พ้น “ชุดกี่เพ้า” จำนวนเกือบ 50 ชุดที่นักแสดงสาวอย่างจางม่านอวี๊สวมใส่เข้าฉากตลอดทั้งเรื่อง เพราะมันช่างสะดุดตาและดูมีเสน่ห์แตกต่างจากี่เพ้าโบราณทั่วไป ด้วยการผสมผสานระหว่างสีสันฉูดฉาดในแบบเซี่ยงไฮ้ กับจังหวะการวางลวดลายในแบบตะวันตก ที่สามารถดึงดูดสายตาของเหล่าสายแฟ(ชั่น)ได้อย่างอยู่หมัดตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
อย่างที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่า “กี่เพ้า” คือมรดกตกทอดจากชาวแมนจูเรีย ที่หญิงชนชั้นสูงนิยมสวมใส่กันมากในยุคสมัยราชวงศ์ชิง แต่ก่อนเรียกกันว่า “ฉีเผ่า” มีลักษณะเป็นแพตเทิร์น และสีเดียวกันทั้งหมด ต่อมาในยุคราวๆ 1920s จนถึง 1940s ฉีเผ่าถูกผสมโรงด้วยความงาม และแฟชั่นแบบตะวันตกเข้าไป ทั้งสีสัน ลวดลาย และซิลูเอตรัดรูป ที่แตกต่างและพัฒนาแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับต้นกำเนิดของมัน ก่อนที่ต่อมาเมื่อคอมมิวนิสต์ได้คืบคลานเข้ามารุกรานพื้นที่ ทำให้คนเซี่ยงไฮ้หลายครัวเรือนต้องอพยพไปอยู่ฮ่องกง วัฒนธรรมการสวมใส่กี่เพ้าจึงเริ่มแพร่หลายไปในพื้นที่อื่นๆ แฟชั่นไอเท็มชิ้นนี้ถูกนำมาพัฒนา ดัดแปลง และสร้างสรรค์ต่ออีกทอดหนึ่งนับไม่ถ้วน จนกลายเป็นแฟชั่นไอเท็มแบบ Oriental Style ที่ชาวตะวันตกติดตา ทว่าสิ่งที่ทำให้กี่เพ้าโด่งดังเป็นพลุแตกสุดๆ ก็คงจะต้องยกความดีความชอบให้กับภาพยนตร์ “In The Mood For Love” เรื่องนี้ ในช่วงปี ค.ศ. 2000 นี่เอง
WATCH
ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่...กี่เพ้าของตัวละครคุณชานในภาพยนตร์เรื่องนี้ มีมนตร์สะกดอันทรงพลังบางอย่างที่ทำให้ทั้งตัวละครรอบข้าง หรือแม้แต่คนดูต้องจับจ้องไม่สามารถละสายตาได้เลยแม้แต่วินาทีเดียว อนึ่งยังเคยมีคนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ถึงความชาญฉลาดที่ทีมคอสตูมของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เลือกเฉดสีของกี่เพ้ามาใช้อธิบายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ณ เวลานั้นๆ ได้อย่างแยบคาย ตัวอย่างเช่นชุดเฉดสีน้ำเงินเข้มหรือม่วง ที่อาจหมายถึงความขุ่นมัวในจิตใจ และการพรากจากกัน และอีกมากมาย ที่ซ่อนเร้นรอให้ทุกคนได้ไปหาคำตอบกันอีกครั้งบนสตรีมมิ่ง Disney+ Hotstar ตอนนี้ ซึ่งผู้เขียนขอแนะนำเลยว่าไม่ควรพลาดเด็ดขาด!
ข้อมูล : Vogue Us, CNN, cinemaescapist.com, Blockdit และ Wikipedia-Cheongsam
WATCH