FASHION
สไตล์ไดเร็กเตอร์เผยทุกแรงบันดาลใจ ของวิวัฒนาการความเป็นไทยบนปกโว้ก
|
ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในนิตยสารโว้กฉบับอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1964 และถ่ายภาพโดย Henry Clarke ข้าพเจ้ารู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทยอย่างมาก ที่เรามีวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ ที่สวยงามไม่แพ้ชาติใดในโลก และพระองค์ท่านทรงได้นําสิ่งเหล่านั้นออกสู่สายตาคนทั่วโลก
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฉลองพระองค์ชุดไทย บนปกโว้กประเทศไทยเล่มพิเศษ
จนกระทั่งบริษัท Condé Nast ผู้ถือลิขสิทธิ์นิตยสารโว้ก ได้ถือกำเนิดโว้กประเทศไทยขึ้น และข้าพเจ้าได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในทีมงานที่ได้เริ่มทำงานตั้งแต่เล่มศูนย์ จึงได้คิดว่าเราควรจะทําอย่างไรให้โว้กประเทศไทย ได้สอดแทรกความเป็นไทยสู่สากลในรูปแบบที่ทันสมัยลงไป จึงได้กลายเป็นที่มาของ “ชฎาไทย” อันเป็นอัตลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดในความเป็นไทย อีกทั้งในโว้กประเทศไทยเล่มดังกล่าวนั้น ยังได้ชฎาไทยมาจากฝีมือของ Kai Boutique ดีไซเนอร์ชาวไทย
(ซ้าย) โว้กประเทศไทยฉบับศูนย์ นางแบบสวมชฎาไทยจาก Kai Boutique/ (ขวา) บี-น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ สวมชฎาสีทองโดยฝีมือการสร้างสรรค์ของ Philip Tracy บนปกโว้กประเทศไทยฉบับแรก
ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นชฎาสีทอง ที่ได้รับการออกแบบโดย Philip Treacy ในโว้กประเทศไทยเล่มที่ 1 สวมใส่โดยนางแบบ สิ-พิชญ์สินี ตันวิบูลย์ และ บี-นํ้าทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ เพื่อยกระดับชฎาไทยให้มีความทันสมัยออกสู่สายตาโลก (ซึ่งหลังจากนั้น ฟิลิป เทรซีย์ ยังได้ขยายความจาก “ชฎาไทย” สู่การเป็น Headdress (เครื่องประดับศีรษะ) ผสมกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมพังก์ให้กับ Sarah Jessica Parker ได้สวมใส่ในงาน Met Gala ประจำปี 2015 ที่นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ)
WATCH
นางแบบ Gemma Ward กับร่ม สัญลักษณ์ของวัฒนธรรมทางภาคเหนือ บนปกโว้กประเทศไทยฉบับนักสะสม เดือนตุลาคม ประจำปี 2018
หลังจากนั้นเรื่อยมา ข้าพเจ้าได้คิดภาพสอดแทรกความเป็นไทยมาโดยตลอด พร้อมกับโจทย์ที่ว่าทําอย่างไรที่จะนําเสนอออกมาแล้ว “ไม่เสี่ยว” เพราะการเล่นสไตล์กับสิ่งที่เป็น Tradition นั้น หากเราไม่ดำเนินรอยตามลักษณะเดิมที่เราเคยเห็นกันอยู่ เมื่อนำมาทําใหม่แล้วมันก็จะต้องทำให้ “ถึง”... นั่นจึงกลายเป็นที่มาของรูปแฟชั่นต่างๆ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น การนำเสนอผ้าไหมไทยในรูปแบบโมเดิร์น , การเสนอรูปนางแบบโลก Aline Weber คู่กับแมวสีสวาดที่ดังไปทั่วโลก, Zuzanna Bijoch ใส่งอบ ทั้งแบบดั้งเดิม และแบบสมัยใหม่ พร้อมฉากหลังที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, Zuzanna Bijoch กับผีตาโขน และโขนไทย, Anna Seleznova กับมวยไทย ที่มีกางเกงเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทั่วโลกจดจำ, Gemma Ward กับร่ม และ ตุง สัญลักษณ์ของวัฒนธรรมทางภาคเหนือ, Daphne Groeneveld กับคณะลิเกไทย, Amanda Murphy กับรถตุ๊กตุ๊ก อีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ของไทยที่ดังไกลไปทั่วโลก, Daphne Groeneveld กับเหล่าดอกบัวหลวง (ซึ่งจริงๆ แล้วดอกบัวนับเป็นดอกไม้ที่คนไทยต่างคุ้นเคย เนื่องจากเราใช้ดอกบัวกราบไหว้พระอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดังนั้นสําหรับข้าพเจ้าแล้ว แม้ดอกบัวจะไม่ได้ถูกระบุในแง่ความเป็นไทยอย่างชัดเจนทัดเทียมกับของอื่นๆ ที่ผ่านมา หากด้วยรูปทรง และจากภาพจิตกรรมฝาผนังในวัดวาอาราม ต่างแสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับดอกบัว และความหมายของมัน (บัวพ้นน้ำ) ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่ามันมีความเป็นไทยอยู่มากทีเดียว) และมิเรียม ศรพรหมมาศ กับพานพุ่มใบตองขนมต้ม
Aline Weber สวมใส่ชุดผ้าไทยตัดต่ออย่างโมเดิร์น บนปกโว้กประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ ประจำปี 2014
ภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ตของนางแบบระดับโลก Aline Weber กับแมวสีสวาดที่ดังไปทั่วโลก
นางแบบ Zuzanna Bijoch ใส่งอบ บนปกโว้กประเทศไทย ฉบับครบรอบ 2 ปี
ภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ตนางแบบ Zuzanna Bijoch และผีตาโขน อีกหนึ่งศิลปะ และวัฒนธรรมไทยที่น่าสนใจ
ภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ต Zuzanna Bijoch ท่ามกลางตัวละครโขนไทย ในโว้กประเทศไทย
ภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ต Anna Seleznova และมวยไทย พร้อมสวมใส่กางเกงมวยไทย ที่เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทั่วโลกจดจำ
นางแบบ Daphne Groeneveld และฉากหลังวิกคณะลิเกไทย อีกหนึ่งนาฏยกรรมของไทยที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก
นางแบบ Amanda Murphy กับรถตุ๊กตุ๊ก สิ่งประดิษฐ์ไทยที่ดังไกลไปทั่วโลก บนฉากหลังที่เป็นย่านเยาวราช
ภาพแฟชั่นเซ็ตของนางแบบ Daphne Groeneveld กับเหล่าดอกบัวหลวง อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ผูกพันกับวิถีของคนไทยมาเป็นเวลานาน
ภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ตของนางแบบ มิเรียม ศรพรหมมาศ พร้อมด้วยใบตองขนมต้ม ในโว้กประเทศไทย
งานประณีตศิลป์จากใบตอง ในแฟชั่นเซ็ตชื่อ Master Head ในโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ประจำปี 2019
จนกระทั่งในปีนี้ ข้าพเจ้าได้รับโจทย์จาก กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทยว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานพระอนุญาตให้ฉายพระรูปเพื่อนำมาตีพิมพ์เป็นแฟชั่นเซ็ตในโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนมิถุนายน ประจำปี 2562 นี่จึงเป็นวาระสำคัญที่เหมาะสมที่สุด ที่ชุดไทยจะได้มีโอกาสปรากฏโฉมอยู่บนปกนิตยสารระดับโลก กระทั่งทำให้ข้าพเจ้าเองได้ย้อนกลับไปถึงความรู้สึกภาคภูมิใจในครั้งที่ได้เห็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งนั้น
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงฉลองพระองค์ชุดไทยศิวาลัย ผ้าตาดกรองทองปักทับด้วยลูกปัดและเลื่อมเงินสลับทอง จาก Tirapan รัดพระองค์ทองคำพร้อมปั้นเหน่งทองคำประดับเพชรตราจักรี บนปกโว้กประเทศไทยฉบับนักสะสม เดือนมิถุนายน ปี 2562
สำหรับการทำงานในครั้งนี้ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดได้คือ สีบนปก สีที่มองแล้วสามารถสะท้อนความเป็นไทยได้ชัดเจนที่สุดคือ สีทอง เฉกเช่นสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศจีน จึงกลายเป็นที่มาของ Set Design สำคัญของปกนี้ อีกทั้งชุดไทย ในแง่รูปทรงแล้ว ดีไซน์ที่เรามี มันเรียบเข้ารูป มีความทันสมัย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือพระองค์แรกที่ได้ทรงประยุกต์ชุดไทยให้มีความทันสมัย (ยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ทรงนําโจงกระเบนแบบผู้ชายมาสวมใส่ในรูปแบบใหม่)
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงฉลองพระองค์ชุดไทยจักรพรรดิ ซึ่งตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง
ฉลองพระองค์ชุดไทยจักรพรรดิพระภูษาผ้ายกทองลายพุ่มข้าวบิณฑ์ จีบหน้ามีชายพก แพรจีบ จากกลุ่มทอผ้ายกทองจันทร์โสมา ผ้าทรงสะพักปักดิ้นทอง ไหมเลื่อมและลูกปัด รัดพระองค์ทองคำพร้อมปั้นเหน่งทองคำประดับเพชรตราจักรี สายสังวาลทองคำลงยาประดับอัญมณีเก้าชนิด กำไลข้อพระกรทองคำขาวประดับเพชรและทับทิม ตกแต่งพู่ลูกปัดทับทิม พระกุณฑลทองคำขาวประดับเพชร ทับทิม และพู่ลูกปัดทับทิม ทั้งสองจาก Van Cleef & Arpels
ที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะคุ้นเคยกับชุดไทยที่เห็นกันบ่อยครั้งบนเครื่องบินจนเราทุกคน “ละเลย“ ที่จะให้ความสำคัญ และคุณค่าในการสวมใส่ จนกระทั่งทุกวันนี้กระแสของชุดไทยได้เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับชุดไทยมากขึ้น มีการหันมาสวมใส่ในวันปรกติ และวาระต่างๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับคนญี่ปุ่นที่สวมใส่ชุดกิโมโน และคนอินเดียที่สวมใส่ส่าหรี โดยไม่เคอะเขินที่จะใส่ชุดประจําชาติเดินตามท้องถนนทั่วไปในวันปรกติ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นแบบในครั้งนี้ เพราะพระองค์ท่านคือบุคคลที่จะทรงสานต่อพระราชเสาวนีย์ และพระราชกรณียกิจด้านภูมิปัญญา และผ้าไหมไทยแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ต่อไป
“ชาตินิยม” คือส่วนหนึ่งที่เราคนไทยควรจะภูมิใจในรายละเอียดที่บรรพบุรุษของเราสร้างมา และควรรักษา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย รวมทั้งเก็บรักษารูปแบบเดิมเพื่อเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมต่อไป นี่คือความภาคภูมิใจใน “ความเป็นไทย”...
จิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล
สไตล์ไดเร็กเตอร์โว้กประเทศไทย
WATCH