FASHION

หญิงดีคือหญิงที่อยู่ใต้อาณัติผู้ชาย... ทำไมกุลสตรีไทยต้องยอมทุกอย่าง

สืบค้นที่มาของภาพลักษณ์หญิงไทยใจงามผู้เพียบพร้อมในตำนานเรื่อยไปจนถึงวรรณกรรมร่วมสมัย ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญบนหมากกระดานแห่งการจำกัดความงอกงามของบทบาทสตรีในสังคมไทย

สืบค้นที่มาของภาพลักษณ์หญิงไทยใจงามผู้เพียบพร้อมในตำนานเรื่อยไปจนถึงวรรณกรรมร่วมสมัย ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญบนหมากกระดานแห่งการจำกัดความงอกงามของบทบาทสตรีในสังคมไทย เมื่อส่องเฟมินิสต์ทั่วโลก เขามี Simone de Beauvoir ไล่ยาวเป็นศตวรรษจนถึง Naomi Wolf จนเขามี Post-Feminist กันไปแล้ว ไปนั่งถกกันเรื่อง Post-Modern กันใหญ่โต ไอ้เราก็ได้แต่กลับมานั่งทำตาปริบๆ หันกลับมาดูตัวตนบทบาทหญิงไทยบ้าง ยังเป็น Pre-Modern อยู่เลย รึจะเถียงฮึ!

 

 

อ้าปากเอ่ยถึงหญิงไทยทีไร นางแรกๆ ที่เด้งขึ้นมาไม่ใช่นักเรียกร้องสิทธิสตรี นายกฯหญิง รัฐมนตรีหญิง หรือนักธุรกิจหญิง หากแต่เป็น “แม่พลอย” ที่นั่งพับเพียบกรองดอกไม้ลอยออกมาจาก “สี่แผ่นดิน”  เพราะแม่พลอยที่เป็นนางเอกในนวนิยาย สี่แผ่นดิน (2494) ได้รับการยกย่องให้เป็นหญิงไทยในอุดมคติ เพราะนางไม่เพียงได้รับการขัดเกลาแบบสาวชาววังที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงยุคก่อนสมัยใหม่ นางยังเป็นตัวแทนของหญิงผู้สยบยอม แม่และเมียผู้อุทิศตนให้ครอบครัว ภักดีต่อโครงสร้างสังคม แม้จะถูกโขกสับ จิกกัดกระแนะกระแหน นางก็รับได้ ไม่โกรธ ไม่เกลียด และให้อภัย นอกจากจะอดทนได้ นางยังไม่ท้าทาย ไม่ตั้งคำถาม ไม่แข็งขืน ไม่ปีกกล้าขาแข็ง ไม่หือไม่อือใดๆ ทั้งสิ้น แถมไม่แรดไม่ร่าน แม้จะเป็นม่ายผัวตายและผ่านมาหลายแผ่นดิน หลายทศวรรษให้หลัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้แต่งนวนิยาย สี่แผ่นดิน ให้สัมภาษณ์เพียงแต่ว่า แม่พลอยเป็นเพียงตัวละครของผู้หญิงเชยๆ อยู่ในกรอบ ไม่เคยเรียกไม่เคยร้องอะไร ออกจะโง่ๆ ด้วยซ้ำ...

 

แม้นางจะเป็นตัวละครที่ถูกเนรมิตขึ้น ไม่วายยังมีหลายคนอยากเห็นและอยากให้มีแม่พลอยจริงๆ จังๆ ในสารขัณฑ์ประเทศ เหมือนกับตัวละครในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ที่ถูกยกให้เป็นต้นแบบของหญิงไทย เช่น นางนพมาศ จากวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ใช้ฉากของเรื่องแต่งให้เป็นอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเป็นยูโทเปียของชาติไทย นางไม่เพียงเป็นพระสนมของพระร่วง แต่ยังได้ประดิดประดอยกระทงรูปดอกบัวและริเริ่มประเพณีลอยกระทง แม้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีประเพณีลอยกระทงในอาณาจักรสุโขทัย เพราะนอกจากไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมยังไม่ได้อำนวยให้มีประเพณีนี้อีกต่างหาก บรรดาสระน้ำที่อยู่ในและนอกเมืองสุโขทัยก็ถูกขุดไว้เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับดื่มกินในชีวิตประจำวันและในช่วงแล้ง และประกอบพิธีกรรมสำคัญ ไม่ได้เพื่อพายเรือเล่น หรือไปลอยสิ่งของต่างๆ ให้น้ำเน่าเสียแต่เราก็ยังจงใจเชื่อว่านางนพมาศมีจริงและอยากจะเป็นเหมือนนางนพมาศบ้างอย่างน้อยปีละครั้ง มันถึงมีงานประกวดนางนพมาศทุกปีพร้อมกับงานลอยกระทง และเรื่องนางนพมาศ หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” (2360-2378) ก็แต่งขึ้นเพื่ออบรมขัดเกลาพฤติกรรม สอนหญิงให้ตระหนักถึงสถานะของการเป็นภรรยาที่จะต้องจงรักภักดีต่อสามีอย่างสุดแรง ด้วยประการฉะนี้ หญิงจะดีไม่ดีเขาวัดกันที่การปฏิบัติต่อผัวของนางเองนั่นแหละ

 

 

บรรดาตัวตนหญิงดีในเรื่องเล่าก็ล้วนแต่แต่งงานออกเรือนกันทั้งนั้น เพราะ “ความเป็นหญิง” ถูกผูกติดอยู่กับบทบาทแม่และเมีย ต่อให้ไม่ได้มีลูก ไม่ได้เป็นแม่คน อย่างน้อยมีผัวแล้วก็ยังดีเพราะ “สามีคือฉัตรแก้วกั้นเกศ งามหน้างามเนตรทุกเวลา” อย่าง ม.ร.ว.กีรติ แห่ง “ข้างหลังภาพ” (2479) ไง แต่งงานแล้วแต่ไม่มีลูก เพราะชียังรักษาความบริสุทธิ์เพื่ออุทิศพรหมจรรย์ให้ชายที่เธอรักอย่างถูกต้องทำนองคลองธรรม แต่ก็คอยปรนนิบัติพัดวีสามีแก่ขี้โรคทั้งที่ชีเองก็ไม่ได้พิศวาสอะไร คนเป็นภรรยาจึงเสมือนเป็นอีกสถานะหนึ่งที่ต่ำกว่าสามี เพราะคำว่า “สามี” แปลตามตัวอักษรได้ว่า ผู้เป็นใหญ่หรือเจ้าของ

 

 

ไม่เพียงหญิงโสดจะถูกปัดตกไปไม่นับอยู่ในกลุ่มหญิงในอุดมคติ ผู้หญิงที่มีสามีมากกว่าหนึ่งยิ่งถูกถีบออกไปให้ไกลห่างจากจินตนาการความเป็น “หญิงดีงาม” กลายเป็น “หญิงงามหน้า” เพราะสังคมชายเป็นใหญ่มันเต็มไปด้วยความสองมาตรฐานที่เอื้ออำนวยให้ผู้ชายทำอะไรได้ตามอำเภอใจมากกว่า ครอบครัวแบบไทยๆ ก่อนสมัยใหม่จึงเป็นผัวเดียวหลายเมีย (Polygamy) หนุ่มๆ สามารถมีภรรยาได้เป็นกระบุง ยิ่งมีมากยิ่งดูมีสง่าราศี เป็นที่ชื่นชม เพราะการแต่งงานแบบผัวเดียวหลายเมียเป็นวัฒนธรรมไทยก่อนสมัยใหม่ บรรดาชนชั้นปกครองก็มีแต่ผู้ชายทั้งนั้น จะประกาศบารมีก็ผ่านปริมาณเมีย ยิ่งสะสมเมียและสาวใช้ไว้มากยิ่งเชิดหน้าชูตา แสดงถึงความมั่งคั่งและความสามารถในการเลี้ยงดูบริวารไพร่พลได้เยอะ แต่ทันทีที่ผู้หญิงจะสะสมสามีบ้าง สร้างครอบครัวแบบเมียเดียวหลายผัว (Polyandry) กลับเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เป็นสตรีในตำนานเพราะชื่อของหล่อนกลายเป็นคำด่าไปเสียแล้ว

 

“อีกากี”, “อีวันทอง”!

 

พอได้ยินแล้วก็อดสะดุ้งไม่ได้ ชื่อของพวกนางได้รับการสถาปนาเป็นคำด่าในโลกภาษาไทยไปแล้ว ที่เอาเข้าจริงภาษาไทยมันก็มีคำประณามเพศหญิงโดยเฉพาะและมีอยู่เพียงเรื่องเดียว ซึ่งก็คือเรื่องเพศ “อีแดกแห้ง” ที่หมายถึงยังไม่ทันมีเมนส์ก็มีผัวเสียแล้ว “อีทิ้มขึ้น” คือเอาไว้เรียกประจานหญิงที่นอนอยู่สูงกว่าผัว หรือ “อีร้อยซ้อน” คือหญิงมีผัวแล้วยังมีผู้ชายอื่นอีกร้อยคน ซึ่งก็เป็นความหมายเดียวกับ “อีร้อยค-ย” เป็นการด่าประจานเพื่อควบคุมกำกับสถานภาพ เนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง เพศวิถี กามารมณ์ของพวกเธอ ให้อยู่ภายใต้กฎของผู้ชาย เพื่อสนองตอบความต้องการทางเพศของผู้ชายเท่านั้น พวกเธอจึงไม่ได้มีอวัยวะเพศ ความต้องการทางเพศเพื่อพวกเธอเอง หากแต่เพื่ออุทิศบำเรอให้แก่ผู้ชาย เหมือนกับนางวันทอง ตัวละครเอกในเรื่องเล่า “ขุนช้างขุนแผน” (สันนิษฐานว่าเริ่มบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อปี 2143 หลังจากแต่งขึ้นเป็นคำร้องจดจำสืบทอดกันมานาน) ที่เป็นสาวรูปงาม แต่ตกเป็นเหยื่อของเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง แย่งกันไปแย่งกันมา จนนางตกเป็นเมียของทั้งคู่ แต่เมื่อต้องตัดสินใจเลือกสักคน นางเองก็ไม่รู้จะไปอยู่กับใคร ขุนแผนก็รัก ขุนช้างก็เป็นห่วงเป็นใย ศาล (ซึ่งก็เป็นผู้ชาย) เกิดรำคาญสั่งประหารชีวิตให้สิ้นเรื่อง

 

 

ผู้หญิงในโลกวรรณกรรมวรรณคดีไทยไม่เพียงจงใจถูกเล่าให้เป็นตัวดีแสนประเสริฐ หากยังเป็นตัวร้ายร้อยซ้อนแถมยังถูกผู้ชายใช้อำนาจตัดสินใจแทนว่าจะให้เรื่องของเธอจบลงเช่นไร ตายไปพร้อมการผลัดแผ่นดินแบบแม่พลอย ตายไปพร้อมกับคำปลอบใจตัวเองแบบกีรติ หรือไม่ก็ถูกชี้ชะตาอย่างอำมหิตแบบวันทอง เอาไปฆ่าไปแกงง่ายๆ เหมือนผักปลาโดยเฉพาะเรื่องเล่าตัวตนของ “หญิงชั่ว” ที่พวกหล่อนมีลักษณะร่วมคือเป็นอีสวยอันตราย (Femme fatale) เพราะหล่อนไม่สยบยอมแต่ทะเยอทะยานพอที่จะรู้จักงัดคุณสมบัติศักยภาพที่เธอมี ซึ่งก็คือเสน่ห์เย้ายวนหลอกล่อพระเอก

 

นอกจากนี้ยังเสรีนิยมเรื่องเพศ ก้าวข้ามศีลธรรมรักนวลสงวนตัว ยั่วยิ้ม เปิดเผยเนื้อหนังมังสา ถ้าไม่ใช้ผัวเปลืองก็ชอบยุ่งกับผัวชาวบ้าน พวกเธอมักถูกเล่าให้เป็นดาวยั่วตัวอิจฉา คอยกลั่นแกล้ง “หญิงดี” ที่อาราธนาให้เป็นนางเอก ที่มัวแต่ก้มหน้าก้มตารับชะตากรรม เสียใจก็วิ่งไปนอนร้องไห้กอดหมอน  และในเรื่องเล่า หญิงชั่วตัวอิจฉาเหล่านี้ก็จบชีวิตลงแบบไม่สวย เป็นบ้า ถูกฆ่า ตายโหง ถูกทำให้เสียโฉม หรือจบชีวิตลงด้วยกามโรคเพื่อให้เป็นชาดกสอนใจหญิงว่าให้ข่มใจเรื่องเพศ ซึ่งมีให้เห็นทั้งละครก่อนข่าว หลังข่าว ตั้งแต่ “อีพริ้ง” จากคนเริงเมือง “นังมาหยารัศมี” ในดาวพระศุกร์ “อีลำยอง” จากทองเนื้อเก้า “นังเรยา” ในดอกส้มสีทอง ยันมหากาพย์ประวัติศาสตร์นิพนธ์ เช่น ท้าวศรีสุดาจันทร์ที่ฆ่าลูกฆ่าผัวซึ่งถือได้ว่านางโยนความเป็นเมียและแม่อันเป็นคุณสมบัติหญิงดีแล้วขยี้ทิ้ง มากไปกว่านั้นนางยังสถาปนาอำนาจตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระราชา ก่อนจะให้ชายชู้รักครองบัลลังก์ต่อไป กลายเป็นตัวละครคู่ตรงข้ามกับพระสุริโยทัยที่ยอมอุทิศกายออกรบช่วยชีวิตสามี ขี่ช้างสะอึกออกรับพระแสงของ้าวจนโดนฟันตายคาที่ ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องเล่าหนึ่งสำหรับ “หญิงดี” ในโลกที่ชายเป็นใหญ่แบบไทยๆ หญิงไทยดีๆ ในอุดมคติและหญิงเลวจึงถูกปรุงแต่งสรรค์สร้างและบอกเล่าแบบขั้วตรงข้าม เพื่อให้เป็นตัวอย่าง Dos and Don’ts ผ่านทั้งนิทาน ตำนาน วรรณคดี นวนิยาย แต่ไม่ยักกะมีในลักษณะเดียวกันกับชายไทย

 

 

มิหนำซ้ำเรื่องเล่าต่างๆ ยังถูกยกระดับให้เป็นสถาบัน ระเบียบวาระแห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาตินิยม ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ที่นวนิยายถูกทำเป็นละครทั้งโทรทัศน์ เวที และวิทยุ ที่กล่อมเกลาอุดมการณ์ราชาชาตินิยมผ่านชีวิต “แม่พลอย” ในฐานะแม่ เมีย และราษฎรชาวไทย เรื่องเล่าวีรสตรีไทยก็เช่นกัน เช่น เรื่องของ “โม” ภริยาของเจ้าเมืองโคราช แม้เธอจะไม่มีลูกเพราะสามีเป็นหมัน แต่ก็เป็นที่รักของใครๆ จนชาวโคราชเรียกเธอว่าแม่ และฝากลูกหลานให้เลี้ยงดูมากมาย ตำนานยังเล่าต่อไปว่าเธอได้สร้างวีรกรรมด้วยการจับดาบต่อสู้พุ่งรบปะทะกองทัพเวียงจันทน์จนได้รับชัยชนะ และได้รับการสถาปนาให้เป็น “ท้าวสุรนารี” จากราชสำนักกรุงเทพ วีรกรรมของเธอได้รับการเล่าขานเป็นตำนาน ก่อนจะถูกนิพนธ์เป็นประวัติศาสตร์ลายลักษณ์อักษรโดยราชการ และถูกสร้างเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรีคนแรกของประเทศ เริ่มการก่อสร้างในปี 2476 แล้วเสร็จในปีถัดมา

 

“ความเป็นหญิงดี” มันจึงไปอ้างอิงกับสถาบันครอบครัว การเป็นแม่และเมีย ช่วยเหลือและอยู่ใต้อาณัติผู้ชาย รวมไปถึงรักสถาบันชาติ ภักดีและอุทิศตนเองเพื่อชาติบ้านเมือง ซึ่งชาติและผู้ชายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เหมือนกับที่คำว่า “ปิตาธิปไตย” หรือ “Patriarchy” แปลตามตัวเลยก็คือระบอบการปกครองของพ่อ ภายใต้กฎของพ่อ เป็นชุดอธิบายรัฐในฐานะครอบครัวหรือบ้าน บ้านของพ่อ เป็นการปกครองรูปแบบพ่อปกครองลูก ทั้งๆ ที่เรื่องเล่าเหล่านี้เป็นเรื่องราวก่อนยุคสมัยใหม่ แต่ยังคงถูกนำมาเป็นบรรทัดฐานของผู้หญิงไทยในปัจจุบัน แม้ว่าบริบทสิ่งแวดล้อมในเรื่องเล่าจะเทียบเคียงอะไรไม่ได้เลยกับยุคที่เราจะมานั่งคุยถึงยุคหลังสมัยใหม่กันแล้ว เริ่มตั้งคำถามว่าเฟมินิสต์ตายแล้วหรือยัง หรืออะไรคือหลังสตรีนิยม

 

 

มิหนำซ้ำบรรดา “หญิงดี” ที่พาเหรดกันมาเป็น Role model ก็มาจากจินตนาการ เป็นสภาวะอุดมคติที่ปรากฏอยู่แต่ในเรื่องเล่า นิทาน ตำนาน ไปจนถึงวรรณคดีมากกว่าจะเป็นบุคคลจริงๆ เป็นมนุษย์ขี้เหม็น เพราะฉะนั้น ให้แม่ผู้หญิงดีทั้งหลายสิงสถิตอยู่แต่ในวรรณคดีไปนั่นแหละดีแล้ว ขอเป็นผู้หญิงทั่วๆ ไปที่เป็นตัวของตัวเอง นิยามตัวตนด้วยตัวของเราเอง ไม่ต้องไปให้ใครมานั่งนิยามเรา ยัด “ความดี” หรือ “ความเลว” ใส่ร่างดีกว่า - เกียรติภรณ์ ยอดนิล

 

WATCH