PFadhion LGBTQ+
FASHION

จาก 'หลบซ่อน' สู่ 'ลื่นไหล' ย้อนประวัติศาสตร์การบอกเล่าความหลากหลายทางเพศผ่านเสื้อผ้า

ในยุคที่ LGBTQ+ ยังถูกปิดประตูตาย “เสื้อผ้าอาภรณ์” คือคำตอบในการแสดงออกทางตัวตน

     ในโลกยุคปัจจุบันที่ความเข้าใจเกี่ยวกับ “อัตลักษณ์ทางเพศ” มีมากขึ้น ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “แฟชั่นและเพศ” นั้นเปลี่ยนแปลงไป ความเข้าใจที่ว่าผู้หญิงต้องคู่กับกระโปรง ผู้ชายต้องใส่กางเกง และสีอ่อนหวานนั้นถูกสงวนไว้ให้แค่สตรี อาจจะเป็นชุดความเข้าใจที่ล้าสมัยไปแล้ว แต่กว่าที่โลกจะหมุนจนมาถึงจุดที่ผู้คน “พอจะเข้าใจ” ความหลากหลายทางเพศนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเคยเป็นสิ่งต้องห้าม และเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามอย่างท้าทายจากผู้คนในสังคมอยู่เสมอ ครั้งนี้ “โว้ก ประเทศไทย” จะพาย้อนประวัติศาสตร์การแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย โดยใช้ “การแต่งกาย” มาเป็นเครื่องมือที่ส่งสัญญาณออกไปว่า LGBTQ+ ก็มีความเป็นคนเต็มคนเช่นเดียวกัน

     Oscar Wilde and Green Carnation

 Oscar Wilde and Green Carnation

     ในยุคทศวรรษที่ 1890 นอกจากจะไม่ใช่ยุคที่ผู้คนจะเปิดรับความหลากหลายทางเพศได้แล้ว ในยุคนั้นการแสดงตนเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็เข้าขั้นการกระทำที่ผิดฏหมายอีกด้วย นั่นจึงทำให้เกิดความขุ่นข้องใจให้กับ “Oscar Wilde” นักประพันธ์ชื่อดังชาวไอริช เจ้าของผลงานระดับขึ้นหิ้งอย่าง ‘The Picture of Dorian Gray’ ว่าเพราะเหตุใดความหลากหลายทางเพศจึงกลายเป็นสิ่งผิด เขาจึงได้เลือกประดับ “ดอกคาร์เนชั่นสีเขียว” เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความเป็นเกย์ สื่อถึงกลุ่มคน LGBTQ+ ในยุคนั้น อีกทั้งยังเป็นการก่อกบฏเล็กๆต่อสังคมผ่านเสื้อผ้า ซึ่งสัญลักษณ์ดอกคาร์เนชั่นเขียวนี้ ก็ยังถูกนักแสดงข้ามเพศ “Elliot Page” นำมาประดับบนอกเสื้อในงาน MET Gala เมื่อปี 2021 อีกด้วย

     Women and trousers

Women and trousers CHANEL

     แต่ไหนแต่ไรบนหน้าประวัติศาสตร์นับพันปี สตรีเพศมักจะต้องคู่กับอาภรณ์ที่เป็นกระโปรงเสมอ แต่ทว่าเกมแห่งแฟชั่นได้พลิกกลับในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หากจะปักหมุดให้แน่ชัดก็คงจะเป็นช่วงทศวรรษที่ 1920 เป็นต้นมา หลังจากสิ้นสุดภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดยุคข้าวยาก หมากแพง การผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภค และบริโภคก้มีทรัพยากรให้ใช้อย่างจำกัด ไม่ว่าใครก็จะต้องปรับตัวให้อยู่รอดในภาวะหลังสงครามเช่นนี้ ไม่เว้นแม้แต้การแต่งกายของผู้หญิงที่ต้องปรับเปลี่ยนจากการใช้ผ้าจำนวนมาก กระโปรงรัดเอวกิ่ว มาเป็นเสื้อผ้าที่คล่องตัวมากขึ้น ดังนั้นยุคนี้จึงเป็นยุคแรกที่ผู้หญิงหันมาสวมใส่กางเกง โดยการนำกระแสของดีไซน์เนอร์หัวขบถแห่งวงการอย่าง “Gabrielle Chanel” ที่หยิบกางเกงของผู้ชายมาสวมใส่ ไม่เพียงแค่นั้น เธอยังเลือกที่จะออกแบบเสื้อผ้าที่ช่วยให้ผู้หญิงสวมใส่สบาย ใช้ชีวิตได้คล่องตัวมากขึ้น และเลือกนำวัสดุอย่างผ้าเจอร์ซีย์ ที่นิยมใช้ทำชุดชั้นในผู้ชาย มาตัดเย็บให้เป็นเสื้อผ้าสำหรับสตรี ซึ่งการปฏิวัติวงการเสื้อผ้าสตรีครั้งนี้ ก็ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มหญิงรักหญิง ที่เริ่มใส่กางเกงกันมากขึ้น เพื่อเป็นสิ่งแสดงออกอัตลักษณ์ของพวกเขานั่นเอง

     Anti – Fashion Movement



WATCH




Vivienne Westwood

     “กระบวนการต่อต้านแฟชั่น” เป็นกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 ตอนปลาย ไปจนถึงประมาณยุค 1980 เมื่อแฟชั่นที่แสดงออกถึงความเป็นสตรีเริ่มกลับมาอีกครั้งพร้อมกับ ‘The New Look’ ที่ถูกสร้างสรรค์โดย Dior บรรทัดฐานการแต่งกายของผู้หญิงกลับมาถูกครอบงำด้วยกระโปรง โครงเสื้อผ้าที่รัดกิ่ว และความอ่อนช้อยอีกครั้ง จึงทำให้เกิดกระแสอารยะขัดขืนต่อแฟชั่นโดยคนกลุ่ม LGBTQ+ ที่ไม่อยากจะจำกัดตนเองไว้ตามกรอบมาตรฐาน อย่างเช่นการที่กลุ่มหญิงรักหญิงลุกขึ้นมาสวมใส่เสื้อผ้าสไตล์ rock and roll ในช่วงยุค 1950 หรือกระแสที่เด่นชัดที่สุดคือการแต่งตัวสไตล์ “Punk” ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ที่นำโดยดีไซน์เนอร์อย่าง “Vivienne Westwood” ที่นำเอาแฟชั่น และเซ็กส์เข้ามาผสานกันเป็นสไตล์อันน่าทึ่ง และพาเราทุกคนก้าวข้ามผ่านความเป็นเพศของเสื้อผ้า โดยที่เราไม่ต้องแคร์อีกต่อไปว่าเสื้อผ้าแบบนี้ จะสงวนไว้แค่เพียงเพศใดเพศหนึ่งที่จะใส่ได้ และอีกสไตล์สำคัญนั่นคือการแต่งกายของ Drag Queen ที่เริ่มมีสีสันจัดจ้านมากขึ้นในช่วงทศวรรษนี้เช่นเดียวกัน

     Ear Piercing

Lil Nas X

     แม้ว่าปัจจุบันการเจาะหูของผู้ชายจะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่หากย้อนไปในยุคทศวรรษที่ 1980 “การเจาะหู” โดยเฉพาะในผู้ชาย ถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความเป็นเกย์อย่างชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป้นการเจาะหูด้านขวา ก็ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ให้ทราบโดยทั่วกันว่าชายผู้ที่เจาะหูนั้นมีรสนิยมที่ชื่นชอบเพศเดียวกัน จนถึงขั้นมีคำกล่าวว่า “Left is right, right is wrong.” โดยคำกล่าวนี้เองก็แสดงให้เห็นว่าผู้คนในยุคนั้นยังไม่เปิดใจให้กว้างพอที่จะยอมรับความหลากหลายทางเพศได้

     Gender Fluidity

Harry Style Gender Fluidity

     ข้ามมาที่ยุคปัจจุบัน แนวคิด ความเข้าใจ และการโอบรับการมีอยู่ของ LGBTQ+ มีมากขึ้น และบรรทัดฐานเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่จำกัดความด้วยเพศนั้นแทบจะไม่มีใครให้ความสำคัญแล้ว จึงทำให้ “แฟชั่น” กลายเป็นเครื่องมือที่แสดงอิสรภาพทางการแสดงออกทางเพศมากขึ้น หรือแม้แต่ว่าคุณอาจจะไม่ได้เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ยังสามารถสนุกไปกับการเลือกเสื้อผ้าใดๆก็ตาม มาสร้างสรรค์ลุคของตนเองให้โดดเด่นได้ และแน่นอนว่าหากคุณอยู่ในกลุ่มสังคมที่เข้าใจ และมองโลกกว้าง คุณก็จะไม่ถูกตัดสินอย่างแน่นอนว่า “คุณคือเพศอะไร”

     ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ “ความหลากหลายทางเพศ” ได้รับการยอมรับอย่างจริงใจได้มากขึ้นในเชิงสังคม แต่ทั้งนี้จะน่ายินดีไปมากกว่า หากความหลากหลายทางเพศได้ถูกยอมรับในเชิงกฎหมายที่ในปัจจุบันยังติดอยู่ในกรอบนิยามเพศแบบสองเพศอยู่ หวังว่าในไม่ช้านี้ คุณค่าความเป็นคนไม่ว่าจะเพศอะไรจะถูกยอมรับอย่างเสมอหน้าว่ามีความเป็นคนเท่าเทียมกันในทุกมิติดังเช่นในมิติแฟ่งแฟชั่นอย่างทุกวันนี้

ภาพ : www.oscarwildetours.com, Vogue US, Vogue Business, Variety, CHANEL, BBC และ Pop Sugar

WATCH