FASHION
เจาะความอัจฉริยะของ Hubert de Givenchy กับการใช้เสื้อเชิ้ตเพียงตัวเดียวปฏิวัติวงการแฟชั่น!ย้อนรอยความสำเร็จในการปฏิวัติวงการแฟชั่นด้วยเสื้อเชิ้ตเพียงตัวเดียวของ Hubert de Givenchy |
เนื้อหาสำคัญ
- ประวัติช่วงวัยเด็กของ Hubert de Givenchy กว่าจะมาถึงจุดที่เรียกตัวเองว่าเป็นกูตูริเยร์
- พบกับ Bettina Graziani เทพธิดาคู่แบรนด์ Givenchy
- Bettina Blouse ชุดเสื้อเชิ้ตไอเดียสุดล้ำกับการมิกซ์แอนด์แมตช์ที่เปลี่ยนโลกแฟชั่นยุค '50s แบบฉับพลัน
- กลิ่นอายฝีมือที่ยังคงสืบทอดและหลงเหลืออยู่ในวงการแฟชั่นยุคปัจจุบัน
__________________________________________________________
ตลอดระยะเวลาทั้งชีวิตของดีไซเนอร์คนหนึ่งมักจะจะฝากผลงานให้กับโลกแห่งแฟชั่นในรูปแบบของตัวเองไว้อยู่เสมอไม่มากก็น้อย ตำนานอย่าง Karl Lagerfeld ที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่ทำให้คนย้อนนึกถึงไอคอนิกพีซชิ้นต่าง ๆ ทั้งจาก Chanel และ Fendi รวมถึงโชว์สุดอลังการที่ทำให้แฟน ๆ ตื่นตาตื่นใจได้ทุกครั้ง หรือจะเป็น Alexander McQueen ซึ่งฝากเรื่องราวอันน่าพิศวงและความขบถต่อวงการแฟชั่นให้เหมือนเป็นด้านมืดที่โดดเด่นของวงการ มาถึงวันนี้วันที่ 10 มีนาคม 2019 ครบรอบ 1 ปีการจากไปของอีกหนึ่งสุดยอดกูตูริเยร์ระดับตำนานอย่าง Hubert de Givenchy ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Givenchy แฟชั่นเฮาส์แสนยิ่งใหญ่กลางกรุงปารีส แฟชั่นที่ถูกนิยามว่า "แยกส่วน" ถือกำเนิดขึ้นและส่งต่อสิ่งนั้นมามากกว่า 60 ปี และถ้าจะขนานนามเขาสักฉายาสำหรับชุดที่เรากำลังจะพูดถึง "นักปฏิวัติแฟชั่นกลางยุคศตวรรษที่ 20" คงจะเหมาะสมที่สุด
Hubert de Givenchy ช่วงเป็นดีไซเนอร์หนุ่มไฟแรง / ภาพ: mptv
20 กุมภาพันธ์ 1927 ณ เมืองโบเวส์ ประเทศฝรั่งเศสมีเด็กน้อยคนหนึ่งลืมตาขึ้นมาดูโลกกลายมาเป็นสมาชิกในครอบครัวจีวองชี่ รากฐานต้นตระกูลมาจากเวนิสเมืองศิลปะที่รายรอบไปด้วยน้ำ ใครจะไปรู้ว่าเด็กน้อยที่เพิ่งคลอดหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ไม่นานนัก ในช่วงที่เศรษฐกิจสภาพบ้านเมืองไม่ได้เอื้อต่อการเป็นยุคเรเนซองส์ที่พร้อมให้คนมาฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ และพ่อเสียชีวิตไปตั้งแต่ 3 ขวบทำให้ต้องอยู่กับครอบครัวฝั่งแม่มาโดยตลอด แต่เหมือนกับพรสวรรค์จะชี้ทางให้อูแบร์ก้าวเท้าโดยไม่ต้องคิดไต่ตรองมากนัก เส้นทางทางความคิดเหมือนพุ่งตรงและกรอบให้เด็กคนนี้อยู่ในสายแฟชั่นและการออกแบบตั้งแต่แรก เพราะครอบครัวสอนให้เขารู้จักผูกพันกับเนื้อผ้าวัสดุมาโดยตลอด และพาเขาไปงานปาริเซียงแฟร์ทำให้เด็กหนุ่มมีโอกาสเห็นผลงานเสื้อผ้าจากห้องเสื้อชื่อดังทั้ง Chanel, Elsa Schiaparelli และอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน อูแบร์ค่อย ๆ ซึบซับความงามและเริ่มเอาความชอบผูกติดไว้จนกลายเป็นสิ่งที่นำพาเขามาสู่ความสำเร็จตลอดชีวิต
ซ้าย: Jacques Fath นักออกแบบที่ Hubert ฝึกงานด้วย - ขวา: ร้าน Givenchy แห่งแรกกลางกรุงปารีส / ภาพ: Jacques Rouchon และ Givenchy
"มันเป็นความฝันของฉันที่จะเป็นดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้า และคุณแม่ก็ตอบรับความตั้งใจของฉัน" การเปิดใจครั้งนี้ของผู้เป็นแม่ส่งให้ความรักในงานศิลปะแขนงนี้ของหนุ่มวัย 17 ต้องมุ่งหน้าสู่ปารีสเพื่อเข้าเรียนสถาบันศิลปะชื่อดังอย่าง École des Beaux-Arts และแค่ช่วงเวลาอันสั้นด้วยคอนเนกชั่นของครอบครัวอูแบร์ได้รับโอกาสได้ฝึกงานกับ Jacques Fath สุดยอดกูตูริเยร์อีกหนึ่งคนในยุคนั้น เด็กหนุ่มจอมขวนขวายสั่งสมประสบการณ์จากหลายที่สักพักหนึ่ง ในขณะที่บ้านเมืองเพิ่งผ่านพ้นสงครามไม่นาน อูแบร์ฝ่าฟันทุกอุปสรรคและคำว่า "ผู้ก่อตั้งแบรนด์" กลายมาเป็นคำอธิบายชื่อของเขา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 1952 นิตยสารไลฟ์รายงานมีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นกลางกรุงปารีส และนี่คือต้นกำเนิดของ "จีวองชี่" อย่างเป็นทางการ
WATCH
Bettina Graziani บุคคลผู้เปรียบดั่งนางฟ้าผู้โอบอุ้มแบรนด์ / ภาพ: Henry Clarke
Bettina Graziani คือตัวละครที่โผล่เข้ามาเรื่องราวชีวิตของอูแบร์ราวกับเป็นเทวดาคอยปกปักษ์ช่วยเหลือพระเอกในภาพยนตร์สักเรื่อง และหญิงสาวผู้นี้คือต้นเรื่องแห่งการปฏิวัติวงการแฟชั่นของอูแบร์อย่างแท้จริง บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังของจีวองชี่คนนี้เป็นทั้งพีอาร์ ผู้จัดการ ผู้ช่วย นางแบบ หรือเรียกรวม ๆ ว่า "เป็นทุกอย่างให้แบรนด์แล้ว" และที่สำคัญนี่คือจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ที่ทำให้อูแบร์ผลักดันชื่อตัวเองตั้งธงขึ้นบนถนนสายแฟชั่นในกรุงปารีสได้สำเร็จ แต่นั่นยังไม่พอเพราะความสุดยอดของเธอประกอบกับฝีมือและความมุ่งมั่นของอูแบร์หล่อหลอมคอลเล็กชั่นแรกออกมาเป็นผลงานชิ้นไอคอนิกทันที ไม่ว่าโลกจะผลัดเปลี่ยนเป็นยังไงก็ตามต้องบอกว่าคอลเล็กชั่นแรกของจีวองชี่คือหมุดตัวใหญ่ที่ต้องปักอยู่ในไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์แฟชั่นทุกเส้น
การทำงานร่วมกันระหว่าง Hubert และ Bettina กับการแมตช์ชุดง่าย ๆ และเรียบหรูตามสไตล์ Givenchy / ภาพ: hobby horse
"Bettina Graziani" ชื่อคอลเล็กชั่นที่อูแบร์ตั้งให้เกียรติกับเบตติน่าเทพธิดาคู่แบรนด์ที่ส่งเสริมชายหนุ่มให้มีแบรนด์ของตัวเองได้ในวัยเพียงแค่ 25 ปี ถือว่าเป็นช่างออกแบบที่อายุน้อยที่สุดและบทบาทอย่างมากในแวดวงขณะนั้น และด้วยเหตุผลด้านอายุ ทุนและรูปแบบความคิดใหม่ ๆ ความหรูหราของแฟชั่นเฮาส์ในปารีสโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวัสดุถูกลดทอนไปอย่างมากในคอลเล็กชั่นแรกของอูแบร์ เขาเลือกจะใช้วัสดุราคาถูกลงแต่มีลูกเล่นการตัดเย็บและออกแบบให้สดใหม่ขึ้นในช่วงที่แฟชั่นชั้นสูงของฝรั่งเศสมีภาพจำเป็นชุดเดรสที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหรูหรา ดั่ง New Look ของ Dior ที่สลัดภาพความแร้นแค้นจากพิษสงครามสู่ความอลังการของชุดที่ใช้เนื้อผ้าและเทคนิคละเอียดยิบ ซึ่งอูแบร์ฉีกเส้นทางตัวเองออกไปและสร้างเส้นทางของตัวเองขึ้นมาใหม่ด้วยความเรียบง่ายแต่สุดยอดของจีวองชี่แทน
แฟชั่นโชว์คอลเล็กชั่นแรกของ Givenchy ที่แสดงให้เห็นความเรียบง่ายของชุดแต่ชั้นเชิงที่เหนือชั้นในการออกแบบ / ภาพ: Glamourdaze
ความเรียบง่ายที่ว่าไม่ใช่แค่การดาวน์เกรดวัสดุเพียงอย่างเดียว เพราะอูแบร์เลือกที่จะเอาวิธีการที่คนยุคเรา ๆ เข้าใจกันได้ทั่วไปอย่างการมิกซ์แอนด์แมตช์มาใช้ในคอลเล็กชั่นยุคปี 1952 ลองคิดดูสิหากสาว ๆ เป็นผู้ดีเมืองน้ำหอมใส่ชุดเดรสมาตลอดชีวิตพร้อมค้นหาซิลูเอตใหม่ ๆ เทคนิคใหม่ ๆ มาพบกันเสื้อผ้าแยกส่วนเสื้อ กางเกง และกระโปรงที่สามารถผสมผสานลุคจาก 5 อาจจะกลายเป็น 10 หรือ 15 ได้โดยไม่ต้องเสาะหาชุดใหม่ทั้งชุดจะตื่นเต้นเพียงใด? นับเป็นปรากฏการณ์การปฏิวัติวงการแฟชั่นแห่งยุคเลยทีเดียว ในวันที่ไม่เคยมีอะไรเช่นนี้มาก่อนจะมีใครคิดไหมว่าชนชั้นสูงของยุโรปจะใส่กางเกงขายาวกับเสื้อเรียบ ๆ สักตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่ต้องแสดงฐานะตนเองว่าเป็นชนชั้นสูง ต้องสร้างความแตกต่างให้เห็นหลังจากบ้านเมืองพบกับมหาสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับกันเสื้อสีดำ สีขาว กระโปรงที่ดูเรียบง่ายแต่หรูหรา คัตติ้งเนี้ยบโดยไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าราคาสูงลิ่ว นี่คือการเปิดตัวของจีวองชี่ที่สั่นสะท้านแฟชั่นไปทั้งปารีส
Bettina Blouse ชุดเสื้อเชิ้ตที่เปลี่ยนแปลงโลกแฟชั่นแห่งยุค '50s / ภาพ: Givenchy
"Bettina Blouse" ชุดเสื้อรัฟเฟิลรูปใหม่ที่ยกระดับความน่าสนใจของคอลเล็กชั่นแรกขึ้นไปอีกด้วยกระดุมขนาดใหญ่ 3 เม็ดช่วงข้อแขน ความเรียบง่ายของการเล่นรูปทรงส่วนหน้าของเสื้อและใส่ใจกับความโค้งรวมถึงขนาดของปก แต่ไฮไลต์สำคัญคือการจับผ้าของช่วงแขนซ้อนกันเป็นเลเยอร์พลิ้วไหวเหมือนชายกระโปรง ทั้งหมดประกอบให้เบตติน่าเบลาส์กลายเป็นไอคอนิกไอเท็มที่เสื้อลักษณะนี้ไม่ว่ายุคไหนถูกเรียกแทนด้วยชื่อนี้หมด ถ้าเปรียบเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคนไทยเกือบทั้งประเทศมักจะเรียกทุกแบรนด์รวมกันว่า "มาม่า" อย่างไรอย่างนั้น นี่คือสิ่งที่อูแบร์สร้างสรรค์และกำหนดชุดความคิดทางแฟชั่นแบบใหม่ให้กับคนยุคนั้น ทางเลือกใหม่ถือกำเนิดขึ้นด้วยน้ำมือของเด็กหนุ่มวัยเพียง 25 ปีและเทพธิดาเบตติน่าซึ่งคอยเกื้อหนุนเขาอยู่เสมอ
ชุดเดรสฝีมือการออกแบบและตัดเย็บของ Hubert de Givenchy ที่ Audrey Hepburn สวมใส่ในเรื่อง Sabrina / ภาพ: Invalueable
แน่นอนว่าจีวองชี่ไม่ได้ละทิ้งเสน่ห์แห่งความเป็นปาริเซียงอันหรูหราทิ้งไป เพราะเสื้อผ้าในชุดเดรสเองก็ถูกเนรมิตขึ้นมาเช่นกัน โดยที่มีชุดราตรียาวสีขาวปักดีเทลด้วยสีดำที่ Audrey Hepburn สวมในภาพยนตร์เรื่อง Sabrina กลายเป็นหมุดแห่งแฟชั่นที่ไม่ว่าดีไซเนอร์มือใหม่หรือช่างจากแฟชั่นเฮาส์ชื่อดังต้องหันมาย้อนดูหมุดตัวนี้เพื่อนำไปพัฒนาชิ้นงานต่อไปเรื่อย ๆ ถึงแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 60 ปีแล้วเสื้อผ้าของจีวองชี่ในตอนนั้นยังคงส่งกลิ่นอายมาสู่แฟชั่นยุคปัจจุบัน
Hubert de Givenchy กูตูริเยร์หนุ่มผู้เป็นที่ีรักของทุก ๆ คนและรังสรรค์ผลงานเปลี่ยนโลกตั้งแต่คอลเล็กชั่นแรก / ภาพ: WSIS 10
สุดยอดนักออกแบบคนนี้แสดงให้เห็นว่าฝีมือสำคัญกว่าวัสดุ รูปแบบวัสดุเสื้อเชิ้ตง่าย ๆ สามารถถูกเนรมิตเป็นผลงานระดับตำนานที่ไม่มีทางถูกลืมเลือนได้ ความใส่ใจในการเลือกสรรและให้ความสำคัญในความสอดคล้องของรูปแบบชุดกับสถานที่รวมถึงลักษณะกิจกรรม วันนี้เมื่อปีที่แล้วอูแบร์เสียชีวิตลงด้วยวัย 91 ปี ปิดตำนานลมหายใจกูตูริเยร์เจ้าของการพลิกโฉมไฮแฟชั่นของเมืองหลวงแห่งนี้ เราขอรำลึกถึงฝีมือ เรื่องราว และมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมที่สาวกแฟชั่นได้เสพย์กันอยู่จนถึงปัจจุบัน และเบตติน่านางฟ้าคู่ใจของแบรนด์จีวองชี่ก็เพิ่งผ่านวันครบรอบ 4 ปีการเสียชีวิตไปเมื่อ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งคู่คงกำลังมีความสุขกับการเฝ้ามองวงการศิลปะแขนงที่พวกเขารักลงมาจากสรวงสวรรค์ ทั้ง 2 คนโดยเฉพาะอูแบร์คงแอบยิ้มและดีใจที่แบรนด์ยังถูกสานต่อและเป็นชื่อระดับท็อปของวงการ ที่สำคัญสิ่งที่เขามุมานะทำมาตลอดชีวิตยังคงวนเวียนเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกรุ่นอยู่เสมอ เขาคือ "อูแบร์ เดอ จีวองชี่"
ข้อมูล: WWD, Business of Fashion, The Independent UK, wikipedia, Biography.com, Britannica.com และ The Sydney Morning herald
WATCH