FASHION

เจาะลึก! การหมั้นหมายของเจ้าชายแฮร์รี่สอนอะไรกับเรา?

3 บทเรียนสำคัญที่เราได้จากการการประการหมั้นของเจ้าชายแฮร์รี่ โดยสธน ตันตราภรณ์ รองบรรณาธิการโว้กประเทศไทย

สำนักพระราชวังในสหราชอาณาจักรได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วในช่วงเช้าของวันที่ 27 พฤศจิกายนตามเวลาในประเทศอังกฤษว่า เจ้าชายแฮร์รี่แห่งเวลส์ทรงหมั้นหมายกับ เมแกน มาร์เคิล นักแสดงสาวชาวอเมริกัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้ทรงวางแผนตระเตรียมพระราชพิธีภิเษกสมรสซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้านี้ โดยทรงได้ปรึกษาหารือกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และสมาชิกราชวงศ์ของพระองค์ ตลอดจนพ่อแม่ของเมแกนแล้ว 

 

การหมั้นหมายดังกล่าวนี้เป็นไปตามข่าวลือที่แพร่สะบัดไปทั่วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่าเจ้าชายทรงขอหมั้นว่าที่เจ้าสาวของพระองค์ในกรุงลอนดอน จนเป็นเหตุให้นิตยสารและช่องข่าวมากมายพากันประโคมข่าวอย่างคึกคัก อย่างไรก็ตาม ประเด็นข่าวร้อนนี้กระเทือนถึงความเป็นไปในแง่สังคมโลกยุคใหม่อย่างไรบ้าง โว้กประเทศไทยมีคำตอบ 

 

บทเรียนที่ 1 : ความจริงค้นพบได้ที่บ่อนแทงพนัน 

 

หน้าตาของเว็บไซต์ William Hill บ่อนพนันออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของอังกฤษกำลังเปิดแทงพนันเรื่องชื่อ เพศ และวันเกิดทายาทคนที่ 3 ของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคท

 

ก่อนหน้านี้บ่อนการพนันยักษ์ใหญ่อย่าง William Hill ทั่วกรุงลอนดอนได้ประกาศเดิมพันว่าด้วยการที่สำนักพระราชวังวางแผนประกาศหมั้นเพื่อตระเตรียมพระราชพิธีอภิเษกสมรสที่กำลังจะมาถึง โดยตัดเดิมพันลงอย่างฮวบฮาบเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันกลับเปลี่ยนไปโฟกัสยังเดิมพันรูปแบบใหม่ที่อิงกับรายละเอียดของพระราชพิธีแทน อาทิ สถานที่ใดจะได้รับเลือกให้ใช้จัดพระราชพิธี (มหาวิหารเซนต์ปอล 1 ต่อ 1, โบถส์เวสต์มินสเตอร์ 2 ต่อ 1, และพระราชวังวินด์เซอร์ 6 ต่อ 1) เรื่อยไปจนถึงเดิมพันประหลาดว่าเจ้าชายวัย 33 ปีจะทรงโกนเคราหรือไม่ในวันสำคัญของพระองค์ 

 

ปรากฏการณ์ในแวดวงการพนันนี้สะท้อนให้เห็นว่าข่าววงในของบ่อนการพนันมีความน่าเชื่อถืออย่างถึงขีดสุด และผู้คนที่เฝ้าจับตารอฟังข่าวสามารถใช้เป็นมาตรวัด “ความน่าจะเป็น” ได้ดียิ่งกว่าแหล่งข่าวอื่นใด 

 

บทเรียนที่ 2 : สังคมอังกฤษยุคใหม่เปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องหญิงอเมริกันแล้ว

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดแห่งเวลส์ และนางวอลลิส ซิมป์สัน คู่รักต้นแบบความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกราชวงศ์อังกฤษกับสาวสามัญชนที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวในปี ค.ศ. 1934 / ภาพ: GETTY

 

ย้อนรอยกลับไปยังปี ค.ศ. 1934 ราชวงศ์และชาวอังกฤษต่างตื่นตระหนกอย่างยาวนานและต่อเนื่องกับความสัมพันธ์ของเจ้าชายขวัญใจของพวกเขากับหญิงม่ายชาวอเมริกัน จริงอยู่ที่การคบชู้ของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดซึ่งมียศเป็นถึงมกุฎราชกุมารกับนางวอลลิส ซิมป์สัน ซึ่งในขณะนั้นมีสามีเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้วจะอื้อฉาวในแง่ความผิดบาปต่อแนวคิดการสร้างครอบครัวในคริสต์ศาสนาซึ่งราชวงศ์อังกฤษยึดถืออยู่อย่างเข้มงวด หากตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และสังคม สิ่งที่ประชาชนชาวอังกฤษเกลียดชังประเด็นดังกล่าวมากที่สุดกลับอยู่กับการที่พวกเขาอาจกำลังสูญเสีย “ความเป็นอังกฤษ” ให้กับ “ชาวอเมริกัน” ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อการเมืองไม่ยินยอมให้กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดในเวลาต่อมาสามารถอภิเษกกับหญิงคนรักของพระองค์จนเป็นเหตุให้ต้องสละบัลลังก์และราชสมบัติในอีก 2 ปีถัดมา ผู้ที่โดนสาดเสียเทเสียอย่างไร้เยื่อใยคือวอลลิสและประเทศบ้านเกิดของเธอ

 

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษกำลังฉายภาพซ้ำเดิมเมื่อเมแกนได้ชื่อว่าเป็นหญิงอเมริกันซึ่งเคยสมรสมาแล้วก่อนหน้านี้กับโปรดิวเซอร์หนุ่ม เทรเวอร์ เองเกิลสัน ก่อนหย่าร้างกันภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี หากในครั้งนี้ความอื้อฉาวกลับอ่อนเบาลงอย่างเห็นได้ชัดในโลกยุคโลกาภิวัฒน์และมิลเลนเนียม ซึ่งราชวงศ์อังกฤษที่เปรียบได้กับองค์กรผู้จำต้องแสวงหาความนิยมจากราษฎรเพื่อความอยู่รอดเป็นหลักเลือกเขยิบเข้าใกล้แนวคิดของชีวิตปุถุชนคนธรรมดามากกว่าเคย

 

 

พระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ กับเคท มิดเดิลตัน เมื่อปี 2011 / ภาพ: อินสตาแกรม @Kensingtonroyal

 

แม้ราชวงศ์จะเคยต้อนรับ (และเป็นประจักษ์พยานต่อการเลิกร้างของ) ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในตระกูลกับสามัญชนมาแล้วหลายครั้ง เราควรยกเครดิตให้กับการเลือกคู่ครองของเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ กับหญิงสามัญซึ่งชาวอังกฤษเองก็แลดูจะเห็นดีเห็นงามไปเสียหมดในยุคที่ความรักมีอำนาจเหนือจารีตประเพณี ก่อนเบิกทางให้ “ขั้นกว่า” ที่เดินทางมาถึงในคราบอเมริกันของเมแกนให้ได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ ในรอบนี้ และแน่นอนว่าความดีความชอบกึ่งหนึ่งควรตกเป็นของกลไกทางการเมืองที่เรียกว่า Special Relationship ระหว่างอังกฤษกับอเมริกา ซึ่งค่อยๆ เริ่มสานความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 ในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล

 

หากคุณไม่เห็นด้วยในข้อนี้ ลองคิดกันเล่นๆ สิว่าถ้าเมแกนเป็นสตรีชาวเยอรมัน เทพนิยายบทที่ 2 นี้จะเกิดขึ้นได้ไหม 

 

บทเรียนที่ 3 : เจ้าหญิงไดอาน่าทรงสมพระทัย

เจ้าหญิงไดอาน่าแห่งเวลส์ และลูกชายทั้งสอง "เจ้าชายวิลเลียม" และ "เจ้าชายแฮร์รี่" ขณะทรงเปียโนในพระราชวังเคนซิงตันเมื่อปี 1985 / ภาพ: GETTY

 

อดีตเจ้าหญิงแห่งเวลส์ผู้ล่วงลับเคยประทานสัมภาษณ์ไว้อย่างชัดเจนว่าความคาดหวังอันยิ่งใหญ่ของพระองค์คือ การประสงค์ให้เจ้าชายทั้ง 2 ทรงมีโอกาสได้อภิเษกกับหญิงที่ทั้งคู่ทรงรัก และเมื่อพิจารณาให้ดี เราอาจกล่าวได้ว่าเจ้าหญิงไดอาน่าทรงเฉลียวฉลาดเป็นที่สุดในการ “เลือกขอ” และ “โยนหินถามทาง” ในประเด็นอ่อนไหวดังกล่าวกับประชาชนชาวอังกฤษในวันที่ทั่วทั้งประเทศพากันหลงรักและเอาใจช่วยพระองค์ โดยไม่ลืมสุมเชื้อไฟผ่านความพินาศของชีวิตรักของพระองค์เองกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในขณะนั้น ซึ่งหลายฝ่ายลงความเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นความผิดของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ทรงเคร่งครัดเกินไปกับกฎมณเฑียรบาลและความรัก


WATCH