FASHION

'Halston' ดีไซเนอร์ที่เคยรุ่งสุดขีด แต่กลับโดนแบนจากแบรนด์ตัวเองและเสียชีวิตอย่างน่าสงสาร

ภาพ: SAUER Jean-Claude/Paris Match Archive/Paris Match

     เรื่องราวประวัติชีวิตคนมีขึ้นมีลง หากเปรียบชีวิตมนุษย์เหมือนหนังสือเล่มหนึ่งแต่ละคนจะมีเรื่องราวในแต่ละหน้าแต่ละตอนไม่เหมือนกัน ความสั้นยาวของชีวิตก็เช่นกัน วันนี้เรื่องราวของอีกหนึ่งสุดยอดดีไซเนอร์ของฝั่งอเมริกาจะถูกเล่าขานอีกครั้ง เขาอาจจะไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่คุ้นหูคนไทยมากนัก แต่กราฟชีวิตของเขาทำให้เราไม่พลาดการนำเสนอเรื่องนี้ไปไม่ได้จริงๆ ความรุ่งเรื่องและดิ่งเหวแบบสุดขีด การตัดสินใจครั้งสำคัญที่กลายเป็นจุดประกายของกระแสแฟชั่นยุคปัจจุบัน แบรนด์เสื้อผ้าที่ขึ้นชื่อว่ายอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลแบรนด์หนึ่งของอเมริกา แต่เชื่อไหมว่าบั้นปลายชีวิตผู้ก่อตั้งต้องฝ่าฟันอุปสรรคด้วยความยากลำบากอย่างไม่น่าเชื่อ...

Roy Halston Frowick สมัยหนุ่มๆ / ภาพ: The Fashion Model Directory

     Roy Halston Frowick คือบุคคลที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ ย้อนกลับไปวันที่ 23 เมษายน ปี 1932 ณ เมืองเดมอยส์ รัฐไอโอวา ประเทศสหรัฐอเมริกา มีเด็กน้อยคนหนึ่งลืมตาดูโลกในครอบครัวพ่อนักบัญชีลูกครึ่งนอร์เวย์และแม่บ้านชาวอเมริกัน เขาซึบซับการเย็บปักเสื้อผ้ามาตั้งแต่เด็กจากคุณยายและเริ่มพัฒนาฝีมือทำหมวกรวมถึงเสื้อผ้าบางชิ้นให้แม่และพี่สาวตั้งแต่วัยเยาว์ ก่อนจะย้ายจากบ้านเกิดไปอินดียนาเพื่อศึกษาภาคบังคับก่อนเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอินเดียนาและย้ายไปสถาบันศิลปะชิคาโก วัยเด็กของเขาถูกเติมเต็มด้วยรากฐานศิลปะการทำเสื้อผ้ามาตั้งแต่ต้น ความหนักแน่นเรื่องนี้ทำเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขาสุดยอดในเวลาต่อมา

Lilly Daché ช่างทำภาพชื่อดังในสมัยนั้น / ภาพ: HATalk

     ด้วยพรสวรรค์และความตั้งใจเขาตัดสินใจเริ่มธุรกิจหมวกในปี 1953 เพื่อเริ่มเส้นทางในสายแฟชั่นและโชคดีเหลือเกินที่ชื่อของ Fran Allison นักแสดงและตลกอยู่ในลิสต์ชื่อลูกค้ากลุ่มแรก ก่อนที่ชื่อเสียงจะโด่งดังอย่างรวดเร็วจากการบอกต่อ ผู้มีชื่อเสียงหลายคนต้องมาซื้อหมวกจากร้านของรอยที่ชิคาโก และแล้วเขาก็เปิดร้านอย่างเป็นทางการร้านแรกในปี 1957 และเริ่มใช้ชื่อ “Halston” เป็นชื่อหลักของตัวเขาและแบรนด์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้นก็ย้ายสู่มหานครนิวยอร์กเพื่อไต่ระดับความยิ่งใหญ่ เริ่มด้วยการทำงานกับ Lilly Daché ช่างทำหมวกชื่อดัง ต่อมากระแสการสวมหมวกเริ่มเสื่อมความนิยมลงเขาก็ไม่รอช้าเปลี่ยนสายหยิบทักษะการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับสุภาพสตรีมาใช้ต่อสายงานของตัวเองทันที และแล้วร้านเสื้อผ้าในชีวิตเขาก็เปิดขึ้นในย่านเมดิสันในปี 1968 ด้วยชื่อเสียงจากการทำหมวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวก “Pillbox” ของ Jackie Kennedy และแววพรสวรรค์อันเปล่งประกายทำให้มีสุภาพสตรีมากมายหมายตาชุดของแบรนด์ฮัลสตัน



WATCH




แคมเปญชุดดิสโก้สุดโมเดิร์นในยุคนั้นของแบรนด์ Halston / ภาพ: Linda Simpson

     เมื่อรอยไม่แค่ออกแบบเสื้อผ้าแต่ออกแบบความสร้างสรรค์ ช่วงปลายยุค ‘60s ต่อยุค ‘70s กฎระเบียบการแต่งกายเริ่มคลายลงนำมาสู่ความหลากหลายมากยิ่งขึ้น (ยุคเริ่มต้นของฮิปปี้) เป็นโอกาสทองของดีไซเนอร์หนุ่มที่จะรังสรรค์ชิ้นงานที่แสดงตัวตนของคนยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังความสนุกสนานในยุคดิสโก้ เขาสร้างอิสระให้ผู้หญิงยุคใหม่ผ่านแฟชั่น ก็จริงที่เขาไม่ได้สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคหรือวัสดุสุดหวือหวา แต่รอยสร้างความหวือหวาด้วยความเรียบง่ายสะดวกสบายแต่ยังคงมีเสน่ห์ในเวลาเดียวกัน ผู้หญิงต้องการความงดงามทางร่างกายแบบใหม่ๆ ไม่ใช่ร่างกายที่ถูกทรมานโดยคอร์เซตหรือโครงสร้างเสื้อผ้าแบบที่แฟชั่นกูตูร์ในยุโรปช่วงยุค ‘60s รอยตอบโจทย์สิ่งนี้ ผู้คนอยากจะดูสวยและสบายไปพร้อมๆ กัน Frédéric Tcheng ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี “Halston” กล่าวถึงความยอดเยี่ยมเรื่องแนวคิดของรอยในการออกแบบเสื้อผ้า

ตัวอย่างกางเกงของ Halston ที่ดูเท่นำสมัยและกลายเป็นอมตะจนถึงปัจจุบัน / ภาพ: Etsy

     กางเกงสามารถทำให้ผู้หญิงมีอิสระในการขยับเขยื้อนอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน ต่อไปนี้พวกเขาก็ไม่ต้องกังวลกับเก้าอี้เตี้ยๆ หรือการขึ้นรถสปอร์ต กางเกงจะอยู่กับโลกแฟชั่นไปอีกนานเชียวล่ะ ข้อความจากรอยแสดงให้เห็นจุดยืนว่าเขาให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากแค่ไหน และเขายังไม่ชื่นชอบการเพิ่มความเซ็กซี่ให้ผู้หญิงด้วยเนื้อผ้าหรือการฝืนเพื่อโชว์เรือนร่าง แต่เขาเชื่อว่าผู้หญิงจะสวยด้วยการนำเสนอรูปร่างเพราะฉะนั้นเสื้อผ้าของเขาถูกออกแบบมาเพื่อสอดรับกับรูปร่างของผู้หญิงแบบเป็นธรรมชาติของแต่ละคนอย่างแท้จริง และสิ่งนี้นำไปสู่ความยอดฮิตของแบรนด์ในเวลาต่อมา

Liza Minnelli เพื่อนสนิทของ Halston ใน The Battle of Versailles Fashion Show ปี 1973 / ภาพ: versailles73movie.com

     ช่วงต้นค่อนกลางเขาสร้างชื่ออีกครั้งด้วยการเป็นสมาชิกทีมดีไซเนอร์ฝั่งอเมริกาในแฟชั่นโชว์สุดยิ่งใหญ่ “The Battle of Versailles” ในปี 1973 ซึ่งเป็นการประชันฝีมือกันของดีไซเนอร์ดังฝั่งยุโรปไม่ว่าจะเป็น Yves Saint Laurent, Christian Dior และอีกมากมายกับฝั่งอเมริกาทั้งตัวรอยเองและเพื่อนดีไซเนอร์อย่างเช่น Anne Klein และ Oscar de la Renta ความสุดยอดนี้ถูกบันทึกไว้เป็นอีกหน้าหนึ่งเรื่องความสุดยอดของรอย

The Gang of Four at Studio 54 (เรียงจากซ้ายไปขวา: Liza Minnelli, Andy Warhol, Bianca Jagger และ Halston) / ภาพ: Christopher Makos

     พอมาถึงช่วงกลางถึงปลายยุค ‘70s เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นยุคแห่งพลังของคนยุคใหม่การร้องรำเพลง การเต้นดิสโก้ และอื่นๆ อีกมากมายเปรี้ยงปร้างในยุคนี้ และอย่างที่รู้กันดีว่าแฟชั่นมักสอดคล้องไปเทรนด์ศิลปะความบันเทิงอยู่เสมอ รอยกลายเป็นดีไซเนอร์มือวางอันดับ 1 ที่ผู้มีชื่อเสียงหลายต่อหลายคนต้องมาตัดและซื้อชุดทั้งในส่วนของการสั่งตัดและเรดี้ทูแวร์ ปาร์ตี้ที่ Studio 54 อันโด่งดังเต็มไปด้วยชุดฝีมือรอย เหล่าแขกระดับเอลิสต์ของที่นี่ต้องมีเสื้อผ้าของรอยเพื่อใส่มาอวดโฉมความงามกันที่นี่ เสื้อผ้าที่ทั้งสวมสบายเหมาะสำหรับปาร์ตี้ เรียบเนียนหมดจด หลายชุดใส่ได้โดยไม่ต้องสวมบราด้านใน สามารถเผยผิวอวดเรือนร่างในปาร์ตี้ได้อย่างเพอร์เฟกต์ นี่คงจะเป็นยุคทองของรอยเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะเป็น Elizabeth Taylor, Bianca Jagger, Liza Minnelli, Babe Paley และเซเลบริตี้แถวหน้าอีกหลายคนล้วนเป็นลูกค้าของห้องเสื้อแห่งนี้ทั้งสิ้น ด้วยไอเดียพุ่งกระฉูดเรื่องการออกแบบและเงินทุนแทบไม่จำกัดเพราะ Norton Simon ซื้อไลน์กิจการไปในปี 1973 ยิ่งทำให้รอยคือพระเจ้าด้านแฟชั่นของฝั่งอเมริกาในยุคนั้นเลยทีเดียว

บรรยากาศความสนุกที่ Studio 54 ขณะ Bianca กำลังป้อนเค้กวันเกิดตัวเองให้กับสามี Mick Jagger โดยชายผู้ร่วมกลางเฟรมภาพนี้คือ Halston นั่นเอง / ภาพ: Richard Corkery/NY Daily News Archive

     เคยมีคนเตือนรอยว่า คุณต้องเข้าใจก่อนนะว่าคุณไม่สามารถเป็นอย่างอื่นได้นอกเสียจากหมาพุดเดิ้ลกระโดดลอดห่วงของเหล่าคนรวย แต่เขาก็พิสูจน์ว่ามันไม่จริง เขาไม่ใช่แค่ข้ารับใช้คนรวย แต่เขายังร่วมในสังคมปาร์ตี้ของสังคมระดับนี้ได้อย่างมีหน้ามีตา ได้เห็นชุดเสื้อกึ่งเดรส “Ultra-Suede” ราคากว่า 200 เหรียญ (มูลค่าปัจจุบัน 1,100 เหรียญหรือประมาณเกือบ 40,000 บาท) โลดแล่นไปทั่วคลับ และดีไซเนอร์หนุ่มคนนี้ก็ไม่ได้พัฒนาแค่สถานะทางสังคมแต่ยังขยายธุรกิจสู่เสื้อผ้าผู้ชาย กระเป๋าถือ กระเป๋าเดินทาง และอื่นๆ นับไม่ถ้วน นอกจากนี้ยังออกแบบชุดยูนิฟอร์มให้บริษัทดังทั้ง Avis สายการบิน Braniff Airways รวมถึงชุดนักกีฬาโอลิมปิกปี 1976 ของทีมชาติสหรัฐฯ ด้วย จากช่างทำหมวกก้าวมาถึงระดับดีไซเนอร์แถวหน้า เขาทำให้เราย้อนนึกถึงบุคคลระดับตำนานอย่าง Coco Chanel และ Jeanne Lanvin อย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว

โปสเตอร์ Halston III โดย J.C. Penney ซึ่งโปรโมตขายชุดราคาเริ่มต้นเพียง 26 เหรียญซึ่งถือว่าถูกมาสำหรับชื่อแบรนด์ Halston ทำให้กลายเป็นพลิกผันกราฟชีวิตอย่างแท้จริง / ภาพ: Jeanne O'Heron

     แต่แล้วหนังสือชีวิตของรอยก็ไม่ได้งดงามไปเสียทุกหน้า ความจริงเขาหลงลืมรากเหง้าตัวเองไปแล้ว “อดีตไม่ได้น่าสนใจสำหรับฉันเท่าไหร่หรอก” เขาเคยกล่าวประโยคนี้เมื่อมีคนถามถึง แต่ความโหดร้ายแท้จริงคือการเซ็นสัญญาครั้งสำคัญระยะเวลา 6 ปีกับ J.C. Penney มูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญในปี 1983 โดยใช้ชื่อ “Halston III” ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มากที่ดีไซเนอร์ระดับไฮเอนด์เซ็นสัญญากับห้างหรือแบรนด์ระดับกลาง และแล้วเขาก็เสียความเชื่อมั่นในทันที ลูกค้าแถวหน้ามองว่าการทำเช่นนี้เหมือนลดคุณค่าของแบรนด์ให้ถูกลงมากๆ มันไม่ใช่ผลงานของรอยในแบบที่กลุ่มลูกค้าชั้นนำปรารถนา พวกเขาปันใจให้แบรนด์ไฮเอนด์อื่นทันที และในขณะเดียวกัน “Halston Limited” อีกไลน์ของแบรนด์ที่อยู่ภายใต้อีกสัญญาหนึ่งถูกปล่อยออกมาในห้างสรรพสินค้า Bergdorf Goodman ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่รอยประกาศเปิดตัวไลน์ใหม่กับเจ.ซี.เพนนีย์ จุดนี้รอยพังไม่เป็นท่า “Halston III” ไม่ได้รับความนิยมเลยและต้องล้มเลิกไปในที่สุด “หลังจากการตัดสินใจครั้งนั้นมันเป็นนรก...เขารู้แล้วว่าเขาพลาดมหันต์” Don Friese ผู้รำลึกเสมอว่า “ออเดอร์สั่งตัดคือคือสิ่งที่ทำให้ไฮแฟชั่นแตกต่างจากแบรนด์ทั่วไป” กล่าวถึงรอย แต่การเปิดโลกครั้งนี้ของรอยก็ปูทางการแนวธุรกิจการจับมือร่วมกับห้างหรือแบรนด์ระดับต่างๆ เพื่อขายในราคาที่หลากหลายขึ้น (แต่มีวิธีการโปรโมตและชั้นเชิงมากกว่าเดิม)

ช่วงเวลาอันงดงามท่ี่ถูกคุณรักปราถนา Halston ดั่งภาพนี้ค่อยๆ จางหายไป / ภาพ: Don Hogan Charles/The New York Times

     ในปี 1983 ปีเดียวกับวิกฤติ “Halston III” เหมือนเคราะห์ซ้ำกำซัดรอยเริ่มสูญเสียการควบคุมในธุรกิจ “Halston Limited” ที่บริษัทใหญ่ที่รอยเซ็นสัญญาไปก่อนหน้านี้ครองกรรมสิทธิ์อยู่ รอยเริ่มหงุดหงิดมาก เขาสูญเสียอำนาจในแบรนด์ของตัวเองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 1984 เขาโดนแบนไม่ให้ออกแบบเสื้อผ้าให้แบรนด์ตัวเอง! เขาต้องการซื้อแบรนด์ของเขากลับมา และแล้วในปี 1986 เขาก็ทำได้แต่เป็นการหนุนหลังจาก Revlon ดีไซเนอร์ขาลงได้รับค่าจ้างจากบริษัทแม่แต่เขาไม่ได้ออกแบบเสื้อผ้าให้บริษัทอีกต่อไปแล้ว เขาออกแบบให้เฉพาะเพื่อนๆ และครอบครัวเท่านั้น แต่เขาก็ยังมีส่วนร่วมในเรื่องการบริหารและเสนอแนวคิดในฮัลสตันที่เขารักอยู่ ถึงจุดนี้กราฟชีวิตเขาก็ยังไม่หยุดดิ่งลง ปี 1988 เขาตรวจพบว่าเป็นโรคเอดส์ พออาการเริ่มแย่ลงเขาย้ายไปอยู่ซานฟรานซิสโกเพื่อรักษาตัว ชีวิตเฮือกสุดท้าย...สัญญากับเรฟลอนหมดลง เขายังคงรักและต้องการเจรจาเพื่อมีส่วนสำคัญในแบรนด์ชื่อฮัลสตันต่อไป แต่ความตั้งใจทั้งหมดต้องล้มเลิกลงเมื่อเขารู้ว่าเรฟลอนไม่ต้องการผู้ก่อตั้งแบรนด์คนนี้อีกต่อไป

ไม่มีอีกแล้วหนุ่มมาดเท่ผู้สร้างปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมเมื่อ 50 ปีก่อน Roy Halston Frowick / ภาพ: VOXSartoria

     แบรนด์ฮัลสตันผ่านมือดีไซเนอร์มาหลายคนจนกระทั่งปี 1990 ไลน์เสื้อผ้าถูกยกเลิกโดยบริษัทแม่เหลือเพียงไลน์น้ำหอม แบรนด์สุดยิ่งใหญ่ของอเมริกาจบลงพร้อมๆ กับชีวิตของผู้ก่อตั้ง วันที่ 26 มีนาคม 1990 รอยเสียชีวิตจากอาการโรคมะเร็งคาโปซีและการป่วยเรื้อรังจากเชื้อเอชไอวีที่ Pacific Presbyterian Medical Center ในเมืองซานฟรานซิสโก หลังจากเขาเสียชีวิตลงบริษัทที่ปลุกปั้นสร้างมากับมือเปลี่ยนเจ้าของและดีไซเนอร์ไปหลายต่อหลายครั้ง โดยเจ้าของที่เป็นข่าวดังที่สุดคือผู้ก่อตั้งแบรนด์ Jimmy Choo อย่าง Tamara Mellon จับมือกับ Rachel Zoe และ Harvey Weinstein  ซื้อชื่อนี้กลับมาทำอีกครั้งในปี 2006 และจ้าง Marco Zanini อดีตดีไซเนอร์ของ Versace มาคุมทัพออกแบบในปี 2007 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นแบรนด์เปลี่ยนเจ้าของและดีไซเนอร์เรื่อยมา ตอนนี้ชื่อฮัลสตันกลายเป็นแบรนด์ธรรมดาทั่วไปในสายตาคนอเมริกันและชื่อนี้ก็สูญหายจากสารบบแฟชั่นโลกมาสักพักแล้วเหมือนกัน ถึงแม้แบรนด์ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันแต่มนต์เสน่ห์ของมันได้หายตายจากไปพร้อมกับผู้ก่อตั้ง เราหวังว่าทุกคนจะนึกถึงสุดยอดดีไซเนอร์คนนี้อยู่เสมอ เขาไม่ได้ดังเพราะแค่โปรโมตตัวเองแต่เขาคือดีไซเนอร์คนเก่งผู้ปฏิวัติวงการแฟชั่น ณ ช่วงเวลาหนึ่งได้สำเร็จ โว้กขอรำลึกการจากไปไม่มีวันกลับ (26 มีนาคม) ครบรอบ 30 ปีของ “รอย ฮัลสตัน โฟรวิก”

 

ข้อมูล: CNN, The Guardian, The New York Times, Biography และ  LA Times

WATCH