FASHION
เจาะลึก Gucci Ouverture มินิซีรีส์ 7 ตอนที่นำเสนอคอลเล็กชั่นใหม่ของ Gucci ชนิดฉีกทุกกฎเกณฑ์เมื่อคำตอบไม่ได้ถูกกำหนดให้ตีความออกมาตายตัวเหมือนกัน แต่คือการพยายามสร้างโลกใหม่ในรูปแบบของตัวเอง |
เมื่อโลกแฟชั่นไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงตามตารางแบบเดิมอีกต่อไปย่อมมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลของการเปลี่ยนทิศทางครั้งนี้ การร่วมมือกันทำคอแลบอเรชั่นไม่เคยเลือนรางไปจากโลกแฟชั่นยุคปัจจุบัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงและเทรนด์การทำคอแลบฯ ทำให้เกิดการจับมือระหว่าง Alessandro Michele ผู้อำนวยการสร้างสรรค์ของ Gucci และ Gus Van Sant ผู้กำกับภาพยนตร์ศิลปะชื่อดัง เกิดเป็นผลงานมินิซีรีส์ GucciFest จำนวน 7 ตอนเพื่อนำเสนอคอลเล็กชั่นใหม่ล่าสุดของแบรนด์ดังจากอิตาลี Ouverture of Something That Never Ended มันคือการผลัดใบจากวิถีของรันเวย์ประจำฤดูกาลในช่วงแฟชั่นวีกสู่มิติของการนำเสนอเฉพาะตัวของแบรนด์ในช่วงเวลาที่กำหนดขึ้นอย่างเหมาะสมกับผู้นำเสนอมากที่สุด ภาพยนตร์แฟชั่นชุดนี้จึงไม่ใช่แค่วิดีโอแคมเปญขายของธรรมดาอย่างที่หลายคนอาจเคยวาดภาพวิดีโอแฟชั่นไว้ในหัว
โฆษณาโปรโมต Gucci Fest
“เราจะพาแฟชั่นออกจาก ‘Comfort Zone’ ได้อย่างไร แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าเสื้อผ้ามันไม่ถูกนำเสนอบนรันเวย์” อเลสซานโดรตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วงสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น เขาเผยอีกด้วยว่าการนำเสนอความแตกต่างด้วยภาพยนตร์แฟชั่นชุดนี้เขาเลือกกัส แวน แซนต์เพราะมุมมองทางความคิดและการนำเสนอของเขามันสอดคล้องกับเอกลักษณ์ตัวตนของแบรนด์ที่อเลสซานโดรต้องการนำเสนอมาตลอดหลายปีอยู่แล้ว เพราฉะนั้นรูปแบบการถ่ายทอดจึงส่งพลังความถนัดของกัสออกมาอย่างเต็มที่ สารที่จะสื่อในประเด็นละเอียดอ่อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศ ภาษา ความแตกต่าง หรือความงดงามของบทกลอนก็ถูกใส่มาในมินิซีรีส์นี้อย่างเป็นธรรมชาติ เนื้อหาการตามติดตัวละครเอกไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อเล่าเรื่องในบริบทที่แตกต่างกันกับบรรยากาศ ณ กรุงโรมที่ช่างสวยสดงดงาม กัสเล่าว่า “จริงๆ เนื้อหาที่เขียนขึ้นมันก็มีกรอบจำกัดอยู่บ้าง แต่พอเวลาการถ่ายทำมันรัดตัวมากเราก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องราวให้ตรงเป๊ะปล่อยมันไปตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าให้ส่งอารมณ์เสียมากกว่า” อเลสซานโดรจึงเสริมด้วยว่า “มันก็เหมือนกับการที่เริ่มปลูกอะไรบางอย่างและปล่อยให้โตไปตามธรรมชาติ”
Gus Van Sant และ Alessandro Michele ผู้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้
“มันไม่มีความหมายสุดท้ายตายตัวเพราะอเลสซานโดรจะทำเรื่องราวต่างๆ ให้เข้าใจง่ายขึ้น(ในรูปแบบความคิดของแต่ละคน)” กัสเล่าถึงความเป็นธรรมชาติที่ดีไซเนอร์คนหัวสร้างสรรค์พยายามขยายกรอบความคิดให้กว้างกว่าแค่การเสพงานศิลปะ ทางอเลสซานโดรเองก็เอ่ยปากว่า “ผมสัญญาว่าสิ่งนี้จะแตกต่าง เราต้องช้าลง ต้องเพิ่มความเป็นกวีศิลป์เข้าไป เราต้องพูดเรื่องที่มันแตกต่าง ทำงานกับคนอื่นมากขึ้น ผสมผสานภาษาให้เข้ากัน มันเป็นไปได้ที่จะทดลอง ผมต้องการจะทำการทดลองและสิ่งเหล่านี้คือการทดลองของผม” การทดลองนี้จึงกลายเป็นเสาหลักสำคัญในการยึดถือว่าภาพยนตร์แฟชั่นไม่ใช่เรื่องการสื่อสารผ่านภาพ ดนตรี และบทพูดเพื่อผสานเรื่องราวของแบรนด์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการผสมผสานวัฒนธรรมด้านต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันลึกซึ้งกว่าภาพตื้นของวิดีโอสไตล์โฉบเฉี่ยวที่เราเห็นจนชินตา
WATCH
1 ในฉากจาก Episode 1
พูดถึงเรื่องตัวภาพยนตร์กันบ้าง เนื้อในของภาพยนตร์ชุดนี้เราจะเห็นการผสมผสานแรกที่ทั้งคู่ต้องการนำเสนอผ่านตัวตนแบรนด์กุชชี่ก็คือ “ความวินเทจที่ร่วมสมัย” เราจะเห็นว่าการเดินหน้าทำเสื้อผ้าด้วยกลิ่นอายย้อนยุคของอเลสซานโดรได้ดึงความงามจากยุค ‘70s ให้กลับมาโลดแล่นอย่างทันสมัยอีกครั้งในทศวรรษนี้ แต่เสื้อผ้ายุคนั้นที่มีการสื่อสารใกล้เคียงกับความหลากหลายยุคนี้มากที่สุด มันถูกเพิ่มความร่วมสมัยขึ้นด้วยประเด็นความละเอียดอ่อนทั้งสังคมทั้งเรื่องเพศ สิทธิความเท่าเทียม การนำเสนอตัวตน หรือการเข้าใจความเป็นอื่นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษา แฟชั่น หรือแม้แต่รสนิยมการฟังเพลง เรื่องทั้งหมดที่เป็นประเด็นหลักในยุค 2020 ต่อ 2021 กลับถูกนำเสนอในภาพของโลกย้อนยุคในสไตล์กุชชี่ไล่ตั้งแต่ฉาก เสื้อผ้า ทรงผม ไปจนถึงวิถีชีวิต(เช่นการแสตมป์ส่งจดหมายเป็นต้น) เหมือนกับการพาตัวตนหนุ่มสาวจากยุค ‘70s มาหลอมรวมเข้ากับโลกยุคปัจจุบันอย่างมีสไตล์และชั้นเชิง
Harry Styles กับลุคของเขาที่เริ่มปรากฏตัวใน Episode 3: At The Post Office
“การเลือกนักแสดงของกัสคือจุดเด่น” เต๋อ-นวพล ผู้กำกับชื่อดังของไทยเรามีโอกาสร่วมชมภาพยนตร์ชุดนี้ร่วมกับโว้กก็กล่าวถึงประเด็นนี้ยอ่างน่าสนใจว่ากัสคือผู้กำกับที่หยิบเอาคนจริงมาสวมคาแรกเตอร์ที่เขาอยากจะเป็นได้อย่างยอดเยี่ยม เรารู้สึกได้ถึงความจริง พวกเขาอาจไม่ใช่นักแสดงมากฝีมือแต่หากให้ใครสักคนถ่ายทอดความเป็นตัวเองออกมามันยิ่งดูสมจริงเสมอ การเลือก Harry Styles มาสะท้อนเรื่อง Beautiful Boy ในเรื่องนี้ก็เลือกจังหวะจะโคนมาได้พอดิบพอดี การเลือกข้อความที่ชายคนหนึ่งพูดถึงศิลปะอย่างเข้าอกเข้าใจมีการพูดถึงนิยามศิลปะในเชิงนามธรรมเรื่องการเปิดกว้างทางความคิด นำเสนอสิ่งตัวเองอยากนำเสนอ มันคือข้อความง่ายๆ ที่สอดแทรกมาพร้อมกับสารที่กุชชี่อยากนำเสนอมาตลอดเวลาเรื่อง “Self-Expression”
การเลือกจังหวะใช้ภาพและเสียงในการนำเสนอคอลเล็กชั่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ถึงแม้ว่าสารของกัสและอเลสซานโดรจะถูกนำเสนอผ่านบทพูดและบทกลอน รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ทั้งดนตรีและตัวละคร ทว่าอย่าลืมว่านี่คือการนำเสนอคอลเล็กชั่น กุชชี่ก็ไม่พลาดหยิบเอาของชิ้นต่างๆ มาเสนอให้เราได้เห็นกันชัดๆ โดยที่ไม่รู้สึกอึดอัด เราจะเห็นถึงรายละเอียดของเสื้อสเวตเตอร์ รองเท้าคู่ต่างๆ ขณะเข้าคิว จังหวะพักเบรกรอเราก็ได้เห็นโททัลลุคหลายลุค การสไตลิ่งก็ได้เห็นตั้งแต่หัวจรดเท้า จังหวะจะโคนถูกออกแบบมาโดยไม่ประดักประเดิด ไม่ล้นจนรู้สึกโดนยัดเยียดหรือน้อยใจจนกลืนหายไปกับสิ่งอื่น มันคือความพอดีที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม และนี่คือความอัจฉริยะของผู้สรรสร้างที่เราแนะนำให้ดูโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสาวกแฟชั่น
ทุกอย่างมีความหมายและรากฐานที่มา คำว่า “เพลงประกอบ” จึงไม่ใช่แค่ดนตรีคลอไปกับภาพเพื่อสร้างอารมณ์สอดคล้องกันอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เบื้องหลังของเนื้อเพลงหรือแม้แต่ศิลปินผู้รังสรรค์บทเพลงนั้นๆ มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ ที่กุชชี่พยายามสะท้อนออกมาผ่านผลงานชิ้นนี้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อผ้าที่พูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ จุดประเด็นความสนุก เรื่องราวความรัก ไปจนถึงเบื้องหลังของศิลปินที่มีจุดยืนสนับสนุนเรื่องความรักของเพศเดียวกัน ซึ่งเพลงย้อนยุคเหล่านี้ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นและสร้างพลังบวกใหม่อีกครั้งในยุคที่เปิดกว้างมากขึ้น จุดนี้ก็กลับไปผสานถึงเรื่องการใช้ความย้อนยุคของกุชชี่มาเล่นกับประเด็นสดใหม่ในยุค 2020
“ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพราะทุกคนมีคำตอบของตัวเอง” เรากล่าวไปเยอะแยะมากมายว่าอะไรหมายความถึงอะไรหรือกุชชี่จะสื่ออะไรให้เราชม แต่สุดท้ายภาพยนตร์ถูกออกแบบให้ล้ำลึกกว่านั้นด้วยความเป็นบทกวีประกอบกับการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์เพื่อการตีความ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เกิดบทสนทนาเดียวกันมองไปในบทสรุปเดียวกัน แต่ทั้งกัสและอเลสซานโดรมีเป้าหมายมุ่งเน้นให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างบทพูดคุยอันแตกต่าง การแลกเปลี่ยนความคิดถึงประเด็นเดียวกัน ความหมายของเสื้อสีแดงตัวเดียวกัน ความไร้เพศของตัวละคร การเปลื้องผ้าในคาเฟ่ เนื้อเพลง ดนตรี การสไตลิ่งลุค หรือแม้แต่การสนทนาด้วยภาษาที่แตกต่างกัน ทุกอย่างคือการปลูกต้นไม้แห่งความคิดของอเลสซานโดรและกัสให้กับทุกคน หลังจากนี้แต่ละคนจะรดน้ำดูแล(ตีความ)มันอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล การเจริญเติบโตทางความคิดอย่างเป็นธรรมชาติเพื่อสะท้อนเบื้องลึกในจิตใจของตัวเองต่อยอดถึงการแสดงตัวตนอย่างไร้ซึ่งกรอบจำกัดแบบที่กุชชี่กำลังทำอยู่นั้นคือสิ่งสูงสุดที่มินิซีรีส์เรื่องนี้มอบให้ยิ่งกว่าคำว่า “ภาพยนตร์แฟชั่น” หรือความงดงามของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเคลื่อนไหวแบบเดิมๆ บอกเลยว่าห้ามพลาดกับมินิซีรีส์ 7 ตอนกับ #GucciOuverture ใน GucciFest.com ตั้งแต่วันนี้ – 22 พฤศจิกายนนี้ (สามารถชมย้อนหลังได้) ดูแล้วจะเห็นชัดขึ้นว่าการเดินทางของแฟชั่นมันไปไกลแล้วจริงๆ ในมาตรฐานของกุชชี่
WATCH