FASHION
'ฉกฉวยวัฒนธรรม' คืออะไร เจาะประเด็นร้อนเรื่องทรงผม เกรซ-กาญจน์เกล้า ในเพลงพักก่อนโควิด
|
กำลังโด่งดังทีเดียวสำหรับเพลง “พักก่อน” เวอร์ชั่นคัฟเวอร์โดย “เกรซ-กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า” ดาราสาวที่เขียนเนื้อเพลงจ้วงสังคมไทยในสภาวะวิกฤติแบบนี้ เรื่องราวในเพลงกระแทกใจคนจนเรียกยอดวิวไปได้กว่า 2,000,000 วิวแล้วในช่องทางยูทูป แต่ที่ร้อนแรงไม่แพ้กันคือดราม่าเรื่องการถักผมทรงคอร์นโรว์ซึ่งมีผู้ใช้อินสตาแกรมรายหนึ่งเข้าไปทักท้วงเรื่องประเด็นนี้ว่าอยากให้เกรซตระหนักถึงเรื่อง “Cultural Appropriation” หรือ “การฉกฉวยวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนมากโดยเฉพาะเรื่องรากฐานประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าการฉกฉวยวัฒนธรรมครั้งนี้คืออะไร และทรงผมนี้มีความสำคัญกับคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งอย่างไร
ทรงผมคอร์นโรว์ที่เคยเป็นประเด็นในโชว์คอลเล็กชั่นเสื้อผ้าบุรุษประจำฤดูกาลใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2020 ของแบรนด์ Comme des Garçons Hommes Plus ที่ภายหลังสไตลิสต์ออกมาเผยว่าไม่ได้ตั้งใจฉกฉวยวัฒนธรรมของคนผิวสีแต่ได้รับแรงบันดาลใจการทำวิกมาจากปกรณัมโบราณของฝั่งยุโรป / ภาพ: Vogue Runway
มาเริ่มกันที่ว่าคำว่า “ฉกฉวย” กันก่อนในที่นี้ไม่ได้แปลว่าการหยิบหรือนำสิ่งของมาเป็นของตัวเองหรือการแย่งชิงโอกาสเท่านั้น การฉกฉวยในบริบทนี้หมายถึงการหยิบวัฒนธรรมเขามาใช้โดยไม่ได้สนใจหรือไม่รู้ถึงรากฐานของเรื่องนั้นๆ จริงหรือกอบโกยหาผลประโยชน์จากวัฒนธรรมอย่างเอารัดเอาเปรียบ เรื่องนี้ประกอบด้วยทรงผม เสื้อผ้า สัญลักษณ์ และการแสดงออกรูปแบบต่างๆ แต่พอโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ มีการผสมผสานวัฒนธรรมมากขึ้น วัฒนธรรมในแต่ละส่วนของโลกเดินทางลื่นไหลไปยังพื้นที่ต่างๆ แบบหยุดไม่ได้ เพราะฉะนั้นหลายวัฒนธรรมยังคงแข็งแกร่งเพราะประวัติศาสตร์อันหนักแน่น แต่หลายอย่างก็ลดทอนอ่อนลงจนไม่ถูกหยิบมาเป็นประเด็นเรื่องความละเอียดอ่อนอีกต่อไป แต่แน่นอนว่าประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดย่อมเกิดแผลเป็นในใจและตัวอย่างของวัฒนธรรมอย่างทรงผมเรื่อยไปจนถึงเครื่องประดับและการแสดงออกของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยถูกกดขี่ยังคงเป็นประเด็นละเอียดอ่อนจนถึงปัจจุบัน
Travis Scott แรปเปอร์แอฟริกัน-อเมริกันชื่อดังกับทรงผมของเขา / ภาพ: @travisscott
“ทรงผมคอร์นโรว์” ตอนนี้คนอาจจะคิดว่ามันจะเป็นเรื่องใหญ่อะไรในเมื่อใครก็ทำ...แต่เดี๋ยวก่อนความเมินเฉยเหล่านี้เองอาจจะทำให้จุดเป็นไฟได้โดยไม่รู้ตัว ทรงคอร์นโรว์เราน่าจะคุ้นตากันเป็นอย่างดีกับภาพคนผิวสีถักผมเป็นเส้นและเปียรูปแบบต่างๆ หลายคนอาจจะดูสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแฟชั่น แต่มันไม่ได้เป็นแฟชั่นที่เน้นเพียงความสวยงามเท่านั้น แรกเริ่มทรงผมเหล่านี้ถือเป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนบางกลุ่มหากเปรียบเหมือนประเทศไทยคงเปรียบเสมือนชฎาที่คนเรายึดถือเป็นของมีครูบาอาจารย์ ต่อมาพูดถึงที่มาเรื่องประโยชน์ ส่วนใหญ่คนผิวสีมักมีลักษณะทางกายภาพเหมือนกันคือผมฟูหยิก การทำกิจกรรมต่างๆ จะคล่องตัวก็ต่อเมื่อมีการมัด รวบ หรือถักผมในลักษณะนี้โดยไม่ได้เชื่อมโยงถึงความศักดิ์สิทธิ์ในอดีตอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นทรงผมเหล่านี้จึงหมายถึงการปรับตัวทางกายภาพให้เหมาะสมตามลักษณะวิถีชีวิต แต่อย่างไรก็ตามทรงผมเหล่านี้กลับถูกเคยกดขี่มานักต่อนักทั้งเรื่องความไม่เรียบร้อย ความไม่เป็นมืออาชีพในการปฏิบัติงาน ดูเป็นแฟชั่นและเป็นการเล่นสนุกจนเกินเหตุ กลับกลายเป็นว่าทรงผมอันเหมาะกับลักษณะกายภาพของชาติพันธุ์หนึ่งกลับถูกสังคมชนชั้นปกครองในขณะนั้น(และยังอาจหลงเหลือจนถึงตอนนี้) กดขี่นิยามว่าเป็น “ความไม่เหมาะสมของสังคม” ทั้งๆ ที่เรื่องแบบนี้เป็นเรื่อง Subjective มาก ไม่มีกฎตายตัวหรือหลักพิสูจน์ความจริง ก็ฉันจะพูดว่า “มันผิดระเบียบสังคมฉัน” ต้นตอความละเอียดอ่อนด้านวัฒนธรรมทั้งหมดจึงเกิดขึ้น
WATCH
ทรงผมของเกรซ-กาญจน์เกล้าในเพลง พักก่อน ที่กลายเป็นประเด็นดราม่าขึ้นมา / ภาพ: @gracekanklao
เมื่อนำ 2 เรื่องเข้ามาผูกกันจะเห็นว่าหลายคนหยิบยืมวัฒนธรรมที่มองดูสวยงามและเห็นเป็นประจักษ์มาใช้ประกอบมุมมองทางศิลปะ เช่นเดียวกันในลักษณะมีคนเข้ามาคอมเมนต์เกี่ยวกับทรงผมคอร์นโรว์ของคุณเกรซ เรื่องนี้ต้องย้อนไปดูบทเรียนหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับมุมมองความงามต่างๆ ที่เป็นประเด็นไม่ว่าจะเป็นศิลปินถักเปีย แฟชั่นโชว์ หรือแม้แต่การทดลองทรงผมใหม่ๆ จะเห็นได้ว่ามุมมองจาก 2 ฝั่งต่างกัน บ้างก็ถือว่าทรงผมนี้เป็นทรงผมที่มีประวัติศาสตร์และแผลใจของคนผิวสี อีกฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติฉันอยากทำทรงผมนี้เพื่อเพิ่มความสวยงาม “ฉันไม่ได้ดูถูกรากเหง้าคุณ” แต่ “ฉันกำลังชื่นชมคุณ” เรื่องมันน่าจะจบได้สวยแต่มันมีรายละเอียดแผ่กว้างไปกว่านั้นพอสมควร
ทรงผมคอร์นโรว์ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมร่วมประสานอย่างดนตรีฮิปฮอป / ภาพ: @gracekanklao
แต่ข้อดีของคุณเกรซคือการทำทรงผมนี้ไม่ได้นำความสวยงามลักษณะเฉพาะไปทำเรื่องเย้อหยัน ดูถูก หรือน่าอาย เธอทำทรงผมนี้ด้วยความตั้งใจเพื่อ “ความสวยงาม” และเห็นว่าสอดคล้องกับแนวเพลงฮิปฮอปที่เธอต้องการนำเสนอพอดิบพอดี ตอนนี้คุณเกรซรู้ว่าทรงคอร์นโรว์นี้เป็นของใครและมีวัฒนธรรมย่อยอื่นใดเข้ามาสอดคล้องบ้าง ในส่วนของผู้เข้ามาท้วงติงก็อยากให้คุณเกรซระวังเรื่องนี้เพราะละเอียดอ่อนมากก็เข้ามาด้วยความหวังดีไม่อยากให้เกิดปัญหา
เกรซ-กาญจน์กับทรงผมนี้ถือสัญญะหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นประเด็นสังคมในประเทศที่เพลงพักก่อนเป็นสื่อในการเรียกร้องความสมดุลของสังคมให้เกิดขึ้นอีกครั้ง / ภาพ: @gracekanklao
ในยุค 2020 วัฒนธรรมจำเพาะเจาะจงยังมีอยู่แต่หลายอย่างลื่นไหลจนแทบจะกลายเป็นสัญญะที่เห็นกันได้ทั้งโลก การสวมสูทและชุดเดรสสำหรับงานทางการซึ่งเป็นวัฒนธรรมตะวันตกแพร่กระจายไปทั่วโลกแม้แต่ประเทศที่มีวัฒนธรรมตัวเองที่แข็งแกร่งของตัวเองก็ไม่เว้น สังคมเลือกวัฒนธรรมนี้เพราะ “มองว่าดีและเหมาะสมดูเป็นสากล” เราหยิบวัฒนธรรมชนชั้นผู้นำมาใช้ก็ย่อมไม่มีปัญหา แต่สำหรับทรงผมที่เอ่ยถึงมายืดยาวนั้นกลับเป็นวัฒนธรรมชนชั้นรองของสังคมหลายพื้นที่ การหยิบยืมมาใช้จึงต้องระมัดระวังอย่างมาก แต่ในคำอธิบายทางสังคมศาสตร์อย่างหนึ่งอาจจะช่วยปกป้องคุณเกรซไว้ได้คือการมีเป้าประสงค์คล้ายคลึงกัน ถึงแม้คุณเกรซจะไม่ได้ใช้ทรงผมในมิวสิกวิดีโอเพลงพักก่อนเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กลุ่มชาติพันธุ์เจ้าของวัฒนธรรม แต่การมีเป้าประสงค์ในการเรียกร้องและชี้ปัญหาสังคมที่เธอต้องเผชิญนั้นสำคัญต่อหัวข้อนี้...บ้างก็ว่าเป็นการตอกย้ำความฉุนเฉียวรุนแรง บ้างก็ว่าเป็นการออกสิทธิ์ออกเสียงและมีการใช้คำว่า “Embrace” เป้าหมายทางวัฒนธรรมการเรียกร้อง
หลังจากมีประเด็นเกิดขึ้นเราได้เห็นภาพใหม่ของเกรซ-กาญจน์เกล้าบนอินสตาแกรมในลุคใหม่ / ภาพ: @gracekanklao
เธอเปรียบเสมือนกระบอกเสียงไม่ต่างจากเวลาเจ้าของวัฒนธรรมโดนกดขี่ เพียงแต่ว่าประเด็นการเรียกร้องมีความแตกต่างกัน แต่ตั้งอยู่บน “เสียงต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบและความบิดเบี้ยวไม่สมดุลของสังคม” เหมือนกัน คุณเกรซไม่ได้นำวัฒนธรรมมาล้อเลียนหรือลดทอนคุณค่าลงเท่าใดนัก รวมถึงไม่ได้กอบโหยหาผลประโยชน์จากวัฒนธรรมในบริบทนี้ สมัยนี้ความถูกต้องทางการเมืองหรือ Political Correctness (PC) ถูกนำมาใช้วิเคราะห์สังคมอย่างเคร่งครัด ก็นับเป็นข้อดีว่าทุกคนใส่ใจความหลากหลายในด้านต่างๆ เพื่อรักษาให้มันถูกต้องมากขึ้น แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าในแง่หนึ่งการใช้ PC เพื่อเชื่อมโยงสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันรัดตัวและอ่อนไหวเกินไปหรือไม่ ถ้ามันรัดเกินไปวัฒนธรรมเหล่านั้นอาจไม่ได้กระดุกกระดิกและตายหายไปในที่สุดก็ได้ เคยมีคำเตือนว่า “จงชื่นชมวัฒนธรรมอื่นด้วยการเป็นฝ่ายรับและไม่นำไปปรับใช้กับตัวเองถ้าไม่ได้รู้สึกรู้สาถึงเรื่องราวของเจ้าของวัฒนธรรมแบบลึกซึ้ง” และคำพูดจากอาจารย์ James McWhorter ศาสตราจารย์ ณ มหาวิทยาโคลัมเบียเห็นแย้งว่า “การใช้วัฒนธรรมไม่ใช่การขโมย การหยิบยืมวัฒนธรรมรูปแบบต่างๆ ในแง่บวก(ชื่นชม)คือการบำรุงรักษา ไม่ใช่การบั่นทอน เราต้องเลือกแล้วว่าจะเลือกเดินทางสังคมพหุวัฒนธรรมหรือมานั่งตีตราเรื่องการฉกฉวยจนเกินพอดี” คุณเห็นด้วยกับความคิดเห็นไหนกันบ้างและคิดว่าประเด็นเรื่องการฉกฉวยวัฒนธรรมนั้นถูกนำมาวิเคราะห์สังคมกันอย่างพอดิบพอดีแล้วหรือไม่อย่างไร...
ข้อมูลสนับสนุน: Campaign LIVE, BBC, CBS, The Guardian และ Vogue Arabia
WATCH