FASHION

เปิดเรื่องราวแฟชั่นยั่งยืนสู่หมู่บ้านยั่งยืน ‘ดอนกอย’ โมเดลการพัฒนาที่เป็นต้นแบบสำหรับอนาคต

เปิดทิศทางแห่งอนาคตของภาคประชาชนคนไทยด้วยการ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในท้องถิ่นให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน”

Full Circle

เปิดทิศทางแห่งอนาคตของภาคประชาชนคนไทยด้วยการ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในท้องถิ่นให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน”  รูปแบบชุมชนที่มีลักษณะพิเศษสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยพลังของ “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” อันมีที่มาจากน้ำพระทัย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

 

ย้อนกลับไปยังช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วงการแฟชั่นทั้งไทยและต่างประเทศต่างพยายามคิดค้นหาวิธีการสร้างสรรค์งานอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีไซเนอร์บางกลุ่มเลือกแนวทางการใช้วัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลจากขยะหรือสินค้าปิโตรเคมี บางกลุ่มเลือกแนวทางการนำผ้าค้างสต๊อกหรือผ้าวินเทจกลับมาใช้ (Upcycle) โดยผสมผสานกับการแก้ไขรูปทรงออกมาเป็นเครื่องแต่งกายชิ้นใหม่ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมากในต่างประเทศ อย่างไรก็ดีทั้งสองวิธีก็ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะวัสดุที่นำมาใช้นั้นเป็นผลผลิตส่วนเกินปลายสุดของระบบการบริโภค จึงเกิดคำถามสำคัญขึ้นมาว่าธุรกิจแฟชั่นจะมีส่วนรับผิดชอบ (หรือช่วยเหลือ) สิ่งแวดล้อมไม่ให้เลวร้ายไปกว่านี้ได้อย่างไร

คำถามนี้บรรจุอยู่ในการวางแผนเชิงนโยบายของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ในการแก้ปัญหานี้กลุ่มนักวิชาการได้นำเสนอคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ขึ้นมาซึ่งต่อมากลายเป็นคำสำคัญแห่งศตวรรษ Brundtland Report ให้ความหมายคำนี้เอาไว้ว่า “คือแนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง” ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ประเทศสมาชิก 193 ประเทศร่วมรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) เพื่อมุ่งสู่ทิศทางเดียวกันภายใต้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)” 17 เป้าหมายอันเกี่ยวข้องกับมิติของมนุษยธรรม สิ่งแวดล้อม มลพิษ เศรษฐกิจ และการพัฒนา

กลับมาที่ท้องนาอันห่างไกลของหมู่บ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาเสด็จไปยังจังหวัดสกลนคร ทรงเยี่ยมกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยและมีพระปฏิสันถารกับศิลปินช่างทอผ้าและประชาชนที่มารอเฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิด พระองค์พระราชทานแนวทางการพัฒนาและข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์หลายประการแก่ผู้ประกอบอาชีพทอผ้า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่ชัดเจนที่สุดก็คือเป้าหมายการขจัดความยากจน (No Poverty) โครงการดอนกอยโมเดลได้สร้างรายได้ให้สมาชิกในกลุ่มอย่างน่าปลื้มใจ จากการจำหน่ายผ้าย้อมครามที่เพิ่มมากขึ้น 10 เท่า จากรายได้เดือนละ 700 บาทต่อครอบครัวเพิ่มเป็น 7,000-10,000 บาท เม็ดเงินที่เข้ามานี้เองนำไปสู่การพัฒนาความเป็นอยู่ การศึกษา สาธารณสุข และอื่นๆ อีกมากมาย อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของโครงการพัฒนาผ้าไทยในพระองค์คือความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) เมื่อสมาชิกกลุ่มทอผ้าที่เป็นสตรีสามารถหารายได้ด้วยตนเองนำมาจุนเจือครอบครัวได้เช่นเดียวกับผู้ชาย เมื่อนั้นเสียงของผู้หญิงก็จะดังและมีพลังมากขึ้น นอกจากนี้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเข้มแข็งของสมาชิกกลุ่มทอผ้ายังกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐหันมาสนใจศิลปินช่างทอผ้าผู้หญิงกลุ่มนี้ ปิดท้ายที่เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequality) ที่น่าสนใจคือในแต่ละกิจกรรมหรือแต่ละโครงการในพระองค์ที่เกี่ยวกับผ้าไทยนั้นสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมหลากหลายกลุ่มคน ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย คนกลุ่มนี้นอกจากจะสร้างผลงานอันไม่มีที่ติแล้ว ยังสามารถช่วยโอบอุ้มดูแลชาวบ้านและช่างทอผ้าในเครือข่ายให้มีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วย น้ำพระทัยและพระวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้เองได้ช่วยขับเคลื่อนวงล้อแห่งการพัฒนาของหมู่บ้านดอนกอยโดยมีปัจจัยหนุนอีก 2 ประการคือมรดกงานหัตถกรรมและเทรนด์แฟชั่น

มรดกงานหัตถกรรมนั้นมีอยู่มากมายทั่วประเทศไทย ทั้งงานทอผ้า งานปั้นเซรามิก งานถมทอง งานจักสาน งานทอเสื่อ งานแกะสลัก และอีกมากมายที่สามารถนำรายได้มาสู่ชุมชนได้มหาศาลถ้ารู้จักนำความรู้มาพลิกแพลงสร้างความแตกต่าง ตลอดจนพัฒนาความเชี่ยวชาญในงานศิลปะแขนงนั้นๆ ยกตัวอย่างหมู่บ้านดอนกอย จังหวัดสกลนครซึ่งมีผ้าย้อมครามเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด ผ้าย้อมครามของจังหวัดสกลนครได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า นับตั้งแต่ปี 2535 ชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยได้ร่วมกันฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นถิ่นทั้งความรู้เรื่องการปลูกต้นคราม การย้อมคราม ย้อมสีธรรมชาติ และการทอผ้าครามขึ้นภายในหมู่บ้าน ทำให้ผ้าทอย้อมครามยังมีลมหายใจมาจนถึงทุกวันนี้เข้าข่ายการต่อยอดเป็นหมู่บ้านยั่งยืน ด้วยมีความพร้อมทั้งมรดกงานหัตถกรรมและความรู้ในการสร้างสรรค์ของสมาชิกในชุมชน จุดนี้เองที่ตรงกับพระราชวิเทโศบายที่ทรงแนะนำให้นำเทรนด์แฟชั่นไปเพิ่มพลังให้แก่วัฏจักรนี้ 


หนังสือพระนิพนธ์
Thai Textiles Trend Book ทั้งห้าเล่ม คือตัวอย่างการใช้เทรนด์แฟชั่นมาตรฐานสากลมาผสานเข้ากับความเข้าใจแบบไทยๆ เพื่อกำหนดทิศทางความเป็นไปในตลาดแฟชั่น ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาวงการสิ่งทอพื้นบ้านในประเทศไทยไม่มีทิศทางในการพัฒนาผ้าที่ชัดเจนเลย หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนคู่มือช่วยแนะนำศิลปินช่างทอผ้าว่านับจากนี้เราจะพัฒนาผ้าไทยไปในทิศทางไหน ไม่เพียงเท่านั้นภายในโครงการย่อยที่ดำเนินการต่อยอดจากหนังสือยังมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้านเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และความเข้าใจเรื่องแฟชั่นให้ช่างทอผ้า บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่คร่ำหวอดอยู่ในวงการแฟชั่นไทยมายาวนานหรือไม่ก็เป็นดีไซเนอร์ไฟแรงเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มเจเนอเรชั่นใหม่ ยกตัวอย่างธีระพันธ์ วรรณรัตน์จาก Tirapan, ศิริชัย ทหรานนท์จาก Theatre, พลพัฒน์ อัศวประภาจาก Asava, ภูภวิศ กฤตพลนาราจาก Issue, วิชระวิชญ์ อัครสันติสุขจาก Wisharawish, เจนสุดา ปานโตจาก Janesuda, สรลักษณ์ ติกขะปัญญาจาก Archive026, มิลิน ยุวจรัสกุลจาก Milin, ปนิตา ภัทระเสฐกูลจาก Irada, เนตรดาว วัฒนะสิมากรจาก Landmeé และธนาวุฒิ ธนสารวิมลจาก T and T การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคนแฟชั่นกับคนทำงานหัตถศิลป์จุดประกายไอเดียใหม่ๆ นำไปสู่การทดลองแนวการทำงาน การทอ การย้อมสี การเล่าเรื่องราว และการตีความงานหัตถศิลป์ในรูปแบบที่ทันสมัยและอยู่ใน “เทรนด์แฟชั่น” จุดนี้เองที่พลิกเกมเศรษฐกิจระดับจุลภาคในท้องถิ่นให้เป็น “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” โดยนำต้นทุนทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้สินค้าหรือบริการ สามารถสร้างเม็ดเงินได้มากขึ้นจากกระบวนการพัฒนานี้



WATCH




จากโครงการดอนกอยโมเดล โครงการนาหว้าโมเดล มาสู่โครงการหมู่บ้านยั่งยืน โครงการใหม่ที่ขยายขอบเขตกว้างมากขึ้น การอบรมและการพัฒนาหลักสูตรพิเศษภายใต้ชื่อ “หมู่บ้านยั่งยืน” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกชุมชนและทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทยนำไปปรับใช้ยกระดับงานทอผ้าของตัวเอง เพราะแนวคิดนี้เหมือนโครงชุดสำเร็จรูปที่สามารถปรับเปลี่ยน ย่อขยายให้เหมาะกับแต่ละชุมชน โดยแต่ละชุมชนจะนำเอารูปแบบการพัฒนาองค์ความรู้ของงานหัตถศิลป์นั้นมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดรายได้ในชุมชนอันจะต่อยอดเป็นการพัฒนาของชุมชนนั้นๆ อย่างเห็นผลจริง


เป็นระยะเวลากว่า 4 ปีมาแล้วที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงาน
การศึกษาได้ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้ เพื่อสนองแนวทางการทรงงานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ภาพความทรงจำที่ร้อยเรียงประกอบบทความนี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าแนวคิด “หมู่บ้านยั่งยืน” คืออีกหนึ่งคำตอบของการยกระดับสังคมไทยในทุกภาคส่วน ให้มีความรุ่งเรือง มั่งคั่ง ยั่งยืน และครอบคลุมตามแนวคิดของประชาคมโลกและสมาชิกขององค์การสหประชาชาติที่ยึดถือร่วมกันว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง--Leave no one behind”

1 / 25

ภาพแฟชั่นของ “ดอนกอยโมเดล” ที่ถ่ายทอดผ่านมุมมองของโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ก่อนได้รับการต่อยอดสู่โครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน”



2 / 25

ผ้าทอที่พัฒนาภายใต้โครงการหมู่บ้านยั่งยืน



3 / 25

ผ้าทอที่พัฒนาภายใต้โครงการหมู่บ้านยั่งยืน



4 / 25

มัดด้ายย้อมสีธรรมชาติที่กลุ่มครามภูไท



5 / 25

เนื้อครามข้นเหนียวที่โรงย้อมของกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านตอเรือ



6 / 25

เยาวชนผู้สืบทอดงานศิลป์รุ่นต่อไปที่กลุ่มสร้างเสริมอาชีพชุมชนบ้านดอนกอย



7 / 25

กระเป๋าเทคนิคมัดย้อมแบบชิโบริ สินค้าขายดีของกลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก



8 / 25

สมาชิกกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านโพนก่อกำลังคัดแยกฝักต้นคราม



9 / 25

แม่ๆ ที่กลุ่มครามภูไท



10 / 25

เส้นใยจากพืชพรรณธรรมชาติสู่เสื้อโค้ตทรงแปลกตา



11 / 25

ผ้าทอแบบเก่าและผ้ามัดย้อมแบบใหม่ ผลงานของกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าบ้านสามัคคี



12 / 25

รอยยิ้มสดใสกลางทุ่งครามที่เขียวชอุ่มที่หมู่บ้านกุดจอกน้อย



13 / 25

แม้จะสูงวัยแต่ช่างทอที่กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าบ้านสามัคคีก็ยังมีพลังเหลือล้น



14 / 25

ต้นครามที่รอการปลูกทดแทนในหมู่บ้านตอเรือ



15 / 25

สองแรงแข็งขันที่กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านดงเสียว



16 / 25

เฉดสีอ่อนหวานและลวดลายเรียบง่ายจากการทอของกลุ่มทอผ้าบ้านทุ่งมั่ง



17 / 25

แม้จะสูงวัยแต่ช่างทอที่กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าบ้านสามัคคีก็ยังมีพลังเหลือล้น



18 / 25

กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านอูนดง-หนองไชยวาลย์มีชื่อเสียงจากผ้าทอสลับสีอารมณ์คล้ายผ้าทวีด



19 / 25

กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านอูนดง-หนองไชยวาลย์มีชื่อเสียงจากผ้าทอสลับสีอารมณ์คล้ายผ้าทวีด



20 / 25

กี่ทอผ้าที่เก็บลวดลายแม่แบบสืบต่อกันมาในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าย้อมครามบ้านกุดแฮด



21 / 25

ช่างทอผ้าที่บ้านคำประมงกับผลงานจากโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน”



22 / 25

วิชชาลัยดอนกอย แหล่งเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน



23 / 25

ความอุดมสมบูรณ์รอบหมู่บ้านโพนก่อ



24 / 25

ผ้าทอที่พัฒนาภายใต้โครงการหมู่บ้านยั่งยืน



25 / 25

แม่ๆ บ้านดอนกอย จังหวัดสกลนคร



 

สามารถอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งทอและชุมชนนาหว้าโมเดลได้กับบทความ โว้กประเทศไทยออกเดินทาง ตามรอยกลุ่มทอผ้าไหมแห่งแรกของศูนย์ศิลปาชีพฯ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

WATCH