เครื่องหมายการค้า, กฎหมาย, กฎหมายลิขสิทธิ์, จดลิขสิทธิ์, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
FASHION

วิเคราะห์กฎหมาย “เครื่องหมายการค้า” ของฝรั่งเศส กุญแจสำคัญที่ทำให้โลกแฟชั่นแข็งแกร่ง

แนวทางการพัฒนาแฟชั่นไม่ได้มีเพียงเรื่องแนวคิดเชิงศิลปะเท่านั้น แต่ยังต้องมีระบบโครงสร้างที่เกื้อหนุนในการพัฒนาอย่างมีทิศทาง

     ความเข้มข้นของตัวบทกฎหมายและนโยบายคือปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของเส้นทางต่างๆ ในประเทศนั้นๆ ดังนั้นหากใครมองว่าการเมืองภาพใหญ่ที่ข้องเกี่ยวกับกฎหมายไม่มีบทกับชีวิตประจำวันหรือโลกแฟชั่นอาจต้องเปลี่ยนไป เพราะภายใต้คำว่า “อิสระเสรีทางความคิด” ย่อมต้องมีกรอบกำหนดบางอย่างเพื่อสร้างมาตรฐานให้การเดินหน้ามีจุดหมายที่มุ่งไปถูกทิศถูกทาง วันนี้ผู้เขียนจะยกตัวอย่างกฎหมายเรื่องเกี่ยวกับ “เครื่องหมายการค้า” ของประเทศฝรั่งเศสมาวิเคราะห์ว่ากฎหมายที่ชัดเจนแข็งแกร่งสามารถผลักดันโลกแฟชั่นให้เดินหน้าได้อย่างไร

     หลังจากการเลือกตั้งประเทศไทยจบลง หลายคนคาดหวังว่ากลุ่มผู้ชนะใจประชาชนจากทั้งประเทศจะสามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นอีกระดับ แน่นอนว่าเรื่องสำคัญคือปากท้องและการดำรงชีวิต เรื่องศิลปะเองก็ถูกพูดถึงบ้าง หรือการทำธุรกิจเชิงศิลปะก็ได้รับความสนใจมากขึ้นจากวิธีการมองโลกของคนผลัดรุ่นอายุ ทว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางนโยบาย หรือการปรับเปลี่ยนตัวบทกฎหมายเรื่องนี้อาจเป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตที่ไม่ไกลเกินเอื้อม การวิเคราะห์กฎหมายของประเทศผู้นำด้านแฟชั่นอย่างฝรั่งเศสจึงมีสาระสำคัญเพื่ออย่างน้อยก็เป็นแนวทางในการสรรสร้างวิธีการขีดเส้นบรรทัดฐานสังคมให้พัฒนาอย่างมีคุณภาพ

เครื่องหมายการค้า, กฎหมาย, กฎหมายลิขสิทธิ์, จดลิขสิทธิ์, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

สีฟ้า Tiffany Blue ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างชัดเจน / ภาพ: IRL Packaging

     ตัวกฎหมายเรื่องเครื่องหมายการค้าของฝรั่งเศสมีการระบุค่อนข้างชัดเจนเป็นหมวดหมู่ และมีการระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า โดยเครื่องหมายการค้าทั้งหลายตั้งจดทะเบียนภายใน 5 ปีแรกที่ใช้และไม่มีแผนจะยกเลิกสิ่งนั้นในเร็ววันหรืออย่างน้อยก็ 5 ปีหลังจากจดเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิ์การใช้เครื่องหมายนั้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์ แค่ข้อกำหนดแรกก็แสดงให้เห็นถึงบรรทัดฐานความเคี่ยวงวดของระดับมหภาคที่มุ่งเน้นความเป็นออริจินัลและสามารถยืนหยัดพัฒนาภายใต้เอกลักษณ์สำคัญต่อไป กล่าวคือสัญลักษณ์ทั้งหลายต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างผ่านกระบวนการคิดเพื่อต่อยอดสู่สิ่งใหม่ในอนาคต ไม่ใช่เพียงการออกแบบเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น การวางรากฐานแบรนด์เพื่อการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงมีความสำคัญต่อการเติบโตของแบรนด์น้อยใหญ่เสียจริง

     และอย่างที่กล่าวไปว่าเรื่องหมวดหมู่เป็นเรื่องสำคัญ หมวดหมู่แรกคือเรื่องสี การจดทะเบียนสิ่งนี้ดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะสีมีการใช้อย่างหลากหลายเพื่อเพิ่มอรรถรสด้านแฟชั่นอยู่เสมอ ทว่าสัญลักษณ์หรือสีบางอย่างมีรหัสระบุชัดเจนและถูกขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า ลองนึกภาพสีฟ้าของ Tiffany & Co. หรือสีส้มของ Hermès ล้วนมีความเฉพาะเจาะจงจนเป็นเครื่องหมายการค้าที่ระบุถึงตัวแบรนด์ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ทั้งนั้นสีทั้งหลายต้องถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอ เราจึงเห็นการผลิตซ้ำแคมเปญสี และการเลือกใช้สีนำเสนอไอเท็มชิ้นใหม่อยู่เสมอ หรือที่ขาดไม่ได้คืออุปกรณ์กล่องและถุงที่ยังคงยืนหยัดใช้สีนั้นๆ เรื่อยไป

เครื่องหมายการค้า, กฎหมาย, กฎหมายลิขสิทธิ์, จดลิขสิทธิ์, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

กระเป๋า Chanel รุ่น Classic ที่อิงจากรูปทรงจดทะเบียน Flapbag ของแบรนด์ ซึ่งมีรายละเอียดการวางโลโก้ ความโค้งมนของกระเป๋า และรายละเอียดของรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ / ภาพ: CHANEL

     ในความจริงสลักสำคัญยิ่งกว่าเรื่องสีคือเรื่องรูปทรง สิ่งนี้ทำเอาหลายคนปวดหัวว่าจะเข้าข่ายไปละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เชื่อไหมว่ากระเป๋า Chanel ประเภท Flapbag ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีไม่ได้ถูกจดทะเบียนแค่โลโก้หรือรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น แต่ยังจดทะเบียนเรื่องรูปทรงอีกด้วย วิธีการสร้างรูปทรงกระเป๋าที่มีลักษณะเฉพาะตัว การสร้างรอยเย็บรอยพับ และทุกรายละเอียดที่เกิดจากการใช้เทคนิคของช่างฝีมือผ่านกระบวนการคิดของผู้ออกแบบนั้นถูกจดเข้าระบบเครื่องหมายการค้าไว้เรียบร้อย เราจึงเห็นว่าแม้จะมีกระเป๋าทรงคล้ายคลึงกันอันเป็นผลมาจากการผลิตจากวัสดุหนัง และการใช้แพตเทิร์นเบสิกดั้งเดิมมาต่อยอด แต่ไม่มีใครสามารถสร้างรายละเอียดกระเป๋าแบบครบจบทั้ง 3 มิติตามชาเนลได้อีกเลย เหตุผลทางกฎหมายที่คุ้มครองผลงานชิ้นนี้กำลังทำหน้าที่ไม่ให้เกิดการผลิตซ้ำ ซึ่งส่งผลให้แฟชั่นวนอยู่กับไอเท็มฮิตเดิมๆ จากตัวเลือกที่หลากหลายและไม่เกิดการพัฒนา โดยประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือการจะลงทะเบียนรูปทรงเฉพาะตัวได้ต้องมีลักษณะพิเศษของการรังสรรค์ผ่านเทคนิคเฉพาะเท่านั้น หากเป็นแพตเทิร์นพื้นฐานทั่วไป หรือเป็นผลต่อเนื่องจากการใช้วัสดุต่างๆ จะไม่ถูกนับรวบไปด้วย



WATCH




เครื่องหมายการค้า, กฎหมาย, กฎหมายลิขสิทธิ์, จดลิขสิทธิ์, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

รองเท้าโลเฟอร์แบรนด์ Prada ที่มีรายสำคัญคือโลโก้บริเวณหนังคาดด้านบนที่ไม่สามารถจดทะเบียนหมวดตำแหน่งการวางได้ เพราะวางในตำแหน่งเบสิกทั่วไปไม่ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ถ้าพูดถึงเรื่องเครื่องหมายการค้าของแบรนด์ก็มีตราโลโก้สามเหลี่ยมที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้ตามกฎหมาย / ภาพ: Mytheresa

     ข้อสำคัญที่หลายคนสนใจอีกข้อคือเรื่องตำแหน่ง เพราะแบรนด์จำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้สัญลักษณ์แสนจะธรรมดา เช่นขีด วงกลม หรือรูปทรงเรขาคณิตอื่นๆ ข้อกำหนดหมวดนี้จึงออกแบบมาเพื่อระบุอย่างชัดเจนในการวางตำแหน่งสิ่งเหล่านั้นอย่างเฉพาะเจาะจง เราจะเห็นว่ารองเท้า Adidas มีการวางแถบที่เห็นได้ทันทีว่าเป็นรองเท้ายี่ห้อดังสัญชาติเยอรมัน ทั้งๆ ที่มีแถบ 3 แถบสุดแสนจะเบสิก ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่รวมกับการวางตำแหน่งรายละเอียดอื่นๆ ที่เป็นสากล เช่นการวางโลหะประดับบริเวณส่วน Upper ของรองเท้าโลเฟอร์ ที่ Gucci อาจจะใช้ Horsebit เฉพาะตัว หรือแบรนด์อย่าง Prada ก็ใช้โลโก้ซึ่งเป็นการจดทะเบียนอีกหมวดหมู่หนึ่งนั่นเอง

เครื่องหมายการค้า, กฎหมาย, กฎหมายลิขสิทธิ์, จดลิขสิทธิ์, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

แพตเทิร์น Epi บนวัสดุหนังของ Louis Vuitton คือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในหมวดแพตเทิร์น (ไม่เกี่ยวกับโลโก้) / ภาพ: Louis Vuitton

     ปิดท้ายด้วยเรื่องป้ายบ่งบอกสถานที่ผลิตและแพตเทิร์น โดยข้อแรกนั้นในฝรั่งเศสระบุว่าต้องมีกระบวนการผลิตสำคัญในประเทศฝรั่งเศสอย่างน้อย 1 ขั้นตอนขึ้นไป พร้อมทั้งเป็นขั้นตอนที่เปลี่ยนแปลงวัสดุสู่ชิ้นงานอย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังด้วยจึงจะสามารถระบุเป็น “made in France” ได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่เรื่องแพตเทิร์นก็ขยายกรอบออกจากเรื่องโลโก้หรือสัญลักษณ์ที่ทุกคนเข้าใจกันดี แพตเทิร์น Cannage ของ Dior หรือแพตเทิร์น Epi ของ Louis Vuitton เป็นตัวอย่างที่ดีของความโดดเด่นเฉพาะเจาะจง บ่งบอกถึงแบรนด์ผู้สรรสร้าง ซึ่งแบรนด์หลังเคยมีคดีความเกี่ยวกับเรื่องแพตเทิร์นและชนะมาได้จากหลักฐานการผลิตและคิดค้นมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังใช้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยแพตเทิร์นจะถูกระบุแยกย่อยลงไปอีกว่าจะใช้สำหรับสินค้าประเภทใดด้วย เรียกว่าแพตเทิร์นเด่นเฉพาะตัวมีคุณค่าและความสำคัญไม่แพ้โลโก้อย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว

เครื่องหมายการค้า, กฎหมาย, กฎหมายลิขสิทธิ์, จดลิขสิทธิ์, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

กระเป๋า Jacquemus รุ่นต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาความสร้างสรรค์โดยใช้แพตเทิร์นเบสิกมาเพิ่มมิติความสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์จนทุกคนจดจำได้ และไม่ข้องเกี่ยวกับการรุกล้ำสิทธิ์เรื่องเครื่องหมายการค้าในหมวดหมู่ใดของใครทั้งสิ้น / ภาพ: Monnier Paris

     พออ่านเพียงบทสรุปจัดหมวดหมู่จะเห็นว่าฝรั่งเศสเข้มงวดกับเรื่องนี้มากพอสมควร และถ้ากำลังถามว่ากฎระเบียบเช่นนี้จะทำให้การพัฒนาการขึ้นอย่างอิสระจริงหรือ คำตอบคือจริง ซึ่งจริงในแง่ของการพัฒนาเพื่อคิดค้นสิ่งใหม่ แน่นอนว่าอาจจะยากในช่วงเริ่มต้น แต่การเปิดโอกาสให้ค้นหาความไอคอนิกของผู้พัฒนาทั้งหลายย่อมเกิดความโดดเด่นแบบฉบับเฉพาะตัวมากหมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปทรง โลโก้ ตำแหน่ง สี หรือแม้แต่แพตเทิร์น  นอกจากนี้อย่างที่กล่าวไปว่าข้อกำหนดดังกล่าวสามารถช่วยผลักดันให้นักออกแบบคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนจะสร้างชิ้นงานเพื่อเป็นสัญญะเชื่อมโยงกับตัวตนของแบรนด์โดยตรง เพราะการสร้างผลงานและขึ้นทะเบียนจะต้องปรากฏให้เห็นเด่นชัดและพัฒนาภายใต้สิ่งนั้นๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสิทธิ์ หรือถ้าใครคิดจะคิดไว้เพื่อกีดกันขัดขวางเก็บไอเดียสร้างสรรค์ไว้ใช้ฝ่ายเดียวโดยไม่ทำอะไร ข้อกำหนดนี้ก็ปฏิเสธแนวคิดนั้นในเชิงทฤษฎีไปอย่างสิ้นเชิง

เครื่องหมายการค้า, กฎหมาย, กฎหมายลิขสิทธิ์, จดลิขสิทธิ์, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

Takuji Hamanaka ศิลปินผู้นิยามความสร้างสรรค์อันเป็นผลพวงในระบบระเบียบ และเขาก็สรรสร้างผลงานภาพพิมพ์ไม้ฉบับดั้งเดิมออกมาในรูปแบบโมเดิร์นล้ำสมัยสวนทางกับวิธีอันเก่าแก่โบราณ / ภาพ: Christie's

     “ไหนคือความอิสระถ้าทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ อย่างนี้ก็ไม่ได้” ถ้าคำถามนี้เกิดขึ้นในหัวผู้อ่าน ผู้เขียนอยากอ้างอิงถึงคำพูดของ Takuji Hamanaka ศิลปินภาพพิมพ์ชาวญี่ปุ่นที่พูดถึงวัฒนธรรมอันเคร่งครัดของโลกศิลปะญี่ปุ่นยุคเก่าที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดว่า “บางครั้งข้อกำหนดนั้นสร้างอิสรภาพในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่” ตีความได้ว่าเมื่อมีกรอบข้อกำหนดบางอย่างนั้นบีบบังคับให้ศิลปินหาช่องทางในการสร้างสรรค์ด้วยแนวทางตามช่องว่างที่เหลืออยู่ บางครั้งการเห็นแรงบันดาลใจและสร้างสรรค์ตามโดยพัฒนาโดยหลีกหนีความซ้ำเดิมจากเครื่องหมายการค้าได้ทั้งหมด สุดท้ายผลผลิตนั้นจะกลายเป็นสิ่งใหม่อย่างแน่นอน ไม่ว่ากระบวนการจะถูกตีกรอบหรือผลลัพธ์บางอย่างจะถูกจำกัดไว้มากเพียงใด

เครื่องหมายการค้า, กฎหมาย, กฎหมายลิขสิทธิ์, จดลิขสิทธิ์, จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

รายละเอียดการประทับตรา MADE IN FRANCE บนกระเป๋าแบรนด์ Dior จากยุค 1960s ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระเป๋าใบนี้มีกระบวนการทำที่ฝรั่งเศสอย่างน้อย 1 ขั้นตอนและขึ้นเป็นกระเป๋าอย่างสมบูรณ์หรือเกือบจะสมบูรณ์ในแดนน้ำหอม / ภาพ: QUIET WEST

     หันกลับมามองถึงประเทศไทยเรื่องลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่กฎระเบียบรับรองอาจยังไม่แข็งแกร่ง หรือการบังคับใช้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แนวทางการพัฒนาสำคัญคือการพิสูจน์ใส่ใจกับความเป็นต้นฉบับมากที่สุด กฎเกณฑ์หมวดหมู่อาจจะยังไม่จำเป็นต้องแยกละเอียด แต่แนวทางที่ทำได้คือการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่อาจยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ซึ่งฝรั่งเศสเองมีการระบุเกี่ยวกับการรองรับประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจน โดยพิจารณาจากความคุ้นเคยและอายุเวลาของมันที่ส่งผลต่อสังคม การพัฒนาเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของผู้ผลิตจึงมีความสำคัญในการยึดความเป็นตัวเองและเดินหน้าสู่การพัฒนาโดยมีหลักการชัดเจน เมื่อนั้นไม่เพียงแต่สังคมจะยอมรับในเชิงวัฒนธรรมรวมถึงธุรกิจ ทว่ายังหมายถึงการได้รับการปกป้องโดยตัวบทกฎหมายอีกด้วย การเน้นย้ำให้บังคับใช้หรือมุ่งมั่นตรวจสอบจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้เกินความสามารถของประชาชน ภาครัฐจึงต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อช่วยสนับสนุน สร้างมาตรฐาน และพัฒนาวงการแฟชั่น อีกทั้งยังรวมถึงศิลปะและการทำธุรกิจแขนงอื่นๆ แทบทั้งหมดต่อไป

 

ข้อมูล:

culture.gouv.fr

sgs.com

globallegalpost.com

lexology.com

WATCH