'Flower Power' พลังดอกไม้แห่งความสงบที่จ่ออยู่ปลายกระบอกปืนแห่งความรุนแรง
ความสงบที่ทุกคนต้องการถูกถ่ายทอดผ่านรูปถ่ายอันทรงพลัง
ดอกไม้กับปืนดูเป็นสิ่งของขั้วตรงข้ามกันอย่างชัดเจน ด้วยความอ่อนไหวสวยงามของดอกไม้อันหมายถึงความสงบสุขและอิสระ ส่วนปืนถือเป็นอาวุธประจำกายของทหารผู้ออกรบที่ใช้ปลิดชีพมนุษย์ด้วยกัน ในวันที่โลกเต็มไปด้วยปัญหาและข้อขัดแย้งมากมาย โต๊ะเจรจาเป็นเพียงเวทีละครที่มีลักษณะเป็นทางการแต่กลับไม่ได้ทรงอิทธิพลสูงสุดเสมอไป การหยิบปืนขึ้นมาของเหล่าทหารหาญคืออำนาจบาตรใหญ่ที่แสดงให้เห็นความพร้อมในการทำสงคราม สัญลักษณ์แห่งความอำมหิตเหนือมนุษย์ถูกแสดงให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์ และดอกไม้ก็เป็นสัญลักษณ์ขั้วตรงข้ามที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างพลังมหาศาลผ่านภาพถ่ายเพียงไม่กี่ภาพ
“ผู้ต้านสงครามไม่เคยมามือเปล่า” วลีนี้อาจถูกตีความได้อย่างหลากหลาย หรืออาจเลยเถิดไปถึงผู้ต้านสงครามจะหยิบอาวุธมาต่อต้าน ทว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นคำว่า “ไม่เคยมามือเปล่า” หมายถึงพวกเขามาพร้อมความตั้งใจที่จะหยุดสงคราม อุดมการณ์ มุมมองของความเป็นมนุษย์ และสัญลักษณ์การคานอำนาจที่บ่งบอกว่าพวกเขาและเธอต้องการความสงบ ดังนั้นเราจึงเห็นผู้ประท้วงสงครามหลายต่อหลายคนในหน้าประวัติศาสตร์หยิบจับสิ่งของบางอย่างมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความสงบ และสิ่งนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผู้คนทั่วโลกยึดถือเสมอมา ยกตัวอย่างเช่น ดอกไม้ เป็นต้น
Jan Rose Kasmir กำลังถือดอกคาร์เนชั่นเพื่อประท้วงการทำสงครามในวันที่ 21 ตุลาคม 1967 / ภาพ: Marc Riboud - Magnum Photos
ในวันที่ 21 ตุลาคม 1967 เกิดเหตุการณ์ “March on the Pentagon” ประชาชนสหรัฐอเมริกาจำนวนเรือนแสนเดินขบวนมาที่เพนตากอนเพื่อประกาศจุดยืนว่าไม่ต้องการสงครามอีกแล้ว พวกเขาเพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีมาไม่นาน แต่รัฐต้องการทำสงครามเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่ถูกบันทึกไว้ว่ามีการใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามเวียดนาม แท้จริงแล้วดอกไม้ไม่ใช่สิ่งเดียวในวันนั้น เพราะมีการใช้ของเล่น ธงประท้วง ลูกกวาด หรือแม้แต่ดนตรีมาใช้เป็นเครื่องมือเชิงสัญลักษณ์ในการเรียกร้องความสงบด้วย
The Ultimate Confrontation: The Flower and the Bayonet คือภาพถ่ายประวัติศาสตร์ที่บันทึกช่วงเวลาของ Jan Rose Kasmir สาวน้อยวัย 17 ปีในขณะนั้นกำลังยื่นดอกเบญจมาศทาบกับดาบปลายปืนของทหารสร้าง ภาพนี้ถูกลั่นชัตเตอร์โดย Marc Riboud ช่างภาพชาวฝรั่งเศส มันกลายเป็นภาพถ่ายที่ทรงพลังด้านจิตใจที่สุดภาพหนึ่งของโลก แม้ภาพนี้จะไม่ได้ทำหน้าที่สร้างบาดแผลและปลิดชีวิตทหารฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นเหมือนสัญลักษณ์เรียกร้องความสงบที่พร้อมโอบอุ้มดูแลชีวิตผู้อื่นอย่างสุดความสามารถ ช่วงเวลาที่ผู้คนตระหนักว่าโลกเป็นสีเทาๆ แต่ในภาพนี้การหยิบดอกไม้ขึ้นมาแสดงพลังบริสุทธิ์เปรียบเหมือนสีขาวที่สร้างความแตกต่างระหว่างขั้วความคิดขาวกับดำได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
George Harris กำลังเรียกร้องความสงบด้วยดอกไม้จนเกิดเป็นภาพ Flower Power อันโด่งดัง / ภาพ: Bernie Beston
ภาพถ่ายการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยดอกไม้ไม่ได้มีเพียงภาพเดียว แต่ Bernie Boston ยังบันทึกภาพ George Harris ที่นำดอกคาร์เนชั่นยัดใส่ปลายกระบอกปืน M14 ของกองตำรวจทหารในวันเดียวกัน ภาพนี้ถูกตั้งชื่อว่า Flower Power ภาพนี้มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ เพราะทำให้นักประวัติศาสตร์และนักสังคมวิทยาหยิบยกเอาประเด็นนี้มาหาที่มาที่ไป และพบว่ามีการใช้มีดอกไม้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสงบมาตั้งแต่การประท้วงในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อนจะโด่งดังและได้รับการจดจำมากที่สุดในเหตุการณ์ ณ เพนตากอนในปี 1967
ตลอดหลายทศวรรษมีการใช้สัญลักษณ์ดอกไม้เพื่อสื่อถึงความสงบอันไร้ซึ่งสงครามมาเสมอ ยาน โรเซ่ เองก็ยังคงยืนหยัดต่อต้านการทำสงครามนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แต่ดูเหมือนว่าพลังดอกไม้จะต้านทานพลังอำนาจทางทหารและความขัดแย้งของขั้วมหาอำนาจโลกไม่เคยไหวเลย เธอเคยกล่าวว่า “ฉันยอมแพ้ในสิ่งที่ฉันเชื่อไปมาก” สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโลกที่เต็มไปด้วยสงคราม ไม่เคยแยแสความสงบ ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชน ในปี 2022 ที่กำลังเกิดเหตุการณ์การรุกรานครั้งสำคัญของมวลมนุษยชาติอีกครั้ง
WATCH
การใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องความสงบเสมอมา / ภาพ: Vintage Everyday
ภาพดอกไม้จากปี 1967 ยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนยึดถือ แต่ผู้คนกำลังหมดศรัทธากับการเรียกร้องเหล่านั้นหรือไม่ ในยามที่ผู้คนหลั่งน้ำตาเรียกหาความสงบ ผู้ทรงอิทธิพลในเวทีโลกกำลังมองข้ามคนเหล่านั้นและเดินหน้าเพื่อเป้าหมายบางอย่างเกินไปหรือเปล่า “จากการหลั่งน้ำตาเพื่อหยุดยั้ง สู่การหลั่งเลือดในสนามรบ และจบด้วยการหลั่งน้ำตาอีกครั้งให้กับความสูญเสีย” สงครามก็เป็นแบบนี้มาตลอดมิใช่หรือ...ไม่ว่าจะยื่นดอกไม้ ยืนขวางรถถัง หรือแม้แต่การหลั่งน้ำตาเรียกร้องของประชาชน ทั้งหมดถูกตีค่าให้เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ถูกเมินเฉยไปเสียทุกครั้ง มันจะดีกว่าไหมถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเลย ไม่ใช่เพราะให้ทำสงครามฆ่าฟันกันตามอำเภอใจ แต่ผู้เขียนกำลังบอกว่าถ้าไม่มีสงคราม “ภาพประวัติศาสตร์” เหล่านี้คงไม่เคยเกิดขึ้น และถึงแม้มันจะเกิดขึ้นมาแล้วทำไมการศึกษาประวัติศาสตร์ยังทำให้บางกลุ่มยังต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย นั่นเป็นคำถามที่ถามกี่ครั้งก็บาดใจว่า “ดอกไม้จะต้องชโลมเลือดตกลงดินอีกกี่ครั้งโลกนี้ถึงจะหมดสิ้นสงครามเสียที”
ข้อมูล:
WATCH