FASHION

ย้อนเจาะลึกแฟชั่นโชว์ฉบับดั้งเดิม ต้นแบบโชว์โอตกูตูร์ครั้งแรกในรอบ 53 ปีของ Balenciaga

บรรยากาศความคลาสสิกที่ไม่ได้ส่งผ่านเสื้อผ้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงรูปแบบการจัดโชว์ที่พาเราย้อนเวลาสู่ความดั้งเดิมในอดีต

     หากใครได้ชมโชว์ Balenciaga คอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ ฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2021 ที่ Demna Gvasalia ตัดสินใจนำแบรนด์กลับมารังสรรค์เสื้อผ้าตัดเย็บชั้นสูงอีกครั้งในรอบ 53 ปี และเป็นคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ครั้งที่ 50 พอดิบพอดี หลายฝ่ายต่างลุ้นว่าโคตรดีไซเนอร์แห่งวงการสตรีตแบบเดมน่าจะรังสรรค์เสื้อผ้าโอตกูตูร์ออกมารูปแบบใด และการจัดโชว์จะมีลูกเล่นอะไรให้เราตื่นตาตื่นใจบ้าง ทว่าทั้งหมดกลับตาลปัตร เพราะเขาสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการจัดโชว์ที่มีกลิ่นอายคลาสสิกดั้งเดิม ราวกับพาเราเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ยุคทองเรื่องการตัดเย็บของแบรนด์อีกครั้ง


     ในคอลเล็กชั่นนี้หัวเรือใหญ่คนปัจจุบันของแบรนด์บาเลนเซียก้าได้นำเอาคลังชุดเก่าในอดีตของแบรนด์มาสร้างสรรค์ใหม่เพิ่มความโมเดิร์นตามยุคสมัยอย่างพอเหมาะพอดี มีการหยิบเอาวัสดุหลากหลายรูปแบบ พร้อมกับเสื้อผ้าหลายประเภทมาผสมผสานกันอย่างลงตัว อีกทั้งยังใส่ใจเรื่องการตัดเย็บสมกับเป็นเสื้อผ้าแบบโอตกูตูร์ฉบับดั้งเดิม ทั้งหมดถูกนำเสนอผ่านโชว์ที่ไร้เสียงดนตรี เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ซึมซับความงดงามของเสื้อผ้าและเครื่องประดับอย่างเต็มที่โดยไม่มีสิ่งอื่นมาดึงความสนใจ สะท้อนตัวตนกูตูริเยร์มือฉมังก์ของผู้ก่อตั้งได้อย่างดีเยี่ยม



WATCH




การจัดพรีวิวให้ลูกค้าคนสำคัญชมเสื้อผ้าบนเรือนร่างนางแบบอย่างใกล้ชิดของห้อง House of Worth / ภาพ: Shasha Mossi

     โชว์ไร้เสียงเพลงมาพร้อมการเดินแบบที่เน้นเรื่องเสื้อผ้า และถ่ายทอดความตั้งใจของช่างฝีมือแบบนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่หาไม่ง่ายในยุคปัจจุบัน เพราะวิธีการนำเสนอยุคใหม่เต็มไปด้วยการบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลัง มีวิธีการผูกโยงเรื่องราวผ่านฉาก เสียงเพลง แสงสี และเสื้อผ้า ตามคำกล่าวเรื่องการทำแฟชั่นโชว์ยุคใหม่ว่า “Storytelling is key” วิธีการดังกล่าวอัดแน่นเต็มแฟชั่นวีกจนเรื่องราวอาจล้นเกินสาวกแฟชั่นจะจดจำได้อย่างครบถ้วน เมื่อมีโชว์ที่แสดงความสวยงามของเสื้อผ้าตามเนื้อแท้ของโลกแฟชั่น จากความเก่าแก่คลาสสิกกลายเป็นความแปลกใหม่ที่ทำให้หลายคนประทับใจ จนตอนนี้โชว์บาเลนเซียก้าคอลเล็กชั่นนี้กลายเป็นคอลเล็กชั่นในความทรงจำของคนยุคใหม่ และเป็นการย้อนช่วงเวลาแห่งความยอดเยี่ยมของคนรุ่นเก่าที่รอคอยคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์จากห้องเสื้อเก่าแก่แห่งนี้มานานกว่า 5 ทศวรรษ

เบื้องหลังการเตรียมงานของ House of Worth / ภาพ: leiden.nl

     จุดเริ่มต้นของแฟชั่นโชว์ยุคเก่านั้นคงต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 1858 ที่ Charles Frederick Worth กูตูริเยร์ชาวอังกฤษผู้รังสรรค์เสื้อผ้าให้กับบุคคลชนชั้นสูงในขณะนั้นได้เปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้าคนสำคัญ เมื่อก่อนชุดสั่งตัดพิเศษจะถูกวางโครงร่างและใส่รายละเอียดบางส่วนให้เห็นภาพบนหุ่นจำลอง แต่ชาร์ลส์ไม่ได้ทำเช่นนั้น เพราะเขาสร้างความตกตะลึงด้วยการนำเสนอเสื้อผ้าของเขาบนนางแบบซึ่งเป็นคนจริงๆ ครั้งแรกของโลก  นับเป็นก้าวสำคัญที่นางแบบถือกำเนิดขึ้น ก่อนจะมีบทบาทสำคัญในวงการแฟชั่นมาอย่างยาวนาน และจุดนี้เองก็สร้างชื่อให้กับ “House of Worth” เพราะแฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามทั่วไป แต่ยังหมายถึงวัฒนธรรมในการเสพแฟชั่นเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งไม่ต่างจากการชมงานศิลปะในแขนงอื่นๆ

บรรยากาศภายในร้าน House of Worth กลางกรุงปารีสที่ใช้ในการจัดพรีวิวเสื้อผ้าด้วยนางแบบ / ภาพ: AVictorian

     ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษดูเหมือนว่าวิธีการนำเสนอเสื้อผ้าบนเรือนร่างนางแบบจะได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ห้องเสื้อต่างๆ ล้วนใช้ระบบนี้ในการต้อนรับลูกค้าและสร้างเป็นวัฒนธรรมร่วมจนเป็นรากฐานสำคัญให้กับแฟชั่นทุกยุคในเวลาต่อมา ทว่าการแสดงบนเรือนร่างนางแบบอาจไม่ใช่คำตอบเดียว ห้องเสื้อจากทั้งอเมริกาและฝรั่งเศสจึงวิวัฒนาการการชมแฟชั่นในรูปแบบที่ล้ำหน้าขึ้นด้วยการจัดแฟชั่นโชว์ย่อมๆ ให้นางแบบเดินเผยโฉมลุคเด่นต่างๆ ต่อหน้าลูกค้าคนสำคัญภายในห้องเสื้อของแต่ละแบรนด์ ซึ่งต้นฉบับของแฟชั่นโชว์นี้สร้างคุณค่าให้กับแฟชั่นชั้นสูงอย่างมาก และดีไซเนอร์ทั่วโลกต่างยอมรับว่าชาร์ลส์คือผู้บุกเบิกและให้กำเนิดนิยามของ “High-Fashion/High-Design” อย่างแท้จริง

แฟชั่นโชว์ที่คล้ายคลึงกับโชว์ยุคปัจจุบันที่สุดในช่วงยุค 1910s  โดย Mary Evans / ภาพ: The Italian Rêve

     ต่อมาก็ได้เกิดข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ที่หาข้อสรุปได้ยากว่าแฟชั่นโชว์เต็มรูปแบบเกิดขึ้นที่ไหนกันแน่ระหว่างปารีสกับนิวยอร์ก ส่วนมากในเมืองหลวงของโลกแฟชั่นฝั่งยุโรปมักนำเสนอโชว์แฟชั่นแบบส่วนตัวภายในห้องเสื้อมาตั้งแต่ได้รับอิทธิพลมาจากชาร์ลส์ ทว่าปี 1903 คอนเซปต์ดังกล่าวก็กระจายไปถึงสหรัฐอเมริกาที่ร้าน Ehrich Brothers ซึ่งเชื่อกันว่านี่คือแฟชั่นโชว์ครั้งแรกของฝั่งอเมริกาและอาจจะเป็นโชว์เต็มรูปแบบของโลก (เรื่องหลังยังไม่มีข้อมูลยืนยัดที่แน่ชัด) หลังจากนั้นเป็นต้นมา ยุค 1910s ก็กลายเป็นยุคทองที่เริ่มมีแฟชั่นโชว์เกิดขึ้นมากมาย โดยส่วนใหญ่จะจัดขึ้นช่วงเวลาอาหารกลางคืนหรืออาฟเตอร์นูนที  ซึ่งข้อถกเถียงที่ไม่มีการระบุแน่ชัดนี้ถูกโต้แย้งจากฝั่งยุโรป เพราะบันทึกส่วนใหญ่กล่าวถึงการจัดแฟชั่นโชว์ของฝั่งอเมริกาว่าได้รับแรงบันดาลมาจาก “พาเหรดแฟชั่น” ของห้องเสื้อกูตูร์ในปารีส ก่อนที่ต่อมาแฟชั่นโชว์ทั่วโลกจะมีการปรับรูปแบบให้เหมือนละครเวทีมากยิ่งขึ้นด้วยการเซตธีมพร้อมกับมีเสียงบรรยายตลอดทั้งโชว์

รูปแบบการจัดพรีวิวอย่างใกล้ชิดภายในห้องเสื้อของแบรนด์ Jeanne Paquin ช่วงยุค 1910s / ภาพ: CTG Publishing

     ถ้าถามถึงแฟชั่นโชว์ยุคแรกต้องนึกถึงบรรยากาศความเป็นส่วนตัวและใกล้ชิดกันอย่างถึงที่สุด เพราะส่วนใหญ่แฟชั่นโชว์จัดเพื่อลูกค้าคนสำคัญได้พรีวิวสินค้าของแต่ละคอลเล็กชั่นก่อนใคร ดังนั้นแบรนด์ต้องสร้างความประทับใจผ่านทุกแง่มุมอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ผู้คนสนใจเรื่องรายละเอียดความประณีตตั้งแต่ภาพใหญ่ไปจนถึงจุดเล็กๆ การนำเสนอทั้งหมดจึงเน้นไปที่เสื้อผ้าเป็นหลัก ไม่มีเสียงเพลงประกอบ หรืออาจจะมีเสียงบรรยายรายละเอียดของแต่ละชุดเพื่อเพิ่มข้อมูลให้กับเหล่าแขกคนสำคัญได้รับชมแต่ละชุดอย่างมีอรรถรสเพิ่มมากขึ้น

Eleanor Lambert ผู้อยู่เบื้องหลังการกำเนิดนิวยอร์กแฟชั่นวีก / ภาพ: Grazia

     ปารีสยังคงเป็นเมืองหลักในการสร้างสรรค์แฟชั่นโชว์ ทว่าปี 1943 เมื่อสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 รุนแรงมากในฝรั่งเศส จุดศูนย์กลางแฟชั่นแห่งใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในมหานครนิวยอร์กด้วยชื่อ “Press Week” จัดสรรโดย Eleanor Lambert ซึ่งสัปดาห์สำหรับสื่อนี้เป็นจุดเริ่มต้นของนิวยอร์กแฟชั่นวีก แฟชั่นโชว์เริ่มมุ่งเน้นเรื่องธุรกิจในวงกว้างมากขึ้น มีการจัดแจงสื่อให้ได้รับชมเพื่อนำเสนอข่าวด้านแฟชั่นอย่างต่อเนื่อง แฟชั่นโชว์ยุคนี้จึงเหมือนเวทีสำหรับขายของ ไม่ใช่เฉพาะกับลูกค้าวีไอพี แต่หมายถึงการสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ ผ่านโชว์ที่มีรูปแบบเป็นสาธารณะมากขึ้น

โชว์ของ Jacuqes Fath ที่แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดระหว่างผู้ชมและนางแบบ / ภาพ: Nina Leen - Life Picture Collection

     ถึงแม้แฟชั่นโชว์จะมีการปรับรูปแบบรองรับผู้ชมจำนานมากขึ้นแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นโชว์ในพื้นที่กว้าง ยิ่งใหญ่อลังการเต็มไปด้วยเซตติ้งต่างๆ นานาขนาดนั้น เพราะหลังสงครามจบลงแฟชั่นในปารีสก็กลับมาคึกคักอย่างรวดเร็ว และแฟชั่นโชว์ก็กำเนิดขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยยุคนี้ยังจัดโชว์ภายในร้านของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังคงรูปแบบความใกล้ชิดในชนิดที่ยากจะเห็นในยุคนี้ ตัวอย่างเช่นโชว์ของ Givenchy และ Jacques Fath ที่นางแบบถูกรายล้อมด้วยแขกฟรอนต์โรว์ในชนิดขาชนขาเลยทีเดียว

บรรยากาศจากโชว์ The Battle of Versailles ในปี 1973 ที่ถูกขนานนามว่าเป็นโชว์แห่งศตวรรษ / ภาพ: Reginald Gray

     หลังจากยุคทองของความใกล้ชิดกำลังหมดลง ช่วงยุค 1970s มีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่โลกแฟชั่นต้องจารึกคือแฟชั่นโชว์มีแพลตฟอร์มการเดินที่น่าตื่นเต้น มีการจัดเซตติ้งราวกับโชว์ในโรงละคร และถ้าใครทันดูหรือย้อนศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะเห็นแฟชั่นโชว์สุดยิ่งใหญ่ที่ดีไซเนอร์ชั้นนำจากฝั่งยุโรปและอเมริกาฟาดฟันกันด้วยความงดงามของเสื้อผ้าในโปรเจกต์ The Battle of Versailles หลังจากนั้นโลกแฟชั่นก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แฟชั่นโชว์คือการแสดงศิลปะที่เต็มไปด้วยลูกเล่นมากกว่าเดิม และจุดนี้ก็กลายเป็นรากฐานสำคัญในการสรรสร้างโชว์ของดีไซเนอร์ยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้

ความใกล้ชิดระหว่างผู้ชมกับนางแบบในโชว์ Givenchy เมื่อปี 1952 ที่เราอาจได้เห็นอีกครั้งเมื่อ Balenciaga หยิบเอารูปแบบการจัดโชว์ลักษณะนี้มาทำใหม่ในปี 2021 / ภาพ: Nat Farbman - Life Picture Collection

     ถึงตอนนี้แฟชั่นโชว์เดินมาไกลกว่าเดิมมาก จากพรีวิวแบบส่วนตัว สู่โชว์เล็กๆ ในห้องเสื้อ จนถึงวันนี้ที่แฟชั่นโชว์คือความอลังการที่แต่ละแบรนด์ยกทัพความงามทุกรูปแบบมานำเสนอต่อผู้ชมทั่วโลก เมื่อบาเลนเซียก้าหวนถึงความหลังอันงดงามเช่นในสมัยก่อนจึงถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสุดๆ และวันนี้ วันที่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด แฟชั่นโชว์จะมีการปรับรูปแบบกันอีกครั้งหรือไม่ ความอบอุ่นและรู้สึกพิเศษแบบดั้งเดิมจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่มากน้อยแค่ไหน สาวกแฟชั่นต้องคอยติดตามกันต่อไป และนี่คือตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่าแฟชั่นคือส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีพลวัติหมุนวนไม่ต่างจากรากฐานทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ด้านอื่นๆ ไม่แน่ตอนนี้โลกแฟชั่นอาจกำลังโหยหากลิ่นอายความหอมหวานในอดีตอีกครั้ง...

 

ข้อมูล:

vogue.co.uk

savoirflaire.com

theitalianreve.com

thehula.com

cnn.com

WATCH