สุดยอด 10 รุ่นมงกุฎแห่งประวัติศาสตร์การประกวดมิสยูนิเวิร์ส
FASHION

สุดยอด 10 รุ่นมงกุฎแห่งประวัติศาสตร์การประกวดมิสยูนิเวิร์ส

นี่คือเรื่องราวเบื้องหลังของมงกุฎทั้ง 10 รุ่นบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส

     จากรูปเคารพของเหล่าเทพเจ้าในยุคกรีกโบราณ เรายังได้เห็นใบมะกอกอันประดับดับประดาไว้ ไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงาม หากยังใช้เป็นเครื่องหมายบ่งสถานะชนชั้น เรื่อยต่อมาจนกลายเป็นมงกุฎสำหรับราชา และราชินี กระทั่งในปัจจุบันนี้ หนแห่งของมงกุฎยังขยายพื้นที่ออกไปเป็นทั้งเครื่องประดับชิ้นหนึ่งสำหรับสาวสังคมชั้นสูง และสำคัญที่สุดบนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์สตลอดกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา มงกุฎที่ว่านี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด และวิวัฒนาการถึง 10 รูปแบบ ที่โว้กจะขอพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปยลโฉมความงามของมงกุฎเหล่านี้บนเวทีอันทรงเกียรติแห่งนี้พร้อมกัน

 

The Romanov Imperial nupital crown

ภาพ : EverdayFacts     

 

     ไม่เป็นเพียงมงกุฏปฐมฤกษ์ของเวทีนางงามอันทรงเกียรติแห่งนี้ หากนี่ยังเป็นมงกุฏที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ของรัสเซีย เกี่ยวเนื่องกับกษัตริย์ซาร์แห่งราชวงศ์โรมานอฟที่ล่มสลาย ซึ่งเตรียมเอาไว้ให้กับหญิงสาวที่กำลังจะมาแต่งงานกับราชวงศ์ด้วยเช่นกัน หากหญิงสาวเพียงผู้เดียวที่ได้สวมมงกุฎนี้กลับเป็นนางงามจักรวาลคนแรกจากประเทศฟินแลนด์นามว่า Armi Kuusela ในปี 1952 โดยตัวมงกุฎประกอบไปด้วยเพชรทั้งหมด 1529 เม็ด รวมทั้งสิ้น 300 กะรัต

 

The Christiane Martel Crown

ภาพ : LionheartTV

 

     ด้วยดีไซน์ของมงกุฎรูปแบบนี้ที่คล้ายกับแผ่นโลหะสีบรอนซ์ ซึ่งถูกทำขึ้นมาจากทองสัมฤทธิ์ และนับเป็นรูปแบบมงกุฎในไม่กี่แบบที่แตกต่างจากมงกุฎอื่นตรงที่ไม่มีการประดับประดาด้วยคริสตัล หรือจิวเวลรีชิ้นอื่นแม้แต่น้อย  จึงทำให้เวลาที่นางงามได้สวมใส่แล้วนั้นเหมือนกับวันเดอร์วูแมนก็ไม่ปาน และนางงามจักรวาลผู้โชคดีคนนั้นก็คือ Christiane Martel นางงามจากเมืองน้ำหอม อย่างประเทศฝรั่งเศส และเป็นนางงามเพียงผู้เดียวที่ได้ครอบครองมงกุฎนี้ กระทั่งมีฉายาให้กับมงกุฎนี้ว่า The Christiane Martel Crown นั่นเอง

 

Star of the Universe




1 / 2

Miriam Steveson นางงามจักรวาลปี 1954 จากประเทศสหรัฐอเมริกาสวมใส่มงกุฎรุ่น Star of the Universe คนแรก / ภาพ : Carissa Gunawan


2 / 2

Linda Bement นางงามจักรวาลปี 1960 จากประเทศสหรัฐอเมริกาสวมใส่มงกุฎรุ่น Star of the Universe คนสุดท้าย / ภาพ : Youtube


     ด้วยรูปลักษณ์ของมงกุฎที่มีดวงดาวประดับอยู่จึงได้รับการขนานนามว่า Star of the Universe ที่สรรสร้างขึ้นจากทองคำ และแพลตินัม ประดับด้วยไข่มุกทั้งสิ้น 1000 เม็ด และความพิเศษของปีนี้ก็คือทางกองประกวดได้ตั้งกติกาใหม่ที่ว่า ผู้ชนะการประกวดไม่สามารถครองมงกุฎได้ตลอดไปเหมือนกับสองปีแรกที่ผ่านมา ส่งผลให้สุดท้ายแล้วมงกุฎดวงดาวแห่งจักรวาลนี้จึงมีสาวงามผู้ชนะการประกวดได้ครอบครองถึง 7 คนด้วยกัน ตั้งแต่ปี 1954 - 1960 อีกทั้งทางกองประกวดยังเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกครั้งที่นางงามต้องไปออกงานพร้อมกับมงกุฎด้วย

 

The 10th Anniversary Crown

1 / 2

Marlene Schmidt นางงามจักรวาลปี 1961 จากประเทศเยอรมนีสวมใส่มงกุฎรุ่น The 10th Anniversary Crown คนแรก / ภาพ : IMG Universe LLC


2 / 2

Norma Nolan นางงามจักรวาลปี 1962 จากประเทศอาเจนตินาสวมใส่มงกุฎรุ่น The 10th Anniversary Crown คนสุดท้าย / ภาพ : Flickr


     เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 10 ปีของการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ทางกองประกวดจึงได้สร้างปรากฎการณ์ให้แฟนนางงามได้จดจำ ด้วยการสั่งทำมงกุฎใหม่ โดยขึ้นโครงจากทองคำขาวบริสุทธิ์ แตกต่างด้วยการประดับไรน์สโตน หรือพลอยเทียม ไม่ใช่ไข่มุกอย่างที่เคยเป็นมา พร้อมดวงดาวห้าแฉกบนยอดของมงกุฎโดดเด่น และด้วยความงามนี้จึงกลายเป็นที่ฮือฮาของแฟนนางงามไปโดยปริยาย

 

The Sarah Coventry Crown

1 / 3

Ieda Maria Vargas นางงามจักรวาลปี 1963 จากประเทศบราซิลสวมใส่มงกุฎรุ่น The Sarah Conventry Crown คนแรก / ภาพ : Luz Elenalasta


2 / 3

อาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลปี 1965 สาวไทยเพียงคนเดียวที่ได้สวมมงกุฎรุ่น The Sarah Conventry Crown / ภาพ : missosology


3 / 3

Kerry Anne Wells นางงามจักรวาลปี 1972 จากประเทศออสเตรเลียสวมใส่มงกุฎรุ่น The Sarah Conventry Crown คนสุดท้าย / ภาพ : Queenysmar


     หลังจากที่มงกุฎมิสยูนิเวิร์สประดับด้วยดวงดาวมาเป็นเวลานาน ก็ถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงสู่การยกย่องความเป็นผู้หญิงอย่างเต็มตัว ด้วยมงกุฎ The sarah Coventry Crown อันมีจุดเด่นอยู่ที่รูปร่างของหญิงสาวที่กำลังถือถือคฑาประดับอยู่ที่กลางมงกุฎ ซึ่งเป็นรูปร่างของหญิงสาวเดียวกันกับตราสัญลักษณ์ในการประกวดของเวทีอันทรงเกียรติแห่งนี้ อีกทั้งมงกุฎรุ่นนี้ยังได้รับการกล่าวขานว่าเป็นมงกุฎแห่งความคลาสสิกรุ่นหนึ่งที่เคยมีมา จึงถูกใช้งานยาวตั้งแต่ปี 1963 - 1972 รวมนางงามที่เคยสวมมงกุฎรุ่นนี้ทั้งหมด 10 คน หนึ่งในนั้นคือสาวไทยอย่าง อาภัสรา หงสกุล มิสยูนิเวิร์สคนแรกของประเทศไทย ในปี 1965 นั่นเอง

 

The Chandelier Crown

1 / 3

Margarita Moran นางงามจักรวาลปี 1973 จากประเทศฟิลิปปินส์สวมใส่มงกุฎรุ่น The Chandelier Crown คนแรก / ภาพ : ranker


2 / 3

ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางงามจักรวาลปี 1988 สาวไทยเพียงคนเดียวที่ได้สวมมงกุฎรุ่น The Chandelier Crown / ภาพ : MIME


3 / 3

Denise Quiñones นางงามจักรวาลปี 2001 จากประเทศปวยโตริโกสวมใส่มงกุฎรุ่น The Chandelier Crown คนสุดท้าย / ภาพ : awardgoesto


     นี่คือมงกุฎในตำนานที่ยังไม่มีมงกุฎรุ่นไหนเทียบได้ ด้วยความงามอย่างคลาสสิกที่ถูกดัดแปลงมากจากมงกุฎรุ่นก่อนหน้า The Sarah Coventry Crown โดยเปลี่ยนลวดลายรอบวงมงกุฎ อีกทั้งยังสามารถปรับขนาดตามศรีษะของนางงามได้ เพื่อความสะดวกมากยิ่งขึ้น และถูกใช้กับนางงามผู้ชนะการประกวดติดต่อยาวนานตั้งแต่ปี 1974 - 2001 โดยมีนางงามทั้งหมด 28 คนที่เคยได้สวมมงกุฎนี้ หนึ่งในนั้นคือสาวไทยผู้สร้างตำนานความสัมพันธ์ระหว่างนางงาม และเด็กบนเวทีโลกอย่าง ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก มิสยูนิเวิร์สคนที่สองของประเทศไทย ในปี 1988

 

The Mikimoto Crown

1 / 3

Oxana Fedorova นางงามจักรวาลปี 2002 จากประเทศรัสเซียสวมใส่มงกุฎรุ่น The Mikimoto Crown คนแรก / ภาพ : kimguarnes


2 / 3

Natalie Glebova นางงามจักรวาลปี 2005 จากประเทศแคนาดาสวมใส่มงกุฎ The Mikimoto Crown เมื่อครั้งที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประกวด / ภาพ : missosology


3 / 3

Demi-Leigh Nel-Peters นางงามจักรวาลปี 2017 จากประเทศอัฟริกาใต้สวมใส่มงกุฎรุ่น The Mikimoto Crown คนล่าสุด/ ภาพ : missuniverseorganisation


     มงกุฎ Mikimoto นี้ ก่อนจะกลายมาเป็นมงกุฎขวัญใจแฟนนางงามก็ยังเคยถูกตำหนิมาก่อน เมื่อในปี 2002 นั้น Mikimoto ได้ประกาศว่าจะเป็นสปอนเซอร์ในการทำมงกุฎให้กับเวทีการประกวดด้วยตัวเอง หากเมื่อมงกุฎขนนกนี้ปรากฏโฉมก็ทำให้แฟนนางงามที่เคยครหาลืมมงกุฎรุ่นคลาสสิกไปได้อย่างสนิท หันมาชื่นชมถึงความงามของดีไซน์ที่แตกต่าง กะทัดรัด หากยังคงความสง่างามได้อย่างน่าเหลือเชื่อ โดยมงกุฎมิกิโมโตะ ได้รับการออกแบบโดย โทโมฮิโระ ยามาจิ ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นจากแบรนด์ไข่มุกชื่อดัง Mikimoto อันได้รับแรงบันดาลใจมาจากขนนกฟินิกซ์ ตัวมงกุฏทำด้วยทองคำขาวบริสุทธิ์ประดับเพชรทั้งหมด 800 เม็ด รวม 18 กะรัต และไข่มุกอีก 120 เม็ด เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 50 ปีของเวทีมิสยูนิเวิร์สอีกด้วย ถูกใช้ในช่วงปี 2002 - 2007 ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งในปีล่าสุด 2017 นั่นเอง

 

CAO Fine Jewelry Crown

ภาพ : La Pensa San Diego

 

     มงกุฎจากสปอนเซอร์ CAO Fine Jewelry ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับอัญมณีในประเทศเวียดนาม ที่ทำขึ้นจากทองคำขาว และทองเหลืองผสมกันทั้งหมด 18 กะรัต ประดับด้วยเพชรใสทั้งสิ้น 30 กะรัต พร้อมด้วยเพชรสีคอนยัค, หินควอตซ์ และพลอยมอร์กาไนต์ อีกทั้งความพิเศษก็คือ มีนางงามจักรวาลเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ได้ครอบครองคือ Dayana Mendoza จากประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งเข้ากับชุดราตรีสีเหลืองของเธอได้อย่างพอดิบพอดี นับเป็นมงกุฎที่มีสีแปลกตา อีกทั้งยังมีขนาดเล็กกว่ามงกุฏที่เคยมีมาบนเวทีอันทรงเกียรติแห่งนี้ด้วย

 

Peace Crown by Diamond Nexus Labs

1 / 2

Stefanía Fernández นางงามจักรวาลปี 2009 จากประเทศเวเนซูเอล่าสวมใส่มงกุฎรุ่น Peace Crown by Diamond Nexus Labs คนแรก / ภาพ : reuters


2 / 2

Gabriel Isler นางงามจักรวาลปี 2013 จากประเทศเวเนซูเอล่าสวมใส่มงกุฎรุ่น Peace Crown by Diamond Nexus Labs คนสุดท้าย / ภาพ : Getty


     หลังจากที่เวทีมิสยูนิเวิร์สเริ่มมีกระแสมากยิ่งขึ้น สื่อ และสังคมจึงเริ่มตั้งคำถามถึงความไร้สาระของการประกวดนางงามมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ในยุคนั้นเวทีมิสยูนิเวิร์สยังต้องสู้เพื่อฝ่าฟัน และพิสูจน์ตัวตนว่านางงามทำได้มากกว่าการใส่ชุดว่ายน้ำ หรือชุดราตรีเดินยิ้มสวยๆ แต่ยังสามารถทำอะไรเพื่อสังคมได้อีกมาก สิ่งหนึ่งที่ทางกองประกวดใช้เป็นสื่อในการพิสูจน์ตัวตนนั่นคือมงกุฎ โดยในปี 2009 เวทีแห่งนี้ได้เปลี่ยนมงกุฎครั้งใหม่ ซึ่งจัดทำโดย Diamond Nexus Labs ด้วยเม็ดหินสังเคราะห์ที่ไม่ทำลายธรรมชาติเกือบ 1400 เม็ด อีกทั้งยังประดับทับทิมสีแดงเพื่อเป็นการสื่อถึงการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อ HIV อีกด้วย

 

The DIC Crown

1 / 3

Paulina Vega นางงามจักรวาลปี 2014 จากประเทศโคลอมเบียสวมใส่มงกุฎรุ่น The DIC Crown คนแรก / ภาพ : AFP


2 / 3

Pia Wurtzbach นางงามจักรวาลปี 2015 จากประเทศฟิลิปปินส์สวมใส่มงกุฎรุ่น The DIC Crown ในเหตุการณ์ประกาศผู้ชนะการประกวดผิด / ภาพ : philstarglobal


3 / 3

Iris Mittenaere นางงามจักรวาลปี 2016 จากประเทศฝรั่งเศสสวมใส่มงกุฎรุ่น The DIC Crown คนสุดท้าย / ภาพ : reuters


     ทุกคนคงจำได้ดีเพราะนี่เป็นมงกุฎที่เคยอยู่ในสถานการณ์ช็อกโลกกับการประกาศรางวัลผู้ชนะการประกวดผิดในปี 2015 หากแท้จริงแล้วมงกุฎ The DIC Crown ได้ปรากฎโฉมก่อนหน้านั้นแล้ว 1 ปี ซึ่งเป็นมงกุฎที่จัดทำโดย Diamond International Corporation (DIC) ที่มีความโดดเด่นอยู่ที่แท่งเหลี่ยมไล่ระดับที่สื่อถึงเหล่าตึกสูงในมหานครนิวยอร์ก สถานที่ตั้งขององค์กรการประกวด และสีน้ำเงินที่ได้จากการประดับด้วยแซฟไฟร์สีน้ำเงินที่แปลกตาไปจากมงกุฎที่เคยมีมา โดยมงกุฎรุ่นนี้ถูกใช้ในปี 2014 - 2016 ที่ผ่านมา

 

WATCH

 
Close menu