FASHION
เปิดเรื่องราวการฉีกกฎเกณฑ์ของ Elsa Schiaparelli ที่กล้าใช้ซิปติดบนเสื้อผ้าโอตกูตูร์!เมื่อ Elsa Schiaparelli นำเสนอความขบถของตัวเองด้วยความน่าสนใจของเสื้อผ้าโดยไร้ซึ่งข้อจำกัด แม้แต่เรื่องการใช้ซิปก็มิอาจขวางกั้นเป็นปัญหาได้ |
ถ้าถามว่าเสื้อผ้าโอตกูตูร์ควรเป็นแบบไหน แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่มักคิดถึงความละเอียดในการตัดเย็บที่เข้าขั้นประณีต การใส่รายละเอียดที่ทำด้วยมือ ช่างฝีมือลงความตั้งใจไปเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ทว่ามีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อว่า “Elsa Schiaparelli” ไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะความขบถที่ฉีกกฎจนกลายเป็นตำนานดีไซเนอร์นำเอา “ซิป” มาใช้เป็นองค์ประกอบของเสื้อผ้าโอตกูตูร์ในแบบที่ไม่มีใครคาคดิด จุดเริ่มต้นมันเกิดขึ้นอย่างไรหาคำตอบได้ที่นี่
เสื้อถักมีลวดลายของ Schiaparelli ที่เป็นเอกลักษณ์แจ้งเกิดของห้องเสื้อ / ภาพ: Chicandcultural
ต้องเริ่มทำความเข้าใจก่อนว่าเอลซ่าเป็นหญิงสาวที่สนุกกับการทำเสื้อผ้าโดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มลูกเล่นและจัดสัดส่วนไม่เหมือนคนอื่น ความน่าสนใจอยู่ตรงการหยิบเอารายละเอียดเสื้อผ้าหลายๆ อย่างมากผสมผสานเข้าด้วยกันแม้หลายคนอาจเคยมองว่าสิ่งเหล่านั้นควรแยกออกจากกันก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นไอเท็มชิ้นโบว์แดงอย่างเสื้อนิตถักมือลวดลายโบว์หรือผ้าพันคอต่างๆ เพราะปกติเสื้อนิตมักเรียบง่ายไร้ลวดลาย หากจะเติมความสนุกก็เติมผ่านแอ็กเซสเซอรี่ ทว่าเอลซ่ามิได้คิดเช่นนั้น เธอพร้อมเปิดโลกแฟชั่นใบใหมที่บ่งบอกว่าของหลายอย่างอยู่ด้วยกันได้ มากไปกว่าลวดลายเชื่อไหมว่าดีไซเนอร์ในตำนานคนนี้รังสรรค์ชุดนิตถักครบทุกรูปแบบตั้งแต่ตัวจิ๋วสำหรับชายหาด ชุดกันหนาวสำหรับสกี และชุดสำหรับงานกลางคืนเลยทีเดียว
ซิปถูกเผยให้เห็นอย่างชัดเจนในชุดของ Schiaparelli / ภาพ: Collectors Weekly
แต่ที่ทำให้คนตื่นตกใจมาก(โดยเฉพาะสมัยก่อน)คือการใช้ซิปใส่ในเสื้อผ้า หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงแปลกจนเราต้องพูดถึง เอลซ่าไม่ได้แค่ใช้ซิป แต่ดึงซิปมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของเสื้อผ้าที่จะนำเสนอไปพร้อมกับซิลูเอต การทำแพตเทิร์น เนื้อผ้า และสีสัน ลองสังเกตว่าแม้สมัยนี้ซิปจะไม่ใช่ความแปลกประหลาดต้องหลบซ่อน แต่ชัดส่วนใหญ่ซิปก็มักอยู่ในที่ซ่อนได้ มีการใช้ขอบผ้าซ่อนไว้ตลอด ทั้งนี้เพื่อความเรียบเนียนของชุด แต่เอลซ่าปฏิเสธแนวคิดการซ่อนและงัดมันออกมาเพิ่มความสวยงามตามมุมมองของเธอเอง
WATCH
รอยซิปที่ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเธอตั้งใจนำเสนอมันออกมา / ภาพ: Vintage by Rosemaine
“ชาปาเรลลีทำชุดใส่ซิปก่อนจะมีซิปพลาสติกเสียอีก!” ย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์แฟชั่น เอลซ่าเปิดตำนานการใช้ซิปในชุดระดับโอตกูตูร์ของแบรนด์ตัวเองในปี 1929 เธอไม่ได้แค่ใช้แต่ผลักดันมันออกสู่สายตาผู้ชมอย่างไม่หลบซ่อน เปรียบเสมือนเอกลักษณ์หนึ่งเลยก็ว่าได้ อย่างที่กล่าวไปว่าโดยปกติเสื้อผ้าโอตกูตูร์จะเก็บรายละเอียดแทบทุกอย่างให้เนียนกริบเสมอ ซิปเป็นจุดที่ทำให้ชุดไม่เนียน ไม่สมบูรณ์เพอร์เฟกต์ แต่เอลซ่านิยามความสวยอย่างสมบูรณ์ใหม่โดยการใส่มันลงไปอย่างโจ่งแจ้ง
ซูมรายละเอียดกับซิปแบบโบราณที่ถูกใช้บนชุดของ Schiaparelli / ภาพ: Couture Allure
ยิ่งกว่าการนำเสนออย่างโจ่งแจ้งตรงไปตรงมาแล้วนั้น เอลซ่ายังล้ำหน้าวงการเสื้อผ้าเรื่องการใช้ซิปอย่างมาก เพราะเมื่อปี 1929 ที่เอลซ่าเริ่มใช้ซิปบนเสื้อผ้าโลกยังไม่มีซิปพลาสติกที่เราคุ้นเคยเลยด้วยซ้ำ ยังคงเป็นซิปโลหะ เพิ่งมีการทดลองการทำซิปพลาสติกโดยบริษัท The Lightening Fastener Company of Great Britain and Canada ในปี 1932 และเริ่มมีการทำซิปพลาสติกสำเร็จจริงจังในปี 1934 โดยฝีมือของ YKK (ญี่ปุ่น), Hookless Fastener (อเมริกา) และ Éclair (ฝรั่งเศส) เท่านั้น นับว่าเอลซ่าก้าวล้ำก่อนตัวซิปเองจะเป็นสิ่งยอดนิยมในยุคต่อมาด้วยซ้ำ
Frances Drake (ขวา) สวมชุดที่ตัดเย็บอย่างประณีตแต่แทรกความขบถด้วยการใส่ซิป / ภาพ: Courtesy of I'd Give My Life
การทำให้เสื้อผ้าแตกต่างผ่านแนวคิดสุดขบถของเอลซ่านั้นอาจทำให้เหล่าฝั่งอนุรักษ์นิยมปวดหัวกันไปตามๆ กันเพราะการขึ้นแพตเทิร์นโดยวางตำแหน่งซิปไว้ตามจุดเห็นชัดต่างๆ มันช่างขัดกับแนวคิดการเก็บซ่อนอุปกรณ์สำหรับยึดติดเสื้อผ้าไว้มากเลยจริงๆ แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็กลายเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้แบรนด์ของเธอถูกพูดถึงและมีเอกลักษณ์อย่างมาก ปี 1933 Harry Houghton เสนอเงินกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ในสมัยนั้นเพื่อให้เธอใช้ซิปของบริษัทเขาทำเสื้อผ้า ดีไซเนอร์สาวทำเอาผู้คนตื่นตะลึงกับตำแหน่งและการใช้สีสัน เพราะซิปของเธอมันโดดเด่นมากจริงๆ พอมาถึงคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 1935-36 เอลซ่าก็ทำเรื่องเหนือความคาดหมายอีกด้วยการนำซิปมาประดับกลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของชุดเซตนั้นและกลายเป็นที่พูดถึงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แม้แต่ชุดซิลูเอตแนบเนื้อของห้องเสื้อแห่งนี้ยังมีการใส่ซิปเพิ่มรายละเอียดเข้าไปอย่างชัดเจน / ภาพ: Couture Allure
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเอลซ่าคือปีศาจของวงการแฟชั่น ไม่ใช่เพราะเธอน่ากลัวแต่เธอคิดงานได้ลึกล้ำกว่าหลายคนจะคาดคิด การกระทำหลุดกรอบที่เหมือนจะทำลายความสวยงามของแฟชั่นแต่กลับดึงเอาความผิดแปลกนั้นมานำเสนอได้อย่างมีมิติและสไตล์ ซิปเองไม่ใช่เรื่องแปลกและมีคนใช้มากมายจวบจนปัจจุบัน แต่การเลือกวิธีหรือรูปแบบการใช้ซิปคือความอัจฉริยะที่ไม่ใช่ใครก็ได้จะคิดถึง ถ้าวันนั้นไม่มีดีไซเนอร์คนนี้ เราอาจจะไม่ได้เห็นการเผยซิปบนเสื้อผ้าแบบยุคปัจจุบันก็ได้ ความซับซ้อนในการใช้ซิปแบบ Alexander McQueen อาจจะไม่ได้ถูกยอมรับและทำความเข้าใจเท่านี้มาก่อน โว้กขอรำลึกแด่การจากไปครบรอบ 47 ปี ของกบฎสุดโต่งแห่งวงการแฟชั่นอีกหนึ่งคน “เอลซ่า สเกียพาเรลลี”
ข้อมูล: Couture Allure, TrimLab, Vintage by Rosemaine, The Power House และ Schiaparelli
WATCH