FASHION
จากเด็กที่เรียนไม่จบ ทุนก็ไม่มี รื้อเสื้อเก่ามาตัด จนสร้างแบรนด์ไปไกลระดับโลก!“ชื่อแบรนด์ Dry Clean Only มันมาจากตอนนั้นเราไม่มีเงินสั่งผลิตป้ายชื่อ เราก็เลยแก้ปัญหาด้วยการซื้อป้ายสำเร็จรูปมาใช้เป็นชื่อแบรนด์ไปเลย” - ปฏิพัทธ์ ชัยภักดี, ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Dry Clean Only |
แบรนด์แฟชั่นไทยก้าวไปอีกขั้นเมื่อนิตยสารแฟชั่นประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง ‘โว้ก อเมริกา’ เขียนเชียร์ Dry Clean Only และยังยกย่องให้เป็นแบรนด์ที่พลิกโฉมเสื้อเก่าให้เป็นชิ้นงานล้ำค่า มาไกลขนาดนี้หลายคนคงเดาว่าคนทำต้องจบนอกหรือไม่ก็ทุนหนา แต่เรื่องจริงกลับตรงกันข้าม ‘ปฏิพัทธ์ ชัยภักดี’ หรือ ‘เบสท์’ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Dry Clean Only เริ่มทำแบรนด์จากร้านเล็กๆ ในจตุจักรด้วยเงิน 20,000 บาท เมื่ออ่านเรื่องนี้จบ ตัวคุณจะล้นไปด้วยแรงบันดาลใจและพลังเต็มเปี่ยม
ก่อนจะมาทำแบรนด์ Dry Clean Only ทำอะไร?
ปฏิพัทธ์: “เป็นนักเรียนแฟชั่นรุ่นแรกที่ ม. กรุงเทพฯ เรียนถึงแค่ปีสองก็ไปขอครูลาออก เพราะค่าเทอมมันแพง เราเลยออกมาหาประสบการณ์เอง มาขอพี่ข้าวโพด (ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘มันชูส์’) ทำงานเป็นผู้ช่วยเขา เราก็ฝึกแบบครูพักลักจำไปเรื่อยๆ เบสท์เชื่อว่าการฝึกและประสบการณ์มันสำคัญกว่ามหาฯลัย ประสบการณ์ข้างนอกนี่แหละที่มันจะสอนเราได้ดีที่สุด”
‘ปฏิพัทธ์ ชัยภักดี’ หรือ เบสท์ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Dry Clean Only / ภาพ: courtesy of Dry Clean Only
ตอนนั้นหาแรงบันดาลใจทำงานจากที่ไหน?
ปฏิพัทธ์: “เบสท์ชอบอ่านหนังสือ ชอบอ่านแม็กกาซีน ตอนเป็นเด็กเราไม่มีเงิน ก็ซื้อโว้กเก่าๆ เล่มละร้อยตามจตุจักร แล้วก็ชอบเปิดดู ศึกษาแฟชั่นมาตามนิตยสารนี่แหละ”
จุดเริ่มต้นที่มาทำแบรนด์ Dry Clean Only
ปฏิพัทธ์: “แต่ก่อนเป็นผู้ช่วยสไตลิสต์ เป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์ ซึ่งเรารู้ว่างานที่เราชอบจริงๆ สุดท้ายแล้วคือการทำเสื้อผ้า แต่เราไม่อยากทำเสื้อผ้าเหมือนคนอื่น ไม่อยากไปสำเพ็งเพื่อซื้อผ้า ไม่อยากรอช่าง ไม่อยากทำแพทเทิร์น ดังนั้นเบสท์เลยเริ่มจากเสื้อยืดเก่าๆ ที่มีในตู้ แล้วเอามาดัดแปลง อาจจะปักเพิ่มเข้าไป ใช้วัสดุที่ถูกที่สุดที่จะเราหาได้ อย่างสมัยนั้นเสื้อยืด Staying Alive ของโซดาดังมาก เราก็มีอยู่ในตู้ 4-5 ตัว เลยเพิ่มมูลค่าด้วยการปักลูกปัดเพิ่มเข้าไป เราขอเงินพ่อแม่มา 20,000 บาท แล้วก็มาเปิดร้านแรกเล็กๆ ที่จตุจักร”
ภาพ: อินสตาแกรม @drycleanonly_bkk
ที่มาของชื่อ Dry Clean Only
ปฏิพัทธ์: “ชื่อ Dry Clean Only มันมาจากตอนนั้นเราไม่มีเงินสั่งผลิตป้ายชื่อแบรนด์ เราก็เลยแก้ปัญหาด้วยการไปที่ร้านขายอุปกรณ์ตัดเย็บ แล้วก็ซื้อป้ายสำเร็จรูปมาใช้เป็นชื่อแบรนด์ไปเลย นึกออกไหมครับมันจะมีป้ายคำว่า Dry Clean Only ซึ่งแปลว่าให้ซักแห้งขายอยู่แล้ว อีกอย่างชื่อนี้ก็เป็นวลีที่คนพูดกันทั่วไป และจำง่าย”
ภาพ: อินสตาแกรม @drycleanonly_bkk
เสียงตอบรับของร้านแรกที่จตุจักร
ปฏิพัทธ์: “มันเป็นร้านที่เล็กมาก เล็กเสียจนมันมีความเอ็กซ์คลูซีฟ และมีเสน่ห์ของมันเอง ตอนนั้นสไตลิสต์ทุกคนต้องอยากมาหาเราที่ห้องเล็กๆ ในจตุจักร รุ่นพี่สไตลิสต์ทั้งหลายก็มาซื้อเสื้อเราเยอะมาก แล้วมีเสื้ออยู่ตัวหนึ่งไม่รู้ตอนนั้นเรานึกยังไงเหมือนกัน เอาเสื้อยืดมาตัดให้เป็นแขนกุด ปักไข่มุกลงไปแล้วก็ติดเข็มกลัด อยู่ดีๆ ริฮานน่าใส่เสื้อเราเฉยเลย ตอนนั้นพอรู้ก็ช็อก รู้สึกว่าสไตลิสต์เขาจะมาที่ร้านเรา แล้วก็ซื้อไปให้ริฮานน่าใส่”
ริฮานน่า สวมเสื้อทีเชิ้ตจาก Dry Clean Only เมื่อปี 2011 / ภาพ: courtesy of Dry Clean Only
จุดเริ่มต้นที่ได้ไปเมืองนอก
ปฏิพัทธ์: “ตอนทำร้านอยู่จตุจักรเราก็ขายไปเรื่อยๆ นึกอะไรได้ก็ทำ ไม่ได้มีหลักการอะไร จนกระทั่งมีตัวแทนจากญี่ปุ่นเขาสนใจ เลยติดต่อเรามาถามว่าอยากทำงานเป็นคอลเล็กชั่นไหม เขามีโชว์รูมอยู่ที่ญี่ปุ่น อยากเอาเสื้อผ้าเราไปวางขาย เราก็เลยคิดว่าเมื่อโอกาสมาขนาดนี้ทำไมเราจะไม่เอา จากคนที่ไม่เคยทำงานเป็นคอลเล็กชั่นเลยก็ต้องเริ่มทำ คอลเล็กชั่นแรกคือ Spring/Summer 2013”
พอไปญี่ปุ่นแล้วเป็นอย่างไร?
ปฏิพัทธ์: “เสียงตอบรับดีเกินคาด ปรากฏว่าพอแบรนด์ของเราไปได้ดีที่ญี่ปุ่น ตัวแทนที่โน่นก็โทรหาเราบอกว่า ‘ถึงเวลาที่เธอต้องไปปารีสแล้ว’ นี่เป็นจุดหนึ่งที่ส่งเราให้ไปไกลขึ้นอีกก้าว พอเปิดคอลเล็กชั่น Spring/Summer 2014 มา เราก็เริ่มไปขายที่ปารีสเลย ซึ่งเราก็แอบหวังลึกๆ ว่าอยากขายในโกแลตต์ (Colette) ซึ่งเป็นร้านคอนเซ็ปต์สโตร์ที่คนแฟชั่นต้องรู้จัก พอซีซั่น Autumn/Winter 2014 โกแลตต์ก็มาซื้อคอลเล็กชั่นเราไปขายจริงๆ และซื้อ 3 คอลเล็กชั่นซ้อน”
ดิสเพลย์ของ Dry Clean Only ที่ร้านโกแลตต์ ในปารีส / ภาพ: อินสตาแกรม @colette @drycleanonly_bkk
รู้สึกอย่างไรที่เห็นเสื้อผ้าเราขายในโกแลตต์?
ปฏิพัทธ์: “เหมือนฝันเป็นจริง เหมือนเราหลุดไปอีกโลกหนึ่งเลย รู้สึกว่า ‘เห้ย เรามาไกลขนาดนี้เลยหรอ’ จากร้านเล็กๆ ที่จตุจักร จากเรียนไม่จบ จากไม่มีเงินเลย วันนี้เสื้อเราไปอยู่ข้าง Mary Katrantzou, Christopher Kane และ Valentino คือมันมาไกลเกิน”
จุดเด่นของแบรนด์ Dry Clean Only
ปฏิพัทธ์: “ดีเอ็นเอของเราคือความ One-of-a-kind ไม่เหมือนใคร และความไม่เพอร์เฟ็กต์ การเสียดสี ล้อเลียน เบสท์อยากเสียดสีความหรูหรา ย้อนกลับไปตอนเด็กๆ ความหรูหราเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอ แต่เราจะทำอย่างไรถ้าอยากสัมผัสความหรูหรา สิ่งที่เราทำได้ก็คือการปักวัสดุต่างๆ อย่างลูกปัด ไข่มุก และอื่นๆ ลงบนเสื้อยืดตัวเก่าเพื่อเพิ่มความหรูเข้าไป ส่วนซิกเนเจอร์ของเราก็คือ ‘เสื้อเก่า’ และ ‘งานคราฟต์’ เบสท์อยากให้คนใส่ Dry Clean Only ผสมกับแบรนด์อื่น อาจจะใส่เสื้อเรากับกางเกง Vetements รองเท้า Balenciaga กระโปรง Céline เบสท์ไม่ได้ต้องการเห็น Dry Clean Only แบบหัวจรดเท้านะ แบบนั้นมันเพอร์เฟ็กต์ไป เราชอบความไม่เพอร์เฟ็กต์”
เสื้อทีเชิ้ต 'Smiley' จาก Dry Clean Only คอลเล็กชั่น Spring/Summer 2016 / ภาพ: courtesy of Dry Clean Only
ทำไมต้องเสื้อเก่า?
ปฏิพัทธ์: “มันมาจากพื้นฐานก่อน ครอบครัวเราเป็นชนชั้นกลาง ไม่ใช่คนรวย ดังนั้นการที่เราชอบแฟชั่นแล้วจะเสพมันได้ มันก็จะมีแค่ของวินเทจนี่แหละที่เราพอที่จะซื้อได้ ด้วยราคามันถูก แต่ถ้าเราจะทำเสื้อ เสื้อเราจะต้องอยู่ข้าง Lanvin หรือ Dries Van Noten ดังนั้นเราก็จะใส่ความหรูหราลงไปในเสื้อวินเทจของเราเสมอ”
ที่มาของโลโก้รูปนกอินทรี?
ปฏิพัทธ์: “เสื้อรูปนกอินทรีเป็นสิ่งแรกที่เบสท์หยิบออกมาจากตู้เสื้อผ้า เราซื้อมาใส่ตอนเด็กๆ ช่วงไปจตุจักรครั้งแรก ซื้อมามือสอง เราชอบเพราะมันมีความเป็นอเมริกา มีความฮาร์เลย์-เดวิดสัน ซึ่งเรารู้สึกว่ามันโคตรจะเป็นตัวเราเลย เวลาเราเห็นรูปนกมันก็เหมือนเป็นการเตือนตัวเองด้วยว่าเรามาจากไหน”
ภาพ: อินสตาแกรม @drycleanonly_bkk
ที่มาของ ‘บอมเมอร์แจ็กเกต’ ไอเท็มยอดฮิตของแบรนด์
ปฏิพัทธ์: “พอเราทำแบรนด์มาถึงจุดๆ หนึ่ง ทีเชิ้ตมันก็ค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว เราก็ต้องหาสิ่งใหม่ๆ ให้ธุรกิจ เบสท์เลยมองไปที่บอมเมอร์แจ็กเกต และคิดว่าเราน่าจะเล่นกับมันได้เยอะ ผลคือเสียงตอบรับดีมาก อินฟลูเอนเซอร์ในวงการเอาไปใส่กันหมด ตอนนั้นเรารับอีเมลสั่งซื้อจากร้านต่างๆ วันละ 10 ฉบับทุกวัน จนผลิตไม่ทัน ขายไปประมาณ 3,000 ตัวทั่วโลก (ผลิตด้วยมือทั้งหมด)”
บอมเมอร์แจ็กเกต จาก Dry Clean Only คอลเล็กชั่น Autumn/Winter 2016 / ภาพ: courtesy of Dry Clean Only
เสื้อที่ ‘บียอนเซ่’ ใส่
ปฏิพัทธ์: “บียอนเซ่ใส่เสื้อเราตอนไปโชว์ที่แมดิสันสแควร์การ์เด้นปี 2016 สไตลิสต์เขามาซื้อเองเลย พอเราเห็นเราก็ช็อกว่าเค้าใส่จริงๆ ที่เห็นเซเลบริตี้หลายคนใส่เสื้อเรา เราไม่เคยส่งให้เขาเลยนะ เขาซื้อไปใส่เอง มันเลยเป็นความภูมิใจตรงนี้ด้วย”
บียอนเซ่ สวมเสื้อทีเชิ้ตจาก Dry Clean Only ไปโชว์ที่แมดิสันสแควร์การ์เด้นเมื่อปี 2016 / ภาพ: courtesy of Dry Clean Only
ในวันที่ ‘โว้ก อเมริกา’ ติดต่อมาขอสัมภาษณ์
ปฏิพัทธ์: “ปีที่ผ่านมาเราเริ่มไปขายในอเมริกามากขึ้น ทั้งที่นิวยอร์ก และแอลเอ เสื้อเรามันคงไปเข้าตาคนในโว้กเข้า เขาเลยติดต่อเรามาโดยตรงเลยว่าอยากจะขอสัมภาษณ์ แล้วก็จะมี wwd อีกที่หนึ่ง เราภูมิใจนะที่มาไกลขนาดนี้ ย้อนไปตอนที่เราบอกพ่อ แม่ และยาย ว่าเราจะไม่เรียนแล้ว มาวันนี้เราพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเราทำได้”
Dry Clean Only บนเว็บไซต์ Vogue.com
โปรเจ็กต์ต่อไปของ Dry Clean Only
ปฏิพัทธ์: “โปรเจ็กต์ต่อไปของเราคือ ‘100 Dresses’ ฉลองครบรอบ 10 ปีของแบรนด์ เรียกว่าเป็นอีกขั้นของ Dry Clean Only เลยก็ได้ เราจะเดินทางไปตามเมืองต่างๆ เพื่อหาชุดเดรสวินเทจจากแต่ละยุค แต่ละประเทศ ไล่ตั้งแต่ อเมริกา เยอรมัน ฝรั่งเศส อินเดีย พม่า ไปจนถึงกัมพูชา หาเดรสทั้งหมด 100 ตัว แล้วเอากลับมาทำที่ออฟฟิศในกรุงเทพ ตัดต่อเสื้อยืดเข้าไปก่อนหนึ่งครั้ง แล้วก็นำชุดเดรสทั้งหมดไปทำงานฝีมือต่อที่อินเดีย ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องงานคราฟต์ แบรนด์ระดับโลกอย่าง Lanvin, Dries Van Noten หรือ Alexander Mcqueen เองก็มาทำงานที่มุมไบ พอปักที่อินเดียเสร็จก็ส่งกลับมาไทยเพื่อสร้างซิลูเอตใหม่ เราต้องเดินทางไปหลายเมืองทั่วโลกเพื่อโปรเจ็กต์นี้ โดยจะจัดแสดงเป็นนิทรรศการที่โชว์รูม 10 ร้านทั่วโลก ร้านละ 10 ตัว ช่วงฤดู Spring/Summer 2018 และเล่าเรื่องการเดินทางของชุดเดรส 100 ตัวนี้”
มองเส้นทางข้างหน้าไว้อย่างไร?
ปฏิพัทธ์: “เบสท์อยากให้ Dry Clean Only อยู่ในมัลติสโตร์แต่ละเมือง อย่างเวลาไปนิวยอร์กก็อยากให้อยู่ใน Bergdorf Goodman หรือ Barneys เวลาไปเบอร์ลินอยากให้อยู่ใน The Store เวลาไปลอนดอนอยากให้อยู่ใน Dover Street Market ฉะนั้นสิ่งที่เบสท์จะต้องโฟกัสคือ การทำทีมที่ดี การทำสินค้าที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการแข่งขัน จริงๆ โลกทุกวันนี้นี้มันแคบมากตั้งแต่เรามีอินเตอร์เน็ต มีโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนคุณก็สามารถดังได้ สมมติคุณอยู่เขมรแต่คุณทำเสื้อสวย และคุณเป็นคนจริง มันก็จะมีคนเห็นเราเอง”
Dry Clean Only คอลเล็กชั่น Fall/Winter 2017 / ภาพ: courtesy of Dry Clean Only
จากร้านเล็กๆ ที่จตุจักร จนถึงวันนี้ เรามาไกลมาก คนรอบข้างว่าอย่างไรบ้าง?
ปฏิพัทธ์: “สังคมเมืองไทยอย่างน้อยต้องเรียนจบปริญญาตรี พอไม่จบเค้าก็ดูถูก เพราะฉะนั้นคำดูถูกดูแคลนต่างๆ เบสท์เก็บมาเป็นพลังทั้งหมด ต่อให้มันจะใช้เวลา 10 ปีเพื่อพิสูจน์ อย่างครูคนที่เราเดินไปบอกเขาว่าขอลาออกเพราะไม่มีเงิน เขาอ่านเรื่องของเราแล้วเขาร้องไห้เลย เขาบอกว่า ‘เออเธอทำสำเร็จจริงๆ’ ถึงแม้ว่ามันจะใช้เวลา 10 ปีก็ตาม”
ออกแบบภาพโดย: ไพรำ ด่านจิตร์ตรง
WATCH