FASHION
เจาะลึก 'เดียว สุวีระ' ศิลปินไทยคนเดียวใน Hermès Scrapbook หนังสือที่มีเพียง 500 เล่มในโลก!คนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับการติดต่อจาก Hermès แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ความเป็นธรรมชาติในงานศิลปะกลายเป็นเรื่องราวเส้นทางชีวิตการเป็นศิลปินอย่างน่าสนใจ |
“ฝีมือคนไทยก้าวไกลระดับโลก” คำนี้สามารถใช้พาดหัวพูดถึงคนไทยที่ประสบความสำเร็จในระดับสากลได้อย่างสม่ำเสมอ แวดวงแฟชั่นและศิลปะเองก็ไม่เคยขาดศิลปินชาวไทยฝีมือระดับพระกาฬที่ได้โอกาสไปแสดงผลงานในเวทีหรือโปรเจกต์ระดับโลก วันนี้โว้กหยิบเรื่องราวของศิลปินหนุ่มผู้รังสรรค์ผลงานชิ้นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ Scrapbook เล่มเอ็กซ์คลูซีฟของแบรนด์ Hermès ที่มีเพียง 500 เล่มในโลก เขาคือใครและกว่าจะไปถึงจุดที่สร้างผลงานเข้าตาแบรนด์ดังระดับโลกนั้นเจอะเจออะไรบ้าง ติดตามที่บทความนี้ได้เลย
เดียว สุวีระ คนต้นเรื่องของเราในวันนี้
เปิดเรื่องราวด้วยประวัติส่วนตัวของศิลปินกันก่อน “เดียว สุวีระ” หรือเรียกสั้นว่าๆ “เดียว” เป็นช่างภาพและศิลปินวัย 29 ปี จุดหลักสำคัญที่ทำให้ชีวิตเขากลายเป็นศิลปินคือคุณพ่อที่เป็นจิตรกร การซึมซับรูปแบบงานศิลปะจากคนในครอบครัวทำให้เกิดความชอบมาตั้งแต่เด็ก คุณเดียวเล่าเสริมว่า “ผมเริ่มเล่นดนตรีและถ่ายรูปมาตั้งแต่ช่วงมัธยมทุกอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยว่าผมชอบศิลปะ” ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทำให้เขาเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ คณะศิลปะและการออกแบบ สาขาออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยรังสิต ระหว่างเรียนโฟกัสด้านศิลปะเขาไม่มีเบี่ยงเบน จนคุณเดียวมีโอกาสไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ Fine Art Photography, Royal College of Art London ความแน่วแน่นี้สร้างตัวตน หล่อหลอมจนคุณเดียวคลุกคลีdy[มันจนถึงระดับการศึกษาแขนงศิลปะที่ไกลขนาดนี้
ผลงานภาพโคลสอัพของเดียวในหนังสือ Hermès Scrapbook
“เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติที่สุด” ตัวตนของศิลปินคนหนึ่งจะบ่งบอกคาแรกเตอร์ของงานศิลปะได้เป็นอย่างดี เป้าหมายการทำงานเองก็จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของผลงานได้อย่างดีเยี่ยม สำหรับคุณเดียวนั้นความเรียบง่ายถือเป็นจุดตั้งแต่ของการทำให้ไม่ต้องเร่งปฏิกิริยาการทำความเข้าใจผลงาน ความธรรมดาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และความเป็นธรรมชาติของสิ่งต่างๆ 3 สิ่งนี้ทำให้ผลงานผสมรสจนออกมากลมกล่อม ดั่งความตั้งใจของคุณเดียวที่กล่าวกับเราว่า “จุดเด่นของผมคิดว่าน่าจะเป็นมุมมองที่มองสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น ผมพยายามจะสื่อสารออกมาให้เรียบง่าย ธรรมดา และเป็นธรรมชาติที่สุดครับ”
WATCH
ภาพวัตถุแบบโคลสอัพ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งในผลงานของเดียว
“เวลาและความใส่ใจเป็นเรื่องสัมพันธ์กัน” คุณเดียวนิยามผลงานของตัวเองพร้อมกับเผยแนวทางการทำงานศิลปะว่า “ผมสนใจเรื่องความธรรมดาและความสวยงามของความไม่สมบูรณ์แบบ การมองสิ่งต่างๆ รอบตัวในชีวิตประจำวัน มองสิ่งต่างๆ ที่เราคุ้นเคยหรือไม่คุ้นเคยก็ตามอย่างที่มันเป็น ผมพยายามจะมองทุกอย่างให้นานขึ้นในหลายมุมมองมากขึ้น” ฉะนั้นสะท้อนให้เห็นว่าการรังสรรค์ผลงานให้เป็นธรรมชาติไม่ใช่การทำให้เหมือนที่สุด แต่ทำออกมาได้อย่างรอบด้านและล้อไปกับต้นเรื่องแรงบันดาลใจอย่างไม่รู้สึกติดขัดสักเท่าไรนัก ที่เราบอกว่าการทำผลงานให้ธรรมชาติไม่ใช่ทำออกมาให้เหมือนที่สุด เช่นวาดรูปเหมือนที่สุด ปั้นเนียนที่สุด แต่หมายถึงการหยิบยกตัวตนของสิ่งนั้นไปปรากฏได้ในจุดอื่น ไม่ใช่แค่เชิงรูปธรรม แต่หมายถึงการส่งอารมณ์ความรู้สึกออกมาถึงของนั้นจริงๆ แม้จะจับไปในบริบทที่ไม่เคยเจอมาก่อน ดังความตั้งใจของคุณเดียวว่า “ผมสนใจที่จะนำเสนอความตรงไปตรงมาของสิ่งเหล่านี้ให้ปรากฎอยู่ในบริบทที่ไม่คุ้นตา และหวังว่าจะทำให้เกิดคุณค่าเเละความหมายบางอย่าง”
เซตสีที่ขัดแย้งกันให้อารมณ์ความรู้สึกที่อัดแน่น
เมื่อแอร์เมสติดต่อสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น...คุณเดียวเล่าโว้กฟังว่า “วันหนึ่งได้รับอีเมล์จั่วหัวผู้ส่งเป็นแอร์เมส พิเศษกว่าผู้ติดต่อคือเนื้อหาในนั้น เขาอยากจะสร้างผมสร้างสรรค์ภาพถ่ายออกมาชุดหนึ่งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ Scrapbook เล่มพิเศษนี้” นอกจากนี้ศิลปินหนุ่มยังเสริมอีกด้วยว่า “ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเขาเห็นผลงานจากทางไหน เพราะนี่คือการร่วมงานครั้งแรก แต่คาดว่าทางแอร์เมสน่าจะได้เห็นผลงานผ่านทางโซเชียลมีเดียหรือไม่ก็ทางเว็บไซต์ครับ” ซึ่งในจุดนี้สะท้อนให้เห็นว่าไม่ต้องหวือหวาหรือนำเสนอตัวตนและผลงานจนเกินพอดี เพราะถ้าคุณภาพและทิศทางของผลงานเข้าตาโอกาสจะวิ่งเข้าอย่างไม่ทันรู้ตัว ฉะนั้นเราเห็นเลยว่าการพัฒนาฝีมือและสร้างตัวตนให้เด่นชัดเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุดคือคำตอบของโลกศิลปินแบบไม่มีข้อโต้แย้ง
การส่งความรู้สึกผ่านทางภาพถ่าย จุดเด่นที่ไม่ธรรมดาของเดียว
ใน Scrapbook เล่มนี้ที่มีเพียง 2 เล่มในประเทศและ 500 เล่มในโลก (1 ใน 500 เล่มแอร์เมสส่งให้กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย) ประกอบด้วยผลงานจากศิลปินกลุ่มเล็กๆ ที่ค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างกัน เอกลักษณ์ของผลงานถูกส่งผ่านถึงผู้เสพโดยกรอบด้วยคาแรกเตอร์กว้างๆ ของแอร์เมส ทั้งหมดสะท้อนแรงบันดาลใจจากคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าสตรีฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2021 รูปทรง ผิวสัมผัส หรือแม้แต่เรื่องสี ผสมผสานรวมกันจนออกมาเป็นผลงานภาพถ่ายเสื้อผ้า นางแบบ และผลงานแบบ Still-Life ส่วนที่คุณเดียวคิดว่าโดดเด่นจนเขาออกปากเลยว่า “ด้วยภาพถ่ายโคลสอัพ ผมตั้งใจที่จะนำเสนอสิ่งที่ผมมองเห็นในเชิงรูปธรรมในเเบบที่มันเป็นกับจินตนาการในเชิงนามธรรมเข้าด้วยกัน”
ภาพถ่ายที่มีการเล่นแสงเน้นวัตถุ ถึงแม้จะเป็นถุงทั่วไปแต่ก็ให้อารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม
“รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง” หากวันหนึ่งใครมีแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างแอร์เมสมาติดต่อเราเชื่อว่าจะตื่นเต้นและอิ่มเอมใจไม่แพ้คุณเดียว ซึ่งคุณเดียวก็เผยถึงความรู้สึกครั้งนี้ว่า “ผมรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติมากครับที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้และได้ร่วมงานกับทีมแอร์เมสโดยเฉพาะ Nadège Vanhée-Cybulski ดีไซเนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์อย่าง Carina Frey และ Stefanie Barth เเม้จะเป็นการทำงานร่วมกันครั้งเเรก ผมรู้สึกประทับใจอย่างมากกับความเชื่อใจและอิสระที่ได้รับในการทำงานครั้งนี้ เพราะมันทำให้ผมได้สร้างสรรค์ผลงานในมุมมองของผมอย่างแท้จริง” เมื่อชื่อของศิลปินไทยปรากฏในหน้าความพิเศษของแบรนด์ในตำนานจากฝรั่งเศส ทางผู้เขียนก็ตื่นเต้นและดีใจไม่แพ้กับตัวคุณเดียวเลยทีเดียว
ภาพถ่ายซูเปอร์โคลสอัพที่คุณเดียวเน้นการนำเสนอถึงความละเอียดของวัตถุได้อย่างมีมิติ
ความภาคภูมิใจกับคนไทยด้วยกันยิ่งเร้าให้เราอยากติดตามผลงานของคุณเดียวต่อไปในอนาคต หลังโปรเจกต์หนังสือแอร์เมสศิลปินที่เพิ่งเพิ่มดีกรีมาหมาดๆ บอกกับเราว่ากำลังมุ่งเน้นเกี่ยวกับโปรเจกต์ส่วนตัว ตั้งใจรวบรวมผลงานเพื่อทำหนังสือภายในปีหน้า และตอนนี้กำลังทำสตูดิโอในชื่อ “Pamela Deo” การเดินหน้าในโลกศิลปะครั้งนี้ต้องการคนสนับสนุน แฟนๆ โว้กสามารถรับชมผลงานของคุณเดียวได้ทางเว็บไซต์ www.deosuveera.com และอินสตาแกรม @deosuveera รับรองว่าจะไม่พลาดผลงานดีๆ จากฝีมือคนไทยด้วยกันอย่างแน่นอน
ภาพ: Courtesy of Deo Suveera / Hermès
WATCH