FASHION

คำว่าแฟนมาจากไหน...ทำไมเราถึงเรียกคนรักว่า แ-ฟ-น เคยสงสัยไหม!

โว้กพาย้อนถึงที่มาและความหมายของคำว่าแฟน คำศัพท์ที่เราใช้นิยามความสัมพันธ์มาแสนนานโดยที่ไม่รู้ที่มาอย่าแท้จริงของมัน

     ใกล้วันวาเลนไทน์เข้ามาทุกปีคนมีคู่ก็ออกเดตกับ “แฟน” ดื่มด่ำกับบรรยากาศสุดโรแมนติกในสถานที่ต่าง ๆ ดอกไม้ เทียน ไวน์ ความอบอุ่นแห่งรักฟุ้งกระจายไปทั่ว ในขณะที่คนโสดต้องเผชิญกับคำถามว่า “แฟน” ล่ะ? หรือถ้าคนมีคู่ไม่ได้ไปใช้เวลาด้วยกันในวันนี้สังคมยังตั้งคำถามกับคู่รักเลยว่าไม่ไปกับ “แฟน”เหรอ?  ทั้งหมดในที่กล่าวมามีแต่คำว่าแฟน ๆ ๆ ๆ และแฟน หลายคนอาจจะใช้คำนี้มาตั้งแต่เด็กจนเริ่มมีอายุแล้ว แต่น้อยคนที่จะรู้ที่มาของคำว่าแฟนว่าแท้จริงแล้วมาจากอะไรกันแน่...

โมเมนต์หวาน ๆ ของ Bella Hadid และ The Weeknd ในฐานะ “แฟน” / ภาพ: Power102Jamz

     ความสัมพันธ์ในประเทศไทยมีการนิยามเรียกคู่รักไว้อย่างมากมายหลากหลาย สามี-ภรรยา ผัว-เมีย คู่รัก พี่น้อง และความสัมพันธ์อีกมากมาย แต่ดีกรีความสัมพันธ์ในแบบฉบับแฟนที่เทียบได้กับว่าบอยเฟรนด์-เกิร์ลเฟรนด์ของวัฒนธรรมตะวันตกถูกผลิตซ้ำและใช้กันถึงทุกวันนี้ เหตุเพราะช่องว่างของการนิยามความสัมพันธ์มันเกิดขึ้นถ้าให้จัดเรียงลำดับคือคนแปลกหน้า - คนรู้จัก - เพื่อน - ... - คู่รัก - สามีภรรยาหรือผัวเมีย ช่องว่างระหว่างเพื่อนกับคู่รักไม่นับกิ๊ก ทำให้ผู้ครองรักลำบากใจที่จะนิยามสถานะตัวเอง การป่าวประกาศว่าคู่รักมันก็ฟังดูเลี่ยนจนเกินไป ในขณะที่การเป็นเพื่อนกันไม่ใช่คำนิยามที่ตรงกับสิ่งเป็นอยู่นัก

ความคลั่งไคล้ในฐานะ แฟน(คลับ) ที่ไม่ใช่ “แฟน” / ภาพ: Vogue Australia

     สถานะในปัจจุบันอาจจะผลัดเปลี่ยนไปทั้งการให้ความหมายและวิธีเรียก แต่แฟนยังคงอยู่ยั้งยืนยงไม่ไปไหน การมาของคำว่าคนคุยและกิ๊กยิ่งทำให้แฟนมีคุณค่าในเชิงความพิเศษแล้วมันพิเศษกว่าปกติอย่างไร ถึงจุดนี้เราจะอธิบายถึงรากฐานที่มาโดยอิงจากทฤษฎีที่เชื่อกันมาเช่นนี้มาตลอดหลายปีคือ แฟนมาจากคำว่า fanatic ที่แปลว่าคลั่งไคล้โดยการใช้คำนี้ในภาษาอังกฤษ แต่เดิมคือความชื่นชอบอย่างมากโดยไม่เกี่ยวกับสถานะความสัมพันธ์เช่น I’m a Harry Styles fan แปลความว่าฉันชื่นชอบคลั่งไคล้ในตัวนักร้องหนุ่มคนนี้ เช่นเดียวกับแฟนในภาษาไทยที่หมายถึงความชอบ แต่มันถูกใช้มากกว่าฐานะ “แฟนคลับ” เพราะตามราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “ผู้เป็นที่ชอบพอรักใคร่ คู่รัก สามีหรือภรรยา” ซึ่งสะท้อนถึงความคลั่งไคล้เช่นกัน แต่คลั่งไคล้ในคนรักที่อยู่ในสถานะคบหาดูใจแต่ก็ไม่ถึงความทางการอย่างการแต่งงาน



WATCH




แม้จะผ่านการแต่งงานแต่ในปัจจุบันรักคงเรียกกันว่า “แฟน” ได้ / ภาพ: Anntuan

     ในช่วงเวลาที่คำโบราณถูกผลัดทิ้งและมองว่าหยาบคายไม่เหมาะสม มึง-กู ถูกตีตราว่าไม่สุภาพเสียอย่างนั้นทั้งที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอดีตกาล แฟนยิ่งได้รับความนิยมในการใช้มากขึ้นเพราะคำว่าผัว-เมียก็ดูเป็นความหมายเชิงลบเกินไปในสังคมปัจจุบัน ในขณะที่คำว่าสามี-ภรรยาดูทางการจนทำให้คู่รักหลายคู่เคอะเขินแม้จะผ่านพิธีแต่งงานมาแล้ว หลายคู่ก็ยังคงคำสรรพนามเรียกว่าแฟนกันอยู่ นี่นับว่าเป็นคำสุดวิเศษที่บ่งบอกความสัมพันธ์ที่มีข้อผูกมัดด้วยความรักภายในจิตใจอย่างไม่เป็นทางการ ในขณะที่เขยิบตัวแต่งงานจะผูกมัดด้วยสถานะทองแผ่นเดียวกัน และลดระดับลงไปเป็นคนคุยหรือเพื่อนก็ไม่ได้มีข้อผูกมัดสัมพันธ์พิเศษแบบแฟนเลย

ความรักของเด็กน้อยชาย-หญิงที่ไม่จำเป็นต้องถูกนิยามสถานะใด ๆ พวกเขาเพียงแบ่งความรักอันบริสุทธุ์ให้กันและกัน / ภาพ: Fanpop

     ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเราจะนิยามสถานะอะไรให้ใครคนหนึ่งอาจจะไม่จำเป็นเสมอไป ความบริสุทธิ์ การอยู่ร่วมกันอาจไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกอีกต่อไปว่าเราควรจะนิยามคนเหล่านั้นแบบไหน ทางที่ดีที่สุดคือเข้าใจคำนิยามแต่ละคำให้ถ่องแท้ เก็บและคิดไว้ในใจเพราะหน้าที่การตัดสินผู้อื่นไม่ใช่หน้าที่ของใครคนไหนทั้งนั้นมีแค่คน 2 คนที่ใช้ชีวิตร่วมกันและพวกเขาคือผู้นิยามความหมายชีวิตของพวกเขาเอง “ความรักไม่มีกรอบตายตัว คำศัพท์เป็นสิ่งที่สมมติขึ้นจงเดินหน้าสร้างพลังความรักเชิงบวก อย่าโหยหาและทำลายความสัมพันธ์เพียงเพราะต้องการแค่คำเพียงคำเดียว” ถ้าทำเช่นนั้นคุณอาจจะกลายเป็นคนคลั่งจากคำว่าแฟนะติกในภาษาอังกฤษแทนคำว่า “แฟน” ในภาษาไทย...

WATCH

TAGS : Valentine