FASHION
David Bowie และ Grace Jones ไอคอนผู้ปฏิวัติ 'เพศสภาวะ' ยุคบุกเบิก สู่กระแส 'นอน-ไบนารี่' ในปัจจุบันเขาทั้งคู่ถูกตราสัญลักษณ์ว่าคือตัวแทนของสไตล์ Androgynous ในอดีต ผู้ปักหมุดหมายแนวคิดแบบ Non-Binary ในโลกปัจจุบัน |
ในยุคแห่งการรื้อสร้างมายาคติดั้งเดิมเช่นในปัจจุบันนี้ การหยิบยกเอาประเด็นเกี่ยวกับ “ความหลากหลายทางเพศ” หรือ “เพศทางเลือก” ขึ้นมาพูดถึง ก็ดูเหมือนจะต้องรุดหน้าไปไกลกว่าแค่การระบุเจาะจงว่า ใครเป็นรุก หรือ ใครเป็นรับ กันหลายเท่าตัว เพราะคำถามประเภทนั้นมันออกจะเชย และเข้าข่ายล้าสมัยไปนานแล้ว ทุกวันนี้ความหลากหลายทางเพศเป็นมากกว่าแค่การเกาะอยู่กับ 2 ขั้วเพศหญิงหรือชาย (Binary) ตามมายาคติโบราณ หากคือการยอมรับความลื่นไหลทางเพศ (Non-binary) หรือการสลายขั้วทางเพศ ที่เชื่อว่ามนุษย์มีตัวตนที่ปรากฏในจิตใจมากกว่าแค่ผู้ชายหรือผู้หญิง เฉกเช่นที่เราได้เห็นเหล่าเซเลบริตี้ฝั่งตะวันตกหลายคนทั้ง Sam Smith และ Demi Lovato ออกมาเคลื่อนไหวประกาศตนว่าพวกเขาคือ “นอน-ไบนารี่” ที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นหญิง หรือชายอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นกระแสให้ได้พูดถึง และขยายพื้นที่การถกเถียงในประเด็นความหลากหลายทางเพศบนโลกใบนี้ให้กว้างขึ้นกว่าที่เคย กระนั้นนี่ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เมื่อผู้เขียนได้ลองนั่งไทม์แมชชีนกลับไปปะติดปะต่อเรื่องราวจากในอดีตเป็นต้นมา และพบว่า...กว่าจะมาถึงจุดนี้ มีศิลปินชื่อดังหลายคนได้วางหมุดหมายและแทรกซึมความคิดดังกล่าวมาแล้วตั้งแต่เมื่อหลายทศวรรษก่อนหน้านี้...
(ซ้าย) มัดมัวแซล โคโค่ ชาเนล สวมกางเกงขายาวในวันพักผ่อนของเธอ (ขวา) ภาพถ่าย "Le Smoking" โดยผลงานของ Yves Saint Laurent ชุดสูทที่เปลี่ยนนิยามการแต่งตัวของผู้หญิงทั่วโลกไปตลอดกาล
หากจะพูดถึงความหลากหลาย และความลื่นไหลทางเพศในอุตสาหกรรมบันเทิง และแฟชั่นระดับโลกนั้น ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องพาไปเริ่มต้นกันที่คำศัพท์คุ้นหูอย่าง “Androgynous” นั่นคือ การผสานรวมกันระหว่างความเป็นมาสคิวลีนและความเป็นเฟมินีน มันคือความก้ำกึ่งทางเพศที่ยากจะระบุได้ว่าคือฝั่งใด ตัวอย่างผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซที่จะทำให้ทุกคนเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นก็คือ การพาผู้หญิงเดินออกจากระโปรสุ่มมาสวมใส่กางเกงเป็นครั้งแรกในปี 1913 โดยดีไซเนอร์หญิงระดับตำนานที่ชื่อว่า Coco Chanel หรือถ้าให้ใกล้ขึ้นมาหน่อยก็คงต้องยกให้ Yves Saint Laurent กับการตัดเย็บ ‘Le Smoking’ ในปี 1966 ชุดสูทที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องแต่งกายดั้งเดิมของเหล่าสุภาพบุรุษชาวอังกฤษ ที่เปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงทั่วโลกไปตลอดกาล พร้อมฉีกขาดพรมแดนทางเพศในโลกแฟชั่นออกอย่างวุ่นวิ่น กระนั้นในโลกของอุตสาหกรรมเพลง และบันเทิง ในยุคไล่เรี่ยกันนี้ก็ถือกำเนิด David Bowie และ Grace Jones สิ่งมีชีวิตที่สร้างความหฤหรรษ์ให้กับโลกเหลือคณานับ "ผู้มาก่อนกาล" เกินกว่าจะคาดเดาได้ทัน
ย้อนกลับไปในปี 1967 เดวิด โบวี่ เปิดตัวอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรก พร้อมแนวดนตรีสะดุดหู ผสมผสานกันระหว่างแนวดนตรีป๊อป,แนวโฟล์คร็อก กับแนวบลูร็อก จนกลายเป็นที่จับตามองของเหล่ากูรูดนตรีทันที ก่อนที่ในเวลาพียงแค่ 2 ปีหลังจากนั้น ชื่อของ เดวิด โบวี่ จะดังกระหึ่มจนไม่อาจมีใครฉุดไว้ได้ เมื่อเขาได้เปิดตัวเพลง “Space Oddity” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจสุดแปลกมาจากยานอะพอลโล 11 และโครงการสำรวจอวกาศที่กำลังเป็นที่สนใจจากเหล่าประเทศมหาอำนาจตอนนั้น ทว่าที่ตอกย้ำให้ศิลปินหนุ่มวัยไม่ถึง 30 คนนี้โด่งดังถึงขีดสุดจริงๆ ก็คงอยู่ที่สไตล์การแต่งตัวที่เริ่มต้นจากลุคผู้ชายสวมสูทธรรมดาทั่วไป ก่อนที่จะเริ่มพัฒนามาเรื่อยๆ ผ่านทั้งสไตล์โบฮีเมียน อันเป็นเทรนด์กระแสหลักสุดฮิตในยุคปลาย 1960s - 1970s ลากยาวไปจนถึงการแปลงกายเป็นหนุ่มฮิปปี้ตามรอยเหล่าวัยรุ่นในช่วงยุคเดียวกัน ก่อนสิ่งที่ไม่คาดฝันจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น เมื่อโบวี่ได้ฉีกแนวการแต่งตัวครั้งสำคัญ ด้วยการสร้างตัวตนใหม่ในชื่อ Ziggy Stardust ซึ่งมาพร้อมกับคอนเซปต์มนุษย์ต่างดาว และแนวเพลงแบบใหม่ที่ถูกขนานนามว่า ‘Glam Rock’
WATCH
ภาพของ เดวิด โบวี่ ในฉายาของ ซิกกี้ สตาร์ดัสต์ สวมใส่ชุดแนวอวองการ์ด โดยฝีมือของดีไซเนอร์ คันไซ ยามาโมโต
หลังจากที่ปลดแอกจากโบวี่คนเก่าสู่การเป็นศิลปินหนุ่มซิกกี้แบบราบคาบ สไตลิ่งการแต่งตัวของเขาก็ก้าวกระโดด และรุดหน้าเพื่อนศิลปินร่วมยุคไปไกล ไม่ว่าจะเป็นการแต่งหน้า หรือการทำผมที่ดูแปลกตา จนอาจกล่าวได้ว่าเขาคือเทรนด์เซ็ตเตอร์คนสำคัญที่แผ่ขยายอิทธิพลให้ศิลปินคนอื่นๆ ในยุคเดียวกันนั้นลุกขึ้นมาจัดการกับตัวเอง (ทั้งเรื่องของสไตล์ และงานดนตรี) เพื่อเติมสีสันจัดจ้านให้กับโลกยุค 1970s จนกระทั่งวงการเพลงสมัยนั้นสนุกสนานจนถึงขีดสุด ซึ่งแน่นอนว่าจุดเด่นของการแต่งตัวของโบวี่ไม่มีคำว่า “เพศ” ตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดให้เป็นมาครอบอีกต่อไป ทุกชุดที่ซิกกี้ในร่างของโบวี่สวมใส่นั้นทลายขีดจำกัด และตู้เสื้อผ้าของเหล่าวัยรุ่นยุคนั้นเสียแบบไม่เหลือชิ้นดี (ทั้งรองเท้าส้นตึก/ ชุดรัดรูปแบบผู้หญิง และการเพ้นต์หน้าจัดๆ) จนนักวิจารณ์แฟชั่นหัวคร่ำครึหลายคนที่ยังติดอยู่ในกรอบ “เสื้อผ้าชิ้นนั้นของผู้ชาย เสื้อผ้าชิ้นนี้ของผู้หญิง” ไปไม่ถูกกันเลยทีเดียว หนึ่งในชุดไฮไลต์นั่นก็คือ ชุดจั๊มพ์สูทแนวอวองการ์ดในปี 1972 โดยฝีมือของ Kansai Yamamoto ที่ออกแบบมาให้มีรายละเอียดเป็นมากกว่า "ชุดที่ศิลปินชายเขาใส่กัน"...กลายมาเป็นภาพจำให้คนรุ่นหลังได้พูดถึงจนวินาทีนี้
(ขวา) เกรซ โจนส์ ปรากฏตัวในฐานะนักแสดง ในภาพยนตร์ภาคต่อเรื่อง James Bond ภาค A View To Kill
หลังจากนั้นโบวี่ก็กลายเป็นไอคอนคนสำคัญของยุค 1970s ไปด้วยคุณูปการด้านการสไตลิ่งที่เขาสร้างขึ้น และส่งต่อให้กับศิลปินรุ่นหลังตลอดมา กระนั้นในอีกมุมเมือง ในช่วงเวลาที่ไล่เรี่ยตีคู่กันมา สตรีผิวดำคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นท่ามกลางความตกตะลึงของสังคม ทีี่กำลังอึ้งกิมกี่ในสไตล์เฉพาะตัวที่ไม่อาจมีใครลอกเลียนแบบได้ เธอคนนั้นมีชื่อว่า Grace Jones สาวจาไมก้าผู้ที่เป็นทั้งนางแบบ ดารา นักร้องผิวดำ ไปจนถึงปาร์ตี้ไอคอน ซึ่งสิ่งที่ถูกโจทษ์ขานไปทั่ว และทำให้เธอแตกต่างจากคนอื่นก็คือ “ความเป็นตัวของตัวเอง” ที่แม้ว่าเธอจะเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่เคร่งศาสนาก็ตาม แต่เธอกลับขบถต่อกฏเกณฑ์ และมายาคติทางเพศอย่างสิ้นซาก เกรซเริ่มต้นเข้าวงการบันเทิงด้วยการเป็นนางแบบ และด้วย “ทรงผมลานบิน” ซึ่งห่างไกลจากนิยามความงามของผู้หญิงสมัยนั้นไปมาก แต่เธอกลับกล้าเปิดเผยให้กับสาธารณชนได้เห็นอย่างภาคภูมิ กอปรกับบุคลิกภาพสุดมั่นใจก็ขโมยซีนทุกคน ก็ทำให้ Yves Saint Laurent และ Kenzo Takada ต่างก็ลุกลี้ลุกลนคลานเข่าเข้ามาจองตัวเธอกันแบบฉับพลัน ทว่าหลังจากอิ่มตัวกับเส้นทางนางแบบ เกรซยังต่อยอดตัวเองด้วยการพลิกบทบาทเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ สร้างเพลงฮิตแนวดิสโก้ที่ดิสโกเธคทุกที่ในกรุงปารีสในยุคนั้นต้องเปิด ควบคู่ไปกับการเป็นนักแสดงมากฝีมือ ที่โด่งดังที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้นการรับบทเป็นวายร้ายนามว่า May Day ในภาพยนตร์ภาคต่อสุดยิ่งใหญ่ James Bond ภาค A View To Kill ประกบคู่กับ Roger Moore ในเวลานั้น
เกรซ โจนส์ เซอร์ไพรส์เหล่าคนดู ด้วยการปรากฏตัวบนรันเวย์โชว์งาน WorldPride NYC เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา
ตลอดกว่า 5 ทศวรรษในวงการนางแบบ, วงการเพลง และวงการภาพยนตร์บันเทิง เกรซถูกตราสัญลักษณ์ว่าคือตัวแทนของสไตล์ Androgynous อย่างชัดเจน เรียกได้ว่า ถ้า เดวิด โบวี่ คือตัวท็อปฝ่ายชาย เกรซ โจนส์ ก็คือตัวท็อปฝ่ายหญิงที่ไม่อาจละสายตาได้เช่นเดียวกัน กระทั่งในปี 1984 เธอยังเคยยอมรับในบทสัมภาษณ์กับนิตยสารหัวหนึ่งว่า “ฉันรักการแต่งตัวเหมือนผู้ชาย อนาคตที่จะมาถึงมันไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ คุณสามารถเป็นใครก็ได้ที่คุณต้องการจะเป็น” ไม่ว่าจะเป็นสูทเสริมไหล่ ไปจนถึงเสื้อผ้าที่มีซิลูเอตเป็นฉากเป็นมุม หรือเส้นตรงเฉียบๆ ไร้ซึ่งความอ่อนหวานของเส้นสาย นั่นแหละคืออาหารอันโอชะของเธอ ซึ่งเสื้อผ้าเหล่านั้นเองที่เสริมกับบุคลิกภาพ และรูปลักษณ์ภายนอก อีกทั้งยังทำลายกำแพงการแต่งตัวระหว่างเพศ บันดาลใจให้หญิงสาวนับล้านคนทั่วโลกตาสว่างว่า นอกจากสุ่มกระโปรง และความอ่อนหวานแล้ว สุภาพสตรีอย่างเราๆ ก็สามารถสวมใส่กางเกงแบบผู้ชาย หรือแม้ต่สูทเสริมไหล่แบบเกินจริงได้ โดยไม่ต้องสนใจสายตาใครอีกต่อไป นั่นเองจึงกลายเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เกรซได้ปักหมุดหมาย “ความลื่นไหลทางเพศ” ให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้อย่างเป็นทางการ
อนึ่ง การกล้าที่จะก้าวออกจากขอบเขตเพศของตัวเองของทั้งคู่ คือจุดเริ่มต้นสำคัญของกระแสความลื่นไหลทางเพศ การสลายขั้วทางเพศ หรือนอน-ไบนารี่ อีกทั้งเรื่องราวของเดวิด โบวี่ และเกรซ โจนส์ ยังนับว่าเกิดขึ้นได้ตรงช่วงเวลาพอดิพอดีกับยุคสมัยที่มนุษย์ในสังคมเริ่มตั้งคำถามจนนำไปสู่ความคิดแบบหัวก้าวหน้า เคลื่อนไหวเป็นกบฏต่อบรรทัดฐานเดิมของสังคม ที่เรารู้จักกันดีในชื่อคุ้นหูว่า “ยุคบุปผาชน” (ราวยุค 1970s) การเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นทางความคิดของหนุ่มสาวสมัยนั้นก็นับว่าเสริมกันอย่างมากกับการแสดงออกทางตัวตนของศิลปินทั้งคู่ ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของเทรนด์โลกที่พัฒนาไปมากกว่าการให้ความสนใจกับแค่สีสัน หรือการตัดเย็บของเสื้อผ้า หากคือการให้ความสำคัญ และเคารพต่อความคิดของผู้สวมใส่เสื้อผ้าในยุคสมัยนั้นด้วย หนึ่งในนั้นคือ “จุดเริ่มต้นของความลื่นไหลทางเพศ” ทั้งในมิติของการแต่งตัว และสำนึกรู้ทางเพศ ก่อนที่จะพัฒนาอย่างยาวนานมาจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนเองก็หวังใจว่า ผู้อ่านที่ไล่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้จะได้ลองทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า ตอนนี้ความหลากหลายทางเพศในความคิดของคุณไปไกลแค่ไหนแล้ว...
ข้อมูล : Wikipedia - Grace Jones, Wikipedia - David Bowie, Bussiness of Fashion, kulturehub.com, tha.myvadesigns.com และ spectrumth.com
WATCH