FASHION
เจาะประเด็นวิเคราะห์ชุดหลีดฯ มธ. กับการพลิกโฉมผู้นำเชียร์งานฟุตบอลประเพณีฯ
|
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 73 เพิ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อวานนี้ (9 กุมภาพันธ์) บรรยากาศงานคึกคักอย่างมากทั้งการแปรอักษรโต้ตอบกันของสแตนด์เชียร์ โค้ดหลักที่นำเสนอเหตุการณ์บ้านเมืองในมุมมองเสียดสีหรือจะเป็นขบวนที่หยอกล้อกับเรื่องเด่น ๆ ทีเกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา แต่ที่ถูกจับตามองด้านความสวยงามในทุก ๆ ปีเห็นจะเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของทั้ง 2 ฝั่งที่มักจะโดดเด่นอยู่ภายในงาน เต้นนำร้องเพลงกับเหล่าศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันเพื่อให้กำลังใจนักฟุตบอล แง่มุมที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้คือเรื่องของชุด เหล่าหนุ่มสาวผู้นำเชียร์ของทั้ง 2 สถาบันต้องตรากตรำกับแดดร้อนระดับ 30 กว่าองศาพร้อมกับชุดที่พิเศษกว่าปกติ นับเป็นความยากลำบากที่ต้องเผชิญจนถึงช่วงเย็น แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปรูปแบบชุดของผู้ถูกคัดเลือกเหล่านี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแนวคิดของยุคสมัยนั้น ๆ และผู้นำเชียร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เลือกชุดที่แปลกตาไปสำหรับงานในครั้งนี้
1 / 5
2 / 5
3 / 5
4 / 5
5 / 5
แต่ก่อนเราจะเห็นชุดเชียร์ลีดเดอร์ของทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ออกมาในรูปแบบเซอร์เรียลเหนือจริงผ่านกรอบความคิดธีมรูปแบบต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้ไม่ได้จริงในชีวิตปกติทั่วไป เพราะความต้องการที่จะทำให้ "TUCL" และ "CUCL" โดดเด่นจึงต้องเลือกชุดค่อนข้างแฟนตาซี การจัดเรียงเลเยอร์หลายชั้นรวมถึงองค์ประกอบและรายละเอียดของชุดที่สอดแทรกเข้าไปอยู่ในทุกสัดส่วนเพื่อให้ชุดออกมาปังและอลังการที่สุด ชวนให้ผู้เข้าร่วมงานไม่ว่าจะฝั่งไหนสะดุดตากับชุดลีดทั้ง 2 สถาบัน และเป็นเช่นนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว วัฒนธรรมนี้ส่งผ่านและกระจายไปทั่วประเทศเห็นได้จากชุดของผู้นำเชียร์ของกีฬาสีหรืองานกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่นำเสนอความสวยงามของชุดผ่านความ "เยอะ" ซึ่งก็ไม่ได้ผิด ถือเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อความสวยงามรูปแบบหนึ่งตามยุคสมัย ถ้าเปรียบผลงานบนรันเวย์คงจะเป็น Jeremy Scott ในคอนเซปต์ "More is More"
WATCH
1 / 5
2 / 5
3 / 5
4 / 5
5 / 5
ในช่วงหลังเหมือนนิยามชุดลีดจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากความสวยงามผ่านคอนเซปต์ความเหนือจริงวิ่งย้อนกลับมาหาจุดสมดุลที่สามารถนำชุดเหล่านี้มาใช้ได้จริงแต่ก็ยังสร้างความโดดเด่นสะดุดตาไม่แพ้ชุดรูปแบบที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ในปีนี้เชียร์ลีดเดอร์ฝั่งธรรมศาสตร์รุ่น 72 ทั้งชายและหญิงสวมชุดจากแบรนด์ Poem ออกแบบโดยคุณฌอน-ชวนล ไคสิริ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ จากคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2018 ในคอนเซปต์ "Tales of Luminaries" เกี่ยวข้องกับวัฏจักรแห่งแสงและเงาของดวงจันทร์ซึ่งสอดคล้องกับอารมณ์ของผู้หญิง ทำให้ปีนี้รูปแบบชุดออกมาค่อนข้างเรียบง่ายคือกางเกงขายาวปลายขากว้างแมตช์กับเสื้อคอลึกฟินิชลุคด้วยแอ็กเซสเซอรี่ช่วงเอวช่วยเพิ่มมิติไม่ให้ลุคเรียบแบนจนเกินไปสำหรับผู้หญิง ส่วนของผู้ชายนั้นเลือกใช้แพตเทิร์นของทักซิโด้ยูนิฟอร์มที่เลือกใช้ปกแหลมให้ดูไม่ทางการจนเกินไปเพิ่มลูกเล่นด้วยการปลดโบว์ห้อยช่วงคอ ทั้งหมดมาในสไตล์ Ombré ไล่เฉดสีแดงและดำที่ดูเผ็ดร้อนแต่เข้ากันได้อย่างลงตัว กลายเป็นชุดที่ดูเรียบโก้และคำนึงถึงความคล่องแคล่วรวมถึงฟังก์ชั่นการใช้งาน แต่ก็ยังสามารถสร้างความโดดเด่นได้อย่างมากในงานครั้งนี้
1 / 6
2 / 6
3 / 6
4 / 6
5 / 6
6 / 6
แนวทางการทำชุดที่วิ่งกลับมาหาคำว่าเรียบง่ายส่อแววให้เห็นมาสักระยะ ในปีที่แล้วทางโพเอมเองก็ได้ออกแบบชุดให้กับฝั่งธรรมศาสตร์มาแล้วในโทนสีขาวดำที่เน้นเรียบง่าย แต่ยังคงความพิเศษไว้ด้วยเนกเดรสเป็นโบว์ขนาดโอเวอร์ไซส์สำหรับผู้หญิง ส่วนของผู้ชายมาจากแบรนด์ Pattarat ที่เลือกใช้เบลเซอร์พินสไตรป์แพตเทิร์นแขนกุด เสื้อเชิ้ต รองเท้าโลเฟอร์และฟินิชลุคด้วยแอสคอตไทสีแดง แต่ในงานครั้งเดียวกันก็ยังมีชุดเซอร์เรียลให้เห็นอยู่ในคอนเซปต์ "ชาตินิยม" ที่เล่นรายละเอียดความเป็นไทยผ่านเทคนิคและรายละเอียดสุดประณีต ซึ่งเฮดเดรสถูกพูดถึงอย่างมากในปีที่แล้ว และปีนี้ชุดของรุ่น 73 ฝั่งธรรมศาสตร์ช่วงเช้าก็เป็นชุดที่มาในคอนเซปต์ "Don't Judge A Book By It's Cover" และช่วงเย็นเป็นธีมผีเสื้อซึ่งจะค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ และสวยงามในแบบที่มันเป็นทั้งหมดจาก Hook's By Prapakas
1 / 3
2 / 3
3 / 3
มาในฝั่งของจุฬาฯ กันบ้างที่ปีนี้แบรนด์ Pattarat ได้ทำชุดให้กับรุ่น 72 โดยการใช้ผ้าไหมมัดหมี่มาขึ้นเป็นโครงหลักของชุดที่ดูสามารถเป็นชุดเดรสออกงานได้เลย ฟังก์ชั่นก็คล่องตัวสามารถใช้งานได้จริง แต่สร้างความสะดุดตาด้วยสีชมพูของเข็มขัดสีชมพูและตัวอักษร "CU" สีทอง และผู้ชายในลุคครอปแจ็คเก็ตผ้าไหมแมตช์การเกงขากว้าง เข็มขัดสีชมพูดดึงความโดดเด่นและพินตรงปกเสื้ออักษรประจำมหาวิทยาลัยสีทอง นับว่าโน้มตามเทรนด์กลับมาสู่ความสมจริงอีกครั้งเช่นกัน แต่สำหรับรุ่น 73 ก็ยังไม่ละทิ้งซึ่งความสนุกสนานแบบไร้ขีดจำกัดโดยเฉพาะชุดช่วงเย็นที่เลือกใช้พื้นของชุดเป็นสีขาวและพิมพ์ลายกราฟิตี้คำศัพท์ต่าง ๆ ลงบนเนื้อผ้าด้วยสีชมพูในคอนเซปต์ "ปลดแอกความคิด" เพิ่มรายละเอียดด้วยเฮดเดรสและดีเทลผ้าพลิ้วโดยแบรนด์ T AND T
1 / 2
2 / 2
โดยก่อนหน้านี้ทางฝั่งจุฬาฯ มักใช้รูปแบบที่พยายามล้ำนำสมัยอยู่ตลอด ในปีที่แล้วเป็นตัวอย่างของการเล่นสีชมพูเพื่อสะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นนิสิตรั้วจามจุรี โดดเด่นด้วยดีเทลของชุดขาสั้นและแจ็คเก็ตตัวนอกที่เพิ่มมิติด้วยลวดลายในเฉดสีชมพูที่เข้มขึ้น ส่วนชุดช่วงเย็นของรุ่น 72 เป็นการใช้โทนสีเงินเมทัลลิก เทา และขาวเพื่อสะท้อนถึงความล้ำแบบฟิวเจอริสติก ประกอบกับเมกอัพทำให้ชุดสุดเซอร์เรียลปีที่แล้วของจุฬาฯ ดูสนุกล้ำนำสมัยแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ได้อย่างเต็มที่ ทั้งหมดจากแบรนด์ Naphon K. Bangkok
ชุดผู้นำเชียร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่น 72 ที่โดดเด่นด้วยการเล่นเฉดสีและรูปแบบชุดที่เรียบง่ายแต่ซ่อนลูกเล่น / ภาพ: @tucheerleader
จะเห็นได้ว่าชุดเหล่านี้ถูกนำเสนอในหลาย ๆ รูปแบบตามแนวคิดแต่ละปี แต่ละยุค แต่ละสมัย ไม่ว่าจะเป็นความเรียบง่ายเน้นฟังก์ชั่นที่เอื้อให้ผู้นำเชียร์ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและไม่ละทิ้งความสวยงาม โดยใช้วิธีการสร้างความโดดเด่นผ่านความพอดีของชุดและเพิ่มลูกเล่นเข้าไปเล็กน้อยแบบนี้อาจทำให้คนทั่วไปเข้าถึงแฟชั่นของเชียร์ลีดเดอร์ได้มากขึ้น แต่อีกทางหนึ่งรูปแบบชุดเซอร์เรียลคือช่องทางแห่งโอกาสที่จะพาแนวคิดสร้างสรรค์ฝ่าทะลุกรอบออกมาให้เราได้ชื่นชมกัน นั่นคืออีกหนึ่งจุดประสงค์ของชุดเหล่านี้ที่จะทำให้เราได้เห็นการออกแบบอันไร้ขีดจำกัด รูปแบบแพตเทิร์นและแอ็กเซสเซอรี่แปลกตาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ถ้าเกิดพลวัตของสังคมผลัดเปลี่ยนชุดผู้นำเชียร์เหล่านี้ให้หายไปจากงานฟุตบอลประเพณีเราอาจจะคิดถึงมันไม่น้อย แต่ทางธรรมศาสตร์ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในปีนี้ว่าความเรียบง่ายก็สามารถยืนหยัดสร้างความโดดเด่นในงานประเภทนี้ผ่านชุดที่มีองค์ประกอบหลักเพียง 3-4 ชิ้นได้เช่นกัน แนวโน้มปีหน้าแฟชั่นผู้นำเชียร์จะกลายเป็นแฟชั่นแห่งความเฉียบคมแบบเรียบง่าย ความปังไร้ขีดจำกัด หรือจะเป็นลูกผสมเช่นปีนี้ให้ผู้ชมได้เสพย์ตัดเลี่ยนสลับกันไปมา สาว ๆ คงต้องรอติดตามกันในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 74...
WATCH