FASHION

เหยื่อแห่งสี! เปิดลิสต์สี 5 แบบที่มีอิทธิพลต่อสังคม แต่ก็มีทั้งดีและโทษเปรียบดั่งดาบ 2 คม

สืบเนื่องจากเหยื่อแฟชั่นที่เรานำเสนอไปวันนี้เราจึงต่อยอดนำประเด็นเรื่องเหยื่อมาพูดถึงอีกครั้งในบริบทที่กว้างมากขึ้น

     พูดถึงโลกแฟชั่น “สี” ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ความโดดเด่นเปล่งประกายขึ้นมาอย่างมีเอกลักษณ์ ทว่าความน่าสวยงามมักสอดแทรกความโหดเหี้ยมไว้เสมอ เรื่องสีก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งตลอดประวัติศาสตร์ของแฟชั่นที่ทำร้ายมนุษย์มาเสมอ สารเคมี การกัดกร่อน และความเลอะเทอะเปรอะเปื้อนคือความหายนะที่กลายเป็นประเด็นสำคัญให้เราต้องพูดถึงกันในวันนี้ ไม่ว่าสีสันจะถูกสร้างมาเพื่อเติมแต่งโลกให้สดใสขึ้นเพียงใด แต่ความสวยงามนั้นย่อมจะต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่างเสมอ วันนี้เราจะมาย้อนดูว่าสีที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นเหยื่อนั้นมีสีอะไรบ้าง

 

1.Vintage Green (Arsenic Green)

ชุดเดรสจากช่วงปี 1870 ที่เป็นพิษเพราะ Arsenic Green / ภาพ: Fashion from History

     สีเขียวเคยเป็นสีที่ Coco Chanel ปฏิเสธการใช้มาตลอดหลายทศวรรษ ไม่ใช่เพราะมันไม่สวยแต่วิธีการสกัดให้ได้สีเขียวเข้มข้นในสมัยก่อนนั้นอันตรายอย่างมาก สารอาร์เซนิกในการทำสีเขียวกัดกร่อนผิวหนังมนุษย์จนเกิดอันตรายขั้นร้ายแรง มีการทำหนังสือสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสารนี้อย่างจริงจัง โดยเน้นไปที่เรื่องของชุดสีเขียวของชาวอังกฤษที่เต็มไปด้วยสารชนิดนี้ นอกจากเรื่องเสื้อผ้ายังรวมถึงการใช้สารสีเขียวในแวดวงจัดดอกไม้ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายถึงขนาดผิวหนังลอกราวกับไม่ใช่มือมนุษย์ ไม่ใช่แค่ความสวยงามของผลลัพธ์สร้างความไม่สวยงามให้กับร่างกายมนุษย์ แต่ยังสร้างความเจ็บปวดถึงขนาดปวดแสบปวดร้อนจนเข้ารักษาอย่างเคร่งครัดที่โรงพยาบาล ถึงแม้จะรู้ผลของมันและเคยมีหนังสืออกมาแต่ก็ยังไม่มีการบังคับใช้การจำกัดและไม่ค่อยมีใครใส่ใจเรื่องนี้มากนัก มิหนำซ้ำสีนี้ยังได้รับความนิยมมากในประมาณช่วงปี 1800-1880 เลยทีเดียว นับว่าเป็นการเปิดประวัติศาสตร์สีแรกได้พิลึกและพิสูจน์ว่าความงดงามก็ทำให้มนุษย์เป็นเหยื่อได้โดยทันทีเหมือนกัน

 

2.Lead

เหล่าช่างทาสีสมัยก่อนที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาได้รับสารตะกั่วสะสมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ / ภาพ: NORSK FOLKMUSEUM

     อีกหนึ่งสำคัญสารประกอบตั้งตนสำคัญของสีสมัยก่อนโดยเฉพาะสีทาบ้านก็คือสารตะกั่ว อธิบายเท่านี้คงเข้าใจและถึงบางอ้อกันแน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมคงหนีไม่พ้นสิ่งนี้ ผลพิษของมันอาจไม่ได้ร้ายแรงนักในเบื้องต้น แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้นจะเห็นว่าอาการที่เกิดจากการรับสารตะกั่วจะไม่สามารถรักษาหายให้เป็นแบบเดิมได้ ส่วนมากคนเราจะรับมันผ่านระบบทางเดินหายใจ และจุดนี้เองแสดงให้เห็นว่าผู้คนสมัยก่อนต้องตกในสถานการณ์ลำบากเพราะสีทาบ้านแทบทั้งหมดล้วนมีส่วนผสมจากสารตะกั่ว ยิ่งได้รับเยอะยิ่งอันตราย ช่างทาสีที่ต้องเจอกับสภาพสียังไม่แห้งดูดรับสารตะกั่วเข้าไปเต็มที่ และมีรายงานคนเหล่านั้นมอาการป่วยอยู่เสมอ แต่ความตลกร้ายของมันคือมีรสชาติหวานราวกับเชื้อเชิญให้คนลองสัมผัสมันด้วยปลายลิ้นเพื่อลิ้มรสชาติ แต่ขอเตือนไว้ก่อนเลยว่าอย่า เพราะถ้ารับมันเข้าไปจริงๆ คุณอาจมีปัญหาด้านประสาทสัมผัส การตอบสนองของสมอง มีอาการทางด้านลบในระบบเลือด และสำหรับเด็กมันอาจร้ายแรงถึงโรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว แม้หลายประเทศจะยกเลิกการใช้ไปตั้งแต่ปี 1978 แต่ในประเทศไทยยังคงมีสีผสมสารตะกั่วหลงเหลืออยู่ในท้องตลาดจนถึงปัจจุบัน

 

3.Methylene Blue



WATCH




ภาพน้ำสีฟ้าที่ฉีดเพื่อสลายการชุมนุมในประเทศฮ่องกง / ภาพ: AP

     หลังจากเราได้รับรู้ว่าสีเขียวโบราณที่สกัดจากสารอาร์เซนิกมีผลร้ายแรงต่อร่างกายอย่างไร เราหันมามองสีที่ถูกใช้ในยุคใหม่กันบ้างอย่าง “เมธิลีนบลู” หรือ “สีน้ำเงินเมธิลีน” สีนี้ถูกพูดถึงและถูกค้นหาข้อมูลในระบบออนไลน์มากที่สุดในช่วงเหตุการณ์การชุมนุมช่วงกลางเดือนตุลาคม 2020 ในประเทศไทยนี้เอง ความน่าตกใจเกิดขึ้นเมื่อน้ำที่ออกมาจากรถยิงน้ำแรงดันสูงหรือ “Water Canon” นั้นออกมาเป็นสีฟ้าไม่ได้มีความน่ากลัวแค่แรงดันเท่านั้น แต่น้ำดังกล่าวยังติดตามร่างกายและเสื้อผ้า ซึ่งสีเมธิลีนบลูนั้นยังคาดว่าจะถูกผสมกับกลุ่มสี Azure A, B, C และสี Thionine อีกด้วย สีน้ำเงินในน้ำนี้สามารถติดบนเชื้อแบคทีเรีย เส้นใยผ้า ขนสัตว์ หรือผิวหนังคนได้อย่างดี ทนต่อการซัก มีความเป็นไปได้ว่าถ้าปล่อยไว้อาจติดทนนานมากสูงสุดถึง 7 วัน นอกจากนี้ยังมีการสันนิษฐานว่าน้ำสีฟ้าที่ผ่านการผสมแร่แปรธาตุนั้นอาจทำให้เกิดกรดกำมะถันจนทำให้แสบได้ เพราะฉะนั้นสีฟ้าดูเข้มข้นโดดเด่นติดทนนานก็อาจไม่ใช่คำตอบในการนิยามความสวยงามอย่างบริสุทธิ์มากนัก

 

4.Death Colour Socks

ถุงเท้าลายขวางที่ทำให้ผู้สวมใส่และผู้รังสรรค์กลายเป็นเหยื่อ / ภาพ: Vintage Aloha

     ความหายนะมายืนในเรื่องความสวยงามของโลกศิลปะเสมอมา ต้องบอกว่าเทรนด์แต่ละยุคแต่ละสมัยล้วนมีส่วนของการลองผิดลองถูกเป็นเสน่ห์อยู่แล้ว กว่าจะได้มาซึ่งเทรนด์ที่ฮิตตามๆ กันไม่ใช่แค่ดีดนิ้ว เทรนด์ถุงเท้าในสมัยปี 1860 เป็นต้นมา ความน่าสนใจอยู่ตรงความไม่เคยตระหนักรู้ของผูสวมใส่ว่าถุงเท้าก็เกิดอันตรายได้ โดยครั้งนี้เราไปเน้นที่สีส้มอันเป็นเอกลักษณ์ของความนิยมช่วงยุคสมัย 1860s ที่สีโทนแดงไล่ตั้งแต่สีแดง ส้ม ไปจนถึงสีม่วงนั้นมีส่วนผสมของ Fuchsine หรือสีสำหรับย้อมผ้าสมัยก่อน เมื่อโดนร่างกายในปริมาณมากจะทำให้มีอากาศแสบคัน เกิดตุ่มหนอง และรอยแดงได้ แต่ยังโชดคีที่ปีศาจร้ายในคราบสีย้อมไม่ได้ทำร้ายทุกคนขนาดนั้น แต่การผสมสีเพื่อตอบสนองไอเดียสร้างสรรค์อย่างสีส้มโทนใหม่ในถุงเท้าก็สร้างหายนะขึ้นอีกระลอกเพราะนักผสมสีต้องใช้สารหลอมสกัดจนทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังอยากร้ายแรง และมากไปกว่านั้นเมื่อถุงเท้าผลิตเสร็จหากผู้สวมใส่มีเหงื่อเยอะ จากสีแดง-ส้มที่ชัดเจนตามลายถุงเท้า จะกลายเป็นเหมือนขดลวดไฟร้อนๆ ที่แผดเผาผิวหนังของทุกคน หลังจากนั้นไม่นานด้วยความอันตรายก็มีการรณรงค์ให้เลิกใช้สารต่างๆ เพื่อผลิตสีที่ให้เกิดความอันตรายในทุกผลิตภัณฑ์ในช่วง 1890s เรื่องนี้สร้างความตระหนักไปถึงประเด็นการใช้อุปกรณ์ขัดรองเท้ารวมถึงเริ่มตั้งคำถามกับไลน์การผลิตเลยทีเดียว

 

5.Stigma

งานศิลปะที่สะท้อนถึงเรื่องการป้ายมลทิน / ภาพ: BEHANCE

     สีสุดท้ายคงไม่ได้เกี่ยวกับการผสมผสานหรือแนวคิดสร้างสรรค์ หรือแม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ แต่เรากำลังพูดถึงเรื่องสังคมวิทยากันอย่างตรงไปตรงมา สีที่ว่าไม่ใช่สีสันความสวยงามอะไรแต่เรากำลังย้อนรำลึกถึง “มลทิน” สิ่งนี้ถูกทาป้ายใส่กันตลอดทุกวงการผ่านทุกช่วงเวลา ไม่ใช่แค่ภาพใหญ่ แต่สิ่งนี้เกิดกับภาพย่อยๆ ด้วย เราเห็นการใส่ร้ายป้ายสีกันเป็นเรื่องปกติของสังคม คนหลายกลุ่มจึงไม่กล้าตั้งคำถามหรือทำอะไรก็แล้วแต่เพราะมีกรอบของการรอป้ายจับตาอยู่เสมอ บางครั้งการป้ายมลทินก็ไม่ใช่เรื่องแปลก(แต่ก็ไม่ควรอยู่ดี) เช่นการตีตราว่าโง่ การป้ายมลทินให้คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองด้อยเสียเหลือเกินทั้งๆ ที่จริงๆ พวกเขาอาจไม่ได้ด้อยขนาดนั้น ถือเป็นกลไกการควบคุมอำนาจของผู้ปกครองและผู้อยู่กว่าในระดับชั้นทางสังคมให้รักษาความมั่นคงด้านสถานะทางสังคมเอาไว้อย่างชัดเจน สีนี้ถือเป็นสีที่เป็นเครื่องมือสร้างความเลอะเทอะระหว่างกันได้มากกว่าแค่ร่างกาย ทว่ามันรวมไปถึงจิตใจ ภาพลักษณ์ และความรู้สึกอีกด้วย

     สีทั้งหมดจึงมีทั้งแง่มุมความสวยงามและโดดเด่นแตกต่างกันไป บ้างก็ทำให้เกิดความชื่นชมทว่าก็สร้างภาพความจำเรื่องปัญหาตั้งแต่เรื่องสุขภาพจนถึงวิสัยทัศน์การมองโลก คำว่า “สี” จึงไม่ได้มีคุณค่าเพียงแค่ความหมายเชิงรูปธรรมเท่านั้น แต่หมายถึงแง่นามธรรมที่สะท้อนสังคมโลกเบื้องหลังความงามนั้นเรื่อยมา

 

ข้อมูล: Fashion Victims: The Dangers of Dress Past and Present by Alison Matthews David, Pobpad, Poison Center Mahidol, Fashion from History และ MR SLAV (YouTube Channel)

WATCH

TAGS : FashionVictim