FASHION

เปิดโลกแฟชั่นยุคโบราณ เมื่อชุดสวยในภาพวาดสมัยก่อนเป็นฝีมือของ 'บิดาแห่งโอตกูตูร์'

     เสื้อผ้าบนภาพวาดคือสิ่งที่เราใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์แฟชั่นมาอย่างสม่ำเสมอ แต่เคยตั้งคำถามกันหรือไม่ว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นใครเป็นผู้ออกแบบ เสื้อผ้าของราชวงศ์ของนานาประเทศในยุโรปเอย ชุดเดรสของชนชั้นสูงในสมัยก่อนเอยล้วนมีเบื้องลึกเบื้องหลัง เราอาจจะคุ้นชินกับการเรียกสไตล์ของชุดต่างๆ ในสมัยนี้ที่นิยมเรียกไอเท็มชิ้นเด็ดด้วยชื่อแบรนด์เช่น รองเท้าของ Louis Vuitton หรือเสื้อจาก Prada เป็นต้น นั่นเป็นเพราะความชัดเจนของสไตล์การออกแบบ แต่ในวันที่การสื่อสารของโลกยังไม่ครอบคลุมและเจาะลึกเท่าในสมัยนี้ เอกลักษณ์อันโดดเด่นของห้องเสื้อจึงไม่ถูกจดจำเป็นวงกว้างมานัก เป็นเพียงแค่การเล่าปากต่อปาก แต่วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับหนึ่งในตำนานโลกแฟชั่นยุคเก่าผู้ทำให้ชุดของหญิงสาวในสมัยก่อนสะท้อนความงดงามออกมาได้อย่างเต็มที่จนถูกขนานนามว่า “บิดาแห่งโอตกูตูร์”

Charles F. Worth ในวัย 30 ปี / ภาพ: AVictorian

     Charles Frederick Worth คือบุคคลที่เรากำลังจะพูดถึงกันในวันนี้ แม้ชื่อของเขาจะไม่ได้ปรากฏในหน้าการค้นคว้าเรื่องแฟชั่นมากนัก แต่ชาร์ลส์มีบทบาทอย่างมากในการรังสรรค์เสื้อผ้าในอดีต เด็กน้อยผู้นี้ลืมตาดูโลกในวันที่ 13 ตุลาคม 1825 ในแถบลินคอล์นเชียร์ ประเทศอังกฤษ เขาเกิดมาในครอบครัวที่ระส่ำระสายพอสมควร พ่อทิ้งเขาและพี่น้องให้อยู่กับแม่โดยไม่มีการสนับสนุนทางการเงินหรือด้านอื่นๆ แต่อย่างใดตั้งแต่เขาอายุได้เพียง 11 ปี หลังจากนั้นไม่นานเด็กน้อยคนนี้ย้ายไปเผชิญโลกกว้าง ณ กรุงลอนดอนทำงานกับพ่อค้าธุรกิจสิ่งทอชื่อดัง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Lewis & Allenby ก่อนที่ปี 1845 ชีวิตจะเปลี่ยนอีกครั้งด้วยการตัดสินใจย้ายไปปารีสโดยที่ไม่สามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้แม้แต่นิดเดียว

งานนิทรรศการสุดยิ่งใหญ่อย่าง Exposition Universelle ปี 1855 / ภาพ: Gallica

     ช่วงแรกในปารีสเขาประสบปัญหาอย่างมากทั้งเรื่องการหางานและที่สำคัญที่สุดคือเรื่องภาษา แต่นั่นก็ไม่สามารถขัดขวางความมุ่งมั่นของเด็กหนุ่มในการทำงานด้านสิ่งทอได้ สุดท้ายเขาก็ได้งานขายที่ Gagelin-Opigez & Cie ซึ่งเป็นผู้จัดทำสิ่งทอและเนื้อผ้าสำเร็จรูปชื่อดังในฝรั่งเศส และการซุ่มฝึกฝนเมื่ออยู่กับเนื้อผ้าจำนวนมหาศาลทำให้ชาร์ลส์เป็นอัจฉริยะแบบเงียบๆ ในมุมมืดของตนเอง วันหนึ่งเขาเริ่มปักเย็บเสื้อผ้าจริงจังขึ้นและผลงานก็เข้าตาทั้งเจ้าของและลูกค้าเข้าอย่างจัง นี่คือจุดเปลี่ยนชีวิตที่ทำให้จากเซลล์ขายผ้าเดินข้ามสายเข้าสู่โลกช่างทำเสื้อผ้าอย่างจริงจัง และความโชคดีของเขาคือ Gagelin เจ้าของกิจการมองว่าเด็กคนนี้มีแววจึงมอบโอกาสขยายกิจการร้านสิ่งทอให้มีแผนกตัดเย็บด้วย โดยชาร์ลส์รับตำแหน่งเป็นช่างฝีมืออาชีพคนแรกของที่นี่ หนุ่มอังกฤษไม่ใช่แค่ผู้ริเริ่มแต่เขาคือผู้พัฒนาให้ชื่อของธุรกิจนี้โด่งดังไปทั่วด้วยการชนะรางวัลงานนิทรรศการอย่าง The Great Exhibition ในลอนดอนปี 1851 และ Exposition Universelle ในปารีสปี 1855



WATCH




Marie Vernet ภรรยาของ Charles F. Worth / ภาพ: WIKI Database

     ระบบปกครองที่กลับมาเฟื่องฟูทำให้ชาร์ลส์ยิ่งโด่งดังขึ้นไปอีก...เมื่อระบอบกษัตริย์ของฝรั่งเศสถูกฟื้นฟูอีกครั้ง จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 พัฒนาระบบเศรษฐกิจจนฝรั่งเศสนั้นสามารถกลับมาอู้ฟู่หรูหราอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับตั้งแต่ช่วงปฏิวัติ นั่นทำให้สินค้าระดับลักชัวรี่และสิ่งทอเกรดพรีเมียมเป็นที่ต้องการมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสังคมครั้งนี้ทำให้ช่างเสื้อหนุ่มจากอังกฤษได้อวดฝีมือแบบสุดความสามารถ ชื่อชาร์ลส์เลื่องลือไปทั่วถึงความสุดยอดเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูง ช่วงชีวิตนี้เองที่ชาร์ลส์พบรักกับ Marie Vernet ภรรยาของเขาในห้องเสื้อ ด้วยความสำเร็จขนาดนี้เขาไม่รอช้าร่วมหุ้นกับ Otto Gustaf Bobergh เปิดธุรกิจเสื้อผ้าเป็นของตัวเองในชื่อแรก “Worth and Bobergh” หน้าชีวิตของชาร์ลส์กำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อต้องเดินหน้าทำงานภายใต้ชื่อห้องเสื้อของตนเองโดยมีภรรยาคอยหนุนหลัง

หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า Eugénie de Montijo จักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศสในยุคนั้นสวมชุดของห้องเสื้อแห่งนี้ / ภาพ: Franz Xaver Winterhalter

     เคยเห็นภาพวาดหญิงสาวกับชุดสุดหรูในภาพวาดสมัยศตวรรษที่ 19 กันหรือไม่ ถ้าเคยเห็นนั่นแปลว่ามีโอกาสที่คุณจะเคยเห็นผลงานของชาร์ลส์แบบไม่รู้ตัว และอย่างที่กล่าวไปว่าการกลับมาเฟื่องฟูของชนชั้นสูงในฝรั่งเศสทำให้ชุดของเขาปรากฏในภาพวาดบ่อยครั้ง และบ่อยที่สุดคงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีเออเฌนี เดอ มอนตีโคที่ทรงโปรดปรานงานฝีมือของชาร์ลส์เป็นพิเศษ เท่านั้นยังไม่พอท่านยังทรงแนะนำต่อถึงเจ้าหญิงเดเมตเตอร์นิชแห่งออสเตรียผู้ได้ชื่อว่าเป็นส่วนสำคัญของการสรรสร้างโลกโอตกูตูร์ด้วย กูตูริเยร์ชาวอังกฤษคนนี้จึงกลายเป็นช่างเสื้อคนโปรดของเหล่าราชวงศ์และคนชนชั้นสูงเรื่อยมา ด้วยสไตล์ของการตัดเย็บที่เสริมมิติความหรูหราไล่ตั้งแต่เนื้อผ้าไปจนถึงเทคนิคอันซับซ้อน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการสวมใส่เสื้อผ้าของเหล่าผู้มีอำนาจทั้งทางสังคมและการเงิน ธุรกิจของชาร์ลส์ตอนนั้นเฟื่องฟูจริงๆ

Empress Elisabeth of Austria กับชุดผ้าทูลสีชมพูจาก House of Worth / ภาพ: Franz Xaver Winterhalter

     ความแตกต่างของช่างเสื้อยุคนั้นกับช่างเสื้อชาวอังกฤษคนนี้คือ ก่อนหน้าชาร์ลส์จะก้าวเท้าเข้าสู่วงการตัดเสื้ออย่างจริงจัง การตัดเสื้อผ้าถือเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอดมานาน คนสมัยก่อนมักนัดช่างตัดเสื้อแบบตัวต่อตัวเพื่อพูดคุยกันอย่างละเอียดสำหรับชุดราคามหาศาล แต่สำหรับชาร์ลส์มีวิธีที่ล้ำสมัยมากในยุคนั้นคือทำตัวอย่างชุดตามแนวคิดของตัวเองและให้นางแบบสวม โดยนางแบบคนแรกของ “House of Worth” คือภรรยาของเขาเอง และเหตุการณ์นี้เรียกได้ว่าเป็นนางแบบคนแรกในประวัติศาสตร์แฟชั่นเลยก็ว่าได้ นั่นทำให้แฟชั่นของชาร์ลส์มีมิติมุมมองการออกแบบที่สดใหม่กว่าเพราะออกแบบก่อนจะพบลูกค้าทำให้ไอเดียพุ่งได้ถึงขีดสุด ความสุดยอดของการนำเสนอเช่นนี้ทำให้คำว่า “ดีไซเนอร์” ดูเหมาะกว่าช่างตัดเสื้อทั่วไป และด้วยฝืมืออันยอดเยี่ยมอยู่ในระดับปรมาจารย์กูตูริเยร์จากอังกฤษจึงได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งโอตกูตูร์”

ความงดงามของชุดผ้าทูลจากห้องเสื้อ Worth / ภาพ: beautifully-invisible.com

     ความยอดเยี่ยมของห้องเสื้อแห่งนี้อีกด้านหนึ่งคือทุกส่วนเสื้อผ้าของลูกค้าจะถูกทำอย่างประณีตโดยฝีมือของช่างในเวิร์กช็อปเฉพาะส่วนไล่ตั้งแต่แขนเสื้อ ชายกระโปรง การปัก และอื่นๆ อีกมากมาย ลูกค้าจึงเชื่อมั่นและไว้ใจให้ช่างฝีมือในห้องเสื้อแห่งนี้ผลิตชิ้นงานดีๆ ให้แม้จะต้องควักเงินจ่ายกว่าหลายร้อยฟรัง ซึ่งเงินจำนวนนี้คงมีเฉพาะเศรษฐีและเหล่าสมาชิกราชวงศ์เท่านั้นที่สามารถจ่ายได้ ด้วยฝีมือชั้นครูทำให้ลูกค้ายิ่งเข้าหา พอลูกค้าเข้าหาก็สามารถขยายกิจการได้ ชาร์ลส์ยังคงขยายกิจการต่อไปเรื่อยๆ จากเดิมมีสตาฟฟ์เพียง 50 คน แต่ผ่านไปไม่นานห้องเสื้อแห่งนี้มีบุคลากรใต้การบัญชาของชาร์ลส์ถึง 1,200 คน

สุดยอดความอลังการของชุดฝีมือ Charles F. Worth ของจักรพรรดินี Eugénie de Montijo และพระสหาย / ภาพ: Wiki Commons

     ชาร์ลไม่ใช่แค่สุดยอดนักออกแบบและตัดเย็บแต่เขาได้รับตำแหน่งเป็นช่างทำเสื้อส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระจักรพรรดินีเออเฌนี เดอ มอนตีโค เลยทีเดียว มากไปกว่านั้นลูกค้าคนอื่นๆ ยังมีทั้งเอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรีย-ฮังการี และสมาชิกราชวงศ์อีกหลากหลายพระองค์  นอกจากนี้ลูกค้าจากฝั่งอเมริกาถึงขั้นข้ามทวีปมาเพื่อเหมาชุดของเขากลับประเทศและดาราดังทั้งหลายก็เป็นลูกค้าของที่นี่เช่นกัน เนื่องด้วยผลงานของชาร์ลส์อันครอบคลุมทุกแขนงเสื้อผ้าไล่ตั้งแต่ชุดเช้ายันกลางคืนและชุดสำหรับโอกาสพิเศษต่างๆ รวมถึงชุดแต่งงานด้วย อีกทั้งเขายังรังสรรค์เสื้อผ้าคุณภาพเยี่ยมสำหรับโรงละครในยุคนั้นเพื่อตอบโจทย์ความบันเทิงของคนชนชั้นสูงทั้งในอเมริกาและยุโรป แน่นอนว่าไฮไลต์สำคัญคือชุดผ้าทูลสีขาวที่ไม่เคยเลือนหายไปจากหน้าบันทึกแฟชั่น

ชุด Walking Dress ที่มีความยาวของชายกระโปรงพอเหมาะสำหรับเดินในช่วงสมัยก่อน / ภาพ: The Metropolitan Museum of Art

     งานของเขางดงามและแสดงให้เห็นถึงเทคนิคของอัจฉริยะ ชาร์ลส์ไม่ใช่ช่างเสื้อธรรมดาอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ เขาฉายแววออกมาตั้งแต่เด็กและพัฒนาทักษะจนมาเป็นสุดยอดตำนานผู้ถูกลืม เชื่อไหมว่าผู้ชายคนนี้เปลี่ยนแปลงกระโปรงทรงสุ่มที่เราเห็นกันจนชินตาจากความกว้างบานซึ่งสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตอย่างมากเป็นรูปทรงแคบมีการคลายการรัดช่วงเอวและส่วนสะโพกทำให้ผู้หญิงสามารถขยับร่างกายได้อิสระมากขึ้นแต่ก็ยังดูงดงามตามยุคสมัยอยู่ และเขาคือผู้สร้างสรรค์ซิลูเอตแบบ “Princess Line” ที่แนบเนื้อหญิงสาวเป็นแนวตรงลงมาอวดโฉมความงดงามของรูปร่างได้โดยไม่เผยเนื้อหนังมังสาของช่วงตัว และการปรับช่วงชายกระโปรงให้อยู่ในระดับใช้งานได้สะดวกจนชุดตำนานอย่าง “Walking Dress” ถูกจัดเข้าพิพิธภัณฑ์ Metropolitan หรือ The Met ในเวลาต่อมา

บรรยากาศสุดคลาสสิกของ House of Worth ที่ไม่มีอีกแล้วนับตั้งแต่ปี 1952 / ภาพ: Barbara Frères

     เสื้อผ้าของคนชนชั้นสูงเหล่านี้กลายเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ชั้นยอดที่สามารถระบุรูปแบบแฟชั่นได้อย่างชัดเจนว่าความงามในอุดมคติและเทรนด์ของเหล่าผู้กำหนดเทรนด์นั้นเป็นอย่างไรในยุคนั้น เมื่อการแต่งกายด้วยชุดเดรสฟูฟ่องหรูหราคือเทรนด์ การทวิสต์ให้ดูแปลกใหม่มากขึ้นโดยช่างสุดยอดฝีมือคือแฟชั่นของผู้กำหนดเทรนด์ หรือในขณะนั้นก็คือเหล่าคนชนชั้นอีลิท ชาร์ลส์จึงเป็นเหมือนตำนานผู้รังสรรค์แฟชั่นมาตลอดหลายสิบปีจน George Walden นักข่าวและอดีตนักการเมืองผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านแง่มุมทางแฟชั่นกล่าวว่า “ชาร์ลส์คือผู้ทำเผด็จการทางแฟชั่นเป็นร้อยปีก่อนจะถึงยุค John Galliano” หลังจากสร้างชื่อเสียงในแวดวงแฟชั่นยุคเก่ามาอย่างยาวนานเขาก็เสียชีวิตในวันที่ 10 มีนาคม 1895 ด้วยวัย 69 ปี ทิ้งกิจการให้ลูกชายทั้ง Gaston-Lucien และ Jean-Philippe ดูแลต่อซึ่งลูกชายทั้ง 2 คนยังคงเดินตามเส้นทางการรังสรรค์ความงดงามด้วยกลิ่นอายความหรูหราและความประณีตตั้งแต่การเลือกใช้เนื้อผ้าเช่นเดิม แต่น่าเสียดายที่ความยิ่งใหญ่นี้ไม่มีอีกต่อไปแล้ว ปี 1952 หลานชายผู้สืบทอดกิจการอย่าง Jean-Charles ตัดสินใจวางมือจาก “House of Worth” และทิ้งให้ชื่อนี้กลายเป็นตำนานความทรงจำ ภาพสเกตช์กว่า 23,000 ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทนเองก็เก็บรักษางานของชาร์ลส์ไว้หลายชุดเช่นกัน นอกจากนี้แกลอรี่ของเจ้าตัวยังถูกสร้างขึ้น ณ เมืองบ้านเกิดเพื่อรำลึกถึงผลงานชั้นครูที่เขาเคยมอบไว้ วันที่ 10 มีนาคม 2020 ถือเป็นโอกาสครบรอบการจากไป 125 ปีของ “บิดาแห่งโอตกูตูร์” คนนี้ “ชาร์ลส์ เฟรเดอริก เวิร์ธ”

WATCH