FASHION
ไขรหัสประโยคเด็ดของ Coco Chanel ที่ทำให้ชุดของเธอกลายเป็นอมตะเสมอมา“Fashion is architecture; it is matter of proportions” คือประโยคอันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาแฟชั่นหลังยุค 1920s |
หากพูดถึงเรื่องแฟชั่น คงไม่มีใครไม่รู้จัก Coco Chanel สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สรรสร้างแบรนด์ Chanel จนสามารถปฏิวัติวงการได้อย่างไม่เคยเกิดขึ้นเมื่อก่อน ตลอดระยะเวลาหลายปีความโดดเด่นของห้องเสื้อแห่งนี้ทำเอาสาวกแฟชั่นต้องตื่นเต้นและคล้อยตามเทรนด์ต่างๆ อยู่เสมอ ทว่าความแตกต่างที่สัมผัสได้นี้ไม่ได้มีเพียงแนวคิด สีสัน เนื้อผ้า หรือแม้แต่การสไตลิ่งเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของแฟชั่นจากชาเนลคือ “สัดส่วน” วันนี้เราจะมาย้อนชมว่ามาดามโคโค่รังสรรค์แฟชั่นด้วยสัดส่วนแบบใด ทำไมมันถึงเป็นอมตะจวบจนปัจจุบัน
ชุดจากแบรนด์ Chanel ที่เริ่มปรับโครงสร้างสัดส่วนให้สอดแทรกกลิ่นอายแบบแมสคิวลีนมากขึ้น / ภาพ: Sasha
“Fashion is architecture; it is matter of proportions” ประโยคเด็ดของโคโค่ ชาเนลที่นิยามแฟชั่นได้น่าสนใจเสียจนเราอยากจะหยิบยกมาพูดถึงกันในวันนี้ สัดส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับเสื้อผ้า ไม่แน่อาจจะสำคัญยิ่งกว่าสีสันหรือผ้าเสียด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่จะบ่งบอกคุณภาพได้ดีที่สุดก็คือความลงตัวของสัดส่วนระหว่างผู้สวมใส่กับเสื้อผ้านั่นเอง การปฏิวัติวงการแฟชั่นของโคโค่ไม่ใช่แค่การหยิบกลิ่นอายแมสคิวลีนมาสอดแทรกในวิธีการทำสูท แต่เธอเลือกใช้สัดส่วนของเสื้อผ้าเพื่อแสดงถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย ปกติผู้หญิงจะมีรูปร่างเล็กกว่าผู้ชาย สัดส่วนด้านบนจะสั้นกว่าและชุดเองก็ไม่ได้เอื้อต่อการเล่นกีฬา แต่เมื่อใส่ใจรายละเอียดอย่างจริงจังจะพบว่าเสื้อสูทฉบับคลาสสิกจากยุค ‘20s ของชาเนล มีการสร้างสัดส่วนร่างกายผู้หญิงให้ยาวและหนาขึ้น อีกทั้งกระโปรงยังสั้นพอดี ฉะนั้นใครสวมชุดของชาเนลยุคแรกจะได้อารมณ์เหมือนชุดกีฬาของผู้ชาย อีกทั้งยังสร้างคาแรกเตอร์อันแข็งแกร่ง แต่เธอก็ใช้รรายละเอียดความพลิ้วไหวมาเบรคไว้เล็กน้อย การเนรมิตสัดส่วนให้หญิงสาวถือเป็นแกนหลักที่ทำให้ชาเนลโดดเด่นกว่าแค่เรื่องการผลิตศิลปะเครื่องแต่งกาย
ลุคสูืผ้าทวีดจาก Chanel ที่ทั้งท่อนบนและท่องล่างมีระดับความยาวเท่าๆ กัน / ภาพ: V Mag
จุดเด่นเรื่องสัดส่วนอีกจุดหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือเรื่องความสมมาตรกันระหว่างท่อนล่างและท่อนบน ปัจจุบันเราอาจจะเห็นการสร้างสัดส่วนที่สลับความสั้นยาวของเสื้อผ้าระหว่างส่วนบนกับส่วนล่าง แต่สำหรับสาวชาเนลท่อนล่างและท่อนบนมักเท่ากันเสมอ ลองพิจารณาจากลุคเสื้อและกระโปรงผ้าทวีดเข้าชุด เราจะเห็นว่าแจ๊กเก็ตยาวเท่าไร กระโปรงจะยาวเท่านั้นเช่นกัน หรือถ้าซิลูเอตถูกแต่งเติม ทั้ง 2 ชิ้นก็จะสร้างส่วนที่สมดุลกันเสมอ นั่นคือจุดเด่นของแบรนด์ชาเนลที่เป็นอมตะเสมอมา ในปัจจุบันชาเนลสร้างสรรค์ชุดที่สอดแทรกความเซ็กซี่มากยิ่งขึ้นด้วยการลดความยาวกระโปรงลง แต่สัดส่วนของเสื้อผ้ายังเท่าเดิม เมื่อกระโปรงสั้นแจ๊กเก็ตก็สั้นสมส่วนกันอย่างพอดิบพอดี
WATCH
ลุคเด่นจากโชว์คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 1992 ที่แสดงถึงเอกลักษณ์การสร้างสัดส่วนสุดคลาสสิกของผู้หญิงสไตล์ Chanel / ภาพ: Pierre Vauthey
เสื้อผ้าชาเนลทุกยุคมีการเล่นกับความกว้างและความแคบเสมอ หลายครั้งที่มีการเติมแต่งรายละเอียดของทั้งส่วนบนและส่วนให้มีลักษณะขัดแย้งกัน แต่เมื่อนำมาประกอบรวมกันจะได้ลุคที่เป็นทรงเรขาคณิตที่น่าสนใจ นี่คือความลับด้านแฟชั่นของชาเนลที่สาวกต้องถอดรหัส เฉกเช่นเดียวกับเรื่องรายละเอียดสีที่ชาเนลมักใช้คู่สีมาผสมผสานกันบนเสื้อผ้า แต่โคโค่ไม่เคยหยิบจับสีมาละเลงเพื่อสร้างสีสันเท่านั้น แต่ใช้มันเป็นตัวช่วยในการปรับสัดส่วนให้สมดุล อย่างเช่นการใช้สีตัดกันระหว่างตัวเสื้อกับชายเสื้อหรือรังดุม วิธีการกุ๊นขอบ และการเปลี่ยนเนื้อผ้าเพื่อเปิดมิติของเสื้อผ้าชาเนลให้หลากหลายไม่ซ้ำจำเจ
ลุคสีส้มด้านซ้ายแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการสร้างสมดุลด้วยความใหญ่-เล็ก เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่สำคัญไม่่น้อย / ภาพ: Chanel
อิทธิพลของชาเนลยังส่งผลอยู่ถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลานานหลายทศวรรษที่คนยกย่องชาเนลในเรื่องการปฏิวัติและรูปแบบของงานออกแบบ แต่เรื่องความลงตัวที่สอดแทรกอยู่ภายใต้แฟชั่นอันยิ่งใหญ่คือวิธีสร้างสมดุลให้เสื้อผ้าแบบฉบับคลาสสิก การคำนวณความลงตัวระหว่างสัดส่วนช่วงบนกับล่างคืออิทธิพลที่ชาเนลสร้างให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่น สไตล์การเทียบวัดความยาวแบบดั้งเดิมก็ยังคงปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบัน กฎง่ายๆ ที่ทำให้แฟชั่นฉบับดั้งเดิมยังมีชีวิตชีวาได้เสมอคือการสร้างสัดส่วนให้เท่ากันพอดี กฎนี้เป็นเหมือนพื้นฐานที่ถ้าใครไม่มั่นใจว่าชุดนั้นพอดีหรือไม่ ก็ใช้หลักการนี้เทียบเบื้องต้น เท่านี้ก็สามารถให้คำตอบได้แล้วว่าชุดของเราเข้าคู่กันได้ดีจริงไหม
อีกหนึ่งตัวอย่างจากโชว์ Chanel คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2017 ที่แสดงให้เห็นว่าแม้ธีมแฟชั่นตอนนั้นจะล้ำสมัยเพียงใด แต่สัดส่วนอันเป็นอมตะจากมาดามโคโค่ก็ยังคงรักษามาตรฐานได้ดีเช่นเดิม / ภาพ: Chanel
ใหญ่เพราะต้องใหญ่ และเล็กเพราะต้องเล็ก สิ่งสุดท้ายที่ทำให้การเนรมิตสัดส่วนของผู้หญิงด้วยเสื้อผ้าชาเนลโดดเด่นที่สุด คือการเข้าใจธรรมชาติของเสื้อผ้าแต่ละประเภทอย่างดี ลองนึกภาพเสื้อคาร์กินกับเสื้อแจ๊กเก็ตรัดรูป เสื้อประเภทแรกจะใหญ่โคร่งและเหมาะสำหรับสวมทรงโอเวอร์ไซซ์ หรือสวมเป็นเสื้อนอกเท่านั้น ในขณะที่แจ๊กเก็ตถูกออกแบบมาให้รัดรูปและเผยความโค้งเว้าผ่านซิลูเอตที่สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยเฉพาะ ดังนั้นเสื้อใหญ่เล็กจึงไม่สามารถดูด้วยตาและบอกทันที แต่หมายถึงการเข้าใจธรรมชาติอันเป็นรากฐานสำคัญให้ดีก่อน หลังจากนั้นจะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งว่าการสร้างสัดส่วนของแต่ละลุคควรคำนึงถึงเรื่องธรรมชาติของทรงเสื้อผ้าด้วยเช่นกัน ชาเนลเน้นย้ำเรื่องนี้เสมอ และโคโค่เองก็เป็นผู้รังสรรค์ผลงานที่ชี้ให้เห็นว่าความงามในอุดมคติตามแบบฉบับสาวแฟชั่นนั้นเต็มไปด้วยความลงตัวและความเข้าใจในรากฐากของเสื้อผ้าชิ้นนั้นๆ ซึ่งแบรนด์เพชรยอดมงกุฏจากฝรั่งเศสนำโดย มาดามโคโค่คนนี้ก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง เพราะเราจะเห็นว่าทุกอย่างมีสัดส่วนที่คงเดิมเสียส่วนมาก การปรับของแบรนด์ไม่ได้ปรับผลลัพธ์ปลายทาง แต่ปลดล็อคแนวคิดการนำวิถีดั้งเดิมมามิกซ์แอนด์แมตช์จนน่าสนใจแบบไม่มีใครปฏิเสธได้ ต่อไปนี้ถ้ามีคนถามว่า “อะไรสำคัญที่สุดในโลกแฟชั่น” ต่อไปนี้เราก็สามารถตอบได้อย่างอัตโนมัติว่า “สัดส่วน” เพราะชาเนลแสดงให้เห็นแล้วว่ารากฐานการสร้างสัดส่วนสุดคลาสสิกที่ยังคงอยู่ทุกยุคทุกสมัยเป็นอย่างไร
ข้อมูล:
WATCH