CHANEL Maison Michel and Lasage
FASHION

VOGUE SERIES EP.2 | เปิดอาณาจักร Maison Michel และ Lesage เบื้องหลังงานฝีมือในโลกของ CHANEL

#VogueSeries โว้กพาไปทำความรู้จักกับ Maison Michel และ Lesage ในอาณาจักรช่างฝีมือในโลกของ CHANEL ศาสตร์และศิลป์จากช่างฝีมือชั้นเลิศผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์คอลเล็กชั่น Métiers d’Art หนึ่งในคอลเล็กชั่นที่ประณีตที่สุดในโลกแฟชั่น #CHANEL #CHANELMetiersdArt

     หลังจากที่โว้กประเทศไทยพาทุกคนไปทำความรู้จักกับต้นกำเนิดของคอลเล็กชั่น Métiers d’Art ของแบรนด์ CHANEL พร้อมพาไปเปิดอาณาจักรของ 2 เมซงช่างฝีมืออย่าง Lemarié และ Lognon กันไปแล้วใน #VogueSeries Ep.1 ในตอนนี้โว้กจะขอพาทุกคนเดินทางท่องไปยังอาณาจักรช่างฝีมือของชาเนลอย่างต่อเนื่อง กับอีกสองเมซงที่มีความสำคัญไม่แพ้กันอย่าง Maison Michel และ Lesage อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยเติมเต็มให้ผลงานของชาเนลไม่เป็นรองใคร

     Maison Michel

     Maison Michel เมซงผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์หมวกและเครื่องประดับศีรษะชิ้นสวยมากมายแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1936 โดย Auguste Michel ที่นี่ได้สืบสานทักษะในการทําหมวกซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปารีสนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เมซงแห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางเมื่อ Pierre และ Claudine Debard คู่รักช่างทําหมวกที่มีพรสวรรค์ได้สร้างชื่อเสียงให้กับเมซงด้วยดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์และฝีมือการทําหมวกชั้นเลิศในปี 1968 เมซง มิเชลได้กลายมาเป็นช่างทําหมวกให้กับแบรนด์แฟชั่นมากมาย เป็นสตูดิโอทําหมวกที่น่าจับตามองที่สุดในเวลานั้น ด้วยความต้องการของงานสั่งตัดหมวกเฉพาะบุคคลที่มีมากขึ้น ในปี 1975 คู่สามีภรรยาเดอบาร์ดจึงได้นําจักรเย็บฟางแบบไร้ตะเข็บที่เรียกว่า Weissmann กลับมาใช้ในการผลิตอีกครั้งและยังคงสืบสานเทคนิคนี้จวบจนปัจจุบัน

     เมื่อ Karl Lagerfeld เข้ามากุมบังเหียนที่ชาเนลในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ในปี 1983 เขาเลือกให้เมซง มิเชลเป็นผู้ถ่ายทอดจินตนาการของเขาให้เป็นจริงด้วยการผลิตหมวกรูปทรงต่างๆ และเครื่องประดับศีรษะให้กับชาเนล เมซง มิเชลเข้าร่วมกับสตูดิโอ Métier d'art ของ Chanel ในปี 1997 เพื่อยกระดับคอลเล็กชั่นออกแบบที่สะท้อนผลงานช่างศิลป์ทุกแขนงให้เหนือชั้นขึ้นไปอีก เมซงแห่งนี้ยังคงสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมเอาไว้ด้วยการขึ้นรูปหมวกด้วยมือโดยใช้ต้นแบบหมวกที่ทำจากไม้ไลม์วู้ด มีต้นแบบหมวกที่ทำจากไม้กว่า 3,000 แบบรวมอยู่ในคลังมรดกของเมซง รวมถึงเส้นฟาง และผ้าสักหลาดโบราณหายากอีกมากมาย ด้วยความทุ่มเทของ Priscilla Royer ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์คนปัจจุบันของเมซง มิเชล ทุกงานสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นหมวกทรงโบตเตอร์, ผ้าคลุมหน้า, หมวกแก๊ป หรือจะเป็นหมวกเบเรต์สไตล์ปารีเซียนจึงถูกผลิตออกมาให้ตรงกับจินตนาการของนักออกแบบด้วยฝีมือช่างผู้ชำนาญการ ทั้งในคอลเล็กชั่นเรดี้ทูแวร์และ โอต กูตูร์ให้กับ ชาเนล หมวกและเครื่องประดับศีรษะที่สร้างสรรค์โดยเมซง มิเชลจึงเป็นแอ็กเซสเซอรี่ชิ้นเก๋ที่ช่วยคอมพลีตให้ผลงานออกแบบของชาเนลนั้นสวยสมบูรณ์แบบในทุกมิติ

     Lesage

     งานปักสุดแสนวิจิตรทั้งในคอลเล็กชั่นเรดี้ทูแวร์และโอต กูตูร์ของ Chanel  รวมถึงผ้าทวีดทอลายที่ไร้ซึ่งข้อจำกัดของสีสันและวัสดุ ที่อาจต้องใช้เวลานับร้อยชั่วโมงในการสร้างสรรค์แต่ละชิ้นขึ้นมา ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดย Lesage เมซงช่างปักและถักทอที่ถ่ายทอดความชำนาญการของช่างศิลป์ชั้นครูนานนับร้อยปีสู่ผลงานอันพิถีพิถัน

     ย้อนไปในปี 1858 ช่างปัก Michonet นับเป็นช่างปักที่มีฝีมือและร่วมสร้างสรรค์ผลงานโอต กูตูร์ให้กับดีไซเนอร์ดังมากมายไม่ว่าจะเป็น Charles Federick Worth ผู้ให้กำเนิดอาภรณ์ชั้นสูง ซึ่ง Marie-Louise Lesage ในเวลานั้นได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยข้างกายของเขา ในปี 1924 Albert และ Marie-Louise Lesage ได้เข้าครอบครองกิจการของ Michonet และเปลี่ยนชื่อเป็นเลอซาจ กิจการของเลอซาจประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะเป็นผู้คิดค้นเทคนิคใหม่ๆทั้งการทอผ้าแนวยืน และเทคนิคในการใช้โทนสีอ่อนซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีใครทำมากนัก ในปี 1949 François Lesage ในวัย 20 ปี ได้เป็นผู้สืบทอดกิจการงานปักของครอบครัว  เลอซาจได้ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับชาเนลเมื่อปี 1983 ในขณะที่ Karl Lagerfeld ดำรงตำแหน่ง



WATCH




     ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ สตูดิโอแห่งนี้อยู่เบื้องหลังงานปักอันวิจิตรสร้างสรรค์ให้บรรดาผลงานที่อวดโฉมบนรันเวย์ นอกจากงานปักแล้ว ฟรองซัวส์มีความตั้งใจที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้เมซงแห่งนี้ เขาได้ฝึกฝนและสร้างช่างฝีมือสาขาสิ่งทอขึ้นมาในปี 1996 ช่างทอใช้เวลาเพียงสองปีก็สามารถถักทอผ้าทวีดที่มีเอกลักษณ์เพื่อใช้ในคอลเล็กชั่นเรดี้ทูแวร์ เลอซาจยังคงพัฒนาและคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอจนในปี 2008 สตูดิโอแห่งนี้ได้ผลิตผ้าทวีดที่ฉีกกฎไปจากรูปแบบเดิมด้วยการผสมผสานเส้นด้ายขนสัตว์เข้ากับวัสดุแปลกใหม่เกิดผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมายซึ่งสร้างสรรค์เป็นพิเศษเพื่องานออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูง  เลอซาจยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการออกแบบคอลเล็กชั่น Métier d'art  มานับตั้งแต่ปี 2002 เมซงแห่งนี้ร่วมสร้างสรรค์งานออกแบบกับชาเนลนับสิบคอลเล็กชั่นต่อปี

     Virginie Viard มีความผูกพันใกล้ชิดกับเลอซาจนับตั้งแต่เธอเริ่มทำงานที่ชาเนล คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ได้วางใจมอบหมายให้เธอดูแลงานปักระดับโอต กูตูร์ เมื่อเธอดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสตูดิโอ Chanel Creation และผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ในปี 2019 เธอยังคงผลักดันให้เลอซาจมีบทบาทสำคัญในงานออกแบบทั้งคอลเล็กชั่นเรดี้ทูแวร์และโอต กูตูร์ ในปัจจุบันคลังมรดกของเลอซาจได้เก็บรวบรวมตัวอย่างงานปักเอาไว้กว่า 75,000 ชิ้น มันเปรียบเสมือนสมบัติล้ำค่าของงานปักชั้นสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแหล่งแรงบันดาลใจที่ไม่สิ้นสุดให้กับดีไซเนอร์และช่างปักรุ่นหลัง ไม่เพียงเท่านั้นเลอซาจที่ตั้งอยู่ในอาคาร le19M ยังเป็นโรงเรียนสอนงานปักเพื่อส่งต่อความเชี่ยวชาญในการรังสรรค์งานฝีมือชั้นสูงสู่คนรุ่นใหม่ให้ได้สืบสานต่อไป

     เรื่องราวอาณาจักรเมซงช่างฝีมือของ CHANEL ยังไม่จบลงเท่านี้ สามารถติดตาม #VogueSeries เปิดอาณาจักรช่างฝีมือในโลกของ CHANEL ได้ทั้งหมดตามลิ้งก์ด้านล่างนี้ 

     VOGUE SERIES EP.1 | เปิดอาณาจักร Lemarié และ Lognon เบื้องหลังงานฝีมือในโลกของ CHANEL

     VOGUE SERIES EP.3 | เจาะลึก Lemarié เบื้องหลังงานขนนกพลิ้วไหวและดอกไม้งามตาของ CHANEL

     VOGUE SERIES EP.4 | เจาะลึก Lognon เบื้องหลังการจับจีบพลีตด้วยมือ หัตถศิลป์ชั้นครูของ CHANEL

     VOGUE SERIES EP.5 | เจาะลึก Massaro เมซงเบื้องหลังรองเท้าคลาสสิกที่รู้สรีระเท้าดีที่สุดของ CHANEL

ข้อมูล : Courtesy of CHANEL

WATCH