CHANEL Lemarié and Lognon
FASHION

VOGUE SERIES EP.1 | เปิดอาณาจักร Lemarié และ Lognon เบื้องหลังงานฝีมือในโลกของ CHANEL

#VogueSeries เปิดประเดิมด้วยเรื่องราวของ 2 เมซงอย่าง Lemarié และ Lognon ในอาณาจักรช่างฝีมือในโลกของ CHANEL ศาสตร์และศิลป์จากช่างฝีมือชั้นเลิศผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์คอลเล็กชั่น Métiers d’Art #CHANEL #CHANELMetiersdArt

     จุดหมายปลายทางของการจัดแสดงโชว์ Cruise และ Pre-fall ของ Chanel นั้นเป็นที่จับตามองอยู่เสมอ ด้วยความเชื่อมโยงระหว่างบรรยากาศและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่สร้างความน่าสนใจให้กับงานดีไซน์ แต่สำหรับคอลเล็กชั่นอุ่นเครื่องก่อนฤดูหนาวของชาเนลที่เรียกว่า Métiers d’Art  นั้นเป็นมากกว่าแฟชั่นโชว์ทั่วไป มันเปรียบเหมือนโชว์เคสในการแสดงอัจฉริยภาพของการสร้างสรรค์ชิ้นงานผ่านฝีมือชั้นครูของช่างหลากหลายแขนงที่รวมตัวกันภายใต้ House of Chanel

     จุดเริ่มต้นของ Métiers d’Art ภายใต้ House of Chanel นั้นเริ่มมาจาก Gabrielle Chanel เธอต้องการช่างฝีมือที่มีความสามารถในการร่วมสร้างสรรค์คอลเล็กชั่นให้สมบูรณ์แบบอย่างที่ตั้งใจ จึงเป็นที่มาในการร่วมงานกับช่างศิลป์ในสามสาขาซึ่งมีฝีมือดีที่สุดในปารีส ไม่ว่าจะเป็นช่างทำรองเท้า Massero, ช่างทำขนนกและดอกไม้ Lemarié และช่างทอง Goossens ความสัมพันธ์กับแบรนด์และเหล่าช่างศิลป์ดำเนินด้วยดีเรื่อยมา จนช่วงปี 1980 โรงงานช่างศิลป์ต่างๆ เริ่มประสบปัญหาทางด้านเงินลงทุนและขาดแคลนผู้สืบทอดกิจการทำให้มีความเสี่ยงที่จะต้องปิดตัวลง แต่เพราะชาเนลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของช่างศิลป์สาขาต่างๆ ที่ได้ร่วมงานกันมาช้านาน ในช่วงต้นปี 1985 ชาเนลจึงได้เข้าครอบครองกิจการเหล่านั้นเพื่อให้เมซงงานฝีมือที่มีอายุยาวนานกว่าร้อยปีได้มีเงินทุนในการพัฒนารวมถึงการทดลองเชิงศิลป์ และฝึกปรือช่างฝีมือรุ่นใหม่เพื่อสืบสานงานศิลป์ที่ทรงคุณค่าของฝรั่งเศส ปัจจุบันมีเวิร์กช็อปและโรงงานผลิตรวมกว่า 50 แห่งภายใต้ House of Chanel เป็นการรวมตัวของช่างปัก, ช่างทำขนนก, ช่างทอง, ช่างทำรองเท้า, ช่างทำหมวก, ช่างโม่, ช่างทำถุงมือ, ช่างฟอกหนัง และช่างหนัง อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไหมและแคชเมียร์จากฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และสกอตแลนด์ ช่างฝีมือหลากหลายรุ่นกว่า 8,200 คน ได้ถูกยกย่องให้เป็นช่างประจำแฟชั่นเฮาส์อย่างสมเกียรติ แต่ละเมซงยังผลิตชิ้นงานให้กับแบรนด์อื่นๆ ได้อย่างอิสระภายใต้ชื่อ Paraffection เรียกได้ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นของฝรั่งเศส

Karl Lagerfeld

Karl Lagerfeld อดีตหัวเรือใหญ่แห่งแบรนด์ CHANEL ผู้ที่ทำให้คอลเล็กชั่น Métiers d’Art กลายเป็นคอลเล็กชั่นระดับไอคอนิกของชาเนล

 

     Métiers d’Art มีบทบาทที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อปี 2002 Karl Lagerfeld และทีมงาน ซึ่งในเวลานั้น Virginie Viard ดำรงตำแหน่งเป็นมือขวาของเขา ต้องการสร้างสรรค์เสื้อผ้า Ready to wear ในคอลเล็กชั่น Pre-fall ให้มีกลิ่นอายของเสื้อผ้าชั้นสูงหรือโอตกูตูร์ เขาจึงได้นำงานฝีมือจากช่างศิลป์หลากหลายสาขามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานดีไซน์ และเรียกคอลเล็กชั่น Pre-fall ของแบรนด์ว่า Métiers d’Art นับแต่นั้นมา เมซงช่างฝีมือต่างๆ นั้นตั้งอยู่กระจัดกระจายในปารีส ชาเนลจึงได้มีการสร้างอาคาร le19M ในเขตปกรอง 19 กรุงปารีสขึ้นมา เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของเมซงช่างฝีมือกว่า 11 สาขา และยังเป็นที่ตั้งของ Eres แบรนด์ชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำที่ชาเนลได้เข้าซื้อกิจการเอาไว้ รวมถึง La Galerie du 19M  ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของฝรั่งเศสเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการและเวิร์กช็อปศิลปะต่างๆ อาคารแห่งนี้เป็นคอนกรีตสมรรถนะสูงที่มีเสา 231 แท่งวางขัดกันเป็นโครงด้านนอกได้แรงบันดาลใจจากเส้นด้ายแนวยืนในการทอผ้าซึ่งออกแบบโดย Rudy Ricciotti ตั้งอยู่บนพื้นที่ทั้งหมดกว่า 25,000 ตารางเมตร ภายใต้บรรยากาศการทำงานที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ทั้งอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาผ้าและวัสดุต่าง และยังได้ออกแบบให้แสงที่ลอดผ่านตัวอาคารนั้นช่วยให้ช่างฝีมือมองเห็นสีสันที่แท้จริงของวัสดุ อาจเรียกได้ว่าที่นี่เป็นทั้งโรงเรียนสอนงานฝีมือและเป็นศูนย์กลางช่างฝีมือของโลกที่ชาเนลมีความตั้งใจในการสร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่ปีละ 100 คน และสืบสานให้งานศิลป์ชั้นครูคงอยู่สืบไป

CHANEL Métiers D'Art

     Lemarié

     เมซงแห่งนี้เชี่ยวชาญในการรังสรรค์ขนนกอันบอบบางก่อตั้งขึ้นในปี 1880 โดย Palmyre Coyette แรกเริ่มนั้นเมซงผลิตขนนกสำหรับตกแต่งหมวกและขนนกสำหรับคณะคาบาเรต์โดยมีความโดดเด่นในการจัดเรียงขนนกที่สวยงามและการย้อมสีสันให้ขนนกได้อย่างไร้ขีดจำกัด ในปี 1946 เมื่อ André Lemarié หลานชายของผู้ก่อตั้งได้เข้ามาสืบสานกิจการ เขาได้สร้างให้เมซงแห่งนี้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และได้ขยายไลน์ผลิตไปสู่การสร้างสรรค์ดอกไม้จากผ้าและขนนก เมื่อ Gabrielle Chanel ต้องการผลิตดอกคามิลเลียจากผ้า ชาเนลจึงได้ร่วมงานกับ Lemarié นับตั้งแต่ช่วงปี 1960s นับจากนั้นมาดอกคามิลเลียของชาเนลที่ผลิตจากผ้าไหม, ผ้าตาข่าย และผ้าทวีดถูกผลิตขึ้นที่นี่กว่า 25,000 ดอกต่อปี เมซงแห่งนี้ได้เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับชาเนลอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1996 นับตั้งแต่ Virginie Viard ดำรงตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ให้กับแบรนด์ Lemarié ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ให้ชาเนลราวสิบคอลเล็กชั่นต่อปี



WATCH




     Lognon

     ความเชี่ยวชาญที่สืบสานกันมาจากรุ่นสู่รุ่นนับตั้งแต่ปี 1853 Lognon จึงเป็นเมซงที่ผลิตผ้าอัดพลีตด้วยความละเอียดแม่นยำ และความรู้ความเข้าใจในวัสดุแต่ละประเภทเป็นอย่างดีตั้งแต่ผืนหนังเรื่อยมาจนผืนผ้าโพลีเอสเตอร์ ที่เมซงแห่งนี้มีแม่แบบพลีตแตกต่างกันไปกว่า 3,000 แบบในคลังมรดกของเมซง แม้ทุกวันนี้จะมีการนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเข้ามาช่วยในการออกแบบพลีต แต่ขั้นตอนการผลิตนั้นยังคงต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากช่างฝีมือในการนำผ้าลงแม่พิมพ์และเข้าเครื่องอัดพลีตที่มีอุณหภูมิสูงเพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด เมซงแห่งนี้ได้ร่วมเป็นครอบครัวเดียวกับชาเนลในปี 2013 ภายใต้การดูแลของ Gérard Lognon ทายาทผู้สืบสานกิจการของครอบครัว

     เรื่องราวอาณาจักรเมซงช่างฝีมือของ CHANEL ยังไม่จบลงเท่านี้ สามารถติดตาม #VogueSeries เปิดอาณาจักรช่างฝีมือในโลกของ CHANEL ได้ทั้งหมดตามลิ้งก์ด้านล่างนี้ 

     VOGUE SERIES EP.2 | เปิดอาณาจักร Maison Michel และ Lesage เบื้องหลังงานฝีมือในโลกของ CHANEL

     VOGUE SERIES EP.3 | เจาะลึก Lemarié เบื้องหลังงานขนนกพลิ้วไหวและดอกไม้งามตาของ CHANEL

     VOGUE SERIES EP.4 | เจาะลึก Lognon เบื้องหลังการจับจีบพลีตด้วยมือ หัตถศิลป์ชั้นครูของ CHANEL

     VOGUE SERIES EP.5 | เจาะลึก Massaro เมซงเบื้องหลังรองเท้าคลาสสิกที่รู้สรีระเท้าดีที่สุดของ CHANEL

ข้อมูล : Courtesy of CHANEL

WATCH