FASHION

เปิดประวัติแบรนด์ COMME des GARÇONS จากความเพี้ยนในโรงเรียนสู่แบรนด์แฟชั่นสุดล้ำ

     ความขบถ ความบังเอิญที่ไม่บังเอิญ ความแปลกใหม่ ชื่อแบรนด์ และคำศัพท์ต่างๆ นานาคือคำนิยามล้านแปดเมื่อคนพูดถึง Comme des Garçons แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติญี่ปุ่นที่มีชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า “เหมือนเด็กผู้ชาย” นั่นทำให้มิติเร้นลับของแบรนด์ถูกทวีความสงสัย แม้มันจะไม่ใช่สิ่งซ่อนเร้นแอบซ่อนไม่ให้เห็น แต่มันคือสิ่งที่ยิ่งเห็นยิ่งอยากหาคำตอบ ยิ่งอยากเห็นอีก ยิ่งอยากรู้เบื้องลึกเบื้องหลัง นั่นล่ะคือจุดมุ่งหมายสำคัญที่วันนี้เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นเพื่อรู้จักกับแบรนด์แฟชั่นที่ไม่รู้จักไม่ได้จริงๆ

Rei Kawakubo ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Comme des Garçons / ภาพ: Lori Tiron-Pandit

     ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 11 ตุลาคมปี 1942 เด็กผู้หญิงคนหนึ่งชื่อว่า Rei Kawakubo เกิดขึ้นในครอบครัวพ่อเป็นผู้บริหารและแม่เป็นอาจารย์ภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเคโอ นั่นทำให้กรอบระเบียบในแบบฉบับญี่ปุ่นขึงให้เรอิอยู่ในช่วงเวลาวัยเด็กที่ค่อนข้างเข้มงวดตามวัฒนธรรม แต่ความพิเศษคือเด็กคนนี้แตกต่าง มีหัวความเป็นกบฏวัฒนธรรมแต่ไม่ใช่การต่อต้านขั้นหัวรุนแรง ช่วงเวลาวัยเด็กถึงวัยรุ่นกลายเป็นช่วงชีวิตที่เธอพลิกผันตัวเองออกจากระเบียบจำเจมาสู่แนวทางของตัวเองในเรื่องต่างๆ และมันก็มาถึงเรื่องแฟชั่นที่เด็กสาวผู้แตกต่างเริ่มปลดถุงเท้าให้ย่นกองตรงข้อเท้าแทนที่จะดึงสูงตามเครื่องแบบของเหล่านักเรียนญี่ปุ่น ที่เราคุ้นเคย และนั่นคือคาแรกเตอร์สำคัญทำให้เป็นชนวนพร้อมจุดไฟเพลิงสู่วิถีแฟชั่นในแบบฉบับของเด็กกบฏชาวญี่ปุ่น

ร้าน Comme des Garçons ณ มินามิ อาโอยามะที่ถูกปรับปรุงใหม่แล้ว / ภาพ: TOKYO STORY

     ความสนใจในแฟชั่นประกอบกับความหน่ายระเบียบแบบเดิมๆ เครื่องแบบเดิมๆ ทำให้เรอิเข้าสู่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกับพ่อแม่ของเธอ พอจบการศึกษาก็เข้าทำงานโฆษณาในองค์กรเกี่ยวกับสิ่งทอแห่งหนึ่ง ขยันเรียนรู้และสร้างทักษะจนออกมาเป็นฟรีแลนซ์สไตลิสต์ จนกระทั่งได้เธอได้ขายงานออกแบบของตัวเองภายใต้ชื่อแบรนด์นี้เองในวัย 27 โดยเริ่มต้นที่เมืองโตเกียว และจดทะเบียนตั้งบริษัทในปี 1973 หลังจากนั้นก็เปิดบูติกแรกอย่างเป็นทางการที่มินามิ อาโอยามะด้วยวัยเพียง 33 ปี หลังจากนั้นอีกเพียง 3 ปีแบรนด์สามารถขยายฐานของเสื้อผ้าไปสู่ผู้ชายโดยเปิดไลน์ใหม่ในชื่อ Homme Comme des Garçons และเข้าสู่การเป็นแบรนด์สุดครบเครื่องเรื่องดีไซน์สำหรับทั้งชายและหญิงตั้งแต่ตอนนั้น



WATCH




ผลงานช่วงแรกของ Comme des Garçons ในขณะที่เริ่มโชว์ผลงานที่กรุงปารีสตั้งแต่ปี 1981 / ภาพ: LN-CC

     แต่อย่าลืมว่าโลกในญี่ปุ่นอาจจะยังไม่ใช่โลกกว้างเท่าที่ควร การจะก้าวสู่ระดับโลกจริงๆ ต้องผ่านเวทีแฟชั่นในภาคพื้นยุโรป และจุดหมายที่ว่าก็หนีไม่พ้นปารีส เรอิพาแบรนด์กอมเดการ์ซองของตัวเองไปโชว์ ณ กรุงปารีสในปี 1981 และนั่นคือจุดเริ่มต้นอันล้มเหลว ความขบถเจอสบดใส่ ความแปลกใหม่ถูกใส่อารมณ์วิจารณ์ยับเยินอยู่พอสมควร ทั้งดีไซเนอร์และชื่อแบรนด์กำลังเจอบทพิสูจน์ด่านใหญ่ และถูกตีตรานิยามว่าเป็นแค่ “ดีไซเนอร์ญี่ปุ่นอีกคนหนึ่ง” ไฟในตัวลุกโชนด้วยความไม่พอใจ เพราะดีไซเนอร์สาวมองว่าเธอแตกต่าง มันไม่ควรเหมารวมด้วยคำเช่นนี้ แต่แทนที่จะโกรธเป็นฟืนไฟและด่ากราด เธอกวาดคำเหล่านี้เข้าตัวให้มากที่สุดจนกระทั่งสามารถแปลงสภาพเป็นแรงผลักดันได้อย่างน่าอัศจรรย์

ผลงานการออกแบบที่เน้นสีดำประกอบกับอารมณ์นางแบบที่ไม่แคร์โลกพร้อมชุดสีดำกับความเป็นเอกลักษณ์ / ภาพ: Cult Jones

     คำวิจารณ์บางคนอาจจะเปลี่ยนตัวเองเพื่อได้รับคำชม แต่ไม่ใช่กับแบรนด์เด็กผู้ชายหัวดื้อแบรนด์นี้ เพราะยังคงทำๆๆ และทำสิ่งเดิมเพียงแต่ปรับรูปแบบไป เสื้อผ้ายังคงมาจากรากฐานของพังก์และมุมมองความทุกข์ทน มันไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นแค่ซิลูเอตหรือเทคนิคเท่านั้น แต่มันยังรวมถึงสีดำซึ่งคนมักจินตนาการได้เสมอเมื่อพูดถึงกอมเดการ์ซอง และนั่นทำให้เอกลักษณ์ของแบรนด์ถูกตีตราว่าเป็นขบถไม่ต่างกับคาแรกเตอร์ของตัวดีไซเนอร์ตั้งแต่วัยเด็ก ใครจะทำเสื้อผ้าหลากสีสันในยุค 70s หรือ 80s มากมายแค่ไหน ถามว่าเรอิและทีมงานสนไหม เราตอบได้เลยตรงนี้เลยว่าไม่! เพราะพวกเขาจะไม่ยอมขายตัวตนเพียงเพราะกระแสกำลังมา แต่กระแสจะต้องวิ่งหากอมสักวันหนึ่ง...

(ซ้าย) ผลงานจากคอลเล็กชั่น “Holes” จากปี 1982 (ขวา) ผลงานจากคอลเล็กชั่น “Body Meets Dress, Dress Meets Body” จากปี 1997 / ภาพ: The Cutting Class และ Vogue Runway

     แต่ไม่ใช่ว่าซีดีจีจะไม่สนใจสีอื่นเสียทีเดียว เพราะถ้าเปรียบสีดำเป็นสินค้าซิกเนเจอร์ สีสันคงเปรียบเสมือนสินค้าประจำฤดูกาล แต่ทำไมคนยังรู้ว่าสิ่งเหล่านี้คือกอมในเมื่อไม่มีลายโมโนแกรมหรือสัญลักษณ์เด่นเหมือนกับแบรนด์อื่น คำตอบคือรูปแบบการออกแบบสุดล้ำในทุกๆ ยุค ปี 1982 แบรนด์ปล่อยคอลเล็กชั่นชื่อ “Holes” กับเสื้อผ้ารูพรุนแต่นี่ก็ยังใช้สีขาวและดำเป็นหลัก แต่ทว่าช่วงกลางถึงปลายยุค 90s แบรนด์หันมาจับสีสันและประกอบเข้ากับซิลูเอตแปลกตา ไม่น่าเชื่อว่าคนสะดุดตาและสามารถจดจำเสื้อผ้าจากแบรนด์ได้แม้ไม่ใช่สีดำอย่างเช่นคอลเล็กชั่นปี 1997 ในชื่อ “Body Meets Dress, Dress Meets Body” หรือในชื่อที่คนเรียกกันว่า “lumps and bumps” คำดูถูก เสียงวิจารณ์ยับในช่วงแรก เรอิให้เวลาและผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์เกี่ยวกับเสื้อผ้าแนวอวอง-การ์ดของแบรนด์ว่า “นี่ไม่ใช่แค่ชุดแปลกๆ สีดำธรรมดาทั่วไป”

เสื้อผ้าสุดล้ำที่ผสมทั้งสีสันและซิลูเอตเข้าด้วยกันอย่างน่าตื่นเต้นจากคอลเล็กชั่น Spring/Summer 2001 / ภาพ: Yoshiko Seino

     นอกจากเรื่องสีและดีไซน์ แบรนด์ยังดึงเอาความพิเศษเรื่องการใช้วัสดุมาใช้อีกด้วย นับว่าเป็นก้าวสำคัญที่พร้อมเดินนำหน้าคนอื่นเลยทีเดียว จุดพัฒนาของกอมมีแต่กราฟพุ่งขึ้น นั่นเป็นเพราะแบรนด์เดินในเส้นทางของตัวเองและเดินหน้าอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเลนวิ่งในทางไม่ถนัดเพื่อตามกระแส ถ้าเปรียบเสมือนการท่องเที่ยว กอมฯ และเรอิคือนักท่องเที่ยวสายโร้ดทริปที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ตามถนนในเส้นระยะไกล หาแหล่งแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ตามระหว่างทาง เดินไปไม่มีหมด คำวิจารณ์เปรียบเหมือนเสียงแตร พวกเขาได้ยินแต่ไม่สนใจจะเปลี่ยนวิถีทาง ก็ฉันจะวิ่งแบบนี้ และแน่นอนว่าคำว่าโร้ดทริปตามแบบฉบับดั้งเดิมคือการท่องไปแบบไม่สิ้นสุด จุดหมายหมายถึงจุดแวะพักเพื่อไปสู่จุดอื่น กอมเดการ์ซองสร้างจุดหมายแบบนั้นไว้เสมอ เดินทางมาถึงเมื่อไหร่พวกเขาก็ไม่เคยหยุดนิ่งพร้อมทั้งเดินทางต่อไป

ตัวอย่างผลงานของแบรนด์ที่ได้เลือกมาจัดแสดงในงาน Met Gala 2017 / ภาพ: Rhododendrites

     ความสุดยอดไม่ได้ถูกถ่ายทอดผ่านรันเวย์เท่านั้น เพราะงานของแบรนด์ถูกหยิบไปจัดแสดงที่ต่างๆ ทั่วโลกนานกว่า 30 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการภาพที่ถ่ายโดย Peter Lindbergh ที่ Centre Georges Pompidou ณ กรุงปารีสในปี 1986 จัดแสดงงานประติมากรรมที่โตเกียวปี 1990 ที่โตเกียวกับเรื่องกราฟฟิกดีไซน์และงานโฆษณา ปี 2005 มีการจัดแสดงเกี่ยวกับนิทรรศการเกี่ยวกับแบรนด์ในชินจุกุ ส่วนปี 2010 มีนิทรรศการวันเปิดร้าน 6 ชั้นในกรุงโซลและที่สำคัญที่สุดคืองาน Met Gala 2017 ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ 2 ที่ดีไซเนอร์ยังมีชีวิตอยู่ต่อจาก Yves Saint Laurent ที่ได้จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Metropolitan  นั่นก็พิสูจน์แล้วว่าผลงานจากแบรนด์กอมเดการ์ซองนั้นไม่ธรรมดา เสื้อผ้ากว่า 120 ชิ้นถูกนำมาจัดแสดงพร้อมกลายเป็นแรงบันดาลใจของธีมหลักในงานอย่างสมศักดิ์ศรี

กลิ่นอายของสตรีตสไตล์จาก Comme des Garçons ยังคงส่งกลิ่นอายคละคลุ้งโลกแฟชั่นอยู่ถึงทุกวันนี้  / ภาพ: Nabile Quenum

     ทุกวันนี้ฝีมือของเรอิและกลิ่นอายผลงานของกอมเดการ์ซองถูกส่งผ่านมาถึงดีไซเนอร์รุ่นน้องอย่าง Junya Watanabe หรือจะเป็น Kei Ninomiya นอกจากนี้ความพลิกแพลงของโลกแฟชั่นกับธุรกิจสรรสร้างให้เกิดไลน์ภายใต้ชื่อแบรนด์มากกว่า 10 ไลน์ สินค้าไลน์แฮนด์เมดก็กลายเป็นเอกลักษณ์อันขาดไม่ได้ คุณภาพของวัสดุระดับสูง และอื่นๆ ประกอบให้แบรนด์สุดยอดแห่งโลกแฟชั่นมีรายได้ตามรายงานของ Business of Fashion มากถึง 280 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2017 จากเด็กดึงถุงเท้าลงเพียงเพราะความขบถนอกกฎระเบียบ ตอนนี้เธอทำลายทุกระเบียบไม่ใช่แค่กฎระเบียบโรงเรียน แต่หมายถึง แฟชั่น รายได้ วัฒนธรรม หรือจะพูดง่ายๆ ว่า “กอมเดการ์ซองไม่เคยต้องมีกรอบ” และขึ้นแท่นอีกหนึ่งไอคอนิกแบรนด์ที่สายแฟทุกคนต้องรู้จัก!

WATCH