FASHION
ชุดพรมแดงเมืองคานส์ต้องใหญ่จริงหรือ! ประวัติศาสตร์สอนอะไรกับเราแฟชั่นเมืองคานส์ที่แท้คืออะไร |
ห่างจากงานช้างสายแฟชั่นเต็มอัตราอย่าง Met Gala 2018 ณ พิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art มาได้เพียงสัปดาห์เดียว หากผู้คนในอุตสาหกรรมแฟชั่นและโลกออนไลน์ดูจะลืมเลือนกองทัพชุดเด่นในงานเปิดนิทรรศการ Heavenly Bodies: Fashion and the Catholic Imagination กันแล้ว อุปนิสัยรักง่ายลืมง่ายนี้อาจเป็นผลมาจากการถูกสปอยล์ผ่านความรวดเร็วของสื่อดิจิทัล ในขณะที่หันกลับมายังบ้านเรา ธรรมเนียมและความชัดเจนของวัฒนธรรมการเดินพรมแดงในบ้านเราจากรางวัลสุพรรณหงส์ถึงนาฏราชยังไม่เข้าที่สักเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากทิศทางการจัดงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หากเมื่อว่ากันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้ว ต้องยอมรับว่าพรมแดงแต่ละเวทีนั้นค่อนข้างชัดเจนและแตกต่างกันพอตัว
กล่าวอย่างคร่าวๆ บรรยากาศการจัดงานลูกโลกทองคำเรื่อยไปจนถึงมุกตลกบนเวทีที่มักออกแนวเป็นกันเองยิ่งกว่างานใดๆ ส่งผลให้คนดังส่วนใหญ่เลือกที่จะ “อั้น” ไว้เมื่อว่ากันถึงเรื่องของสไตล์ เพื่อเตรียมปล่อยของทีเด็ดในงานประกาศรางวัลอะคาเดมีหรือออสการ์ในอีกราวหนึ่งเดือนถัดมา ซึ่งได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่มากศักดิ์ศรีกว่า และด้วยเหตุนี้ ชุดราตรีที่เราพบเห็นบ่อยครั้งในออสการ์จึงหรูหราเต็มขั้นและมักติดกลิ่นอายสไตล์ Hollywood glamour จากอดีต เพื่อเป็นเกียรติแด่รางวัลสูงสุดในวงการบันเทิง ผิดกับขบวนเสื้อผ้าที่เมต กาล่าซึ่งเน้นหนักในแง่มุมแฟชั่นและเปิดโอกาสให้เหล่าคนดังได้ “ปล่อยของ” และ “จัดเต็ม” พลังความคิดสร้างสรรค์ตามธีม ด้วยเพราะเวทีแห่งนี้คือฐานการสื่อสารเพื่อบันทึกบทบาทของแฟชั่นในชั่วขณะหนึ่งๆ อีกทั้งยังใช้ผลักดันชิ้นงานสู่บทบาทศิลปะในอนาคตอีกด้วย
ชาร์ตเทียบความแตกต่างของแฟชั่นพรมแดง Golden Globes, Oscars และ Met Gala / ออกแบบภาพ: ไพรำ ด่านจิตร์ตรง
แล้วพรมแดงที่คานส์เล่าเป็นเช่นไร?
ก่อนเข้าเรื่อง ผู้เขียนขอหมายเหตุนำร่องเพื่อความเข้าใจเนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีผู้อ่านนำประเด็นไปผูกเข้ากับดาราไทยคือ คุณชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ซึ่งมีส่วนร่วมในเทศกาลเมืองคานส์มาหลายปีติดกัน โดยส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกชื่นชมรสนิยมการแต่งกายและความคิดสร้างสรรค์ของคุณชมพู่ (แม้ตามจริงทางโว้กประเทศไทยเองจะไม่สามารถรายงานความเคลื่อนไหวของเธอได้เพราะถือว่าเป็นตัวแทนจากต่างค่ายนิตยสารจนแฟนคลับหลายรายที่ไม่เข้าใจกระบวนการทำงานของอุตสาหกรรมแฟชั่นในประเทศไทยจะกังขามาโดยตลอด) และคิดว่าเธอทำหน้าที่ทูตความงามประจำแบรนด์เจ้าภาพจากประเทศไทยได้อย่างน่าชื่นชม เช่นเดียวกับความเรี่ยมน้อยของเซเลบริตี้สาวไทยอีกสามรายคือ คุณเจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์, คุณวุ้นเส้น-วิริฒิพา ภักดีประสงค์ และ คุณโยเกิร์ต-ณัฐฐชาช์ บุญประชม ซึ่งต่างก็เป็นตัวแทนจากประเทศไทยในฐานะตัวแทนจากแบรนด์แชมเปญ Piper-Heidsieck ที่พร้อมใจกันสวมชุดโทนสีพาสเทลตามโจทย์อันมีที่มาจากแฟชั่นดั้งเดิมของราชินีฝรั่งเศสนาม Marie Antoinette ที่แบรนด์ตั้งโจทย์ไว้ตามหน้าที่ของพวกเธอได้สมบูรณ์
วุ้นเส้น-วิริฒิพา ภักดีประสงค์, เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์ และโยเกิร์ต-ณัฐฐชาช์ บุญประชม สามสาวไทยตัวแทนของ Piper-Heidsieck บนพรมแดงเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2018
อย่างไรก็ตาม บทบาทของนักแสดงชาวไทยทั้งหมดล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่พวกเธอเกี่ยวข้อง ซึ่งสะท้อนถึงวิธีการนำเสนอเสื้อผ้าและความงามเป็นหลัก หากอาจแตกต่างจากบริบทที่ผู้เขียนกำลังวิเคราะห์ถึง ซึ่งเป็นการมองพรมแดงเมืองคานส์ท่ามกลางบุคคลที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จริงๆ ดังนั้น จึงขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ
กลับมาที่พรมแดง เราควรเข้าใจว่าหัวใจสำคัญของพรมแดงในเมืองชายทะเลทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสนี้แตกต่างที่ “แสงแดด” กับ “สภาพแวดล้อม” และไม่ว่าการประชาสัมพันธ์จะให้เหตุผลใดๆ ก็ตาม เมื่อเราสืบค้นเพียงคร่าวๆ ก็ย่อมวิเคราะห์ได้ว่าภูมิศาสตร์และงานพีอาร์ประเทศนั้นมีความเกี่ยวข้องกันอยู่พอสมควร (สิ่งนี้ตอบคำถามว่าเหตุใดฝรั่งเศสจึงเลือกจัดแฟชั่นวีคใหญ่ในปารีส ส่วนเมืองอิแยร์ใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันเฟ้นหาดีไซเนอร์หน้าใหม่ และคานส์ได้จัดเทศกาลภาพยนตร์) เมื่อเป็นดังนั้น ไลฟ์สไตล์ของ “Venue” หนึ่งๆ ย่อมมีผลต่อ “Look” ของผู้ตบเท้าเข้าร่วมงานด้วยเป็นเงาตามกัน
(ซ้าย) Bridget Bardot ในชุดบิกินีริมชายหาดเมืองคานส์ / (ขวา) Grace Kelly ในชุดกางเกงเข้ารูปกับเสื้อเชิ้ตปล่อยอิริยาบถริมท่าเรือเมืองคานส์
หากคุณเสาะหาภาพถ่ายจากหลายทศวรรษที่ผ่านมา หนึ่งในรูปขาว-ดำอันโด่งดังคือภาพดาราสาวนางเหมียวสวาท Bridget Bardot ในชุดบิกินีริมชายหาดทรายกรวดหยาบของเมืองคานส์ หรือภาพ Grace Kelly ผู้เลอโฉมในชุดกางเกงเข้ารูปควบคู่เชิ้ตตัวคมริมท่าเรือในอิริยาบถสบายๆ ในวันแดดจ้า (ก่อนคนดังอีกหลายชีวิตจะไปรวมตัวกันเพื่อเปียไพ่เล่นกันตามเรือยอชต์และเมาหัวราน้ำกับบรรดาเศรษฐีผู้แน่นอนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งสตูดิโอภาพยนตร์และผังการสร้างเมือง) ในด้านกองทัพชุดหรูฟูฟ่องวิบวับเต็มขั้นนั้นมีให้เห็นก็จริง หากล้วนปรากฏในช่วงหลังพระอาทิตย์ตกดินแล้วแทบทั้งสิ้น ในขณะที่สไตล์ของชิ้นงานเองมีความแตกต่างพอสมควรกับพรมแดงเกียรติยศของออสการ์ เพราะที่นี่ คนดังในชุดราตรีโหมเพลิดเพลินได้ตั้งแต่เฟอร์ขนสัตว์ถึงเทียร่าระยิบระยับ ซึ่งถือว่า “แหวกประเพณี” พอตัวถ้าไปอยู่บนพรมแดงอื่น
แนวคิดทั้งหมดทั้งมวลล้วนวิวัฒน์และดัดแปลงมาจนถึงพรมแดงล่าสุดในปีนี้ และนั่นคือทิศทางหลักที่กรุยทางให้กับชิ้นงานเสื้อผ้ากับเครื่องประดับอีกรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ ซิลูเอตเรียบลื่น โครงเสื้อค่อนข้างสะอ้าน ความยาวของช่วงล่างได้รับสิทธิ์ให้เคลื่อนตัวขึ้นสู่ท่อนบนอย่างไม่มีลิมิต (ตราบใดก็ตามที่ไม่เข้าข่ายอนาจาร!) เนื้อผ้าที่ปลิวไสวได้รับการบวกเติมเข้าในลิสต์รายชื่อวัสดุขาประจำ (ก่อนจะลอยตัวครื้นเครงไปตามสายลมเรียกเสียงชัตเตอร์) ทั้งยังเปิดโอกาสให้ความเปรี้ยวเฉี่ยวและรสนิยมส่วนตัวได้ฉายแสงอย่างสนุกสนานและฉีกกฎเกณฑ์อย่างครื้นเครงอารมณ์บ้างเนื่องจากนี้คือ Sunshine moment
เมื่อว่ากันถึงตรงนี้ ความใหญ่โตของชุดจึงไม่มีความจำเป็น เช่นเดียวกับการปักเลื่อมและลูกปัดระยับซึ่งมีโอกาสล้นทะลักน้อยมากบนเวทีนี้ และควรได้รับการสงวนไว้สำหรับม่านฟ้าใต้แสงเดือนดาวผสานแสงแฟลชยามค่ำเท่านั้น
นานหลายทศวรรษที่เราได้มีโอกาสยลหญิงสาวในชุดสูทกางเกงถึงเดรสสั้นบนพรมแดงเมืองคานส์ ถึงอีกหลายชิ้นงานเด่นที่อรรถาธิบายได้ง่ายๆ ว่า “หากความน้อยของชุดเดียวกันนั้นไปอยู่บนพรมแดงเวทีออสการ์ก็ย่อมแพ้ แต่พอมาอยู่ที่นี่กลับชนะ” ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับ LBD หรือ Little Black Dress เรียบง่ายของนางแบบสาว Kate Moss วัยกระเตาะนับสิบปีก่อน กับชุดเดรสยาวลายพร้อยแบรนด์ Pucci บนร่าง Nicole Kidman เรื่อยไปจนถึงชุดราตรีคล้องคอผ้าชีฟองตัดแต่งลายว่าวของ Sienna Miller หรือแม้แต่ชิ้นงานแสนแตกต่างอย่างบอดี้สูทนมกรวยของ Madonna แตกต่างกับการประโคมชุดราตรีมากล้นเช่นที่ Paris Hilton เคยลุยจนผิดงานและกลายเป็น “กะเหรี่ยง” มาก่อนหน้านี้
(ซ้าย) Sienna Miller ในชุดของ Valentino ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2015 (กลาง) Kate Moss ในชุดเดรสสั้นสีดำขณะเยือนเมืองคานส์ปี 1998 (ขวา) Nicole Kidman บนพรมแดงเมืองคานส์ปี 2003
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ดิจิทัลเริ่มหึกเหิมเกริมขึ้น แน่นอนว่าอิทธิพลที่เกิดจากรสนิยมแนวใหม่ซึ่งเจาะจงเอาใจพวกชอบคลิก Like อะไรเตะตา ย่อมมีผลต่อ “ความคาดหวัง” และ ความเยอะ” บนพรมแดงจนกล่าวได้ว่าเป็นเทรนด์ใหม่ของแฟชั่นโลกในช่วงหลังนี้เลยก็ว่าได้ ดังนั้น เราจึงได้เห็นลุคล้นเกินคานส์ของ Elena Lenina เรื่อยไปจนถึงจนถึง Deepika Padukone และคาราวานชุดมากมีของเหล่าสาวๆ จากเอเชียหลายราย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในแง่ “ฝรั่งทำเกิน” ในขณะที่เจ้าประจำอย่าง Julianne Moore ซึ่งสอบตกก่อนโดนประนามเช็ดเม็ดเพราะความพยายามในปีก่อนๆ ก็หันกลับมาสู่ซิลูเอตเรียบที่เหมาะสมกับ “วัยวุฒิ” และ “คุณวุฒิ” ทันเวลาพอดี
(ซ้าย) Bella Hadid ในชุดเดรสยาวเรียบง่ายจาก Dior (ขวา) Julianne Moore สวมชุดสีดำซิลูเอตเรียบจาก Saint Laurent ทั้งคู่บนพรมแดงเมืองคานส์ปี 2018
ความตื่นรู้ด้านสไตล์นี้เห็นจากหลายตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Bella Hadid ที่เลือกสวมชุดกระโปรงยาวเกาะอกจาก Dior ซึ่งเรียบง่าย (จนเกือบจะง่ายไป หากยังถือว่าไม่เกิน), Kendall Jenner เดรสติดระบายซิลูเอตแคบใน Schiaparelli ที่เล่นกับหน้าอกเปลือยซึ่งเห็นจะมีเพียงพรมแดงเทศกาลนี้เท่านั้นที่ยอมได้จนกลายเป็นตัวกำหนดเทรนด์เผยผิวเบาๆ ในปีนี้ (หากผิดกันราวฟ้ากับดินกับ “แขกนิรนาม” ชาวเอเชียผู้ตั้งใจโชว์หัวนมแบบไร้รสนิยมและแต่งตัวเกินเลยบทบาทของเธอ ซึ่งเป็นอันเข้าใจตรงกันเพราะสื่อหลักพากันตั้งใจไม่นำเสนอชื่อของเธอ...เพราะไม่มีความจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ใครฟรีๆ)
Cate Blanchett สวมลุคเดิมจาก Armani Prive ที่เธอเคยสวมมาก่อนในงาน Golden Globes ปี 2014 เยือนเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2018
ที่สุดของผู้ที่ใช้แฟชั่นได้อย่างชาญฉลาดและมีชั้นเชิงคือ Cate Blanchett นักแสดงสาวชาวออสเตรเลียผู้เลือกสวมลุคเดิมจาก Armani Prive เมื่อครั้งเธอชนะรางวัลลูกโลกทองคำจากภาพยนตร์เรื่อง Blue Jasmine ในปี 2014 เพื่อส่งสารประเด็นขยะล้นโลกและความฟุ่มเฟือยในอุตสาหกรรมแฟชั่น ก่อนจะ “สวยและจิตใจงาม” เข้าไปอีกขั้นเมื่อเธอเป็นตัวตั้งตัวตีในการรณรงค์เรื่องสิทธิ์และพื้นที่ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ด้วยการเชิญผู้กำกับและนักแสดงหญิงจำนวน 81 รายมายืนแสดงพลังอย่างพร้อมเพรียงกันบนบันไดเกียรติยศ...ซึ่งถูกใจไปหมดทั้งสื่อ ทั้งผู้ชม และเปรียบได้กับตัวขับเคลื่อนทั้งวงการภาพยนตร์และแฟชั่นได้มากกว่าการเป็นเพียงหุ่นลองเสื้อที่เคลื่อนไหวได้ของระบบการตลาดทั่วๆ ไป
ออกแบบภาพ: ไพรำ ด่านจิตร์ตรง
WATCH