FASHION

เล่า 157 ปี ใน 7 ภาพ! ราชวงศ์อังกฤษ ผู้บุกเบิกกลยุทธ์การโฆษณาชวนเชื่อสถาบันกษัตริย์รายแรกของโลก

ต้นแบบของงานประชาสัมพันธ์ราชวงศ์ทั่วโลกเริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษ

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ศตวรรษก่อนเมื่อครั้งสถาบันกษัตริย์ยังเป็นกลุ่มชนชั้นสูงที่เก็บตัวที่สุดในโลก ตั้งแต่เกิดจนตายประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยได้เห็นหน้าตากษัตริย์ของพวกเขาเลย  จนกระทั่งยุคสมัยเคลื่อนเข้าสู่โลกสังคมนิยม สถาบันกษัตริย์และการเมืองที่เคยเป็นสถาบันเดียวกันกลับต้องแยกตัวเป็น 2 ส่วนคือฝั่งพรรคการเมืองและราชวงศ์ผู้ถูกตัดขาดจากกิจกรรมการเมืองทั้งปวง ความนิยมจากประชาชนจึงถือเป็นงานบริหารอย่างหนึ่งที่สำคัญ ราชวงศ์อังกฤษเป็นผู้บุกเบิกกลยุทธ์โฆษณารายแรกๆ ของโลกผ่านภาพถ่ายทางการ (Official Portraits) ซึ่งเปรียบเสมือนภาพถ่ายโฆษณาในแง่งานประชาสัมพันธ์จนกลายเป็นต้นแบบของราชวงศ์ทั่วโลก โว้กพาย้อนชมการเดินทางของราชวงศ์อังกฤษย้อนไป 157 ปีผ่านภาพถ่ายทางการทั้ง 7 ภาพนับตั้งแต่ภาพแรกจนถึงภาพล่าสุด

 

 1681

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (ครองราชย์ตั้งแต่ปี 1876-1901) แม่ของทวดของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เป็นสมาชิกราชวงศ์รายแรกๆ ของโลกที่ริเริ่มการถ่ายภาพพอร์เทรตในหมู่สมาชิกราชวงศ์เพื่อเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ทรงโปรดการถ่ายภาพเป็นอย่างยิ่งและมีวิสัยทัศน์ตื่นรู้ว่าการประชาสัมพันธ์ด้วยภาพถ่ายจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้กับราชวงศ์ได้ ภาพนี้ที่ถ่ายคู่กับเจ้าชายอัลเบิร์ดคู่ครองเมื่อ 157 ปีก่อนจึงกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เป็นต้นแบบของ "OfficialPortraits" กลยุทธ์งานประชาสัมพันธ์ราชวงศ์ซึ่งภายหลังขยายอิทธิพลไปถึงสถาบันกษัตริย์ทั่วโลก / ภาพ: Mayall/Getty Images

 

1971

 ภาพถ่ายทางการของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษในพระราชวังวินเซอร์เนื่องในโอกาสรวมญาติวันคริสต์มาสกลายเป็นอีกธรรมเนียมที่ต้องทำในทุกๆ ปี เปรียบเสมือนการส่งการ์ดอวยพรถึงประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าลักษณะของภาพถ่ายในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เริ่มมีความผ่อนคลายขึ้นจากยุคแรก นอกเหนือจากภาพทางการที่ทุกคนต้องมองกล้องแล้ว ในช่วงนี้ยังเริ่มมีภาพแคนดิดในอิริยาบถสบายๆ ถูกปล่อยควบคู่กันเสมอ / ภาพ: Lichfield/Getty Images

 

1981

ภาพถ่ายทางการหลังพิธีเสกสมรสของเจ้าชายชาลส์แห่งเวลส์ และไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์เมื่อปี 1981 ซึ่งเป็นครั้งแรกๆ ที่งานแต่งงานของสมาชิกราชวงศ์กลายเป็นอีเวนต์ใหญ่ระดับสากลที่ถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลก รวมถึงเป็นจุดสนใจไม่เพียงแต่ในหมู่ประชาชนในประเทศเท่านั้น และแน่นอนว่าช่วยสร้างผลดีในแง่การประชาสัมพันธ์ให้กับราชวงศ์คิดเป็นมูลค่ามหาศาล วัดได้จากผลสำรวจผู้ชมรายการถ่ายทอดสดพิธีเสกสมรสที่พุ่งถึง 28.4 ล้านคนในสมัยนั้นเป็นประวัติการณ์ เรื่อยไปถึงผลกำไรที่เกิดจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอังกฤษก็สูงเป็นเงาตามตัว / ภาพ: Lichfield/Getty Images

 

 2005

หลังการเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอาน่าจากอุบัติเหตุรถยนต์เมื่อปี 1997 หลังจากนั้นอีก 8 ปีต่อมาเจ้าชายชาลส์เข้าพิธีแต่งงานอีกครั้งกับคามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอล พร้อมถ่ายภาพร่วมกันที่ห้อง White Drawing ภายในพระราชวังวินเซอร์ / ภาพ: Hugo Burnand/Pool/Anwar Hussein Collection/Getty Images

 

2011 

ภาพถ่ายครอบครัวภายในพระราชวังบักกิงแฮม หลังพิธีเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ และแคเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ พร้อมด้วยสมาชิกราชวงศ์วินเซอร์ และครอบครัวมิดเดิลตันของฝั่งเจ้าสาว ซึ่งนับจากพิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงไดอาน่าเมื่อปี 1981 พิธีเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียมในปี 2011 จึงถือเป็นอีเวนต์ระดับโลกงานที่สองที่ได้รับการแพร่ภาพไปทั่วโลก / ภาพ: Hugo Burnand/AFP/Getty Images

 

2016 

 ภาพพอร์เทรตเนื่องในโอกาสอายุครบ 90 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยหลานๆ สมาชิกราชวงศ์ตัวน้อยถึง 7 คน / ภาพ: Annie Leibovitz

 

2018 

 ภาพครอบครัวฉบับอัพเดตปี 2018 หลังพิธีเสกสมรสของเจ้าชายแฮร์รี่ ดยุกแห่งซัสเซกส์ และเมแกน มาร์เคิล ดัชเชสแห่งซัสเซกส์ เจ้าสาวชาวอเมริกันผู้ปลดแอกธรรมเนียมเก่าเปิดโลกรักข้ามชาติ (และรักแท้) ให้กับราชวงศ์อังกฤษอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังจากนี้ที่คนทั่วโลกรอชมเห็นทีจะเป็นภาพทายาทตัวน้อยของบ่าวสาวป้ายแดงคู่นี้ / ภาพ: Alexi Lubomirski

 

WATCH