BOYY interview
FASHION

จับเข่าคุยเรื่องธุรกิจ ศิลปะ และแฟชั่น กับ BOYY แบรนด์สุดไฮป์ที่ไม่เคยละทิ้งความเป็นตัวเอง

หนึ่งในข้อดีของความเป็นตัวเองและความอิสระของ BOYY ก็คือ การไม่ต้องวิ่งตามเหล่านายทุนจนลืมคุณค่าที่แท้จริงของงานดีไซน์!

     เชื่อว่าหลายคนคงได้ไปเยือนแฟล็กชิพสโตร์แห่งใหม่ล่าสุดของ BOYY แบรนด์แฟชั่นสุดไฮป์โดย Jesse Dorsey และ บอย-วรรณศิริ คงมั่น ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ที่ตั้งอย่างโดดเด่นอยู่ในเซ็นทรัลเอ็มบาสซี่กันแล้ว ความน่าสนใจของแฟล็กชิพสโตร์แห่งนี้ไม่เพียงเป็นการยกระดับงานดีไซน์แฟล็กชิพสโตร์ในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำตัวตนที่มีเอกลักษณ์และความมีอิสระของแบรนด์ แหวกขนบการออกแบบร้านตามขนบลักชัวรีสโตร์แบบเดิมๆ ซึ่งไอเดียในการออกแบบครั้งนี้ใช้ระยะเวลานานถึง 2 ปี ในการตกผลึกแนวความคิดในการออกแบบแฟล็กชิพสโตร์แห่งนี้ และมีไฮไลต์สำคัญของการออกแบบแฟล็กชิพสโตร์ในครั้งนี้อยู่ที่การออกแบบร่วมกับศิลปินร่วมสมัยชาวเดนมาร์กอย่าง FOS หรือ Thomas Poulsen หนึ่งในศิลปินชื่อดังที่เคยมีผลงานออกแบบสโตร์ให้กับแบรนด์ดังระดับโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน

BOYY

     ธีมของงานออกแบบในครั้งนี้ ศิลปินได้เปรียบสโตร์ BOYY เป็นดั่ง ‘เมือง’ ที่ซ่อนอยู่ใน ‘เมือง’ แห่งร้านค้าหรูหราของเซ็นทรัล เอ็มบาสซีที่ตั้งอยู่ใน ‘เมือง’ กรุงเทพมหานครอีกทีหนึ่ง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดทางศิลปะและมุมมองของศิลปิน FOS ที่ต้องการเชื่อมโยงระหว่างสินค้าและสถานที่ เพื่อนำไปสู่ประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน และยังเป็นการฉีกออกจากกฎเกณฑ์แห่งความหรูหราด้วยการออกแบบสไตล์อินดัสเทรียล พร้อมเลือกใช้วัสดุที่นำเสนอความงามอันเป็นธรรมชาติไร้ซึ่งการปรับแต่งทว่ายังคงเน้นไปที่งานฝีมือเป็นหลัก และเป็นสิ่งที่สื่อถึงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของแบรนด์ BOYY แต่ไหนแต่ไรอีกด้วย

     “ทุกครั้งที่ FOS นำเสนอไอเดียเกี่ยวกับทิศทางการออกแบบสโตร์กับ BOYY มันมักจะเหนือความคาดหมายเสมอ และมักจะทำให้เรามีมุมมองความคิดที่กว้างขวางขึ้น ซึ่งเขาก็ทำเช่นนั้นจริงๆ เราคิดว่าสิ่งที่พิเศษมากๆ สำหรับแฟล็กชิพสโตร์แห่งนี้คือ แนวความคิดที่เราต่อยอดมาจากสิ่งที่เราร่วมกันพัฒนามาจากสโตร์ที่มิลาน ผสมผสานเข้าด้วยกันกับวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร และลักษณะพิเศษของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ทั้งหมดนี้เองจึงกลทายเป็นที่มาของคอนเซปต์ The city within a City within a City” ทั้งคู่อธิบายถึงแฟล็กชิพสดตร์แห่งใหม่ล่าสุดของ BOYY ไว้แบบนั้น



WATCH




     เขยิบจากเรื่องราวของศิลปะและงานตกแต่ง ไปสู่การวางแผนอนาคตทางธุรกิจของแบรนด์ BOYY ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจ ซึ่งทั้งคู่เล่าให้เราฟังว่า “หลังจากสร้างแบรนด์จนประสบความสำเร็จในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา BOYY ก็กำลังวางแผนที่จะขยายจักรวาลของแบรนด์ จากกระเป๋าหนังและรองเท้าที่ติดตลาดสากลมาเนิ่นนาน ไปสู่ความท้าทายใหม่อย่างเสื้อผ้าและแอ็กเซสเซอรี่ โดยที่เราเชื่อมั่นในการทำงานใกล้ชิดกับทั้งพาร์ทเนอร์และลูกค้า ที่เป็นข้อได้เปรียบที่จะทำให้แบรนด์นั้นประสบความสำเร็จต่อไปอีกได้ในหนทางใหม่ อีกทั้งความอิสระที่เป็นเหมือนหัวใจของการทำงานของ BOYY ที่จะทำให้แบรนด์นั้นแตกต่าง และไม่ติดหล่มโลกทุนนิยมจนลืมคุณค่าที่แท้จริงของงานดีไซน์ ซึ่งนั่นถือเป็นหนึ่งข้อได้เปรียบคู่แข่งที่ไม่ต้องวิ่งตามนักลงทุน”

     “ไม่เพียงเท่านั้น ในปีนี้ BOYY ยังวางแผนที่จะบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมิดเดิลอีสต์อีกด้วย โดยทั้งคู่ตั้งเป้าเติบโตมากถึง 200 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย และ BOYY ยังมีแผนที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งและฐานลูกค้าภายในประเทศ พร้อมเข้าถึงกลุ่มลูกค้าต่างประเทศด้วยการเปิดบูติก BOYY ในเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วโลก โดยมีแผนจะขยายอีก 5 สาขา ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยตามแผนที่วางไว้ 3 สาขาจะตั้งอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศในแถบมิดเดิลอีสต์ ซึ่งรวมถึงการใช้แฟล็กชิพสโตร์ในมิลานเป็นแกนหลักสำหรับกลุ่มลูกค้าจากประเทศในแถบยุโรป และขยายฐานลูกค้าทั่วโลกทางออนไลน์บนเว็บไซต์ boyy.com”

     ก่อนจบบทสนทนาในครั้งนี้ โว้กได้ถาม BOYY แบรนด์ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงว่า ในวันที่อุตสาหกรรมแฟชั่นลักชัวรีระดับโลกต่างหันมาพึ่ง KOLs Marketing กันยกใหญ่ แล้วเหล่าสาวกของ BOYY จะมีโอกาสได้เห็นแบรนด์ดำเนินธุรกิจไปในทางนี้บ้างหรือไม่ คำตอบของผู้ก่อตั้งทั้งคู่ก็ทำให้เราตื่นเต้นไม่น้อย “ก็ต้องรอดูกันต่อไป เราไม่ได้จะปฏิเสธมันเสียทีเดียว”...

ภาพ : นาทนาม ไวยหงษ์

WATCH