FASHION
เพราะ LGBTQ+ ไม่ใช่เพศไร้ความสามารถ บุ๊ค-ธีรชยา จึงมาพิสูจน์ให้โลกรู้บนเวที Miss Tiffanyเมื่อผู้สาวข้ามเพศต้องมาตอบประเด็นคำถามเกี่ยวกับคำว่า 'ยอมรับ' ซึ่งเป็นความละเอียดอ่อนที่หลายคนอาจมองข้ามไป |
ในขณะการประกวดมิสทิฟฟานียูนิเวิร์ส 2020 ดำเนินไป เหล่าผู้เข้าประกวดก็ฉายแววโดดเด่นกันขึ้นมาเรื่อยๆ อีกหนึ่งคนที่น่าจับตามองและมีประเด็นให้พูดถึงคือ “บุ๊ค-ธีรชยา พิมพ์กิติเดช” อดีตรองอันดับ 1 มิสทิฟฟานียูนิเวิร์สปี 2018 ที่จะมาถกเกี่ยวกับคำว่า “ยอมรับ” ว่ามุมมองต่อคำนี้เป็นอย่างไรและมีความคิดเห็นกับคำนี้เช่นไร โว้กจึงจับเข่าคุยกับบุ๊คแบบส่วนตัวเพื่อไขคำตอบในเรื่องนี้และประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับ LGBTQ+ ในโลกยุค 2020 ของประเทศไทย
สาวสวยวัย 24 ปีคนนี้จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กำลังศึกษาต่อในสาขาภาษาจีนธุรกิจ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้ประกวดมากความสามารถที่ต่อยอดองค์ความรู้จากสายสังคมสู่การผสมผสานเชิงธุรกิจ ชีวิตบุ๊คอาจฟังดูเป็นสาวเก่งที่ไม่ได้หวือหวาแต่สำหรับ LGBTQ+ ส่วนใหญ่มักมีแผลลึกๆ ในใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก สำหรับบุ๊คต้องพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ว่ากับครอบครัวตัวเองสามารถพัฒนาชีวิตขึ้นมาได้โดยไม่ได้มีเพศเป็นข้อจำกัด และยังรวมถึงการสร้างตัวตนของเองขึ้นมาให้คนได้ทั่วไปได้รับรู้ด้วยว่า LGBTQ+ อย่างเราไม่ได้เป็นแค่แบบที่สังคมตีกรอบไว้ให้เป็น “LGBTQ+ ไม่ใช่เพศที่ทำอะไรไม่เป็นอย่างที่คนอื่นพูดกัน!” บุ๊คย้ำให้เห็นว่าเธอไม่ได้ด้อยกว่าใครเพียงเพราะเธอเป็นสาวข้ามเพศ
“มันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้นแต่ก็เพิ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้น” บุ๊คเปิดประเด็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านชุดความคิดเกี่ยวกับ LGBTQ+ ในสังคมไทย ตอนนี้สถานการณ์เหมือนเป็นการเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ+ เองแต่ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและระบบเพื่อเอื้อแต่คนกลุ่มนี้ที่ถูกกดทับมาตลอดสักเท่าไรนัก ตอนนี้ตัวบทกฎหมายก็ยังไม่ครอบคลุมการช่วยเหลือดูแลหรือให้สิทธิ์พื้นฐานบางอย่างกับคนกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้นการเรียกร้อง ณ ตอนนี้จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นอย่างที่บุ๊คมองว่า “เดี๋ยวจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในอนาคตแน่นอนค่ะ”
WATCH
“เพศที่หลากหลายมีมานานแล้วล่ะ แต่ตอนนี้มันเห็นเด่นชัดขึ้น” บุ๊คกล่าวถึงกรอบแนวคิดของที่เปิดกว้างขึ้นในประเทศไทย และทางโว้กก็เปิดประเด็นเรื่องการยอมรับขึ้นมาว่า “คิดเห็นอย่างไรกับคำว่ายอมรับทั้งๆ ที่เราเป็นมนุษย์เสมอกัน ไม่มีใครต่ำหรือสูงกว่าใคร” บุ๊คตอบประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า “จริงๆ คำว่ายอมรับต้องมีอยู่แต่บุ๊คหมายถึงการยอมรับซึ่งกันและกันในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่แค่เรื่องเพศแต่คือความเป็นมนุษย์ ถ้ามองแบบนี้จะสามารถพัฒนาไปสู่สังคมแห่งความกหลากหลายที่ไม่ได้หลากหลายแค่เรื่องเพศอย่างแท้จริง” คำตอบที่ดูเรียบง่ายแต่สามารถยิงคำถามกลับไปสู่ชุดความคิดร่วมเดิมว่า “เรายอมรับกันถูกทางแล้วหรือไม่”
“จุดยืนของบุ๊คมันสะท้อนให้เห็นว่าเหล่า LGBTQ+ ไม่ได้แตกต่าง” บุ๊คกล่าวถึงจุดยืนที่เต็มไปด้วยแสงสปอตไลต์ในขณะประกวดมิสทิฟฟานี เธอมองเป็นแสงสว่างแห่งโอกาสที่จะพิสูจน์และขยายกรอบความคิด รวมถึงลบอคติของผู้คนที่เคยมอง LGBTQ+ ในแง่ลบ สุดท้ายคนทุกคนไม่ได้แตกต่าง “ทุกคนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างปกติ” คำนี้กลั่นออกมาจากความรู้สึกของเธอผ่านน้ำเสียงตื้นตันที่ผู้สัมภาษณ์ได้ยิน คนเคยโดนปิดกั้นย่อมมีพลังบวกหลังสามารถทำลายกำแพงปิดกั้นนั้นได้ กลุ่มเพศที่หลากหลายมากขึ้นได้รับจุดยืนในสังคมอย่างที่พวกเขาควรจะได้มากขึ้น นี่คือแสงสว่างที่แท้จริงที่สังคมจะมอบให้กับคนที่เคยถูกสังคมกดทับทุกคน ไม่ใช่แค่กับผู้ประกวดบนเวทีใหญ่ระดับประเทศแน่นอน
ต้องบอกว่าในมุมมองของคนหลายคนที่วาดฝันถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมไว้นั้นจะมองถึงภาพใหญ่ก่อนเสมอ ทว่าสำหรับเธอคนนี้มีมุมมองกลับด้านกัน “ความฝันสูงสุดของบุ๊คคืออยากจะประสบความสำเร็จอยู่กับครอบครัว การที่เรามีความสุขกับจุดเล็กๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของสังคม” พร้อมทั้งเสริมด้วยว่า “จะเปลี่ยนแปลงอะไรต้องค่อยๆ เริ่มจากจุดเล็กๆ และมันอาจพัฒนาไปสู่จุดที่ยิ่งใหญ่ได้” คำตอบนั้นสะท้อนอย่างชัดเจนถึงปณิธานความมุ่งมั่นของเธอและเหล่า LGBTQ+ ที่ต้องเผชิญโลกแห่งความไม่เท่าเทียมและต่อสู้ด้วยตัวเองมาก่อน ถ้าเริ่มจากจุดเล็กๆ ลึกไปถึงเรื่องทัศนคติและการใช้ชีวิตของปัจเจกแต่ละบุคคล พอมารวมกันเป็นสังคมก็ย่อมเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
“เราแตกต่างแต่เราไม่ได้ผิด” เธออยากให้คนบนโลกทุกคนมีทัศนคติต่อ LGBTQ+ แบบนี้ เธอไม่ได้ต้องการให้คนมองปัจเจกทุกคนเหมือนกันหมด เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็แตกต่างกัน แต่เธอเสริมว่า “เราอยากให้ทุกคนเคารพและให้เกียรติความเป็นมนุษย์ของเรา สามารถใช้สิทธิและมีเสรีภาพกันได้อย่างเท่าเทียมกัน” บุ๊คตอบคำถามเกี่ยวกับความคาดหวังอีกหนึ่งจุดเรื่องทัศนคติของบุคคลทั่วไปต่อ LGBTQ+ ทั่วโลก
ความหลากหลายในปัจจุบันทำให้เรามีข้อแตกต่างอย่างไม่แปลกแยก “โลกยุคใหม่เปิดกว้างเรามีสิทธิ์พูดและเผยความไม่ถูกต้องในสังคม ไม่ต้องจำทนเก็บเงียบและมองเป็นเรื่องปกติแบบเมื่อก่อนอีกต่อไป” บุ๊คฝากถึงเด็กรุ่นใหม่พร้อมทั้งกล่าวว่า “จงพัฒนาในฐานะตัวเองในฐานะความเป็นคน ก้าวข้ามอุปสรรคไปให้ได้ มีสิทธิ์ มีเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคดิจิทัลที่ทุกคนสามารถเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องความถูกต้องให้ตัวเองและสังคมได้ด้วย” ปิดท้ายการสัมภาษณ์ด้วยการฝากผลงานให้เชียร์ บุ๊ค-ธีรชยา พิมพ์กิติเดช ผู้ประกวดมิสทิฟฟานียูนิเวิร์ส 2020 “บุ๊คอยากคว้าตำแหน่งมาให้ได้และกลายเป็นผู้มีพลังขับเคลื่อนสังคมอย่างเต็มที่”
WATCH