FASHION

เผยต้นกำเนิด 'สีฟ้าทิฟฟานี่' เฉดสีประจำ Tiffany & Co. แบรนด์จิวเวลรีในตำนาน

     Breakfast at Tiffany’s คือชื่อภาพยนตร์ต้อนรับศักราชใหม่ประจำทศวรรษที่ 1960s ได้อย่างสวยงาม กับการแจ้งเกิด 3 สิ่งไอคอนิกสำคัญในวงการแฟชั่น และบันเทิงโลก เริ่มต้นด้วยการส่งให้นักแสดงฮอลลีวู้ดเจ้าบทบาทอย่าง Audrey Hepburn ดังเป็นพลุแตก จนกลายเป็นแฟชั่นไอคอนแห่งยุคที่ยากจะหาใครมาเทียบได้ ต่อมาด้วยชุด A Little Black Dress ผลงานสร้างชื่อของแบรนด์ระดับตำนาน Givenchy โดย Hubert De Givenchy ที่ตอนนี้กลายเป็นไอเท็มชิ้นสำคัญที่สายแฟชั่นขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะผ่านมาแล้วกี่สิบปีก็ตาม และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดกับชื่อแบรนด์จิวเวลรี Tiffany & Co. ที่ต่อมากลายเป็นแบรนด์จิวเวลรีที่เข้าไปนั่งอยู่ในห้วงความฝันของสาวๆ ทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้...

     และแม้ว่าล่าสุดจะมีการปิดดีลไปแล้วเรียบร้อย สำหรับการซื้อขายแบรนด์จิวเวลรีในตำนานดังกล่าว โดยมีรายงานล่าสุดว่า บริษัท LVMH ผู้ถือครองลิขสิทธิ์แบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์ระดับโลกจำนวนมาก ได้ทำการเข้าตกลงเพื่อซื้อกิจการ Tiffany & Co. ด้วยจำนวนเงินหลักหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีมูลค่าตีเป็นเงินไทยกว่า 5 แสนล้านบาท พร้อมให้เหตุผลสำคัญในการซื้อลิขสิทธิ์ของแบรนด์ Tiffany & Co. มาครอบครองว่า เป็นการขยายฐานลูกค้าขององค์กร อีกทั้งยังต้องการเจาะตลาดการค้าครั้งใหม่เพิ่มขึ้น

     กระนั้นเมื่อพูดถึง “สีฟ้า” ของแบรนด์ Tiffany & Co. ขึ้นมาก็ยังคงมีอีกหลายคนไม่เคยทราบมาก่อนว่า "สีฟ้าทิฟฟานี่" นับเป็นสีฟ้าพิเศษที่ได้รับการจดลิขสิทธ์โดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว การที่ LVMH เจ้าของหลุยส์ วิตตอง ได้ครอบครองลิขสิทธ์แบรนด์ Tiffany & Co. เต็มตัว จึงไม่ไช่แค่จะได้เป็นเจ้าของแบรนด์จิวเวลรีสัญชาติอเมริกันเกรดเอเท่านั้น แต่เป็นโอกาสที่ LVMH จะกลายเป็นเจ้าของสีฟ้าทิฟฟานี่ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สีแห่งเกียรติยศ” ประจำแบรนด์อีกด้วย



WATCH




     “สีแห่งเกียรติยศ” ของแบรนด์ Tiffany & Co. คือเฉดสีฟ้าจางประกายเขียว คล้ายไข่นกโรบินส์ และกลีบดอกไม้ฟอร์เก็ต มี น็อต และถึงแม้ว่าสีดังกล่าวจะไม่ได้ทำให้นึกถึงเครื่องประดับตั้งแต่แรกเห็น ทว่า Tiffany & Co. ก็ได้วางกลยุทธ์สำคัญเอาไว้แล้วว่า ต้องการให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้ค้นพบขุมทรัพย์ ที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ท้องมหาสมุทรเขียวสีน้ำเงิน กระทั่งในปี 1873 หลังจากมีมติสรุปเรื่องราวของการใช้สีประจำแบรนด์อย่างเป็นทางการ ทางบริษัทก็ได้ใช้สีฟ้าเฉดดังกล่าว ทั้งบนโบรชัวร์, แคตตาล็อก, ถุง ไปจนถึง กล่องใส่ของขนาดต่างๆ จนกลายเป็นที่ติดตา และชื่นชมของลูกค้า และผู้ที่ได้พบเห็นว่า สีฟ้าทิฟฟานี่ นอกจากจะมีความสวยงามในตัวมันเองแล้ว ยังสามารถสื่อถึงการเผยความงามที่แท้จริงที่อยู่ภายในให้ดูอลังการมากขึ้นอีก และในปี 1998 Tiffany & Co. จึงได้จับมือร่วมกับ Pantone เพื่อกำหนดสีประจำแบรนด์ จนได้รหัสสีแพนโทนหมายเลข 1837 มาครอบครองสำเร็จ ซึ่งเลขรหัสดังกล่าวยังหมายถึงเลขปีที่ก่อตั้ง Tiffany & Co นั่นเอง อีกทั้งสีฟ้าดังกล่าวยังไม่อนุญาตให้ใช้โดยทั่วไปอีกด้วย

     ดังนั้นแล้วก็คงไม่แปลกที่เราจะพูดว่า สีฟ้าทิฟฟานี่ นับเป็นอีกหนึ่งเฉดสีที่มีมูลค่าที่ไม่สามารถตีราคาได้ เพราะนี่คือสีแห่งเกียรติยศ ที่สามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ของแบรนด์จิวเวลรีในตำนานออกมาได้อย่างดี ซึ่งก็ไม่ต่างจากแบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Hermès ที่มีเฉดสีส้มเป็นของตัวเองเช่นเดียวกัน

WATCH