FASHION

เจมี่เจมส์จับมือเพื่อน นศ. ม.ธรรมศาสตร์ จุดประเด็นบรรทัดฐานรูปร่างที่ทุกคนต้องตระหนัก

หยุดนะ! นี่มันร่างกายของฉัน...

     ประเด็นสุดละเอียดอ่อนทั้งเรื่องรูปร่าง สีผิว และความหลากหลายด้านต่างๆ ถูกหยิบยกนำมาพูดถึงเป็นกระแสหลักของสังคมในช่วงหลายปีมานี้ แน่นอนว่ามันกลายเป็นเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่ต้องทำความเข้าใจและเปิดกว้าง ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่เองก็ต้องรื้อชุดความคิดบางส่วนเพื่อล้วงลึกเข้าไปในประเด็นเหล่านี้ให้ลึกซึ้งมากขึ้น ด้วยเหตุผลนี้จึงมีการจัดงานสัมมนา “Pardon! It’s my body” ขึ้นโดยนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ B.J.M ชั้นปีที่ 4 ซึ่งมีสมาชิกที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่าง เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ เป็นทีมงานคนสำคัญในการจัดงานครั้งนี้

Hunter McGrady กับบทบาทนางแบบบนรันเวย์แบรนด์ Chromat คอลเล็กชั่น Spring/Summer 2020 / ภาพ: IMAXtree

     งานครั้งนี้เกิดเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับรูปร่าง (Body Positivity) ที่ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง ซึ่งหลายคนได้รับผลกระทบด้านจากประเด็นในสังคมเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับรูปร่างอันน่าพอใจ โดยคำนิยามรูปร่างอันเป็นอุดมคติมักถูกผลิตซ้ำจากสื่อช่องทางต่างๆ ตั้งแต่ภาพยนตร์ โฆษณา ละคร ไปจนถึงการตั้งตีนิยามขึ้นจากโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้นเรื่องของรูปร่างกลายเป็นเรื่องสาธารณะไปเสียอย่างนั้น ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว รูปร่างควรจะยึดติดกับคติที่ว่า “รูปร่างใครรูปร่างมัน” มิใช่หรือ

บรรยากาศในงานขณะนักศึกษากำลังกล่าวถึงผลสำรวจเรื่อง Body Positivity

     “ขอโทษนะ นี่มันร่างกายของฉัน” ข้อความนี้ดังขึ้นในหัวผู้เขียนทุกครั้งตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินชื่องาน คำนี้มันสร้างความตระหนักขั้น 10 เต็ม 10 เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ว่าแท้จริงแล้วใครเป็นเจ้าของ และเราสร้างบทบาทในร่างกายของผู้อื่นเกินสมควรหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมของนักศึกษาสาว 2 คนอย่าง นางสาวธนวรรณ สถิรบุตร และ นางสาวชญานิศ พงศ์สุประดิษนำเสนอผลจากแบบสำรวจว่าคนส่วนมากยังคงตัดสินทุกอย่างจากภาพลักษณ์ภายนอก อาทิ รูปร่างที่ดีในสายตาของพวกเขาสรุปได้ว่ายังเป็นรูปร่างผอมมากกว่ารูปของคนเจ้าเนื้อ และทำให้ได้รู้ว่ามีคนมากถึง 47% ไม่เข้าใจถึงคำว่าการยอมรับในรูปร่าง ภาพสะท้อนเหล่านี้กำลังบอกอะไรกับสังคม...



WATCH




วี-วิโอเลต วอเทียร์ ขณะกำลังบรรยายในงานครั้งนี้

     สื่อ ภาพลักษณ์ รูปร่าง และ กระบวนการการผลิตซ้ำนั้นสัมพันธ์กันนั่นคือสิ่งที่สังคมต้องรับรู้ งานนี้ วี-วิโอเลต วอเทียร์ กล่าวในฐานะคนในวงการว่าผู้คนต่างวิจารณ์และให้ความเห็นเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของคนอื่น วิจารณ์คนรอบด้านแต่ไม่ใช่ตัวเอง ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นวลีสะท้อนสังคมไทยที่ว่า “Don’t mind their own business” มุมมองของวียิ่งไฮไลต์ประเด็นให้ชัดขึ้นไปอีกว่าผู้คนสนใจและมีการตอบสนองรับรู้ต่อผู้อื่นจนเกินพอดี แม้กระทั่งยังไม่มีการปฏิสัมพันธ์กันด้วยซ้ำ เป็นแค่การพบเห็นและใส่ความเห็นเท่านั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น “โนสน โนแคร์” คือเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าดีในมุมมองของผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเราไม่จำเป็นต้องฟังใครอื่น นี่คือร่างกายของเรา และวีก็เสนอแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับร่างกายของเราว่า “Healthy as Beauty” หมายความว่าการตั้งต้นรู้สึกดีกับตัวเองไม่ว่าภายนอกหรือภายใน เพราะสุดท้ายร่างกายก็เป็นของเรา ความรู้สึกดีแรกเริ่มมาจากเรา

โฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งที่ใช้บรรทัดฐานความผอมเพรียวมาผลิตซ้ำอุดมคติเรื่องรูปร่าง

     บางครั้งเราก็ให้ค่ากับบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกขีดไว้จนลดทอนความมั่นใจของตัวเองลง “รูปร่างพิมพ์นิยม” คือคำยอดฮิตที่ผลิตซ้ำความงามมิติเดียวมาตลอดหลายปี ความสวยงามถูกจำกัดไว้เพียงความผอมบางมานานแสนนาน โฆษณาหลายตัวนำเอาจุดขายคำว่า “ไม่อ้วน” หรือ “สลิม” มาเป็นคำจั่วหัวเพื่อเรียกความสนใจ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม โฆษณาเสื้อผ้าตามอินสตาแกรมเองก็ผลิตซ้ำ “พิมพ์นิยม” อยู่เสมอ เรามักจะเลื่อนฟีดไปแล้วพบกันร้านค้าที่ใช้นางแบบคล้ายๆ กันอยู่เสมอ หรือถ้ามีความงามรูปแบบอื่นสอดแทรกเข้ามาก็เป็นความงามเช่นกันแต่เป็นความงามที่ “แปลก” และพวกเขาก็เอาจุดเด่นความแตกต่างมาทำธุรกิจมากกว่าการสร้างความตระหนักรู้ เช่นเสื้อผ้าพิเศษสำหรับสาวไซส์ใหญ่ เป็นต้น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไม่มีความงามไหนแปลกทั้งนั้น แต่ละคนล้วนสวยงามในรูปแบบของตัวเอง คำพูดที่ว่า “ผอมเป็นไม้เสียบผี” หรือ “อ้วนเป็นหมู” ที่ผลิตซ้ำกันมาหลายยุคหลายสมัยควรหมดไปจากสังคมได้แล้ว

กุลวิทย์ เลาสุขศรี กำลังพูดถึงประเด็นละเอียดอ่อนนี้ในฐานะผู้มีบทบาทในวงการสื่อ

     งานนี้ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศได้เข้าร่วมงานนี้ในฐานะสื่อสิ่งพิมพ์และให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “สื่อในยุคปัจจุบันจะนำเสนอข่าวในรูปแบบที่สังคมต้องการ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องจำกัดความของคำว่าสวยให้มันหลากหลายกว่าเดิม” ซึ่งทำให้โว้กมีวิถีทางการเลือกนางแบบขึ้นปกที่หลากหลายมากกว่าเดิม โว้กเดือนตุลาคมปกโอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล กลายเป็นที่พูดถึงมากเมื่อความงามบรรทัดฐานนางแบบไม่ใช่เครื่องการันตีบนปกโว้กประเทศไทยเสมอไป และต่อด้วยความงามที่เปิดกว้างขึ้นเรื่องสีผิวกับ Adesuwa Aighewi นางแบบลูกครึ่งไทย-ไนจีเรีย บนปกโว้กเดือนพฤศจิกายน ซึ่งสะท้อนว่าโว้กเล็งเห็นถึงประเด็นสังคมประเด็นนี้ จึงอยากให้ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับการเปิดกว้างของกรอบความงามที่มากขึ้น

David Beckham ถ่ายแบบอวดรูปร่างในแบบอุดมคติ / ภาพ: Courtesy of H&M

     ความซับซ้อนเรื่องประเด็นของรูปร่างไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้น เมื่อผู้เขียนได้ทราบถึงงานครั้งนี้ และเจมส์-ธีรดนย์ หนึ่งในผู้จัดงานครั้งนี้จึงมองกลับไปว่าบรรทัดฐานรูปร่างของผู้ชายก็เป็นเรื่องที่พูดถึงไม่น้อย เพราะมันดันไปสัมพันธ์กับการแสดงออกด้านเพศอีกด้วย เมื่อร่างกายในอุดมคติของชายจะต้องมีกล้ามเนื้อ ความแข็งแกร่ง คำว่า “อก 3 ศอก” ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับโฆษณาชวนเชื่อแบบไม่ตั้งใจ เพราะฉะนั้นไม่แปลกเลยที่สังคมจะเริ่มตั้งคำถามและให้ความเห็นเกี่ยวกับรูปร่างและความสัมพันธ์กับตัวตนของเจมส์

เจมส์-ธีรดนย์ ในวัยมัธยมกับรูปร่างที่หลายคนเคยรู้สึกว่าแปลกตาจากดาราชายทั่วไป / ภาพ: ชุมนุมถ่ายภาพโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

     ชายรูปร่างเล็กมักถูกตั้งคำถามและกลายเป็นว่าเขาไม่อยู่ในบรรทัดฐานความสวยงามของรูปร่างชายหนุ่ม นั่นทำให้กรอบความงามของความเป็นชายก็มีเพียงมิติเดียวไม่ต่างกับของผู้หญิงมากนัก และวันที่คำว่าเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้สถานะทางเพศของชายเหล่านั้นหากไม่ถูกกดขี่ บูลลี่ หรือล้อเลียนก็จะถูกตั้งคำถามเรื่องเพศไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะผอมแห้ง อ้วนพี หรือ กล้ามโต ซึ่งสุดท้ายความสัมพันธ์ในจุดนี้ไร้ความเกี่ยวโยงกันอย่างสิ้นเชิง เป็นแค่วิธีคิดที่ผูกโยงร่างกายผู้อื่นเข้ากับชุดความคิดของสังคมกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง

เรียงจากซ้ายไปขวา: เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ, กุลวิทย์ เลาสุขศรี และ วี-วิโอเลต วอเทียร์ ในงาน Pardon! It's my body

     เจมส์เองในฐานะทีมงานผู้จัดจึงมีความเห็นว่า “Body Positive Movement เป็นเรื่องที่ควรได้รับการสนับสนุน มีหลายคนที่ไม่รู้จักคำว่า Body Positivity หรือยังมีกรอบความคิดว่าคนที่สวย หล่อ จะต้องมีหุ่นเพรียวบางต้องสูงเท่านั้น ซึ่งงานนี้ได้เปิดกรอบความคิด และคำนิยามของคำว่า สวย หล่อ ดูดี ในอีกแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะมีรูปร่างแบบไหนทุกคนสามารถดูดีได้ ทุกคนมีความสวยงาม และดูดีได้ในแบบของตนเอง นอกจากนี้การมี Body Positivity ยังช่วยให้คนมีความภูมิใจในตัวเองมากขึ้นอีกด้วย” ถือเป็นการสะท้อนมุมมองเรื่องรูปร่างของผู้มีอิทธิพลทางด้านสื่ออีกคนหนึ่งที่ภาคภูมิใจในความเป็นตัวเองและพัฒนาตัวตนจนคนมองข้ามเรื่องสรีระร่างกายไปเป็นที่เรียบร้อย

กุลวิทย์ เลาสุขศรี, วี-วิโอเลต วอเทียร์ และ ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ ถ่ายภาพร่วมกันหลังจบการบรรยาย

     เรื่องราวเหล่านี้ยาวยืดมาถึงเรื่องศัลยกรรม เมื่อมีการนิยามรูปร่าง มีการตั้งเกณฑ์ความสวยงามเกิดขึ้น “การอยากผ่านเกณฑ์ความสวยงาม” ย่อมเกิดขึ้น สิ่งที่สามารถเนรมิตความงามอย่างสมบูรณ์แบบและฉับไวที่สุดทางเลือกหนึ่งคือศัลยกรรม เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลในการอธิบายว่า “ทำทำไม” ถ้าเราตอบตัวเองได้ก็ถือว่าการตัดสินใจและผลพวงที่ตามมาเป็นที่สิ้นสุด ใครจะทำอะไรกับร่างกายคนอื่นไม่มีสิทธิ์ไปยุ่งวุ่นวายโดยเฉพาะการสืบสาวราวเรื่องเขา ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า “จริงๆ แล้วเหตุผลในการทำศัลยกรรมของแต่ละคนมักจะแตกต่างออกไป เราไม่ควรที่จะไปสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคมนี้” สมกับชื่องานที่คอยสร้างความตระหนักให้กับสังคมในการให้เกียรติและคุณค่าต่อร่างกายผู้อื่นได้แล้วว่า “ขอโทษนะ นี่มันร่างกายของฉัน!”

WATCH