FASHION
เข้าเมืองตาหลิ่วไม่ต้องหลิ่วตาตาม! เปิดปรัชญาชีวิต Bill Cunningham ตำนานช่างภาพผู้ล่วงลับBill Cunningham กับหลักปรัชญาแห่งการเป็นช่างภาพดังในมหานครนิวยอร์ก |
ถ้าพูดถึงช่างภาพสายสตรีตแฟชั่นชื่อที่ขึ้นมาในลิสต์ระดับแถวหน้าของวงการต้องมี Bill Cunningham อยู่ในนั้นเสมอ เขาคือต้นแบบของช่างภาพยุคใหม่ สไตล์การถ่ายภาพรวมถึงการใช้ชีวิต พร้อมทั้งคติแนวทางและปรัชญาต่างๆ ทำให้เขาแตกต่าง ความนุ่มลึกของภาพถ่ายมันไม่ใช่แค่เรื่องฝีมือ แต่มันหมายถึงจิตวิญญาณที่เขาหล่อหลอมตัวตนมาตลอดหลายสิบปี วันนี้เนื่องในโอกาสการจากไปครบรอบ 2 ปี โว้กขอย้อนเล่าถึงหลักความคิดของบิลซึ่งต่อมากลายเป็นบรรทัดฐานที่ช่างภาพและผู้เสพผลงานทางศิลปะหลายคนยึดถือ อะไรคือกุญแจสำคัญที่ทำให้เขากลายเป็นตำนาน ติดตามได้ในบทความนี้เลย
“ตัวตนยิ่งใหญ่กว่าเทรนด์เสมอ”
ใครๆ ก็จดจำเขาได้จากลุคนี้ / ภาพ: The Blonde Salad
แน่นอนว่าเขาคือช่างภาพแฟชั่นที่ใครก็รู้จัก เดินไปไหนมาไหนในมหานครนิวยอร์กเขาคือซูเปอร์สตาร์แห่งวงการภาพถ่าย แต่เชื่อไหมว่าการที่เขาลั่นชัตเตอร์เก็บภาพสร้างอัลบั้มแฟชั่นระดับโลกได้ เขากลับไม่ใช่ชายหนุ่มผู้วิ่งนำเทรนด์หรือแม้แต่ตามเทรนด์ด้วยซ้ำ เพราะเขาถูกพูดถึงตลอดว่าเป็น “ชายแจ๊คเก็ตน้ำเงิน” ตอนแรกคนอาจจะไม่สังเกตว่าเขาแต่งตัวอย่างไรเพราะเห็นแต่ผลงาน แต่เมื่อหันไปมองเจ้าของผลงานเราจะเห็นความนอบน้อมและมั่นคงในสไตล์ของตัวเอง การสร้างเอกลักษณ์มันช่างโดดเด่นพอๆ กับการวิ่งนำเทรนด์ของเหล่าคนแฟชั่น ความแน่วแน่จึงกลายเป็นหลักคิดสำคัญที่ใครหลายคนสามารถทำตามได้ วันหนึ่งเราจะรู้ว่าเราไม่ต้องพยายามโดดเด่น เพราะตัวตนของเราจะเฉิดฉายออกมาเพราะความสามารถและเวลาของการทำงานหนักแบบชายแจ๊คเก็ตน้ำเงิน
“แฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องบนรันเวย์และนิตยสารเสมอไป”
ภาพสายสตรีตยุคเก่าฝีมือลั่นชัตเตอร์ของ Bill Cunningham / ภาพ: Courtesy of Bill Cunningham
ถึงแม้ว่าโว้กทุกเอดิชั่นทั่วโลกจะนำเสนอการถ่ายแฟชั่นเซ็ตและการอัปเดตเทรนด์จากรันเวย์นำโลกเสมอ แต่โลกแฟชั่นมันไม่ได้มีแค่นั้น 2 ส่วนอาจเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้แฟชั่นได้เปิดโลกฉีกสไตล์ขับเคลื่อนต่อไปได้ เหล่าสไตลิสต์และบรรณาธิการตั้งใจรังสรรค์ภาพออกมาแตกต่างอย่างงดงาม บ้างก็ดิบ บ้างก็เซอร์เรียล สุดแล้วแต่คอนเซปต์และสไตล์ของแต่ละเล่ม แต่ละคน ในอีกทางหนึ่งบิลมองว่าแฟชั่นคือเรื่องของทุกคน เขาเน้นย้ำเสมอว่าเขาชอบถ่ายแฟชั่นคนตามท้องถนนมากเพราะแฟชั่นสามารถสะท้อนตัวตนผู้คนจริงๆ และวลีเด็ดในชีวิตเขาก็คือ “แฟชั่นโชว์มันอยู่บนถนนอยู่ตลอดนั่นล่ะ”
“เปลี่ยนแปลงแต่ไม่ทำลาย”
WATCH
ผลงานการถ่ายภาพ Carlyne Cerf de Dudzeele, Anna Wintour และ Suzy Menkes ของ Bill Cunningham ที่แสดงให้เห็นว่าแฟชั่นจัดจ้านได้โดยไม่ต้องละทิ้งตัวตนเพื่อตามเทรนด์ขนาดนั้น / ภาพ: The Bill Cunningham Foundation LLC
เราเห็นว่ากันมาตลอดว่าแต่ละยุค แต่ละสมัยนิยามความงามหรือบรรทัดฐานความน่าสนใจไม่เคยเหมือนกัน ทุกอย่างถูกตั้งเป็นแบบดี-ไม่ดีอยู่เสมอ แต่สำหรับบิลเขาลื่นไหลไปกับกระแสโลกอยู่เสมอแต่เขาไม่ยอมลดทอนวิสัยทัศน์ในมุมมองของตัวเองเพื่อตามคนอื่น เขาเคยวิพากษ์วิจารณ์ไว้ครั้งหนึ่งว่า “ผมรู้สึกเสียดายที่เหล่าดีไซเนอร์ทิ้งมุมมองของตัวเพื่อเปลี่ยนตามกระแสโลกจนเกินไป” การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเขาต่อต้านเทรนด์ แต่ย้ำชัดให้ทุกคนมีเป้าหมายของตนเองและค่อยๆ นำไปสอดประสานกับพลวัตทางสังคม การทิ้งตัวตนเหมือนการทิ้งชีวิต และยิ่งทำงานเกี่ยวกับเรื่องอัตวิสัย (Subjective) เช่นความสวยงาม ความหนักแน่น ซึ่งเป็นมุมมองเฉพาะบุคคลไม่มีข้อเท็จจริงตายตัว ยิ่งต้องรักษามาตรฐานให้ผลงานและตัวผู้สร้างผลงานสมดุลอยู่ตลอดเวลา
“การถ่ายรูปไม่ใช่อาชีพ แต่คืองานอดิเรกที่ได้เงิน”
Bill Cunningham มักสนุกกับงานอดิเรกสร้างชื่ออย่างการถ่ายภาพอยู่เสมอ / ภาพ: Monster Children
ความอิสระในงานคือสิ่งที่บิลขวนขวายหามาตลอด หลายคนเคยพูดว่า “อย่าเอางานอดิเรกมาเป็นงาน” ซึ่งบิลก็ทำตามคตินี้อย่างเคร่งครัด หลายคนอาจตั้งคำถามว่าไม่เห็นจะจริงเพราะเขาถ่ายภาพแลกเงิน แต่ความจริงบิลทำงานอดิเรกจนได้เงิน พูดเช่นนี้จะถูกต้องมากกว่า ปรัชญาสำคัญคือเขาไม่ชอบให้ใครมาบังคับเขาได้ มันสะท้อนออกมาถึงหลักปรัชญาในรูปประโยคว่า “ถ้าคุณไม่รับเงิน พวกเขาก็สั่งคุณไม่ได้” แสดงให้เห็นว่าเขาทำมันเพราะความชอบ ผลงานดีจึงรับเงินเพราะคนชอบผลงานเรา(เหมือนซื้อผลงานมากกว่าจ้างถ่าย) ไม่ใช่แค่รับเงินเพื่อให้เขาสั่งเราทำงาน นอกจากนี้ยังพูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ด้วยว่า “เงินมันเป็นสิ่งที่ถูกที่สุด แต่อิสรภาพสิคือสิ่งของราคาแพง”
“เข้าเมืองตาหลิ่ว ไม่ต้องหลิ่วตาตามเสมอไป”
รอยยิ้มของ Bill Cunningham ที่เราเห็นได้เสมอ ความเรียบง่ายของลุคแต่ทุกคนจำได้คือจุดเด่นที่ไม่มีใครเคยลืม / ภาพ: Daily Front Row
แน่นอนว่าสุภาษิตไทยย้ำเตือนเสมอให้ปรับตัวตามสภาพแวดล้อม แต่สำหรับนิวยอร์กและวงการแฟชั่นในมหานครแห่งนี้อาจไม่ใช่ทุกเรื่องที่ทุกคนควรปฏิบัติตาม คนแฟชั่นในเมืองนี้ขึ้นชื่อเรื่องปาร์ตี้และความสนุกสุดเหวี่ยง บ้างก็ผ่านมันมาได้ด้วยความสุข แต่ก็มีไม่น้อยที่ชีวิตพังเพราะความไร้วินัย แสงสี สิ่งยั่วยุต่างๆ บิลถือเป็นคนที่โลดแล่นในวงการนี้ได้อย่างมีสติ เชื่อไหมว่าเขามักปฏิเสธอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงของขวัญต่างๆ จากการถ่ายภาพ โดยเฉพาะในงานกาล่าหรือปาร์ตี้ เขาไม่ใช้ชีวิตอู้ฟู่หรูหราแต่อย่างใด จักรยานคันหนึ่งกับสายตาช่างภาพอันกว้างไกลพาบิลดำรงชีวิตในฐานะตำนานช่างภาพแห่งนิวยอร์กมาตลอดชีวิตโดยไม่ต้องสร้างชื่อเสีย(ง) ใดๆ
“ภาพแฟชั่นมันเล่าเรื่องราวได้มากกว่าแค่ความสวยงาม”
ไม่ว่าจะอายุเท่าใด สิ่งที่เขาทำเสมอคือการมองภาพองค์รวมมากกว่าแค่การเจาะจงถ่ายรูปอย่างขะมักเขม้นอย่างเดียว / ภาพ: The New York Times
หากเรากดชัตเตอร์สักช็อตหรือบันทึกความทรงจำรูปแบบต่างๆ เรามักมีเป้าหมายเชิงความจริงและสวยงามเท่านั้น แต่แนวคิดของบิลเป็นมากกว่านั้น เขารังสรรค์ภาพถ่ายให้กลายเป็นผลงานเชิงมนุษยวิทยา บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงของคน ไปจนถึงจิตวิทยาเรื่องอารมณ์ความรู้สึก หลักคิดง่ายๆ คือการต่อยอด เราต้องคิดอยู่เสมอว่าผลงานของเราต้องต่อยอดออกไปให้ได้ ความลื่นไหลสร้างผลงานให้เป็นอมตะ หากทำ 1 ครั้งแล้วหยุดที่ตรงนั้นทันที มันคุ้มค่าที่จะทำหรือไม่...คำตอบนี้ผู้ลงมือทำคงต้องตอบในเชิงสายงานของตัวเอง
“เรียนรู้ทุกอย่างแต่ไม่ต้องแสดงออกทุกเรื่อง”
วงการถ่ายภาพในมหานครนิวยอร์กไม่เหมือนเดิมอีกต่อเมื่อขาด Bill Cunningham / ภาพ: LA Times
บิลไม่ใช่คนอินโนเซนต์ไม่รู้ตาสีตาสา แต่เขาคือผู้เรียนรู้ทุกอย่างแต่ไม่ตลอดเกือบ 40 ปีในโลกแฟชั่นโดยไม่จำเป็นต้องอวดอ้างใดๆ เขาเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของสังคม รู้เทรนด์ รับรู้ความเป็นไปของโลกแฟชั่น แต่เขาไม่แสดงออกไม่ได้โชว์ว่าเหนือกว่าคนอื่น ยังคงเป็นบิลคนเดิมตลอดหลายสิบปี ตั้งใจถ่ายภาพ โด่งดังด้วยผลงานไม่ใช่ตัวบุคคล งานเขาร่วมสมัยเสมอ ไม่มีคำว่าเชยเพราะเขาเรียนรู้แต่ไม่ป่าวประกาศว่าฉันไหลตามสังคม เมื่อคนเสพผลงานเขาก็จะรู้สึกเองว่าธรรมชาติและสวยงามในทุกยุค นั่นก็เพราะเขาเรียนรู้และถ่ายทอดออกมาทางผลงานอย่างลื่นไหลเป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นแนวคิดนี้จึงเป็นหลักปรัชญาในการรับข้อมูลข่าวสารรวมถึงการเดินหน้าของสังคม ไม่ต้องหักดิบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่พอเราค่อยๆ พลิกมือเราจะไม่รู้สึกฝืนหลังจากนั้นก็พลิกมือได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่รู้สึกฝืนใดๆ การใช้ชีวิตก็เช่นกัน
สุดท้ายเราคงได้แต่ฝากไว้ว่าโลกเราอาจไม่ได้เรียบง่ายสวยงามตามหลักปรัชญา แต่แนวคิดของบิลเป็นเหมือนกระจกสะท้อนสังคม กระจกสะท้อนวิถีชีวิต คำพูดอาจจะดูสวยหรูแต่บิลยึดถือและปฏิบัติจริงมาตลอด เขาไม่เคยบอกให้ใครคิดหรือทำตามเขา แต่เขาแนะแนวให้เราปรับตัวโดยดูสภาพแวดล้อมทางสังคมให้สอดคล้องกับตัวตนอยู่เสมอ นั่นล่ะคือชีวิต เราบังคับสังคมไม่ได้แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องผูกโยงชีวิตเข้ากับมันตลอดชั่วอายุ ก่อนเขาจะเสียไปคนจดจำเขาในฐานะช่างภาพ แต่หลักจากคนได้เรียนรู้แนวคิดไปจนถึงปรัชญาชีวิต เขาคือนักปราชญ์คนหนึ่งแห่งวงการแฟชั่นที่อาศัยอยู่ ณ ป่าปูนอย่างมหานครนิวยอร์ก ขอรำลึกการจากไปแบบไม่มีวันกลับครบรอบ 4 ปี “บิล คันนิงแฮม”
ข้อมูล: Monster Children, The New York Times, Caring Senior Service, The Outline, The Washington Post และ Bill Cunningham: On the Street : Five Decades of Iconic Photography
WATCH