FASHION
#ฉบับรวบรัด โว้กชวนสืบค้นวิวัฒนาการแบรนด์ CHANEL ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง...งานนี้คนแฟชั่นจะได้ทบทวนความทรงจำว่า How it started ในวันที่แบรนด์เก่าแก่กำลังกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า How it’s going |
บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสกู๊ปฉบับเต็มในนิตยสารโว้กประเทศไทยเดือนกันยายน 2021
ท่ามกลางความคุกรุ่นของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โหมดดิจิทัลแบบเต็มอัตราของอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก หัวข้อ “ประวัติศาสตร์แฟชั่น” กำลังตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ คนแฟชั่นสายอนุรักษนิยมพากันตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์และรากเหง้าเก่าแก่ในคอลเล็กชั่นล่าสุดของแบรนด์ดังต่างๆ (ซึ่งมักจะบอกว่าต่อยอดความสำเร็จในวันนี้มาจากความยิ่งใหญ่ของห้องเสื้อในอดีต แต่บ่อยครั้งสิ่งที่เห็นก็ไม่ค่อยจะสัมพันธ์กับสิ่งที่พูดเท่าไรนัก) ส่วนอีกฟากหนึ่ง คนแฟชั่นรุ่นใหม่สายหัวก้าวหน้าก็ให้ความสำคัญกับการประกอบร่างสร้างบทบัญญัติใหม่ๆ...เพื่อยุคสมัยใหม่ๆ...เพื่อผู้บริโภคใหม่ๆ...แม้มันจะหมายถึงการต้องขีดฆ่าอดีตในบางบรรทัดก็ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการกลับมาของ Balenciaga Couture โดย Demna Gvasalia คือชนวนก่อให้เกิดกระแสที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งยังต่อยอดงานวิเคราะห์เจาะลึกไปอีกมากมายหลายแขนง ทั้งในแง่ศิลปะ ธุรกิจ หรือแม้แต่สังคม สาระสำคัญถึงคนแฟชั่นยุค 2020 คือการตอกย้ำว่างานดีไซน์ใหม่ไม่จำเป็นต้องใช้คัตติ้งเดิมที่เห็นได้ชัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวเสมอไป การซ้อนทับของจิตวิญญาณแห่งแบรนด์ระหว่างผู้ก่อตั้งกับเจ้าลัทธิใหม่นั้นมีกลวิธีที่แยบยลกว่านัก เหนือสิ่งอื่นใด การเริ่มต้นใหม่ (ครั้งแล้วครั้งเล่า) คือสัจธรรมของวงการแห่งสไตล์ซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง วรรณวนัช สิริ และ สธน ตันตราภรณ์ นึกสนุกในฉบับ “New Beginnings” ชวนกันไปสืบค้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการในอุตสาหกรรมแฟชั่น บุกถางทางเก่าที่ถูกลืมเพื่อสำรวจภูมิลำเนาเดิม ตลอดจนเปิดแผนที่ภูมิศาสตร์ใหม่ของแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงโลกแฟชั่นมานานหลายทศวรรษ งานนี้คนแฟชั่นจะได้ทบทวนความทรงจำว่า How it started ในวันที่แบรนด์เก่าแก่กำลังกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า How it’s going เริ่มต้นที่แบรนด์ในตำนานเบอร์ต้นอย่าง CHANEL
HOW IT STARTED
ยุค 1920 Gabrielle “Coco” Chanel ดีไซเนอร์ผู้ปลดคอร์เซตที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้หญิงมายาวนาน ออกแบบเสื้อผ้าที่คืนอิสรภาพให้ร่างกายของผู้หญิงเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น และกลายเป็นการแต่งกายของผู้หญิงในยุค 1920 หรือที่เรียกกันว่าสไตล์ Gatsby เปิดโอกาสให้ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านได้ในยุคที่แรงงานขาดแคลนเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ปี 1921 ซึ่งเป็นยุคตื่นตัวของศิลปะแอ็บสแตรกต์ ชาเนลเปิดตัว No5 น้ำหอมกลิ่นแรกที่ไม่ใช่กลิ่นธรรมชาติ แต่เป็นกลิ่นที่สังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ (Artificial scent) มีส่วนผสมของสารประกอบแอลดีไฮด์ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นเพียงดอกไม้ประดับของสังคมอีกต่อไป และเป็น The most popular perfume in the world มาจนถึงปัจจุบัน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี 1947 Christian Dior ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างเทรนด์ New Look ที่พาผู้หญิงกลับไปสู่รูปทรงดอกไม้และการรัดเอวคอดกิ่วอีกครั้ง มาดมัวแซลชาเนลที่ปลีกตัวไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์เสียหลายปีจึงอดรนทนไม่ได้ เธอกลับมาในปี 1954 เพื่อปฏิวัติสไตล์ของผู้หญิงอีกรอบ ด้วยแจ็กเกตสูทผ้าทวีด รองเท้าทูโทนส้นไม่สูงไม่เตี้ยที่ผู้หญิงสามารถสวมเดินทางได้สะดวก และกระเป๋า 2.55 (เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 1955) กระเป๋าที่มีสายโซ่คล้องไหล่เพื่อที่ 2 มือจะได้ว่างพร้อมทำงาน รวมถึงมีช่องใส่ลิปสติก (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ขายดีของชาเนลในช่วงนั้น) และจดหมายจากชู้รัก กลายเป็นโททัลลุคที่ช่วยพาผู้หญิงออกไปสู่โลกกว้างในการทำงานอีกครั้ง อาจกล่าวได้ว่าโกโก้ ชาเนลเป็นดีไซเนอร์เพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ปฏิวัติการแต่งกายของผู้หญิงถึง 2 ครั้งด้วยจุดมุ่งหมายเดียวคือปลดปล่อยพันธนาการที่ร้อยรัดพวกเธอไว้ด้วยสิ่งที่สังคมชายเป็นใหญ่อยากให้เป็น
WATCH
Karl Lagerfeld เข้ามารับหน้าที่ในปี 1983 เขาดำเนินการปรับแบรนด์ให้ทันสมัยขึ้นโดยใช้โค้ดเดิมของมาดมัวแซลชาเนล ถ้าผู้หญิงของมาดมัวแซลเป็นผู้หญิงทำงาน (เหมือนตัวดีไซเนอร์ที่ทำงานจนวันสุดท้ายของชีวิต) คาร์ลก็ทำให้ผู้หญิงของชาเนลเป็นสาวแฟชั่น เขาสร้างแฟชั่นแบรนด์ที่ทำให้ผู้หญิงใฝ่ฝันอยากสวม เขาทำให้ชาเนลกลับมาบูมโดยควบคุมทุกอย่างตั้งแต่การตลาด ถ่ายภาพ การจัดซูเปอร์แฟชั่นโชว์ที่ยิ่งใหญ่อลังการ ความสำเร็จของเขานอกจากจะทำให้ชาเนลขึ้นแท่นซูเปอร์แบรนด์แล้ว ชื่อของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ยังเป็นที่จดจำในฐานะ The Emperor of Fashion ไปตลอดกาล
HOW IT’S GOING
Virginie Viard เริ่มงานพร้อมกับที่คาร์ลเข้ามาชาเนล เป็นมือขวาของคาร์ลมาตลอด 30 ปี และเป็นไปได้ว่าวีร์ฌีนีมีอิทธิพลและมีผลงานการออกแบบภายใต้ชื่อของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์มาโดยตลอด แฟชั่นโชว์ครูสคอลเล็กชั่น 2018 คาร์ลจูงมือวีร์ฌีนีออกมาในช่วงฟินาเล่ด้วยเพื่อเป็นการประกาศว่าเมื่อไรที่เขาจากไป ผู้หญิงคนนี้จะเป็นผู้สืบทอด ซึ่งวีร์ฌีนีเลือกพาชาเนลกลับไปสู่ความเป็นผู้หญิงที่แม้หวาน แต่มีความเป็นร็อกซึ่งเป็นแนวดนตรีในยุค 1980 ช่วงที่เธอเติบโตขึ้นมา ร็อกของวีร์ฌีนีไม่โฉ่งฉ่างแต่นุ่มนวลแนบเนียนไปกับซิลูเอตที่ต่างออกไปเล็กน้อย ถ้ากาเบรียล ชาเนลทำเสื้อแจ็กเกตโดยมีโครงแขนเป็นส่วนสำคัญที่สุด หัวไหล่ก็น่าจะเป็นไฮไลต์ของวีร์ฌีนีด้วยแนวคิดการออกแบบเสื้อผ้าโดยผู้หญิงที่เข้าใจผู้หญิงจริงๆ
ติดตามซีรีส์บทความสืบค้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการในอุตสาหกรรมแฟชั่น #ฉบับรวบรัด ได้ตลอดเดือนตุลาคมนี้...
WATCH