FASHION

เกิดอะไรขึ้น...เมื่อ “นางงามผิวสี” มงลงทุกเวทีในปี 2019

หรือว่าปรากฏการณ์นี้กำลังฟ้องเทรนด์ความงามครั้งใหม่...

     เพิ่งจะจบลงไปสำหรับเทศกาลประกวดนางงาม และเพิ่งประกาศผลไปสำหรับอีกหนึ่งเวทีใหญ่ของการประกวดนางงามประจำปี 2019 กับ Miss World ที่ในปีนี้หญิงสาวตัวแทนจากประเทศจาไมก้า Toni-Ann Singh คือผู้ที่คว้ามงกุฎฟ้าไปครอบครองได้สำเร็จ และยังถือเป็น “นางงามผิวสี” อีกหนึ่งคนที่ได้สวมมงกุฎนางงามในปีนี้ เมื่อย้อนกลับไปสำรวจในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมาบนเวทีการประกวดนางงามไม่ว่าจะเป็น Miss USA, Miss America, Miss Teen USA และ Miss Universe ที่เพิ่งผ่านไป นางงามผู้ครองมงกุฎล้วนแล้วแต่เป็นสุภาพสตรีผิวสีทั้งสิ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้กำลังบอกอะไรเรา...

Armi Kuusela นางงามจักรวาลคนแรกของโลก ได้รับตำแหน่งในปี 1952

 

     หลายคนคงทราบดี เมื่อเดินทางย้อนกลับไปสู่รากเหง้าของเวทีการประกวดนางงามว่าแท้จริงแล้ว สิ่งนี้คือ Show Business หรือ ธุรกิจเพื่อสร้างความบันเทิงอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดอย่าง “นางสาวสยาม” (ก่อนที่ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “นางสาวไทย” ตามกำหนดรัฐนิยม 12 ฉบับ การเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย”) เวทีการประกวดนางงามแรกในไทย ที่เกิดขึ้นพร้อมงานฉลองรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2477 ในฐานะของ “โชว์การประกวดสร้างความบันเทิง” ที่มีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดให้ประชาชนเช้ามามีส่วนร่วม และทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” ให้มากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่เวทีการประกวด Miss Universe หรือ นางงามจักวาลที่ทุกคนรู้จักกันดีนั้น ก็มีจุดกำเนิดมาจากแผนการตลาดของแบรนด์ชุดว่ายน้ำชื่อว่า “Catalina Swimwear” ที่ได้จัดการประกวดดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นการโฆษณาชุดว่ายน้ำของแบรนด์ จนได้นางงามจักรวาลคนแรกจากฟินแลนด์คือ Armi Kuusela ในที่สุด นั่นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การประกวดนางงามคือ ธุรกิจสร้างความบันเทิงอย่างหนึ่ง

ภาพถ่ายการแสดงเปิดตัวของเหล่าสาวงามในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ประจำปี 2008 อีกหนึ่งส่วนสำคัญในการสร้างสีสันให้กับการประกวด / ภาพ : theage.com.au

 

     นับแต่นั้นเวทีนางงามก็เริ่มผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดโดยเฉพาะในช่วงยุค 1960s – 1980s สถาปนาตัวเองให้กลายเป็น “ฝันหวาน” ของเหล่าเด็กสาวที่ต้องการเป็นที่ยอมรับ และดำเนินมาเรื่อยๆ กระทั่งต้องมาพบกับ “จุดตกต่ำ” เมื่อโลกใบนี้เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับ “นิยามของความงาม”, “ความงามภายนอก” และ “ความงามภายใน” ที่ส่งผลกระทบอย่างจังกับทุกเวทีการประกวดนางงาม ทำให้หลายคนมองว่า การประกวดนางงามเป็นเรื่อง “ตกยุค” จนได้ ทว่าการแข่งขันทางธุรกิจบันเทิงที่ต้องการเป็นผู้อยู่รอด ก็ผลักไสดันส่งให้ทุกโชว์การประกวดนางงามต้องคิดให้ออกว่าควรปรับปรุงสิ่งใดในตัวเองเพื่อเป็นการฝังกลบข้อครหาว่าเป็นรายการบันเทิงตกยุค กระทั่งทุกอย่างก็มาประจวบเหมาะที่การเล่นล้อไปกับกระแสโลกในเวลานั้นๆ โดยแสดงออกผ่านคำถามในรอบตอบคำถามของเวทีการประกวดนางงามที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากการสัมภาษณ์นางงามถึงเรื่องทั่วไป สู่การเติมส่วนผสมลงไปในเหล่าคำถามจำพวกคลื่นเฟมินิสต์ สังคม สิทธิมนุษยชนทีละนิดๆ ไปจนถึงประเด็นการตั้งฐานทัพในประเทศฟิลิปปินส์ของชาติอเมริกาที่แฟนนางงามคุ้นเคยกันดี ที่นี้ก็เพื่อเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น “โชว์บันเทิงที่ไม่ตกยุค” พร้อมทั้งได้สร้างสโลแกน “สวยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีสมองด้วย” ให้คนได้โจทก์ขาน และทำให้การประกวดนางงามกลับมาเป็นที่พูดถึงอยู่เรื่อยๆ จากกลยุทธ์เกาะกระแสโลกอันแยบยลนี้



WATCH




ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางงามจักรวาลประจำปี 1988 และถือเป็นนางงามจักรวาลลำดับที่ 2 ที่มาจากประเทศไทย

 

     แม้แต่ในยุคที่ประเทศไทยได้ภูมิใจกับนางงามจักรวาลคนที่สองอย่าง ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ในปี 1988 ที่เธอได้ชูประเด็นเรื่องการช่วยเหลือเด็ก ที่กำลังเป็นที่พูดถึงของโลกในเวลานั้นได้อย่างกินใจ และสามารถคว้ามงกุฎมาได้ในที่สุด พร้อมสร้างค่านิยมที่ว่า “นางงามต้องรักเด็ก” ขึ้นมาได้สำเร็จอีกหนึ่งประการ หรือล่าสุดกับการคว้ามงกุฎจักรวาลไปของ Zozibini Tunzi สาวงามจากประเทศแอฟริกาใต้กับการกล่าวสุนทรพจน์กินใจคนทั้งโลก (“ฉันเติบโตมาในโลกที่ผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาแบบฉัน ไม่เคยถูกมองว่าสวย และฉันคิดว่าถึงเวลาแล้วที่แนวคิดดังกล่าวจะต้องหายไป”) เกี่ยวกับความงามที่แตกต่าง ซึ่งสอดรับพอดีกับกระแสโลกในปัจจุบันที่กำลังถกเถียงกันถึงเรื่อง “ความหลากหลาย” นั่นจึงไม่แปลกที่ธุรกิจบันเทิงนี้จะพร้อมสวมมงกุฎ (แบบสมมงไร้ที่ติ) ให้กับสาวงามทั้งสองคนที่กล่าวมา ในทางหนึ่งก็เพื่อเป็น “การเรียกเรตติ้ง” ให้กับโชว์บันเทิงของตนเอง อีกทั้งยังเป็นทางออก และเป็นการเอาตัวรอดของ “โชว์ประกวดนางงาม” ให้ยังอยู่ในบทสนทนาของประชาคมโลกต่อไปว่า ในที่สุดเวทีนางงามนั้นกล้าที่จะแหกกรอบความงามเดิมๆ (ซึ่งก็นับเป็นกลยุทธ์เดียวกันกับ “พัฒนาการของคำถามนางงาม” ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น)

(ซ้าย) Zozibini Tunzi มิสยูนิเวิร์ส ประจำปี 2019 จากประเทศแอฟริกาใต้ / (ขวา) Toni-Ann Singh มิสเวิลด์ ประจำปี 2019 จากประเทศจาไมก้า

 

     กระนั้นในอีกมุมหนึ่งที่นับว่าสำคัญ และมีคุณค่ากับโลกใบนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ปรากฏการณ์ “นางงามผิวสีผงาดทุกเวที” ในปีนี้ของธุรกิจบันเทิงประกวดนางงามนั้น กำลังแสดงออกให้เห็นว่า พวกเขาก็มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสังคมด้วยเช่นกัน ไม่ได้เพิกเฉยถึงบทสนทนาของโลกใบนี้ที่กำลังตั้งคำถามถึงเรื่องความงาม ด้วยการเป็นตัวกลางในการสร้างบรรทัดฐานด้านความงามที่หลากหลายขึ้นมาใหม่ให้กับเด็กสาว และสุภาพสตรีทั่วโลก พาทุกคนหลุดออกจากรอบความงามเก่า และโลดแล่นไปได้ไกลกว่านิยามความงามที่มีแต่ผิวขาว ผมบลอนด์อย่างเช่นในอดีต ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และจรรโลงสังคมโลกเป็นอย่างยิ่ง

สามเวทีใหญ่การประกวดนางงามของประเทศสหรัฐอเมริกา (ซ้าย) Kaliegh Garris ดำรงตำแหน่ง Miss Teen USA ปี 2019/ (กลาง) Nia Franklin ดำรงตำแหน่ง Miss America ปี 2019/ (ขวา) Cheslie Kryst ดำรงตำแหน่ง Miss USA ปี 2019

 

     ท้ายที่สุดเมื่อใครก็ตามได้อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว ประเด็นที่น่าขบคิดต่อก็เห็นจะหนีไม่พ้นที่ว่า การที่เวทีนางงามยักษ์ใหญ่อย่าง Miss USA ,Miss America, Miss Teen USA, Miss Universe และ Miss World ประจำปี 2019 และอีกหลายเวที ได้อุทิศพื้นที่ให้กับเหล่านางงามผิวสีได้มีบทบาทประกาศชัยชนะของพวกเธอเช่นนี้ เป็นสิ่งที่สามารถตอบโจทย์กระแส “ความหลากหลาย” และ “ความเท่าเทียม” ได้จริงหรือไม่ นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย...

WATCH