ผ้าบาติก Batik Model
FASHION

โว้กเจาะลึกเส้นทาง 'ผ้าบาติกไทย' สู่โครงการ 'บาติกโมเดล' มรดกล้ำค่าจากภาคใต้ของไทย

#VogueThailandAugust2024 คลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในงานสร้างสรรค์ผ้าบาติกของไทย จากสินค้าหัตถศิลป์เฉพาะท้องถิ่น ค่อยๆ ผ่าน กระบวนการปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด ทดลองเทคนิคการผลิตใหม่ๆ จนนําไปสู่ผลงานการออกแบบในระดับเศรษฐกิจเชิง สร้างสรรค์ #BatikModel #บาติกโมเดล #กรมการพัฒนาชุมชน #ผ้าไทยใส่ให้สนุก

ช่างภาพ: สุดเขต จิ้วพานิช 
สไตล์ไดเร็กเตอร์: จิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล
นางแบบ: บรีน่า, ต้นหลิว, เจมม่า, แอล, มีนา @ AKIZ
แต่งหน้า: สุคนธ์ สีมารัตนกุล, สมเกียรติ จั่นเคลือบ
ทำผม: พูนทัศน์ เลิศมโนรัตน์, นิคม น้อยคำ
ออกแบบฉาก: ไชโย โล่ห์อมรปักษิณ
ผู้ช่วยสไตลิสต์: ฐิตาภรณ์ พุกพัก, ปราดา ทาตะวงศ์
เรื่อง: ตะวัน ก้อนแก้ว 

------------------------------------------------------------------------

     เมื่อพูดถึง “ผ้าบาติก” เรามักนึกถึงเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีสันฉูดฉาดที่ใช้เป็นเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่องค์กรภาครัฐหรือหน่วยงานบริการต่างๆ หรือไม่ก็ผืนผ้าบาติกวาดลายด้วยมือ เป็นรูปทะเลบ้าง ดอกไม้บ้าง แขวนจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวต่างชาตินำไปนุ่งกับชุดบิกินีอาบแดดริมหาด ซึ่งเป็นรูปแบบการใช้งานที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงอยู่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้เท่านั้น ถ้าเทียบกับกลุ่มสิ่งทอและผ้าในท้องถิ่นอื่นๆ ของประเทศไทยอย่างเช่นกลุ่มผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าบาติกยังมีการพัฒนาหรือปรับปรุงดีไซน์น้อยมาก รวมถึงการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจอื่นๆ เช่นสิ่งทอสำหรับเฟอร์นิเจอร์หรือของแต่งบ้านด้วย แต่นั่นคือก่อนหน้า 4 ปีที่ผ่านมา

     The Brighter Path

     ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมผู้ประกอบการผ้าในจังหวัดนราธิวาส ผู้ประกอบการได้นำผ้าบาติกและสินค้าอื่นๆ ทูลเกล้าฯ ถวาย ด้วยรูปแบบสินค้าและงานดีไซน์ในช่วงนั้น พระองค์ทรงเข้าพระทัยข้อจำกัดในการใช้งาน ทรงเล็งเห็นโอกาสที่จะพัฒนางานฝีมือแขนงนี้ จึงพระราชทานลายผ้า “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” เป็นครั้งแรก ต่อมาเป็นลาย “ป่าแดนใต้” ซึ่งเป็นลวดลายเชิงประยุกต์ที่ใช้งานได้หลากหลายขึ้น เมื่อประชาชนได้รับพระราชทานลาย ก็นำไปต่อยอด ผลิตออกมาจำหน่าย สร้างความคึกคักในตลาดผ้าบาติกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พระองค์ทรงสนพระทัยและทรงติดตามการทำงานของกลุ่มผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด และในช่วงปี 2566 โครงการพิเศษ Batik Model อันเนื่องมาจากพระราชดำริก็เกิดขึ้น

     Perfect Matching

     พื้นที่ภาคใต้ของไทยเป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์พิเศษ เพราะประกอบด้วยชุมชนโบราณหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากเป็นเส้นทางการค้า จึงเกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างโลกตะวันออกกับตะวันตก โครงการ Batik Model เลือก ผู้ประกอบการผ้าบาติกในชุมชน 7 กลุ่มจากจังหวัดกระบี่ ปัตตานี และนราธิวาส มาเข้าร่วมโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกแบบครบวงจรภายใต้การแนะนำและดูแลของดีไซเนอร์ไทยชั้นนำจากแบรนด์ Asava, Issue, Wishrawish และ Theatre เริ่มตั้งแต่แนะนำวิธีการมองหาแรงบันดาลใจจากสถานที่สําคัญทางประวัติศาสตร์หรือสถานที่สําคัญทางธรรมชาติ ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมในท้องถิ่น แล้วสร้างสรรค์ลวดลายออกมาด้วยการเขียนเทียนหรือปั๊มแม่พิมพ์เทียนเป็นลวดลายลงบนผืนผ้า ก่อนจะนำไปลงสีย้อมผ้าจากธรรมชาติ ระหว่างขั้นตอนนี้เทียนที่แห้งจะกั้นสีย้อมผ้าไม่ให้ซึมหากัน จากนั้นนำไปต้มน้ำร้อนเพื่อให้เทียนละลายออกไปจากเนื้อผ้า ผลงานที่ได้จากศิลปินคนทำผ้านี้จะถูกส่งไปยังห้องเสื้อต่างๆ เพื่อออกแบบตัดเย็บให้เป็นชิ้นงานที่สวยงามร่วมสมัย สร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มชุมชนเห็นว่าสินค้าของเขาสามารถพัฒนาไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้ 

     Open Vision

     ฮัสสือเม๊าะ ดอมะ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนยาริงบาติก อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เล่าความรู้สึกในการเข้าร่วมโครงการ Batik Model ว่า “โครงการนี้เปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้น ให้เราเรียนรู้ที่จะปรับตัว ชอบคําแนะนําที่ว่าแม้เแฟชั่นจะมีความสําคัญ แต่เราก็ยังควรรักษาเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มไว้ด้วย” สตรีชาวมุสลิมสูงวัยที่กลายเป็นดาวเด่นขนาดทีมงานของภริยานายกรัฐมตรียังลงไปเยี่ยมชมด้วยตัวเองถึงบ้านเล่าต่อว่า “เรายังได้ความรู้ความเข้าใจเรื่องอุตสาหกรรมผ้าบาติกถึงหน้าบ้าน อย่างการพัฒนาผ้า การจัดลวดลาย การเลือกสีสัน การย้อมสีธรรมชาติ การทำบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการตลาดที่เราไม่เคยรู้มาก่อน”

     Modern Twist

     การดีไซน์ที่ทันสมัยมีความสำคัญมากสำหรับลุคที่สร้างสรรค์จากผ้าบาติก พลพัฒน์ อัศวะประภาดีไซเนอร์เก๋าเกมแห่งอาซาว่าแบ่งปันแนวคิดการทำงานกับผ้าบาติกว่า “เราต้องการต่อยอดผ้าบาติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้กันอย่างกว้างขวางมากกว่าผ้านุ่ง พร้อมสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าและสอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน โดยเริ่มที่การพัฒนาลวดลายให้มีความร่วมสมัย สะท้อนความเป็นสากลช่วยดึงดูดความสนใจ ด้วยการใช้รูปทรงเรขาคณิต เส้นสายที่สร้างความเคลื่อนไหว และการจัดองค์ประกอบตามจินตนาการ จับคู่สีโทนพาสเทล เพื่อให้ผ้าบาติกสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่วนดีไซน์นั้นก็มีทั้งชุดทํางานเดย์แวร์ไปจนถึงชุดกึ่งค็อกเทล มีการนำผ้าไหมที่มีความมันวาวมาตัดเย็บร่วมกับผ้าบาติก เป็นคัลเลอร์บล็อกสอดคล้องกับเทรนด์แฟชั่นล่าสุดและทันกระแสแฟชั่นที่ไม่หยุดนิ่ง”



WATCH




     Goods for All

     วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์แห่งแบรนด์วิชระวิชญ์ ผู้คลุกคลีกับการทำงานผ้าไทยมานานกว่า 20 ปีเล่าถึงความพิเศษและความท้าทายในการทำโครงการ Batik Model ว่า “ปกติแล้วผ้าบาติกมักจะใช้สีเคมีในการย้อมผ้าเป็นหลัก แต่โครงการอันเนื่องมาจากพระดำรินั้นทรงพระราชทานแนวคิดเรื่องความยั่งยืน เรื่องการใช้สีย้อมผ้าจากธรรมชาติ ซึ่งในโครงการนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผืนผ้าที่ใช้เป็นผ้าบาติกที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ โดยมีการพูดคุยและช่วยกลุ่มชุมชนเลือกโทนสีที่สดใสเหมาะกับความต้องการของตลาด” เขายังนำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนมาใช้ในการออกแบบชุดด้วย “การออกแบบตัดเย็บชุดของวิชระวิชญ์เลือกแนวทาง Zero waste พยายามใช้ทุกส่วนของผืนผ้าอย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อช่วยสนับสนุนการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมแฟชั่นในสิ่งแวดล้อมที่คนกำลังพูดถึงกันทุกวันนี้”

     Generation Next

     ไม่เพียงแต่กลุ่มบาติกที่ประกอบอาชีพดั้งเดิม โครงการอันเนื่องมาจากพระดำริยังเฟ้นหาและสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่เพื่อจะได้เป็นพลังในการสืบทอดงานศิลปะแขนงนี้ต่อไป ยกตัวอย่างโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “Young Otop” ที่เปิดโอกาสให้ธณกร สุขเมตตา ทายาทของกลุ่ม ME-D นาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กลุ่มทำผ้าบาติก มีส่วนช่วยสังคมด้วยการสร้างอาชีพให้เยาวชนที่ยากจนและขาดรายได้ในท้องถิ่น “ในกลุ่มเรามีสมาชิกอยู่หลายคน น้องๆ ทุกคนมีรายได้ ขึ้นอยู่กับระดับคุณภาพงาน ถ้าสร้างสรรค์มากก็ได้มาก บางคนเอารายได้แบ่งไปเลี้ยงดูพ่อแม่ 70 เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว 30 บางคนอายุ 17 ปีสะสมเก็บเล็กผสมน้อยจนได้ทอง 1 บาท เป็นเสาหลักหารายได้จุนเจือครอบครัว” ธณกรเล่าพร้อมรอยยิ้มที่สดใสและแววตาเป็นประกาย “ด้วยพระกรุณาธิคุณของพระองค์ทำให้ทุกวันนี้กลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละไม่ถึง 10,000 บาทเป็นเดือนละกว่า 200,000 บาท ผมภูมิใจมากที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดงาน เกิดอาชีพ เกิดรายได้ ด้วยสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชนของเรา”

     Fashion with Hearts

     ตลอดระยะเวลา 4 ปีของการทรงงานเรื่องผ้าไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โครงการพัฒนาต่างๆ มีรูปแบบของลวดลายและผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยสวยงามขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังสร้างรายได้สูงถึงหลายล้านบาทให้ชุมชน โว้กประเทศไทยในฐานะสื่อแฟชั่นจึงขอนำเสนอเรื่องราวเบื้องหลังที่มาของชุดดีไซน์สวย ซึ่งเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่างานหัตถศิลป์ของคนไทยสามารถพัฒนาและนำไปต่อยอดในระดับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ระดับโลกได้แน่นอน

WATCH