FASHION

เจาะลึกบาติกโมเดล การต่อยอดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีความหมายต่อชุมชนในหลากมิติ

มิติความสร้างสรรค์ของการพัฒนานำมาสู่ความยั่งยืนที่ต่อยอดจากโครงการเพื่อชุมชนและพร้อมรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า

RISE & SHINE
มาทำความรู้จักโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โปรเจกต์เพื่อการพัฒนาผ้าและงานฝีมือของไทยให้สามารถก้าวต่อไปในโลกยุคใหม่อย่างสวยงามและน่าชื่นชม

 

ย้อนกลับไปช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนในงานแฟชั่นโชว์ Silk Festival ที่รวบรวมดีไซเนอร์ชั้นนำของไทยมาโชว์ผลงานชุดที่ตัดเย็บจากผ้าทอพื้นบ้านจากท้องถิ่นต่างๆตามความถนัดของนักออกแบบแต่ละคนความน่าสนใจในโชว์ครั้งนี้มีทั้งเรื่องไอเดียการจับคู่ของกลุ่มผ้า โทนสีที่เลือกใช้ โครงสร้างความพอง ความหนาและความบางของการตัดเย็บ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความตื่นตาตื่นใจและเสียงชื่นชมตลอดทั้งโชว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าที่นำผ้าเทคนิคบาติกมาตัดเย็บ นอกจากความสดใสที่สะดุดตามาแต่ไกลแล้วยังให้ความรู้สึกอ่อนเยาว์ชวนฝัน และบางเบา จนอดคิดถึงที่มาที่ไปไม่ได้ว่าผลงานอันสวยงามเหล่านี้มีกระบวนการผลิตอย่างไร มาจากไหน และใครเป็นคนรังสรรค์ 


เนตรดาว วัฒนะสิมากร ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แบรนด์ Landmeé เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า “งานดีไซน์ในครั้งนี้ท้าทาย แต่ก็สนุกมาก เพราะเป็นการผสมระหว่างผ้าบาติกสวยๆ กับผ้าไหมสีพื้นให้ออกมาเป็นแบรนด์แลนด์มี่ ครั้งนี้นำเทคนิคการฉลุผ้าตัดลายที่เราถนัดมาใช้เป็นเทคนิคหลัก” กระโปรงยาวปลายบานแบบหางปลาที่ตัดเย็บจากผ้าไหม 16 ชิ้นแล้วจับมาเย็บต่อลายผ้าบาติกจากโครงการบาติกโมเดลเรียงซ้อนไปด้านบนอีกครั้ง คือนางเอกของโชว์จากแลนด์มี่ หรือชุดกระโปรงยาวประดับด้วยดอกไม้ผ้าไหมและผ้าบาติกแบบสามมิติในโทนสีส้มก็สวยสะดุดตาไม่แพ้กัน ฝั่งน้องใหม่ไฟแรงแบรนด์ T and T โดยธนาวุฒิ ธนสารวิมล เลือกผ้าไหมแก้วเนื้อโปร่งบางเขียนลายดอกไม้บนพื้นสีพาสเทลหลากเฉดผลงานจากกลุ่มฅญา บาติก ที่ขับเน้นความละเอียดประณีตของชุดด้วยการปักเลื่อมล้อไปตามเส้นเทียนที่เขียนเป็นลายดอกไม้ บนโครงกระโปรงจับเดรปแบบโคคูนไม่เหมือนใคร ปิดท้ายที่แบรนด์ Issue ซึ่งใช้ผ้าไหมบาติกจากรายา บาติกเป็นวัสดุหลักในการออกแบบ ภูภวิศ กฤตพลนารานับเป็นอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญในการเลือกใช้ลวดลายของผ้าไทยในงานตัดเย็บ ซึ่งนอกเหนือจากการทำงานในฐานะดีไซเนอร์แบรนด์อิชชู่ เขายังเป็นทีมวิทยากรส่งต่อความรู้ให้กลุ่มช่างทอผ้าทั่วทุกภูมิภาคของไทย ผ่านหลักสูตรการพัฒนางานหัตถกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยเพื่อสนองแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญาทรงตระหนักถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ทรงกระตุ้นการพัฒนาฝีมือที่มีอยู่เดิมให้มีความเป็นเลิศและดีเด่นเป็นสุดยอดผ้าไทย ด้วยการจัดการประกวดผ้าลายพระราชทานลายต่างๆ ควบคู่ไปกับการจัดอบรมให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญการย้อมผ้า ทอผ้า นักออกแบบแฟชั่น และบุคลากรที่เชี่ยวชาญเรื่องการตลาดอีกมากมาย เพื่อที่ผู้ทอผ้าทั่วไทยจะได้ออกแบบผ้าในแนวร่วมสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกันนั้นยังทรงส่งเสริมการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติลดการใช้สีเคมี เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นพิษต่อน้ำ ดิน และผู้บริโภคด้วยทรงให้ความสําคัญกับ “ความยั่งยืน” และยังทรงเล็งเห็นว่าเทรนด์ของโลกจะเน้นไปที่ทุกคนต้องมีความตระหนักรู้และมองหาสินค้าที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้โลกแน่นอน


จากโครงการดอนกอยโมเดลเพื่อพัฒนากลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย จังหวัดสกลนครต่อยอดสู่โครงการบาติกโมเดล เพื่อพัฒนากลุ่มทำผ้าบาติกในเขตภาคใต้ 4 จังหวัด (สงขลา สตูล ปัตตานี และนราธิวาส) วันนี้โครงการเหล่านั้นได้รับการพัฒนาและขยายขอบเขตเป็นโครงการหมู่บ้านยั่งยืนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หมู่บ้านผู้ประกอบการทำผ้าบาติกทั้ง 14 กลุ่มมีโอกาสเข้าอบรมกับผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ด้านการทอผ้าแบบหนึ่งกลุ่มต่อหนึ่งคน ก่อให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้อันนำไปสู่การปรับแนวคิดการทำงาน รวมไปถึงปรับสีสันการวาด จุดนี้เองคือที่มาของความสวยงามของผ้าบาติกไทยที่เปลี่ยนไป แพรวา รุจิณรงค์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร หนึ่งในทีมวิทยากรของโครงการหมู่บ้านยั่งยืนได้ชี้ถึงจุดเด่นของผ้าชนิดนี้ว่า “ผ้าบาติกสามารถทำได้หลายวิธีให้เกิดความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสีสันต่างๆ ลวดลายที่มีทั้งเล็กและใหญ่ เนื้อผ้าที่มีความบางและหนา ราคาที่ย่อมเยา ปานกลาง ไปจนถึงค่อนข้างสูง คุณลักษณะเหล่านี้จะช่วยผลักดันตัวของมันเองให้สามารถนำไปแปรรูปเป็นเสื้อผ้าหรือเฟอร์นิเจอร์”

หัวใจของการพัฒนาชิ้นงานผ้าบาติกคือวิทยากรจะต้องรู้และเข้าใจทักษะของช่างทำผ้าบาติกว่าแต่ละคนมีความถนัดด้านไหน เพราะการทำผ้าบาติกนั้นมีเทคนิคที่ซับซ้อน หลายขั้นตอน ต้องมีความพิถีพิถัน เช่น ขั้นตอนเขียนเทียน ขั้นตอนลงสี ขั้นตอนต้ม จะได้ช่วยแนะนำแนวทางและองค์ความรู้จากหนังสือ Thai Textiles Trend Book เสริมด้วยประสบการณ์ตรงของวิทยากรชิ้นงานบาติกที่สำเร็จเรียบร้อยส่งมาถึงมือดีไซเนอร์ให้เลือกนำไปออกแบบตัดเย็บแสดงในงานแฟชั่นโชว์ Silk Festival นั้นยังความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจมาสู่ช่างทำผ้าบาติกเป็นอย่างมาก เพราะผืนผ้าที่พวกเขาสร้างสรรค์ออกมาไปได้ไกลกว่าที่เขาคิด และยังจะไปต่อได้อีกตราบเท่าที่พวกเขายังไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ไม่แน่ว่าอนาคตข้างหน้าผ้าบาติกไทยอาจเป็นสินค้าสำคัญที่นักออกแบบทั่วโลกถามหา ซึ่งจะสร้างรายได้อันนำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดความสร้างสรรค์ได้อย่างยั่งยืน


และสอดคล้องกับแฟชั่นโชว์ Silk Festival ยังมีกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการสร้างสรรค์งานผ้า งานคราฟต์ และงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ไทย ประเภทผ้าบาติก โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทกลุ่มผู้ผลิตชุมชน ที่มีผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าบาติก จากจังหวัดนราธิวาส 3 กลุ่ม จังหวัดปัตตานี 5 กลุ่ม จังหวัดพัทลุง 1 กลุ่มจังหวัดยะลา 1 กลุ่ม จังหวัดสตูล 2 กลุ่ม และจังหวัดสงขลา 3 กลุ่ม รวมจำนวน 15 กลุ่ม 150 คน โดยได้รับเกียรติจากคณะที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีทักษะในด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ โดยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบหรือผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม ซ้ำได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ และมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของตลาดในระดับสากล และได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง ส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนสนองแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกภายใต้แนวคิด Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน



WATCH




1 / 14



2 / 14



3 / 14



4 / 14



5 / 14



6 / 14



7 / 14



8 / 14



9 / 14



10 / 14



11 / 14



12 / 14



13 / 14



14 / 14



 

สามารถอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับบาติกโมเดลเพิ่มเติมกับบทความ โว้กเจาะลึกเส้นทาง 'ผ้าบาติกไทย' สู่โครงการ 'บาติกโมเดล' มรดกล้ำค่าจากภาคใต้ของไทย

เรื่อง : ตะวัน ก้อนแก้ว

WATCH