FASHION
ฉันเป็นคนรุ่นไหน! ตอนที่ 2 - BABY BOOMER จากฮิปปี้โลกสวยเป็นยัปปี้บูชาวัตถุจนเป็นกรัมปี้อมทุกข์ในเมื่อไม่มีสงครามการเมืองและสงครามเศรษฐกิจให้ต้องต่อสู้ จะมีอะไรให้คู่ผัวตัวเมียทำนอกจากสงครามในห้องนอน แล้วทุกครัวเรือนก็แว่วเสียงทารกร้องระงม |
ยุคสมัยของเราครอบคลุมปี 1946-1964 เริ่มต้นศักราชด้วยการต้อนรับพ่อที่สะบักสะบอมกลับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกำสวัสดิการทหารผ่านศึกมากินใช้ไปตลอดชีวิต ส่วนแม่ถูกเลิกจ้างหลังจากเคยเป็นแรงงานทดแทนช่วงที่ผู้ชายไปเสี่ยงตายอยู่แนวหน้า พวกเขาจูงมือกันไปซื้อบ้านหน้าตาเหมือนแซะออกจากบล็อกเดียวกันตามชานเมือง เฝ้ามองสนามหญ้าแคบเท่ากรงหมาอย่างภาคภูมิใจ ในเมื่อไม่มีสงครามการเมืองและสงครามเศรษฐกิจให้ต้องต่อสู้ จะมีอะไรให้คู่ผัวตัวเมียทำนอกจากสงครามในห้องนอน แล้วทุกครัวเรือนก็แว่วเสียงทารกร้องระงม เฉพาะในอเมริกาปาเข้าไปเกือบ 80 ล้านคนตลอด 18 ปีในยุคสมัยของเราและนั่นก็คือที่มาของชื่อเบบี้บูมเมอร์
เราเติบโตมาพร้อมป้าย “เปลี่ยนโลก” แขวนไว้ที่คอ มั่นใจเสียเต็มประดาว่ามีบางสิ่งยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา เราเป็นมนุษย์ช่างตั้งคำถาม ท้องถนนคือสนามเด็กเล่นของคนรุ่นเราที่ขยันประท้วงและต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เราประท้วงรัฐบาลที่ส่งพวกผู้ชายไปตายในสงครามในอีกซีกโลกหนึ่งที่ชื่อว่าเวียดนาม ประท้วงลัทธิบริโภคนิยมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ประท้วงที่คนผิวสีไม่เคยชนะในเวทีแห่งความเท่าเทียม ประท้วงพ่อแม่ที่สู้อุตส่าห์ทำงานหนักมาทั้งชีวิตเพื่อส่งเราเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำที่ปั้นเราให้ออกมาเป็นพิมพ์เดียวกับพ่อแม่ (แน่นอนว่าเราประท้วงเรื่องนี้ด้วยการเรียนโรงเรียนทางเลือก) เราประท้วงด้วยใจที่เต็มไปด้วยความหวังถึงวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าหลังจากซื้ดกัญชา เทกยาแอลเอสดีแล้วไปฟรีเลิฟในเทศกาลวู้ดสต็อกปี 1969 เราเปล่าใช่คนติดยา มันคือวิถีการ Tune in, turn on, drop out เพื่อเข้าถึงความจริงแท้ของจักรวาลต่างหาก
โลกตามใจเราเหลือเกินสมัยเป็นวัยรุ่น เรามีเสรีที่จะทัดดอกไม้เดินเท้าเปล่าหรือนุ่งมินิสเกิร์ตยาวแค่คืบของ Mary Quant เราฟังลีดกีตาร์เร่าร้อนของ Jimi Hendrix ต้องมนตร์กับความหลอนของ Pink Floyd สะท้อนสะท้านหัวใจไปกับ Joni Mitchell ที่โดนคนรักทิ้งไม่เจ็บ แต่อกหักมากกับการก่อสร้างทางเท้า เรายังส่งสารถึงพวกผู้ใหญ่หัวโบราณว่า Why don’t you all f-fade away เมื่อแหกปากประสานเสียงกับ The Who ในเพลง My Generation
แล้วเราก็กลับเป็นคนแบบที่เราเกลียดเสียเอง คนประเภทที่นึกถึงแต่ตัวเองอยู่ร่ำไป ก็ขนาด Bob Dylan ที่เคยขับขานว่า “We shall overcome, someday…” เรียกร้องสิทธิให้คนผิวสี ยังโหยไห้ให้ตัวเองว่า “And day now, I shall be released…” เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคติประจำใจว่า “Greed is Good” โดยไม่ระแวงถึงอารมณ์ประชดประชันที่แฝงอยู่ เรากังวลว่าจะถูกแทนที่ในตลาดงานเพราะสิ่งที่จะช่วยให้เราชนชั้นกลาง รักษาสถานะทางสังคมเอาไว้ได้ก็คือการศึกษาและงาน คิดได้ดังนั้นก็โยนทิ้งหนังสือ The Catcher in the Rye แล้วอ่านตำราหุ้น หันไปคืนดีกับช่างตัดผม ใส่สูท Armani ถือกระเป๋าเอกสาร Gucci ขับ BMW เราเป็นคนทำงานมากทักษะ พิมพ์ดีดไว ทำงานหนักสัปดาห์ละ 60 ชั่วโมงแล้วกินยาแก้ปวดเป็นกำแทนกัญชา เป็นคนรุ่นแรกที่สามี-ภรรยามีงานทำทั้งคู่แต่ก็เซ็นใบหย่าเป็นว่าเล่นเช่นกัน เรามีทีวีเป็นเพื่อนและป่วยเป็นโรคเรื้อรังแซงหน้าคนทุกรุ่น บัดนี้ในวัยใกล้เกษียณแต่เรายังไม่ยอมเกษียณง่ายๆ
เราทระนงว่าเคยเป็นผู้ผูกขาดวัฒนธรรมจึงทุกข์ใจหนักที่เห็น “เด็กสมัยนี้” ทำลายสิ่งดีๆ ที่เราสร้างไว้ให้ แล้วทดแทนด้วยเพลงอีดีเอ็ม เรียลิตี้ทีวี อินสตาเกิร์ล ฯลฯ โลกเป็นบ้ากันไปหมดแล้ว จากฮิปปี้โลกสวยเป็นยัปปี้บูชาวัตถุจนเป็นกรัมปี้อมทุกข์ในวันนี้ เป็นผลกรรมที่ต้องรับไว้จากการโคจรรอบตัวเองของเหล่า ME Generation
(ติดตามซีรีย์ว่าด้วยเรื่องรุ่นจากโว้กประเทศไทย ตอนที่ 3 - GENERATION X ได้ในวันพรุ่งนี้...)
WATCH