FASHION
Asian Cool! ในวันที่โลกนี้ถูกปกคลุมไปด้วยอิทธิพลของชาวเอเชียน
|
Are You Asian? Then You’re Cool
I Am the Best I Am the Best I Am the Best คือท่อนฮุกเพลง I Am the Best ของวงเคป๊อป 2NE1 เพลงในปี 2011 ที่ทั้งเพลงร้องซ้ำไปซ้ำมาว่า I Am the Best นี้กลายเป็นคาถาที่คนเอเชียสวดท่องได้เต็มปากในวันนี้ในที่สุด
มีคำถามมาให้ช่วยกันคิด จะหันไปถกกับเพื่อนข้างๆ ก็ได้ คำถามแรกคือประเทศใดมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก คำถามที่ 2 เครื่องดื่มประเภทสุราหรือสปิริตยอดนิยมที่สุดในโลก ที่ไม่ใช่เบียร์หรือไวน์ คืออะไร และคำถามสุดท้าย 45 ล้าน 24 ชั่วโมงตัวเลขเหล่านี้หมายความว่าอะไร...
คำตอบของข้อแรกคือจีน มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประมาณ 700 ล้านคน อเมริกาอยู่ที่ 200 กว่าล้านคน ตามหลังจีนมากกว่าสองเท่า ถ้าใครตอบข้อสองว่าวอดก้า...ผิดถนัด คิดว่าคนรัสเซียดื่มวอดก้ากันทั้งประเทศก็ปาเข้าไปกี่ร้อยล้านคนแล้วใช่ไหม แต่คำตอบคือโซจู เครื่องดื่มที่มียอดขายสูงสุดในโลกอันดับแรกเป็นแบรนด์โซจู สองคือวอดก้าจาก Smirnoff สามคือแบรนด์โซจูเช่นกัน และคำเฉลยของข้อสุดท้ายคือยอดวิวมิวสิกวิดีโอ BTS วงบอยแบนด์เกาหลีที่ทำลายสถิติเดิม 43.2 ล้านวิวของ Taylor Swift น่าทึ่งเหลือเกินที่หนุ่มๆกลุ่มนี้ทำลายสถิติโลกโดยที่คนส่วนใหญ่ของโลกไม่เคยได้ยินชื่อพวกเขาเลยด้วยซ้ำ
BTS บนปกนิตยสาร TIME
วันนี้เราจะพูดถึง Asian Cool กัน เพราะ Asian is the New Cool สิ่งซึ่งพวกคุณส่วนใหญ่ไม่รู้มาก่อนเช่นกันถ้าอยากได้ชื่อว่าเป็นคนหลากวัฒนธรรมเป็นพลเมืองโลกมีการศึกษาและอยากเดินไปทำเงินเป็นตันข้างนอกนั่นคุณต้องรู้จักเอเชีย
ข้อความข้างต้นนี้เป็นบทสนทนาครูชวนนักเรียน 760 คนคุยกันในชั้นเรียนสังคมวิทยา 119 ของ Dr.Samuel Richards ที่ Penn State University ชั้นเรียนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมสูงที่สุดในอเมริกา ซึ่งกลายเป็นเรื่องขึ้นมาเพราะโปรเฟสเซอร์แซมพาดพิงถึง BTS aka “วงบอยแบนด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก”
โปรเฟสเซอร์ไม่รู้จักIdol เพลงของ BTS ที่ทุบสถิติ Look What You Made Me Do ของมิสสวิฟต์ และเห็นได้ชัดว่าโปรเฟสเซอร์ไม่ใช่ติ่งเกาหลี แต่การที่อาจารย์มหาวิทยาลัย-ผู้ชาย-วัยกลางคน-ผิวขาว-ชาวอเมริกัน รับรู้ว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกนั่นคือประเด็นสำคัญ “ถ้าวันนี้คุณไม่รู้เรื่องประเภทว่า BTS คือใคร โซจูคืออะไร แล้วคุณจะไปสู้รบปรบมือกับโลกได้อย่างไร” โปรเฟสเซอร์แซมพูดอย่างฝากความหวังกับนักศึกษาของเขาในคลาสและเขากำลังพูดกับคุณอยู่เช่นกัน
1 / 2
2 / 2
WATCH
“ลองมองในแง่ที่ว่าเทรนด์เอเชียคือความรู้รอบตัวอย่างหนึ่ง” อิษยา สินพงศพรกล่าว เธอเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปัจจุบันศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขา Media and Film Studies ที่ School of Oriental and African Studies (SOAS), University of London “ถ้าเราไม่ดูหนังฮอลลีวู้ดก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ต้องสนใจอเมริกา หรือข่าวชนเผ่าบนเกาะนอร์ทเซนทิเนลในหมู่เกาะอันดามันของอินเดียยิงธนูฆ่านักท่องเที่ยวอเมริกัน เราไม่เคยได้ยินชื่อเกาะนี้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่แคร์ว่ามีประเทศนี้อยู่ในโลก ทุกข่าวสารมีประโยชน์ อย่างน้อยก็ในแง่เป็นความรู้รอบตัว และวันนี้เทรนด์เอเชียเป็นความรู้รอบตัวที่ถ้าไม่รู้ คุณจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง”
Black Panther อุตส่าห์สร้างอาณาจักรวากันดาในจินตนาการขึ้นมา ยังต้องไปขับรถไล่ล่ากันที่เมืองปูซาน เกาหลีใต้ ตามที่ Ryan Coogler ผู้กำกับให้เหตุผลว่า “เราต้องการเผยด้านวัฒนธรรมของภูมิภาคนี้ และเรามองหาโลเคชั่นถ่ายหนังที่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง แตกต่างจากโลเคชั่นเดิมๆ” เมื่อหนังเข้าฉาย ชาวเกาหลีใต้ยังสมทบทุนให้หนังไปอีก 42.8 ล้านเหรียญ ส่วน Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald ตัวละคร Nagini นางงูสัตว์เลี้ยงของ Voldemort ถูกตีความว่าเป็นชาวเอเชีย ซึ่งนักแสดงหญิงชาวเกาหลีใต้ Claudia Kim ผู้รับบทนี้เผยความในใจว่า “Harry Potter เต็มไปด้วยนักแสดงเชื้อสายคอเคเชียน ฉันเลยคิดว่าผู้ชมชาวเกาหลีน่าจะแฮปปี้” แม้ว่านักภาษาศาสตร์จะขุดรากศัพท์มาสะกิดบอก JK Rowling ว่านากินีมาจากคำว่า นาคา ซึ่งเป็นตำนานโบราณของอินโดนีเซียต่างหากล่ะ
1 / 3
2 / 3
3 / 3
การตีความไม่ว่าจะด้วยหวังดีหรือมีอารมณ์ขัน ระวังไปแตะโดนต่อมเซนซิทีฟของชาวเอเชียเข้า มิฉะนั้นชื่อของคุณอาจลุกเป็นไฟขึ้นมาจริงๆ เหมือนไฟที่ชาวจีนซึ่งใช้จ่ายเงินปีละ 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐไปกับสินค้าลักชัวรีเผาสินค้าของ Dolce & Gabbana หลังจากเห็นแคมเปญของแบรนด์ที่โชว์ภาพสาวจีนในกี่เพ้าแดงใช้ตะเกียบคีบพิซซ่า “หนึ่ง ไม่มีชนชาติใดชอบใจหรอกที่ถูกล้อเลียน สอง เอเชียเดินไปพร้อมกับโลกนั่นแหละ เราไม่ได้ถูกแช่แข็งไว้ในอดีต คนจีนไม่ได้ใส่กี่เพ้า คนไทยไม่ได้ขี่ช้างไปทำงาน” ว่าที่ดร.อิษยากล่าว
เมื่อคนเอเชียถ่ายทอดเรื่องราวของตนเอง หาได้มีแง่มุมเอ็กซอติก ลึกลับ มิติพิศวงใดๆ ตัวอย่างบันลือโลกเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2018 ซึ่งต้องมีชื่อเรียกใหม่ว่า Asian August จากความสำเร็จของ Crazy Rich Asians หนังฮอลลีวู้ดเรื่องแรกในรอบ 25 ปีที่ทีมนักแสดงทั้งหมดเป็นชาวเอเชีย ซึ่งกวาดรายได้ไป 170.8 ล้านเหรียญใน 30 วันแรกในอเมริกา ตามมาด้วย Searching หนังทริลเลอร์ฮอลลีวู้ดเรื่องแรกที่มีนักแสดงนำเป็นชาวเอเชีย ซึ่งก็คือ John Cho จากเกาหลีใต้อีกนั่นแล
ภาพปกภาพยนตร์ Crazy Rich Asians
หลายปีมานี้ฮอลลีวู้ดจึงต้องเปิดตัวหนังที่เกาหลีและจีน เพราะเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกว่าฐานกำลังซื้อในเอเชียมหาศาลเกินห้ามใจ นักแสดงเอเชียดูเหมือนจะถูกเห็นและถูกได้ยินมากขึ้น และการจะดูว่าใครเป็นพี่ใหญ่ของโลกอย่างง่ายที่สุด สังเกตได้ง่ายที่สุดจากหนังฮอลลีวู้ด กาลก่อนหนังภัยพิบัติทั้งหลายอย่าง Independence Day จนถึง Armageddon ผู้นำอเมริกามักถูกวางบทให้เป็นผู้นำพาโลกให้พ้นจากวิกฤต แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตผู้นำจีนหรือผู้นำชาติในเอเชียอาจกลายเป็นคนขับเรือโนอาห์ก็ได้ ใครจะรู้ หลังๆ มานี้เริ่มมีหนังมหันตภัยในชื่ออย่าง Pacific Rim และอาจเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีอเมริกา (ทรัมป์) อาจตกไปอยู่ในบทบาทตัวป่วนโลก (ซึ่งก็เป็นอยู่)แทน
จู่ๆชาติหนึ่งจะยกพลขึ้นฝั่งไปยึดครอง (ทรัพยากร) อีกชาติหนึ่งเหมือนในยุคล่าอาณานิคมไม่ได้อีกแล้ว คำว่าพลังอ่อนหรือ Soft Power อันได้แก่สินค้าวัฒนธรรมทั้งหลายจึงตกที่นั่งเป็นเครื่องมือสร้างจักรวรรดินิยมยุคใหม่ แต่เป็นเช่นนั้นเสมอไปจริงหรือ ในระหว่างเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนยังนั่งกินไก่ในเคเอฟซีกันอยู่เลย เหตุการณ์นี้ถูกบันทึกไว้ในงานศึกษาเรื่อง Golden Arches East: McDonald’s in East Asia โดย James L. Watson แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หรือคอนเสิร์ตครบรอบ 10 ปีของ Big Bang ในกรุงโซลเมื่อปี 2016 แฟนๆ เกือบ 2 ล้านคนแค่ในจีนประเทศเดียวแย่งกันซื้อบัตร และ BTS ก่อนจะมีอัลบั้มอันดับ 1 บนบิลบอร์ด ก็โด่งดังมากมานานแล้วที่ชิลี เริ่มจากแฟนคลับกลุ่มเล็กๆ ติดตามผลงานในยูทูบ ทวีต และแชร์ กระทั่งคอนเสิร์ตของวงในปี 2017 บัตร 12,500 ใบขายหมดใน 2 นาที และวัดเสียงกรี๊ดแฟนๆ ได้ถึง 127 เดซิเบล “เสียงดังจนถึงขีดหูดับกลายเป็นเรื่องน่าวิตก” New York Times ยังต้องเขียนบทความแสดงความเป็นห่วง
การถ่ายทำภาพยนตร์ Black Panther ในประเทศญี่ปุ่น
“ความเป็นชาตินิยมของคนเอเชียก้าวข้ามแนวคิดความเป็นสมัยใหม่ไปอีกขั้น เราอยากเป็นผู้ให้นิยามคำว่า Modernity ใหม่ คนที่จะสร้างมาตรฐานโลกไม่ได้มีแต่ฝรั่งอเมริกันหรือชาติยุโรปอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบันเทิง รถยนต์ หรืออุตสาหกรรมใดๆ” ว่าที่ดร.อิษยากล่าว “เป็นการต่อสู้อย่างหนึ่งของความรู้สึกลึกๆ ที่ว่าเอเชียด้อยกว่าตะวันตกตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม ซึ่งเขียนประวัติศาสตร์เอเชียในแง่ของการเป็นมรดกทางวัฒนธรรม รุ่มรวยประเพณี ศิลปะ และประวัติศาสตร์ ยกเว้นแค่ญี่ปุ่นที่เป็นชาตินวัตกรรมมาแต่ไหนแต่ไร แต่วันนี้เอเชียหลายๆ ชาติพิสูจน์และประกาศตนเองได้อย่างเต็มปากว่ามีกำลัง มีฝีมือ มีศักยภาพ และมีทรัพยากรมนุษย์ที่เหนือกว่าตะวันตก”
“ถ้าเป็นเมื่อ 20 ปีก่อน เราคงจินตนาการไม่ออกหรอกว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษ (ในที่นี้คือ Theresa May) จะพูดออกมาได้ว่าอังกฤษก็อาจเป็น “สิงคโปร์แห่งยุโรป” ตลกร้ายก็คือสิงคโปร์เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ” Dr.Parag Khanna ผู้เขียนหนังสือ The Future Is Asian กล่าว “โลกที่เคยคุ้นกับคำว่า America First พร้อมแล้วหรือยังกับคำว่า Asia First พร้อมแล้วหรือยังที่จะเห็นโลกใหม่จากสายตาของคนเอเชีย”
ภาพโปรโมตเพลง DDU-DU DDU-DU ของวง BLACKPINK
“เกาหลีดีกว่าฮอลลีวู้ดไปแล้ว” ฌอน บูรณะหิรัญ อินฟลูเอนเซอร์พลังคิดบวกของยุคนี้พูดไว้ใน “Reaction Video” ซึ่งสาวกเคป๊อปชอบทำกันมาก คือการดูมิวสิกวิดีโอศิลปินเคป๊อปแล้วแสดงปฏิกิริยาใดก็ได้ หนึ่งในคนที่รีแอกต์จนได้ดีก็คือ JREKML ที่มียอดสับตะไคร้ 1.2 ล้าน และมียอดวิวรวม 254 ล้าน อย่างไรก็ตาม ฌอนเลือกรีแอกต์มิวสิกวิดีโอเพลง Ddu-Du Ddu-Du ของ Black Pink และออกปากชื่นชมลิซ่า-ลลิสา มโนบาล หนึ่งในเมมเบอร์ชาวไทยในความ Swag ของเธอ
James P. Womack, Daniel T. Jones, and Daniel Roos เขียนไว้ในหนังสือ The Machine That Changed the World ว่า “โตโยต้าใช้โมเดลธุรกิจและทฤษฎีทางโปรดักชั่นของ Henry Ford สมัยทำโรงงาน Ford Model T ที่ไฮแลนด์พาร์กเมื่อปี 1914” และ “โตโยต้าแซงหน้าฟอร์ดไปเป็นองค์กรยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จที่สุดในอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างง่ายดาย” ขณะที่ Monica Kim บรรณาธิการข่าวแฟชั่น Vogue.com กล่าวว่าดีไซเนอร์ในโซลมีชื่อเสียงทางลบเรื่องก๊อบปี้ดีไซน์ในบทความ Why Seoul, South Korea Is the Hottest Fashion City in Asia ของ Hyperbeast แต่เสริมว่าไม่ต่างจากเมืองแฟชั่นใหญ่อื่นๆแต่อย่างใดและไม่ใช่ว่าดีไซเนอร์จะขี้ก๊อบกันทุกคน
ตั้งแต่รถ แฟชั่น จนถึงเพลง ชาติเอเชีย “ได้แรงบันดาลใจ” จากผู้สำเร็จมาก่อนอย่างชาติตะวันตก แต่วันนี้ Dua Lipa ฟีเจอริ่งเพลงกับ Black Pink ส่วน Jaden Smith ลูกชายของอดีตแร็ปเปอร์ Will Smith ทวีตบอกฟอลโลเวอร์ 8 ล้านรายว่า “G-Dragon (แร็ปเปอร์ของวง Big Bang) is my inspiration” และฌอนที่บอกว่า “(ศิลปิน) เกาหลีทำให้คนอเมริกันยอมรับได้ในที่สุดว่าคนเอเชียทำเพลงฮิปฮอปเก่ง” เสียงค่อนขอดว่าอยากจะเป็นเหมือนฝรั่งย่อมตามมา แต่ถ้าคุณเคยดูรายการวาไรตี้โชว์เกาหลีที่มีผู้ชมทั่วโลกอย่าง Running Man คุณจะเห็นว่าพิธีกรตัวท็อปของเอเชียทำหน้าเหมือนพระเจ้ามาโปรดเมื่อเห็น Tom Cruise และปรี่เข้าไปขอเซลฟี่กับทอมโดยใช้สมาร์ตโฟนซัมซุง
Asian Cool ที่โลกเห็นในวันนี้ไม่ได้ถูกปลุกเสกขึ้นมาข้ามคืน ดร.พิชัย สนแจ้ง นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลไทยและมีส่วนร่วมในการศึกษานโยบาย One Belt, One Road ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศจีน กล่าวว่าจีนจัดตั้ง State Oceanic Administration (SOA) หน่วยงานด้านยุทธศาสตร์ ทรัพยากร และนวัตกรรมทางทะเล ซึ่งมักให้บุคคลที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปในอนาคตมาดูแล และหนึ่งในอดีตผู้อำนวยการของ SOA ก็คือสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจีนนั่นเอง หน่วยงานนี้ยังสร้างวิทยาลัยแพทย์ที่ค้นคว้าพืชทะเลมาทำยาและเครื่องสำอาง รวมทั้งใช้แขนกลฝังเข็มมาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ขณะที่เกาหลีใต้ยุคหลังสงครามแบ่งแยกสองเกาหลีในทศวรรษ 1950 รัฐบาลให้เงินทุนเอกชนก่อตั้งบริษัท ให้เช่าอาคารทิ้งร้างในราคาเยา และสนับสนุนให้สร้างนวัตกรรมใหม่กับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ซึ่งในวันนี้เราอาจเคยได้ยินชื่อบริษัทเหล่านั้นอยู่บ้าง เช่น KIA, Samsung และ Sulwhasoo
รัฐบาลเปลี่ยน แต่ยุทธศาสตร์ไม่เปลี่ยนคือหัวใจสำคัญของชาติรุ่งเรือง นอกเหนือจากนั้นคือพลังส่วนบุคคลอย่างที่ Jung Ku-ho ผู้บุกเบิกโซลแฟชั่นวีกใช้คอนเน็กชั่นส่วนตัวเชื้อเชิญผู้ทรงอิทธิพลแฟชั่นของโลกมานั่งฟรอนต์โรว์ในแฟชั่นโชว์ที่โซล เช่น Suzy Menkes, Diane Pernet และ Simon Collins เพราะพาดีไซเนอร์จากโซลไปยุโรปไม่ได้ ก็ต้องเอายุโรปมาไว้ที่โซลแทน จนวันนี้โซลคือจุดหมายปลายทางอีกแห่งที่เหล่าบรรณาธิการแฟชั่นและบิวตี้ต้องวิ่งแฮกไป ไม่ต้องพูดถึงญี่ปุ่นที่ส่งออกชื่อของ Comme des Garcons, Issey Miyake, Yohji Yamamoto และ Jun Takahashi ขณะที่จีนภูมิใจกับ Alexander Wang นำไปก่อนแล้ว และเกาหลีคือชาติสุดท้ายในบรรดา Big Three ของเอเชียซึ่งขับเคลื่อนวงการแฟชั่นได้ด้วยพลังโซเชียลผ่านไอดอลเคป๊อป ยกตัวอย่างจีดราก้อนที่เป็นทูตแฟชั่นอย่างเป็นทางการของ Chanel, Kris Wu ชาวจีนอดีตสมาชิกวง EXO ที่เห็นหน้าแวบๆ ในหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่อง หรือ CL แร็ปเปอร์ที่โว้กอเมริกันจับไปนั่งตอบคำถามในซีรี่ส์สุดฮิต 73 Questions เคป๊อปสตาร์เหล่านี้ยังเป็นผู้สร้างเทรนด์ “แฟชั่นสนามบิน” ใส่อะไร ชิ้นนั้น Sold Out
“มันคือ Money Talk และ Media Talk ทุนหนาและใช้สื่อเป็นทำให้เอเชียกลายเป็นเทรนด์ขึ้นมาได้ แต่พื้นฐานการตลาดใดๆ ก็คือต่อให้เงินและแรงโปรโมตดีแค่ไหนถ้าสินค้าห่วยก็ไปต่อได้ยาก แต่ถ้าสองแรงแข็งขัน โฆษณาดี สินค้าเยี่ยม ก็ดังระเบิดระเบ้อได้ไม่ยาก ด้วยจังหวะเวลาที่ตอนนี้พลเมืองโลกกลายเป็นพลเมืองเน็ตเต็มขั้น ต่อให้คุณไม่รู้จักผลิตภัณฑ์สินค้าหรือศิลปินเอเชียใดๆ มาก่อน แต่เอเชียจะผ่านตาคุณ เอเชียติดกระแสจนโลกต้องรู้จัก” ว่าที่ดร.อิษยากล่าว “คนไทยเป็นผู้นำด้านการบริโภค ดาราศิลปินเกาหลีต้องหัดพูดภาษาไทยเพราะมีแฟนคลับชาวไทยมากมาย คนไทยยังปั่นท็อปปิกติดเทรนด์ทวิตเตอร์เป็นอันดับ 1 อยู่บ่อยๆ สยามพารากอนเป็นที่เช็กอินติดอันดับโลกเพราะพฤติกรรมไปไหนต้องเช็กอินของคนไทย เราจะใช้ความสามารถและเครื่องมือในมือทำอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากการเป็นผู้บริโภคอันดับต้นๆของโลก”
หลังจากที่ในศตวรรษที่19 คือช่วงเวลาของ Europeanization ก่อนที่ในศตวรรษที่ 20 จะพลิกไปเป็น Americanization และในศตวรรษที่ 21 นี้คือการมาถึงของ Asianization ไทยแลนด์อยากอยู่ตรงไหนในห่วงโซ่อาหารนี้...
WATCH