Apple underdog Thailand
FASHION

ถอดบทเรียนโฆษณา Apple ตกลงว่าเหยียดไทยจริง หรือแค่ต้องการสร้างความขบขันบนโลกออนไลน์

บางทีเราอาจจะต้องทำตัวให้ใจกว้างมากพอ ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยข้อมูลเท็จจริงและวิจารณญาณ ดีกว่าตีโพยตีพายจนการสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้แม้แต่ปลายเล็บ...

     กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นดราม่าใหญ่ของโลกโซเชียลมีเดียในประเทศไทย เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมาบัญชี Youtube อย่างเป็นทางการของ Apple ฝั่งสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่ผลงานคลิปวิดีโอโปรโมต ชื่อ The Underdogs: OOO (Out Of Office) | Apple at Work ซึ่งเป็นผลงานคอนเทนต์วิดีโอประเภท Parody หรือประเภทล้อเลียนให้เกิดความตลกขบขัน กับเรื่องราวการเดินทางของตัวละครทั้ง 3 สู่ประเทศไทย เพื่อค้นหาโรงงานผลิตแห่งใหม่ของ Apple ตามคำสั่งของเจ้านาย แต่กลับต้องมาผจญภัยกับเรื่องราวตลกร้าย และ Culture Shock ที่มีเจตนาสร้างความสนุกสนานเชิงเสียดสีให้แก่ผู้ชม แต่กลับดูเหมือนว่าชาวเน็ตไทยจะไม่คิดเช่นนั้น เมื่อเสียงวิจารณ์แตกออกเป็น 2 ขั้วชัดเจน ทั้งฝ่ายที่มองว่านี่คือผลงานโฆษณาที่ตั้งใจเหยียดเมืองไทย และฝ่ายที่มองว่านี่คือการล้อเล่นแบบสากลผ่านชิ้นงานโฆษณาเท่านั้น

     ในฟากฝั่งของชาวเน็ตที่เชื่อว่านี่คือโฆษณาที่จงใจเหยียดความเป็นอยู่ของคนไทยนั้นมองว่าหลากฉากที่ปรากฏในวิดีโอล้วนเกินจริง ทั้งการคมนาคมที่แออัด สนามบินที่ดูเก่าคร่ำคร่า เรื่อยไปจนถึง โรงแรมที่ไม่มีแอร์หรือห้องน้ำที่สะดวกสบาย ยังไม่นับรวมถึงงานโปรดักชั่นที่จงใจใช้สีโทนเหลืองที่ยิ่งส่งให้ทุกอย่างดูล้าสมัยไปเสียหมด เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าในวงการ Hollywood ภาพยนตร์หลายเรื่องเลือกใช้ฟิลเตอร์โทนสีเหลืองกับฉากสถานที่ที่ทุรกันดาร สกปรก และไม่ศรีวิไลซ์ เป็นส่วนใหญ่ กอปรกับความคิดเห็นของหลายๆ คนบนโลกออนไลน์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ออกมายืนยันว่าสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครไม่เป็นเช่นนั้นแม้แต่น้อย

     (สามารถตามไปอ่านเรื่องราาวอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ เมื่อผ้าไทยไม่ใช่ปัญหา! แต่สิ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนาคือวิธีการออกแบบและภาพจำอันล้าสมัย (vogue.co.th)

Apple Underdog Thailand

     กระนั้นในฟากฝั่งที่มองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยกลับมองว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการผลิตงานแบบ Parody หรือการล้อเลียนประเภทหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมโฆษณาบันเทิงและภาพยนตร์ ซึ่งผลงานแนวนี้มักจะออกมาเป็นเช่นนี้เสมอ อีกทั้งเส้นเรื่องที่นำเสนอเรื่องโรงแรมนั้น ยังถูกเฉลยตอนจบอีกว่าทั้ง 3 ตัวละครนั้นมาผิดโรงแรม และแท้จริงแล้วพวกเขาต้องได้พักในโรงแรมที่หรูหราและมีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครันกว่านี้ นั่นหมายความว่าผู้ผลิตโฆษณาเล็งเห็นความประเทศไทยเจริญไปถึงไหนแล้ว เพียงแต่ต้องการสร้างการหักมุมให้เกิดขึ้นในโฆษณานี้เท่านั้น

     อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว Apple ก็เป็นฝ่ายยอมถอย ด้วยการเริ่มจากการปิดการแสดงความคิดเห็นบนวิดีโอดังกล่าว ก่อนที่ต่อมาจะร่อนจดหมายเปิดผนึกขอโทษคนไทยที่ทำโฆษณาออกมาไม่ถูกใจ ก่อนจะจบการวิพากษ์วจารณ์ในครั้งนี้ด้วยการเอาวิดีโอดังกล่าวลงจากช่องบัญชี Youtube แบบถาวร

     เรื่องราวจบลงแบบนั้น แม้ว่าจะมีประเด็นตามมาว่า การเอาวิดีโอโฆษณาดังกล่าวลงไม่ใช่เพราะข้อเรียกร้องจากคนไทย แต่ Apple อับอายที่เทคโนโลยีที่ปรากฏในโฆษณานั้นไม่เอาถ่าน กระนั้นผู้เขียนก็อยากจะชวนให้ผู้อ่านที่ดั้นด้นอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ลองมองมุมกลับอีกมุมหนึ่งว่า หลายเรื่องราวที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างว่าเป็นการจงใจดูถูกประเทศไทยนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในเมืองไทย หลายเรื่องยังพบเห็นได้จริงประปราย นั่นคือสิ่งที่ต้องยอมรับ ดีเสียอีกที่เราจะได้ยอมรับในส่วนที่เป็นจริง (เถียงกลับในส่วนที่ไม่เป็นจริง) และร่วมกันพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น เพื่อเอาไปใช้ยันให้โฆษณาชิ้นนี้หน้าหงายในอนาคตว่าสิ่งที่เธอนำเสนอนั้นมันช่างล้าหลังมากๆ อีกทั้งในยุคสมัยที่เราต่างโหมกระพือเรื่องของ Soft Power นั้น เรายิ่งจะต้องมีจิตใจที่กว้างมากพอด้วยเช่นกัน อย่าทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสิ่งซึ่งแตะต้องไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว Soft Power ที่หวังกันนักหนาจะไม่บรรลุผลแน่นอน

ภาพ : Apple UK

WATCH