FASHION
ฉากรีไซเคิลชุดใน All Quiet on the Western Front กลายเป็นภาพแสดงจุดเริ่มของการรักษาทรัพยากรแม้จุดมุ่งหมายในการรีไซเคิลเครื่องแบบทหารอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อพิทักษ์โลก แต่มันมีผลลัพธ์เท่ากับการรักษาทรัพยากรในมุมใดมุมหนึ่ง |
ปัจจุบันมีการพูดถึงเรื่องการรีไซเคิลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากสภาวะโลกร้อนที่ทำให้ทุกคนหันมาสนใจประเด็นใหญ่แบบนี้ การรีไซเคิลเป็นหนึ่งในวิธีลดการผลิตและสร้างสรรค์สิ่งเดิมให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษก่อนการรีไซเคิลเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในภาวะสงคราม ทว่ามันไม่ได้มีแนวทางความคิดเพื่อปกปักษ์รักษาโลกนี้เฉกเช่นปัจจุบัน แต่หมายถึงการประหยัดทรัพยากรในยามขาดแคลนที่สุด ซึ่ง All Quiet on the Western Front ภาพยนตร์คุณภาพเยี่ยมบนแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์หยิบจับฉากเหล่านี้มาเล่าตั้งแต่ต้นเรื่องเพื่อชี้ให้เห็นความหดหู่ของสงคราม
จากภาพยนตร์เรื่อง All Quiet on the Western Front กลุ่มทหารกล้าวัยรุ่นที่เข้ามาในกองทัพพร้อมกับชุดรีไซเคิลจากทหารกองพลก่อนหน้าที่ถูกส่งกลับมา / ภาพ: Netflix
ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวเพียงสัปดาห์เดียวก็พุ่งทะยานเป็นภาพยนตร์ยอดนิยมทันที ด้วยเนื้อหาอันลึกซึ้งชวนให้จินตนาการถึงความโหดร้าย น่ากลัว และหดหู่ของสงครามสนามเพลาะที่คร่าทหารจำนวนนับล้านนาย แน่นอนว่าทหารทุกคนต้องมีเครื่องแบบ แต่ในภาวะสงครามบางครั้งเครื่องแบบก็ไม่ได้สดใหม่เสมอไป เพราะสงครามสร้างบาดแผลเลอะเทอะเปรอะเปื้อนจนชุดบางชุดอาจไม่ต่างอะไรกับเศษผ้าที่เต็มไปด้วยร่องรอยแห่งโศกนาฏกรรม ดังนั้นการนำกลับมาใช้อาจไม่ตอบโจทย์เสียทั้งหมด แต่ก็มีชุดทหารไม่น้อยที่ถูกนำมาทำความสะอาดและใช้ใหม่
เสียงวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อคนศึกษาประวัติศาสตร์แต่ไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดว่าทหารเยอรมัน หรือแม้แต่ทหารฝ่ายใดก็ตามรีไซเคิลชุดเพื่อนำกลับมาใช้กับทหารคนใหม่ โดยส่วนใหญ่แล้วศพทหารกล้าจะถูกฝังพร้อมกับเครื่องแบบ ดังนั้นจึงมีโอกาสไม่มากนักที่จะนำกลับมารีไซเคิลตามบริบทสถานการณ์ ณ ตอนนั้น แต่ในมุมหนึ่งกำลังทหารเองก็ขาดแคลนทรัพยากรอย่างหนัก โดยเฉพาะฝ่ายเยอรมันที่กำลังจะพ่ายแพ้ ช่วงปลายสงครามที่เกณฑ์เด็กหนุ่มจำนวนมากเพื่อเข้ารบ พวกเขาอาจกำลังสวมใส่เสื้อของผู้บาดเจ็บล้มตายจากกองกำลังก่อนหน้านี้ตามที่ภาพยนตร์นำเสนอก็เป็นได้
ความเละเทะของสงครามสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งที่ 1 จากภาพยนตร์เรื่อง All Quiet on the Western Front / ภาพ: Netflix
ตามหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์หลายเล่มพูดถึงเหตุการณ์ในโรงพยาบาลว่ามีหน่วยที่คอยเก็บเสื้อผ้าไปเพื่อซ่อมและทำความสะอาด ชุดเหล่านี้จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งอย่างแน่นอน และคาดว่าจะมอบให้กับนายทหารเจ้าของคนเดิมด้วย ทว่าชุดชั้นในส่วนใหญ่จะถูกมารวมกันและทำความสะอาด ก่อนจะกระจายส่งกลับไปสู่กองทหาร ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่มีใครได้รับเสื้อผ้าด้านในเดิมเป็นการพิเศษ นี่นับเป็นวิธีการใช้ซ้ำที่ช่วยประหยัดทรัพยากรทางการทหารจำนวนมาก
เมื่อกำลังจะพ่ายแพ้สิ่งสำคัญของการรบไม่ใช่แค่เครื่องแบบ อะไรแทนได้ก็ต้องแทนกันไป ชุดของทหารกล้ามากมายถูกนำมารีไซเคิล ซ่อมแซม หรือแม้แต่ใช้ซ้ำในสภาพไม่น่าดูชมนัก ถึงแม้รากฐานการสร้างวิถีปฏิบัติแบบนี้จะเกิดจากความโหดร้ายของสงคราม ในอีกมุมหนึ่งมันกลับเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้มนุษย์เล็งเห็นความยั่งยืนในการใช้เสื้อผ้า ชุดเหล่านี้ยังอาจหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เสื้อผ้าชุดทหารวินเทจก็มีรากฐานจากการสร้างระเบียบปฏิบัติที่ไม่ได้มีเจตนาเดียวกัน แต่ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นในการนำเสนอจุดนี้ไม่ได้การันตีว่าจะเป็นความจริง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นดั่งเรื่องเล่าที่คอยให้เราย้อนกลับไปหาความจริงที่แน่นอนด้วยตัวเองอีกครั้ง
WATCH
WATCH